xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระญาณวโรดม นักการศึกษาและนักบริหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากจะเอ่ยถึงพระสงฆ์ผู้ทรงความรู้และผลงานที่ได้สร้างสรรค์เพื่อการศึกษาและการพัฒนาสถาบันพระพุทธศาสนาที่มีเป็นเอนกประการ ก็นับว่าเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดม เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร พระอารามหลวง เป็นแบบอย่างที่น่า เคารพและระลึกถึง

อุปนิสัยส่วนตัวของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มี ความเรียบง่าย สมถะ มักน้อย รักสันโดษ และท่าน ยังเป็นพระนักเผยแผ่ธรรม ที่ธำรงวัตรปฏิบัติตามแบบพระสงฆ์สายคณะธรรมยุตแท้ๆ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง ด้วยมีวัตรปฏิบัติอันน่ายกย่องและศรัทธายิ่งของบรรดาศิษยานุศิษย์ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป เน้นหลักธรรมคำสั่งสอน มิให้ตกอยู่ในความฟุ้งเฟ้อลุ่มหลงต่อวัตถุ ลาภยศ ชื่อเสียงต่างๆ

นอกจากนี้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังเป็นพระนักบริหาร นักพัฒนา เป็นนักเขียน นักแต่งตำรา ที่มีผลงานมากมาย รวมทั้งยังมีตำแหน่งเป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นเลขาธิการและอุปนายกสภาการศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มาตั้งแต่ พ.ศ.2492 จนถึงปัจจุบัน

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้มีความรู้แตกฉาน เป็นนักปกครอง นักบริหารที่เก่งกาจและยังเป็นนักเขียนและนักแต่งตำรามากมาย โดยมีผลงานด้านวิชาการเป็นที่ประจักษ์ดังนี้

• ตำแหน่งต่างๆ ที่เคยผ่านงานด้านการปกครองและบริหารได้แก่

เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดชูจิตธรรมาราม เคยเป็นประธานกรรมการวัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นสมาชิกสามสภา (ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484) เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมคณะธรรมยุต เป็นเลขาธิการกรรมการคณะธรรมยุต (ตั้งแต่ พ.ศ.2518-2544) เป็นรองประธานคณะกรรมการฝ่ายปกครอง ของมหาเถรสมาคม เป็นผู้ริเริ่มโครงการและปฏิบัติด้วยการจัดตั้งอนุกรรมการกลางคณะธรรมยุต (คณะเดียว) เป็นผู้ริเริ่มโครงการและปฏิบัติด้วยการจัดตั้งอนุกรรมการคณะธรรมยุตฝ่ายเฉพาะกิจ(9 คณะ) เป็นผู้ริเริ่มโครงการและปฏิบัติด้วยการจัดประชุมประจำปีกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต เป็นผู้ริเริ่มและปฏิบัติด้วยการจัดประชุมพระสังฆาธิการคณะธรรมยุตระดับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลปีละครั้งโดยเวียนเป็นรอบ

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ที่เป็นแบบอย่างการปกครองในปัจจุบันไว้มากกว่า 50 โครงการ และยังคงเป็นแบบแผนที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

• ด้านการศึกษา

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ในคณะสงฆ์มากกว่า 100 โครงการ โดยเฉพาะด้าน การศึกษา ท่านเป็นผู้ริเริ่มเปิดโรงเรียนพระสังฆาธิการและจัดหลักสูตรระดับต้น ระดับสูง ได้ริเริ่มโครงการและดำเนินงาน เปิดอบรมวิชาการนวกรรม กับการพัฒนาชุมชน เป็นผู้ริเริ่มโครงการอบรมภิกษุพัฒนาภูมิภาคและปฏิบัติ โดยการอบรมภิกษุ พัฒนาภูมิภาค และดำเนินงานโครงการอบรมวิชาเคหพยาบาลแก่พระภิกษุ สามเณร และแม่ชี ร่วมกับสภากาชาดไทย นอกจากนี้ยังริเริ่มโครงการ และเปิดอบรมวิชาการห้องสมุด(บรรณารักษ์)แก่ภิกษุสามเณร เปิดอบรมวิชาการไฟฟ้าแก่ภิกษุสามเณร เปิดอบรมวิชาการพิพิธภัณฑ์ในวัดแก่ภิกษุ และสามเณร เป็นผู้ริเริ่มโครงการและปฏิบัติด้วยการเปิดอบรมวิชาการกฎหมายพัสดุแก่ภิกษุ ฯลฯ

• ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ในฐานะหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 7 ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จัดประชุมพระธรรมทูตสายที่ 7 ประจำปีก่อนออกจาริกและยังได้ติดตามไปเยี่ยมพระธรรมทูตเมื่อพระธรรมทูตออกจาริกแล้ว และพิจารณาผลงานเมื่อเป็นประธานกรรมการที่ปรึกษาโรงเรียนพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ไปเยี่ยมพระธรรมทูต รวมทั้งได้ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในต่างแดนถึง 47 ประเทศ ครอบคลุมทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา แอฟริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น

นอกจากนี้ท่านได้เรียบเรียงจัดแปลและจัดพิมพ์ หลักสูตรนักธรรม ธรรมศึกษาทุกชั้นเป็นภาษาอังกฤษ สวดมนต์แปลเป็นภาษาอังกฤษ การเรียน รู้พระพุทธศาสนาในเวลาจำกัด เป็นภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน เพื่อเผยแผ่แก่ชาวต่างประเทศ ท่านเขียนชุดแบบเรียนไวยากรณ์สันสกฤต 5 เล่ม จัดพิมพ์โดยมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหนังสือชื่อศาสนาต่างๆ โดยมี เนื้อหาในแนวศาสนาเปรียบเทียบ ครอบคลุมทั้งพระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาสิกข์ ลัทธิขงจื้อ ลัทธิเต๋า ศาสนาชินโต ศาสนาโซโรอัสเตอร์

• งานด้านวรรณกรรม

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ นับได้ว่าเป็นผู้คงแก่เรียน และเป็นนักเขียนฝีมือดีท่านหนึ่ง ท่านได้เขียน หนังสือมากมายนับร้อยๆเล่ม มีทั้งการเรียบเรียงและการเขียนหนังสือท่องเที่ยวอิงธรรมะ ที่มีรูปแบบที่ทันสมัย เน้นให้คนอ่านเข้าใจง่าย แต่แฝงด้วย ความสนุกและเพลิดเพลิน ทำให้ไม่น่าเบื่อ เป็นหนังสือที่อ่านได้ทั้งวัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ กว่า 30 เล่ม

• งานด้านสาธารณูปการ

เป็นผู้แนะนำชักชวนให้ทั้งฝ่ายบรรพชิต ฝ่ายคฤหัสถ์ให้ขุดบ่อ ทำแหล่งน้ำ สร้างถนน สร้างแสงสว่าง ปลูกต้นไม้ สร้างศาลาพักร้อน สร้างและพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์แห่งความฉลาด ให้เป็นแหล่งรวมของคนในชุมชน โดยสร้างห้องสมุดประจำวัดและให้มีพิพิธภัณฑ์ประจำวัดด้วย

นอกจากนี้ ได้เปิดอบรมวิชาโบราณคดีและการนวกรรมแก่พระสังฆาธิการเพื่อให้รู้จักคุณค่าของโบราณวัตถุ โบราณสถาน วิธีการสร้าง วิธีการซ่อม เป็นต้น ขณะเดียวกัน ได้เป็นประธานในการผูก พัทธสีมา ซึ่งได้เป็นประธานมาแล้ว 25 วัด ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

สมเด็จพระญาณวโรดม เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตร มีความรอบรู้ทั้งในทางคดีโลกและคดี ธรรม เป็นพระมหาเถระนักบริหารชั้นสูงองค์หนึ่งของเมืองไทย ที่ผ่านมาบรรดาศิษยานุศิษย์ต่างประจักษ์แก่ใจแล้วว่าท่านมีชีวิตและงานที่ล้วนแล้ว แต่ทำเพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง

เส้นทางชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) นามเดิม ประยูร นามสกุล พยุงธรรม บิดาชื่อ ธูป มารดาชื่อ ทองหยิบ เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน 4 แรม 2 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ.2459 ตรงกับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2459 ที่บ้านท่าเรือ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เป็นลูกคนสุดท้อง ในจำนวนพี่น้อง 7 คน แต่ปัจจุบันเหลือท่านเจ้าประคุณฯสมเด็จเพียงรูปเดียวเท่านั้น

สมเด็จพระญาณวโรดม ได้มาพำนักที่วัดเทพศิรินทราวาส ตั้งแต่ พ.ศ.2474 และได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2476 โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ วัดเทพศิรินทราวาส และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2480 โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุดมศีลคุณ (อินทร อคฺคิทตฺตเถร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวินัยธรเพ็ชร (ปภงฺกรเถร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นอุปัฏฐากเจ้าภาพบวช ณ พัทธสีมา วัดเทพศิรินทราวาส ได้ฉายาว่า “สนฺตงฺกุโร” แปลว่า หน่อหรือเชื้อสาย หรือทายาทของผู้สงบ และได้อยู่จำพรรษาที่วัดเทพศิรินทราวาสตลอดมา

สมเด็จพระญาณวโรดมเริ่มการศึกษาเมื่ออายุราว 6 ขวบโดยมีบิดาเป็นครูคนแรก ต่อมาได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลประจำอำเภอประจันตคาม เมื่อพ.ศ.2468 จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2472 ในสมัยนั้นชั้น ป.5 เป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาในอำเภอประจันตคาม

นับแต่บรรพชาอุปสมบทแล้วได้ศึกษาด้านปริยัติศึกษาแผนกธรรม จนได้นักธรรมชั้นเอก และแผนกบาลี ได้ ป.ธ.9 สำหรับภาษาสันสกฤต เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เคยศึกษากับนาคะประทีบ (พระสารประเสริฐ) มีเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันคืออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ และสมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรนฺตโร ป.ธ.๙) จนแตกฉานในวรรณคดี สันสกฤต

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระญาณวโรดม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส

• ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2495 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธญาณ
พ.ศ.2500 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสุมนมุนี
พ.ศ.2505 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพกวี
พ.ศ.2515 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมธัชมุนี
พ.ศ.2528 เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองหิรัญบัฏ ที่ พระญาณวโรดม
พ.ศ.2546 เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระญาณวโรดม

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 88 มี.ค. 51 โดย ญาณนะพงศ์)
กำลังโหลดความคิดเห็น