xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์แห่งมหาจาตุรงคสันนิบาต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ นี้ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง คือวันมาฆบูชา คือ การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือน ๓ ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทย ถือว่าเป็นวันที่มีการบูชา และบำเพ็ญบุญกุศลเป็นกาลพิเศษ เพราะเป็นวันแรกของการแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ของพระพุทธเจ้า

ย้อนหลังไป ๒๕๙๕ ปี (๒๕๕๐+๔๕) อันเป็นปีแรกของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และเป็นปีแรกของการประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ โดยมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นกษัตริย์ปกครอง ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร อันเป็นวันเพ็ญเดือน ๓ ได้มีเหตุบังเอิญให้เป็นไปในบ่ายของวันนั้น พระสงฆ์สาวกที่พระพุทธองค์ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาในที่ต่างๆ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ได้มาประชุมเฝ้าโดยพร้อมเพรียงกัน พระพุทธเจ้าทรงถือเป็นโอกาสพิเศษประกาศหลักพระพุทธศาสนา คือ พระธรรมและวินัย เรียกว่า “โอวาทปาฏิโมกข์” มีใจความว่า

“การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขันติ คือ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพาน เป็นบรมธรรม ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้ที่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งที่นอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”


ในคาถาบทแรกที่ว่า “ไม่ทำความชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตให้ผ่องใส” นั้น ท่านเรียกว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไตรสิกขา นั่นเอง อันเป็นการประมวลหลักคำสอนให้ย่นย่อที่สุด และใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ และเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปพร้อมกัน คือไม่ว่าพระสาวกรูปใดจะปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ก็ต้องดำเนินไปตามธรรม ๓ ประการนี้ และแม้แต่การประกาศพระศาสนา ก็ต้องเป็นไปตามธรรม ๓ ประการนี้ เช่นกัน

การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสาวกครั้งนี้ ก็เท่ากับเป็นการตอบ คำถามของพระสาวกที่มาประชุมกัน โดยทุกรูปคิดว่า ในวันนี้พระพุทธเจ้าจะทรงแสดงธรรมอะไร ซึ่งความจริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่ต้องแสดงธรรมอะไรเลยก็ได้ เพราะพระสาวก ที่มาประชุมกันนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น ไม่มีกิจที่จะต้องทำหรือปฏิบัติ เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว

แต่ที่พระองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ก็เพื่อวางแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นแบบแผนอันเดียวกัน อันจะทำให้การประกาศพระศาสนาเป็นเอกภาพ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ หรือทำตามพอใจของตน

อนึ่ง ในความเข้าใจของทั่วไปนั้นมักเข้าใจกันว่า เมื่อเป็นพระอรหันต์หมดสิ้นกิเลส ก็ไม่ต้องทำกิจอะไรอีกแล้ว เสวยวิมุติสุขไปวันๆ ไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับชาวโลก ข้อนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์เลย เพราะเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วก็ต้องทำกิจ คือเป็นผู้ประกาศพระศาสนา หรือที่เรียกกันว่าเป็นผู้ส่องประทีปให้ผู้อื่นเห็นธรรม เพราะฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระพุทธประสงค์ในอันที่จะให้พระสาวกได้ช่วยกันประกาศพระศาสนานั่นเอง และการบรรลุพระอรหันต์ ก็ไม่ใช่เป็นการเอาตัวรอดเฉพาะตน แต่ต้องประพฤติตนอนุเคราะห์สัตว์โลกด้วย

ในวันที่พระพุทธเจ้าทรงวางหลักของพระพุทธศาสนาคราวนี้ มีเหตุการณ์มิได้คาดหมายอันเป็นความมหัศจรรย์เกิดขึ้น ๔ ประการ คือ

๑.พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ที่มาประชุมกันล้วนเป็นพระอรหันต์ ปฏิสัมภิทาญาณ

๒.พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า โดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

๓.พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

๔.พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นการแสดงหัวใจพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง


องค์ประกอบ ๔ ประการนี้ จึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ที่พระพุทธเจ้าทรงถือโอกาส แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นการวางรากฐานของพระพุทธศาสนาดังกล่าวมาแล้ว จึงควร ที่เราชาวพุทธจะน้อมนำธรรม และเหตุการณ์ในวันนั้นมาเป็นอนุสติ ยังจิตของตนให้ผ่องใส ควรแก่ประโยชน์ทางใจต่อไป

ในหลักธรรมที่ว่า “การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี” นั้นแสดงว่า พระพุทธศาสนาไม่เพียงสอนให้คนละความชั่วเท่านั้น แต่สอนให้ทำความดีด้วย เพราะเพียงการไม่ทำชั่วยังถือว่าไม่ได้ทำความดีอย่างสมบูรณ์ จะเป็นคนดีสมบูรณ์ได้ต้องทำความดี ด้วย และการทำความดียังไม่ใช่สุดยอดของพระพุทธศาสนา ดังนั้น ต้องทำจิตให้ผ่องใส ด้วย คือ ความหลุดจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง อันเป็นความบริสุทธิ์เป็นคุณที่นิยมในพระพุทธศาสนา

การที่ทรงยกเอาขันติขึ้นมาตรัสสอนนั้น ก็เป็นการแสดงถึงธรรมคำสั่งสอนของพระองค์นั้น เป็นไปเพื่อความอดทนอดกลั้นต่อภาวะเย็น ร้อน หิว กระหาย อดทนต่อคำ ให้ร้ายใส่ความ ด่า ว่า และทุกขเวทนาอันแรงกล้า อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น

ที่ตรัสว่า นิพพานเป็นบรมธรรมนั้น แสดงผลของการปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาเป็น อย่างสูง คือ ทำไม่ให้ติดข้องอยู่ในกิเลสตัณหาเครื่องร้อยรัดทั้งปวง

ข้อที่ตรัสว่า ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้ที่เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ เป็นการยืนยันว่าศาสนธรรมคำสอนของพระองค์เป็นไปเพื่อความมีจิตเมตตาในสัตว์ทั้งปวง

ข้อที่ตรัสว่า การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย แสดงให้เห็นว่า การพูดจาให้ร้ายหรือทะเลาะวิวาทกันก็ดี การต่อสู้ทำร้ายกันก็ดี ไม่เป็นการดีต่อใครทั้งนั้น ตรงกันข้ามกลับเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคมที่ผู้ประพฤติธรรมไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง

ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ก็คือการปฏิบัติอยู่ในศีล

ข้อที่ตรัสถึงความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ก็เป็นการแสดงถึงความไม่เห็นแก่ปากแก่ท้องที่อยากจะกินอะไรก็กินไปตามใจชอบ ทั้งๆ ที่อาหารบางอย่างนั้นเป็นโทษต่อร่างกาย และจิตประสาท เป็นต้น

ข้อที่ตรัสว่า ที่นั่งที่นอนอันสงัด ก็คือยินดีในที่ที่สงบเงียบ แต่ลำพังความสงบเงียบภายนอกยังไม่พอ ยังต้องมีความสงบภายในจิตด้วย เพราะตราบใดที่ใจยังแส่ไปในอารมณ์ อันไม่เป็นที่รัก จิตก็วุ่นวายด้วยความโกรธ ชิงชัง สร้างตัวละครแห่งความเกลียดโกรธให้เกิด ขึ้นในใจตลอดเวลา จนนอนไม่หลับ หรือจิตแส่ไปในอารมณ์รัก จิตก็จะวุ่นวายไปด้วยตัวละครที่สร้างขึ้นในมโนภาพจนนอนไม่หลับ

พระองค์จึงตรัสข้อสุดท้ายว่า ต้องทำความเพียรเพื่อให้จิตสงบอย่างยิ่งเป็นอธิจิต คือจิตที่ยิ่งใหญ่ คือความสงบระงับจากความวุ่นวาย นั่นเอง

ทั้งหมดนี้ ก็เป็นธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ จะเลือกหยิบข้อไหนมาปฏิบัติก็ดีทั้งนั้น ขอเพียงอย่าให้วันมาฆบูชาเป็นวันที่เปล่าประโยชน์สำหรับเราชาวพุทธเลย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 87 ก.พ. 51 โดย ธมฺมจรถ)
กำลังโหลดความคิดเห็น