xs
xsm
sm
md
lg

‘ครูแอ๋ว’ อรชุมา ยุทธวงศ์ กับชีวิตเรือจ้างมากสีสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิถีอันจำเจของชีวิต ‘ครู’ ผู้เปรียบเสมือนเรือจ้างทำ หน้าที่รับส่งผู้คนทั่วสารทิศจากอีกฝั่งไปยังอีกฝั่งโดยมิได้คาดหวังว่าวันใดผู้คนมากมายที่ครูพาขึ้นฝั่งจะหวนกลับมาทักทายกันอีกหรือไม่ในอนาคต หากทำได้เพียงแค่ส่ง คนเหล่านั้นจากไปจนลับตาและหวังในใจลึกๆว่าทุกคนที่จากเรือจ้างลำนี้ไปคงมีเส้นทางเดินข้างหน้าที่สดใสรออยู่แน่นอน

ทว่าภาระหน้าที่ชีวิตแม่พิมพ์ของชาติตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีของ รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์ หรือครูแอ๋ว กลับมาก ด้วยลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายมาช่วยเติมเต็มให้การเป็นครูมีความหมายมากกว่าการประสิทธิ์ประศาสน์วิชา หากเป็นการอบรมบ่มเพาะจิตวิญญาณในอาชีพเข้าไปด้วย

สุภาพสตรีวัย 60 ปีคนนี้ ถ่ายทอดแรงบันดาลใจดีๆที่ได้รับจากการเป็นครูสอนการแสดง ซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุ 22 ปี ณ ภาควิชาการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นจึงตัดสินใจปิดฉากอาชีพข้าราชการครูนาน 25 ปี และเกษียณตัวเองในวัยสี่สิบปลายๆ เพื่อเปิดฉากชีวิต ครูอีกครั้งกับ ‘คนละครสตูดิโอ’ โรงเรียนสอนศิลปะการละคร เพื่อค้นพบตัวตนและความสามารถด้านการแสดงออก และกว่า 13 ปี สถานที่แห่งนี้ได้เป็นห้องเรียนฝึกฝนทักษะดารา นักร้อง นักแสดงมากหน้าให้กลายเป็นดาวประดับฟ้า ไปหลายต่อหลายคนเช่นกัน

ครูแอ๋ว อธิบายถึงความสำคัญในศาสตร์ของการแสดงที่มิใช่เรื่องง่ายๆเหมือนอย่างที่คิดว่า

การแสดงเป็นเรื่องของชีวิต จิตใจ และอารมณ์ ซึ่งมีส่วนคล้ายกับศาสนาตรงที่เวลาเล่นละคร ต้องตั้งสมาธิและทำจิตใจให้นิ่ง ไม่ใช่แค่ออกมากรี๊ดกร๊าดตบซ้าย ตบขวาเหมือนอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะเล่นละครก็เป็นศัพท์ที่ให้ความหมายเหมือนเป็นการแกล้งทำ แต่ต้องเข้าใจ ว่าการเล่นละครเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งที่ทำให้ได้รู้จักกับอารมณ์ ฉะนั้นการอยู่ในอาชีพนักแสดงให้สัมฤทธิ์ผลต้องมีสามคน ในร่างเดียว ตัวตนที่หนึ่ง คือ ตัวจริงของเรา ไม่ว่าจะร้ายกาจ บ้าบอ หรือกำลังอินเลิฟ เพราะเป็นตัวจริงที่สามารถปรับได้ ด้วยตัวเองซึ่งต้องดูแลตัวนี้ให้ดีที่สุด

ส่วนตัวตนที่สอง คือ หน้าที่ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพึงกระทำต่อ หน้าสาธารณชน ถ้าเป็นนักแสดง นักร้องที่อยู่บนเวที ต้องให้สัมภาษณ์ อยู่กับแฟนคลับ หรือเข้าสังคม ต้องเรียนรู้ที่จะกำหนดสภาวะอารมณ์ของตัวเองให้เหมาะสม สุดท้ายตัวตนที่สาม ต้องถือว่าไม่ได้เป็นตัวเอง แต่กำลังสวมบทบาท ของบุคคลที่สามในหนังในละคร ซึ่งต้องอาศัยการใช้สมาธิในการปรับเปลี่ยนตัวเองสูง และไม่ว่าจะต้องกลายร่างเป็นใครก็ตามแต่ เมื่อหลุดออกจากบทบาทนั้นๆ ก็ต้องกลับมาเป็นตัวเองได้อย่างเดิม ไม่หลงไปกับบทบาทของตัวละคร เรียกได้ว่าผู้ที่เรียนการละครเป็นคนที่ได้ผ่านการฝึกจิตมา พอสมควรในแง่ที่ว่า ณ เวลานี้ฉันได้อยู่ตรงนี้ ต้องรู้จักการ อยู่กับปัจจุบัน แล้วทำให้ดีที่สุด จากนั้นก็เชื่อมต่อกันไปให้กลายเป็นภาพรวมที่ดี” ครูแอ๋วบอกเล่าทฤษฎีเฉพาะตัว

และยังได้เปรียบวิธีการสอนของตัวเองเป็นเหมือนช่างตัดเสื้อที่ต้องวัดสัดส่วนเสื้อผ้าแต่ละตัวให้พอดีกับผู้ใส่ ไปจนถึงคอยปรับปรุงแก้ไขถ้าเสื้อผ้าสวมใส่แล้วไม่พอดีตัว

“การติวการแสดงหรือการแสดงออกของแต่ละคนเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลในแง่ของอาชีพไม่ว่าจะเป็นนางแบบ นายแบบ นักแสดง นักร้อง พิธีกร ผู้ประกาศข่าว ซึ่งแต่ละคนมีทิศทางแตกต่างกัน แต่เมื่อชัดเจนแล้วว่าตัวเองต้องรับบทบาทใดก็สามารถติวเข้าสู่บทเรียนได้อย่างรวดเร็ว เมื่อได้ข้อมูลอย่างชัดเจนแล้วก็จะทำงานกันตัวต่อตัว

ในความเป็นครูนอกจากจะชี้แนะแนวทางกับผู้อื่นแล้วยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันอีกด้วย ถึงได้เปรียบตัวเองเหมือน ‘คนตัดเสื้อ’ ซึ่งช่วยปรับตัวตนให้เขา สามารถนำแต่ละบทบาทไปใช้งานได้ถูกต้องเหมาะสม ที่สำคัญยังสามารถติดตามพัฒนาการของลูกศิษย์แต่ละคนได้จากผลงานการแสดงของเขาในภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น และยังได้เห็นผลตอบรับจากประชาชนว่าชื่นชอบผลงานของนักแสดงที่ผ่านการติวการแสดงไปแล้วมากน้อยแค่ไหนด้วย”

ด้วยความที่ศาสตร์การละครเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้อารมณ์ มาผสมในการทำงานเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นจึงมีการปรุงแต่งจิตใจทำให้มีอารมณ์วูบวาบ อ่อนไหวมากกว่าคนธรรมดา เหตุนี้เธอจึงมักหยิบฉวยนำพระธรรมคำสั่งสอนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตเสมอ

ครูแอ๋วเชื่อในธรรมะจัดสรร เมื่อถึงเวลาที่พร้อมทุกอย่างจึงจะเกิดได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด แม้ว่าทุกวันนี้หลายอย่างอาจจะดูขาดๆเกินๆ แต่เชื่อว่าชิ้นส่วนทั้งหลายที่ได้เรียนรู้จะเป็นภาพรวมได้ในที่สุด ส่วนตัวก็ไม่ใช่คนธัมมะธัมโมอะไรมากมาย แต่อยากดูแลจิตใจให้ดีมากกว่า เพราะศาสตร์ที่ต้องศึกษาเป็นเรื่องของอารมณ์ เลยอยากจัดสรรอะไรที่มันลงตัวได้ สำหรับตัวเอง ธรรมะคือความสบายใจ ความสุข และความพอดี แต่ถ้าพูดถึงความสนใจเรื่องธรรมะก็มีมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งปฏิบัติตามพุทธศาสนิกชนปกติ เช่น ไหว้ พระ สวดมนต์ ทำบุญ จำได้ว่าคุณทวดเคยเล่าให้ฟังว่านั่งสมาธิ เพ่งเทียนที่วัดต่างจังหวัด แต่ตอนนั้นเป็นเด็กก็ยังไม่ เข้าใจว่าคืออะไร พอเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 ถึงได้มีโอกาสไปลองนั่งสมาธิกับชมรมพุทธศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้จริงจังมาก มาย เพียงแค่อยากลองเท่านั้นเอง

จนเมื่อ 20 ปีก่อนก็มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมในคอร์สของ คุณแม่สิริ กรินชัย แล้วก็ชอบมากที่ไม่ต้องพูดกับใคร ได้อยู่ นิ่งๆ กับตัวเอง แต่ว่าร่างกายไม่พร้อม เพราะว่าไม่ได้เตรียม ตัวเรื่องงดมื้อเย็น แต่ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติธรรมครั้งนั้นเรื่องที่ได้จะเป็นเรื่องของอารมณ์ และสมาธิ ต่อมาก็สนใจ เรื่องกายกับใจในการใช้ชีวิต ไปจนถึงเรื่องความสุขที่เป็นตัวแก่นแท้ จวบจนวันนี้ก็หาโอกาสไปนั่งสมาธิเป็นประจำ ส่วนใหญ่จะนัดไปเป็นกลุ่มๆ กับเพื่อนๆ แล้วก็พยายามนั่งสมาธิทุกวันที่บ้านด้วย”

เธอบอกว่า สำหรับตัวเองความสุขเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะความสุขทางใจ ความพอใจ เพราะถ้าเราพอใจเพียงพอแล้ว ตัวเราก็จะเป็นหน่วยที่นิ่งๆไม่ปะทะกับปัจจัยภาย นอกอย่างอื่นทำให้จิตใจไม่กระเพื่อม ซึ่งส่งผลดีให้กับตัวเราในที่สุด

“เป็นคนชอบอยู่กับความพอดี ความลงตัว แต่ก็เหลือเชื่อมาก ตรงที่ยิ่งเรารู้สึกว่าเราพอแล้วเรากลับยิ่งได้ ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่เคยต้องการอยากได้ อยากมี อยากเป็น แต่ปรากฏว่าใน 15 ปีที่ผ่านมาไม่เคยได้ไปของานใครทำแล้ว งานมาเองแล้วก็สนุก และพิเศษทุกชิ้น ทุกวันนี้ก็เลยต้องสวดมนต์ขอบคุณตลอดเวลา เพราะรู้สึก ว่าทุกอย่างที่ได้เป็นเหมือนโบนัสของชีวิต เหมือนว่าพอเรา นิ่งแล้ว หรือรู้สึกว่าอิ่มแล้ว แต่ก็ได้สิ่งดีๆเพิ่มเข้ามาตลอดเวลา จนต้องไหว้พระแล้วก็ขอบคุณเบื้องบนเสมอ แล้วสุดท้ายก็ต้องคอยสำรวจตัวเองด้วยว่ายังต้องขัดเกลาอีกเรื่อยๆ เพราะรู้สึกสิ่งที่ได้รับทุกวันนี้มากมายมากกว่าสิ่งที่ตัวเราได้ทำเหลือเกิน”

ในฐานะขึ้นชื่อเป็นครูบาอาจารย์ในแวดวงการแสดง ครูแอ๋วถือโอกาสฝากมุมมองสำหรับผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าในแวดวงมายา กระทั่งดารา ศิลปินมืออาชีพว่าควรมีคุณสมบัติ และพึงปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อจะได้คงความเป็นดาวพราวแสงอยู่บนท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาลได้ยาวนาน

“ยิ่งรู้ว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่คนจับจ้องสูง ก็ยิ่งต้องรู้จักทั้งดูแลตัวเอง ผลงานของเรา และคนดูของเรา และควรสมดุลตัวตนทั้งสามส่วนให้ได้เสมอ คือ ตัวเราเวลาทำงาน งานที่เราทำ แล้วก็ผู้รับชม เพราะว่าอาชีพนักร้อง นักแสดง ถ้าไม่มีมีคนดูก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่ตั้งใจแสดงผลงานก็ออกมา ไม่ดี

ฉะนั้นตัวเราต้องตั้งใจจริง หมั่นฝึกฝนศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในสาขาอาชีพของตัวเอง ต้องไม่เพลิดเพลิน หลงใหลไปกับชื่อเสียงแล้วทำงานแบบชุ่ยๆ ที่สำคัญต้องไม่หลอกตัวเอง ต้องรู้ว่าแต่ละครั้งที่เราซ้อมละคร ทุกครั้งที่เราเล่นหนังเราพัฒนาตัวเองบ้างหรือเปล่า รู้ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร และสามารถตีความตัวละครได้ไหม ซึ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้อง ฝึกฝน

สุดท้ายต้องรับฟังคำวิจารณ์แต่ไม่สะเทือนจนซวนเซ และควรรู้ว่าสิ่งที่เราทำไปคนดูมีการตอบรับยังไง ไม่ใช่เล่น จบแล้วก็แล้วกัน แต่ต้องแคร์กับงาน ผลลัพธ์ของงาน อย่าดูถูกคนดู เพราะการรู้จักพัฒนาตัวเอง และคิดว่าทุกงานเป็น ของใหม่และท้าทายความสามารถเสมอ ทำให้เรารู้จักกระตือรือร้น หากจัดการทุกส่วนให้ลงตัวได้ตามนี้ ชีวิตในวง การมายาก็มีที่ว่างเสมอสำหรับทุกคนที่ตั้งใจจริง”

ถือเป็นบทสรุปจากปากคำครูผู้ปั้นดินให้เป็นดาวพราวแสงมาจนถึงปัจจุบัน

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 86 ม.ค. 51 โดย นันทยา)
กำลังโหลดความคิดเห็น