xs
xsm
sm
md
lg

"พวงหรีดสังฆทาน" เมื่อของใฃ้กลายเป็นพวงหรีด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องของการ ‘เกิด แก่ เจ็บ ตาย’ เป็นเรื่องธรรมดาของ ชีวิต และเมื่อญาติมิตรหรือคนที่เราเคารพรักต้อง ลาจากโลกนี้ไป การแสดงความอาลัยก็เป็นหนทางหนึ่งที่หลายคนเลือกทำเพื่อผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย การนำพวงหรีด ที่ทำจากดอกไม้ไปร่วมไว้อาลัยผู้ตายในงานศพจึงกลายเป็น ธรรมเนียมนิยมเรื่อยมา
คำว่า “หรีด” เป็นการเรียกทับศัพท์คำในภาษาอังกฤษว่า “wreath” ที่แปลว่า ‘พวงมาลัย’

แต่ปัจจุบันผู้คนเริ่มเห็นปัญหาที่เกิดจากพวงหรีดดอกไม้สดมากขึ้น ทั้งจากราคาที่แพงเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ ดอกไม้ที่มีการฉีดสารฟอร์มาลิน เพื่อให้ดอกไม้คงอยู่ได้นาน แต่กลับเป็นอันตรายต่อผู้ที่ได้สูดดมเข้าไป และเมื่อเสร็จงานก็กลายเป็นขยะดอกไม้กองโตที่เป็นภาระของวัดในการกำจัด วัดชลประทานรังสฤษฎ์ โดยการนำของหลวงพ่อปัญญา จึงได้มีการรณรงค์ให้นำต้นไม้มาใช้แทนพวงหรีดดอกไม้ เพราะสามารถนำไปปลูกเพื่อความร่มรื่นของวัดได้ต่อไป

นอกจากพวงหรีดดอกไม้ พวงหรีดต้นไม้แล้ว ยังมีพวงหรีดที่นำผ้าห่มหรือผ้าขนหนูมาจัดทำในรูปแบบต่างๆ เช่น รูปพานพุ่มดอกไม้ รูปนกยูง เป็นต้น หรือพวงหรีดที่นำดอกไม้จันทน์มาสร้างสรรค์รูปแบบให้ดูสวยงาม รวมถึงพวงหรีดรูปแบบใหม่ๆที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลังจบงานแล้ว อาทิ พวงหรีดหนังสือ พวงหรีดพัดลม พวงหรีดจักรยาน พวงหรีดนาฬิกา และล่าสุดได้มีผู้คิดทำ ‘พวงหรีดสังฆทาน’ ซึ่งมีทั้งความแปลกใหม่ สวยงาม และสามารถนำ ไปใช้ประโยชน์ได้ดี

• ที่มาของไอเดีย‘พวงหรีดสังฆทาน’
‘ดิษฐพงษ์ เจริญลาภ’
อาจารย์โรงเรียนหนองแซงวิทยา สระบุรี คือเจ้าของไอเดียดังกล่าว จากความชอบในเรื่องของ การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆเพื่อนำมาใช้สอนเด็กๆในชั้นเรียน ทำให้อาจารย์ดิษฐพงษ์เป็นนักประดิษฐ์ที่มีผลงานต่างๆ ออกมามากมาย และเมื่อวันหนึ่งเขาได้ไปร่วมฟังสวดในงานศพ และสังเกตพวงหรีดที่ทำจากวัสดุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง ผ้าห่ม หรือนาฬิกา ล้วนแต่เป็นสิ่งที่นำมาใช้ประโยชน์ได้น้อย และส่วนมากต้องทิ้งไปภายหลัง
จากเสร็จงาน เขาเลยมีความคิดว่าน่าจะลองทำพวงหรีดที่ประดิษฐ์จากข้าวของเครื่องใช้ต่างๆเพื่อให้เจ้าภาพหรือทางวัดสามารถนำมาใช้งานต่อได้ จึงเป็นที่มาของ‘พวงหรีดสังฆทาน’ ซึ่งทำมาจากเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ช้อน ส้อม ทัพพีตักข้าว ยาสามัญประจำบ้าน ธูป เทียน หรือไม้ขีดไฟ

“คือผมมองว่าพวงหรีดส่วนใหญ่นำมาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ทั้งที่ราคาค่อนข้างสูง ตกอันละ 700-1,000 บาท พอเลิกงานทางวัดก็ต้องเก็บไปทิ้ง กลายเป็นขยะรกวัด คือถ้าเป็นผ้าห่มก็ยังพอเอาใช้ได้บ้าง แต่พวกนาฬิกาแขวนผนังผมว่ามันเกินความจำเป็น เพราะทุกวัด ทุกบ้าน ก็ต้องมีนาฬิกาอยู่แล้ว ยิ่งเป็นดอกไม้ยิ่งแล้วใหญ่ เสร็จงานก็ต้องทิ้ง อย่างเดียว แต่ถ้าเราสามารถทำให้พวงหรีดราคาหลายร้อยบาทสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ก็น่าจะเป็นผลดีต่อทั้งผู้ให้และผู้รับ รวมถึงทางวัดที่ใช้เป็นสถานที่จัดงานด้วย

ผมก็เลยมานั่งคิดว่า เอ...ข้าวของเครื่องใช้อะไรที่แต่ละวัดจำเป็นต้องใช้ เลยนึกถึงพวกถ้วย ชาม จาน ช้อน เพราะเวลามีงานต่างๆญาติโยมก็จะมาขอยืมของวัด แต่ตอนคืนมักจะส่งคืนไม่ครบเพราะหลงลืมหรือเกิดแตกหักเสียหาย เลยปิ๊งไอเดียขึ้นมา แต่การจะนำจาน ชาม มาทำพวงหรีดก็ดูจะยากเกินไป เลยเลือกเอาช้อน ส้อม ทัพพี ซึ่งมันจัดแต่งง่ายกว่ามาทำ ปรากฏว่าได้รับความนิยมมาก คือเจ้าภาพ ที่ได้รับเขาก็ชอบใจ พอเสร็จงานก็เอาไปถวายวัด ได้บุญอีกต่อหนึ่ง ส่วนหลวงพ่อที่วัดท่านก็ชอบ เพราะของพวกนี้ ท่านใช้ประโยชน์ได้ ตอนหลังก็เริ่มมีพวกธูป เทียน ไม้ขีดไฟ และยาสามัญประจำบ้านเพิ่มเข้ามา” อาจารย์ดิษฐพงษ์ เล่าถึงที่มาของไอเดียสุดเก๋

• ไม่ขัดกับประเพณี
แต่ทั้งนี้ ก่อนที่จะลงมือทำ ‘พวงหรีดสังฆทาน’ นั้น อาจารย์ดิษฐพงษ์ก็ยังไม่มั่นใจว่าพวงหรีดรูปแบบนี้จะขัดกับหลักของพุทธศาสนาหรือประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิมหรือไม่ เขาจึงไปปรึกษากับพระเถระหลายวัดในจังหวัดสระบุรี ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าสามารถทำได้ ไม่ขัดกับประเพณีหรือศาสนา แต่อย่างใด เพราะแต่ไหนแต่ไรมาก็ไม่เคยมีบัญญัติว่าพวงหรีดจะต้องมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร อีกทั้งสิ่งที่นำมาประกอบเป็นพวงหรีดสังฆทานนั้น ก็ล้วนแต่เป็นของใช้จำเป็น และมีประโยชน์ทั้งสิ้น
“ผมก็กลัวว่า เอ..ทำออกมาแล้วจะมีปัญหาหรือเปล่า ก็เลยปรึกษาพระผู้ใหญ่และบรรดาผู้สูงอายุในหมู่บ้านนะว่าทำพวงหรีดแบบนี้ผิดไหม เขาก็บอกไม่น่าผิดนะ แต่เพื่อความแน่ใจผมเลยไปปรึกษาเจ้าอาวาสที่วัดแถวบ้าน 4-5 วัด แล้วก็ไปเรียนถามเจ้าคณะอำเภอ ท่านก็บอกไม่น่าผิดนะ เพราะเรื่องนี้ไม่มีบัญญัติในพุทธศาสนา แล้วทำพวงหรีดลักษณะนี้ก็ดี พระและชาวบ้านจะได้นำไปใช้ได้ ดีกว่าเอาไป ทิ้ง ก็เลยเป็นพวงหรีดสังฆทานอย่างที่เห็นตั้งแต่นั้นมา”

• มีให้เลือกนับร้อยแบบ
แม้ว่าการทำพวงหรีดสังฆทานจะใช้เวลานานกว่าพวงหรีด ทั่วไป และมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยาก แต่ปัญหานี้ก็ไม่เกินความ พยายามของอาจารย์หนุ่มแห่งโรงเรียนหนองแซงวิทยา โดยเริ่มจากการออกแบบโครงร่าง ลองจัดวางข้าวของเครื่องใช้ เช่น ช้อน ทัพพี ธูป เทียน ยาหม่อง ยาดม ให้ออกมาเป็นรูป ที่กำหนด เลือกใช้กระด้งเป็นฐานรอง แล้วใช้หนังยางรัดเครื่องใช้ต่างๆให้ติดกับกระด้ง ซึ่งบางจุดก็อาจจะใช้ด้ายเอ็น เย็บติดอีกที จากนั้นก็ใช้หลอดกาแฟสอดทับลวดร้อยเป็นหู และตกแต่งด้วยกระดาษสีดำ เพื่อใช้สำหรับเขียนชื่อแขกซึ่งเป็นเจ้าของพวงหรีด เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ แต่หากต้องการสร้างสีสันให้แก่พวงหรีดที่ประดับหน้าศพในยามค่ำคืน ก็มีบริการติดหลอดไฟกะพริบแถมให้ด้วย
ปัจจุบันรูปแบบพวงหรีดสังฆทานของอาจารย์ดิษฐพงษ์ มีกว่า 100 แบบ อาทิ ผีเสื้อ นกยูง ไดโนเสาร์ มังกร และเรือไฟ ฯลฯ โดยแบบต่างๆนั้นเขาจะศึกษามาจากหนังสือหรือ อินเตอร์เน็ต ซึ่งเขาบอกด้วยความภาคภูมิใจว่าไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็สามารถทำได้หมด ล่าสุดพวงหรีดสังฆทานได้รับรางวัลเหรียญทองแดง หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม ของคุรุสภาประจำปี 2550 ซึ่งเป็นเครื่องการันตีถึงไอเดียอันสุดยอดของเจ้าของผลงาน
“แบบที่เราทำเป็นแบบแรกเลยคือรูปผีเสื้อ ก็ทดลองอยู่เป็นเดือนเหมือนกันกว่าจะเข้าที่เข้าทาง คือยากที่สุดตอนเย็บ เครื่องใช้ให้ติดกับกระด้ง โดยเฉพาะพวกช้อน ส้อม ทัพพีเนี่ย ยากมาก เพราะเวลาวางลงไปแล้วมันเลื่อนได้ตลอดเวลา ต้องยึดหัวยึดท้ายให้แน่น เย็บติดทีละอัน กว่าจะเย็บให้ออกมาเป็นรูปต่างๆได้ เล่นเอาเหนื่อย แต่พอทำไปสักพักก็เริ่มชำนาญ”

• ถูกกว่าพวงหรีดทั่วไปหลายเท่าตัว
ถึงแม้ขั้นตอนการทำพวงหรีดสังฆทานนั้นจะยากลำบาก กว่าพวงหรีดดอกไม้สด แต่สนนราคากลับถูกกว่าหลายเท่า คือในขณะที่พวงหรีดดอกไม้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่พวงละ 700-1,200 บาท แต่พวงหรีดสังฆทานราคาเพียง 200-500 บาทเท่านั้น อีกทั้งอุปกรณ์ที่นำมาใช้ก็ล้วนแต่เป็นวัสดุเกรดดีมีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
“บางคนก็สงสัยว่าทำไมพวงหรีดเราราคาถูก ทั้งที่เราใส่ข้าวของลงไปเยอะมาก อย่างพวงหรีดช้อนหรือส้อมนี่พวงหนึ่งจะใช้ช้อนหรือส้อมประมาณ 4-5 โหล แล้วก็เป็นช้อน สแตนเลสอย่างดี คำตอบง่ายๆก็คือเราไม่ได้เอากำไรมาก นอกจากค่าของแล้วเราบวกกำไรแค่ 50 บาทต่อพวง ราคาขายจึงอยู่ที่ 200-300 บาท แต่ถ้ามีไฟกะพริบเราก็จะบวกราคา เพิ่มอีกพวงละ 100 บาท เราอยากให้เป็นราคาที่ชาวบ้านสามารถซื้อหาได้ เพราะในต่างจังหวัดเนี่ยชาวบ้านส่วนใหญ่ ทำไร่ทำนา เขาก็มีรายได้ไม่มากนัก ถ้าเราเอากำไรเยอะเขาก็ ซื้อไม่ไหว
และผมมีกฎว่าจะไม่เปิดหน้าร้านและไม่มีการขายส่ง เพราะเราไม่สามารถควบคุมได้ว่าร้านที่รับสินค้าเราไปจำหน่าย นั้นต้องตั้งราคาเท่านั้นเท่านี้ ถ้าเขารับไปแล้วไปบวกกำไรเยอะๆมันก็เสียคอนเซ็ปที่เราตั้งใจไว้ เสียชื่อสินค้าเรา และที่ไม่มีหน้าร้านเพราะผมไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ ไม่ได้หวังกอบโกย กำไร แค่อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ดีๆออกสู่ตลาด ให้วัดและ
ชาวบ้านได้ใช้ของที่มีประโยชน์และคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป
ส่วนใครจะเอาสังฆทานที่ผมผลิตไปลอกเลียนแบบแล้วผลิต ขาย ก็ไม่เป็นไร ผมไม่หวงลิขสิทธิ์ เพราะผมไม่ได้ทำเพื่อการค้าอยู่แล้ว ส่วนกำไร 50 บาทที่ว่านี่ก็เป็นค่าขนมให้เด็กๆ ที่มาช่วยเราผลิต” อาจารย์ดิษฐพงษ์ยืนยันถึงปณิธานในการผลิตผลงานของตน

• ฝึกวินัยให้เด็ก สร้างรายได้ให้ชุมชน
เป้าหมายอย่างหนึ่งในการผลิตพวงหรีดสังฆทานของอาจารย์หนุ่มผู้นี้ก็คือการสร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน และฝึกเด็กๆให้มีความรับผิดชอบ รู้จักช่วยเหลือตัวเอง และ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ดังนั้น เขาจึงดึงเด็กๆในโรงเรียน หนองแซงวิทยามาช่วยประดิษฐ์พวงหรีดดังกล่าว โดยให้ค่า ตอบแทนเป็นรายชิ้น เด็กคนไหนขยันก็ได้ค่าตอบแทนมาก ซึ่งนอกจากเด็กๆจะสนุกกับการช่วยกันประดิษฐ์ชิ้นงานแล้ว ยังมีรายได้ไปเป็นค่าขนม และยังสามารถนำความรู้ดังกล่าว ไปใช้ทำมาหากินได้ในอนาคตอีกด้วย
ทั้งยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เพราะพวงหรีดสังฆทานนั้นใช้กระด้งซึ่งมาจากฝีมือผู้สูงอายุเป็นวัสดุหลัก เมื่อพวงหรีดมีออร์เดอร์เข้ามามาก คนเฒ่าคนแก่ในบ้านหนองแซงก็มีรายได้เพิ่มขึ้นตาม ไปด้วย
“เด็กสมัยนี้มีสิ่งล่อตาล่อใจเยอะ ถ้าว่างเด็กๆเขาก็จะไป เล่นเกมตามร้านอินเตอร์เน็ต ผมก็เลยคุยกับพวกดื้อๆว่าถ้าเสาร์-อาทิตย์เธอว่างนะไม่ต้องไปเล่นเกม มาทำงานกับครู ครูมีค่าขนมให้ เด็กหลายคนก็สนใจมาฝึกกับเรา พอเด็กเขา มาทำงานด้วยกันหลายๆคนมันก็สนุก ได้เจอเพื่อน ไม่ต้องนั่งเหงาอยู่บ้าน แล้วยังได้ค่าขนมด้วย
สิ่งเหล่านี้มันจะช่วยหล่อหลอมในเรื่องระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ นอกจากจะไม่มีเวลาไปมั่วสุมเล่นเกมหรือเสพยาแล้วเนี่ย เขาก็ยังเกิดความภาคภูมิใจว่าเขาสามารถ หารายได้ด้วยตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง พอเด็กเขาเห็นคุณค่าของตัวเองแล้วก็จะกลายเป็นเด็กรักเรียนไปโดยปริยาย คือมันเป็นการสอนทางอ้อมนะ มันจะซึมซับเข้าไปโดยเขาไม่รู้ตัว”
.......
แนวคิดดีๆเช่นนี้นับเป็นสิ่งที่น่าส่งเสริมอย่างยิ่ง และนอกจากจะมีพวงหรีดที่เป็นแบบไทยๆแล้ว อาจารย์ดิษฐพงษ์ ยังได้ทำพวงหรีดที่เป็นแบบจีนด้วย โดยใช้ชื่อว่า “พวงหรีดร่วมบุญไทย-จีน” โดยวัสดุที่ใช้ทำนั้นจะเป็นพวกแบงก์กงเต๊ก ทองแท่ง ชุดชายหญิง เป็นต้น ซึ่งหากผู้ใดสนใจงานพวงหรีด สังฆทาน ก็สามารถติดต่อไปได้ที่โทร. 08-1793-7640 ซึ่งนอกจากจะได้ของดีราคาถูกแล้วยังเป็นการสร้างรายได้ให้เด็กๆอีกด้วย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 88 มี.ค. 51 โดยจินดาวรรณ)









กำลังโหลดความคิดเห็น