xs
xsm
sm
md
lg

ศ.ดร.ระพี สาคริก ครูผู้รักศิษย์และกล้วยไม้ดั่งชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนึ่งในปูชนียบุคคลในแวดวงการศึกษาและวงการกล้วยไม้ ผู้ได้รับยกย่องให้เป็น ‘บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย’ คือ ศ.ดร.ระพี สาคริก ซึ่งเป็นบุคคล ที่อุทิศตนเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมาไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นักวิจัยด้านการเกษตร นายกสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทย และผู้ทรงวุฒิของสถาบันการศึกษาต่างๆ

ด้วยผลงานการค้นคว้าวิจัยและส่งเสริมกล้วยไม้ในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านธุรกิจการส่งออก จนทำให้กล้วยไม้ไทยกลายเป็นสินค้าส่งออกด้านการเกษตรที่สำคัญของไทย อาจารย์ระพีจึงได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดทางวิชาการ ในปี พ.ศ.2511 และได้ รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในปี 2513 โดยไม่ต้องผ่านตำแหน่งผู้ช่วย และรองศาสตราจารย์ก่อน

ปัจจุบัน ในวัย 86 ปี แม้จะเกษียณอายุและวางมือ จากการงานประจำทั้งหลายทั้งปวงแล้ว อาจารย์ระพีก็ยังคงเดินหน้าไปบรรยายให้ความรู้แก่สถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเขียนบทความเรื่องราวต่างๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่อนุชนรุ่นหลัง ด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูผู้เสียสละ ที่ยังดำรงอยู่ไม่เสื่อมคลาย เพื่อยังประโยชน์
แก่ประเทศชาติ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ

และด้วยความที่ ‘ดอกกล้วยไม้’ เป็นดอกไม้วันครู ห้องสนทนาครั้งนี้ จึงไปสนทนากับ ศ.ดร.ระพี สาคริก ครูผู้รักศิษย์และรักกล้วยไม้เป็นชีวิตจิตใจ

• ทำไมถึงเลือกชีวิตการเป็นครูคะ

หลังจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ผมก็ได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ด้วยความที่ชอบงานภาคสนาม ชอบขุดดิน ปลูกต้นไม้จึงขอทำงานด้านวิจัยพันธุ์พืชไปอยู่ประจำมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ก็วิจัยพวกพันธุ์ข้าวพันธุ์ผัก รวมถึงกล้วยไม้ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมทุ่มเทให้มากที่สุด ทำอยู่ได้ 2 ปี ก็ย้ายกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมาเขาก็เลือกตั้งให้เป็นรอง อธิการบดีของเกษตรศาสตร์และอธิการบดีในเวลาต่อมา คือผมรู้สึกว่าการให้ความรู้กับคนอื่นๆ มันไม่ได้เกิดประโยชน์เฉพาะคนคนนั้นเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติด้วย ตอนนี้ถึงจะเกษียณแล้วก็ยังทำหน้าที่ของครูอยู่ ไปบรรยายบ้าง เขียนบทความต่างๆบ้าง คือมันเป็นความสุขอย่างหนึ่งของเรา

• อาจารย์มองว่าระบบการศึกษาของบ้านเราเป็นอย่างไรบ้างคะ

การจัดการศึกษาของไทยในช่วงที่ผ่านมานั้นมีปัญหามาก ส่งผลให้คนเราเห็นแก่ตัว บ้านเมืองก็พังหมด ผมนึกถึงคำของท่านพุทธทาสซึ่งพูดไว้ก่อนที่ท่านจะละสังขาร ท่านบอกว่า “ในอนาคตเมืองไทย คนจะเห็นแก่ตัวกันมาก เราจะเดือดร้อนกันหนัก” คือการสั่งสอนของครูบาอาจารย์นั้นถ้าคิดว่าฉันสอนเธอ มันไปไม่ไหวหรอก ต้องคิดว่าฉันเรียนจากเธอด้วย หรือถ้าบอกว่ารักลูกรักหลาน ก็จะรักแต่ลูกหลานตัวเอง ลูกหลานคนอื่นไม่รัก คนเราเป็นอย่างนี้กันเยอะ

ถ้าเราคิดว่าลูกศิษย์ก็คือลูกหลานของเรา เราก็จะให้แต่ความรักและสิ่งที่ดีๆแก่เขา สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากพ่อคือการรักลูกคนอื่นมากกว่าลูกตัวเอง คือลูกเราอยู่ใกล้ ให้แค่นี้ก็พอแล้ว ต้องให้ลูกคนอื่นมากกว่าเพราะเขาอยู่ไกล ผมเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำไมเด็กเรียกผมว่าพ่อทั้งมหาวิทยาลัย จนเดี๋ยวนี้เกษียณแล้วเด็กเขาก็ยังเรียกว่าพ่อ เรียกว่า ปู่กันอยู่ เพราะเราเห็นนักเรียนเป็นเหมือนลูกเหมือนหลาน

• นิยามของคำว่าครู ในความเห็นของอาจารย์ คืออะไรคะ

ในความเห็นของผม ผมมองว่า ‘ครู’ ไม่ได้หมาย ความเฉพาะบุคคลที่สอนตามสถานศึกษาเท่านั้น ผมว่าผู้ใหญ่ทุกคนเป็นครู เพราะบุคคลเหล่านี้คือต้น แบบของเด็กและเยาวชน เวลาที่เห็นเด็กมีปัญหาเราอย่าไปโทษเด็ก แต่ต้องหันไปดูผู้ใหญ่ในสังคมว่าบกพร่องเรื่องศีลธรรมหรือเปล่า อย่างผมเป็นครู มีเด็กๆมากินมานอนที่บ้าน ถ้าผมไม่รับผิดชอบต่อเขา ผมก็อาจจะทำตัวเละเทะได้ แต่ผมมองว่าถ้าเราทำตัวเสียหายเด็กเขาเห็น เขาจะรับเอาสิ่งไม่ดีเข้าไป ผมก็ไม่ทำ

• แสดงว่ามีลูกศิษย์มาพักอาศัยอยู่ด้วยเสมอๆ

ใช่ครับ ก็มีลูกศิษย์มากินมานอนที่บ้านอยู่เรื่อยๆตั้งแต่สมัยที่เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว จนเดี๋ยวนี้เกษียณมา 20 กว่าปีแล้ว ก็ยังมีลูกศิษย์มาพักที่บ้านอยู่ มีทั้งเด็กจากเกษตรศาสตร์และจากมหาวิทยาลัยอื่น เขาจะคุยกันประมาณว่าพวก เราไม่มีเงิน ไปกินข้าวบ้านคุณพ่อเถอะ มาถึงก็เข้าครัวทำกับข้าวกินกันเองเลย บางทีผมตื่นขึ้นมาตอนเช้า นอนกันเต็มเลย(หัวเราะร่วน) แล้วไม่ใช่เฉพาะคนไทยนะ ลูกศิษย์ที่เป็นคนต่างชาติก็เยอะ อย่างลูกศิษย์ชาวญี่ปุ่น เนี่ยมาสมัครเป็นลูกเลย

มีลูกศิษย์ของผมคนหนึ่งเขาบอกว่า คุณพ่อตอนนี้ ผมฐานะดีแล้ว ผมอยากจะช่วยคุณพ่อ ก็บอกเขาว่าจะให้พ่อไปขอเหรอ...พ่อไม่ขอหรอก อยากจะให้อะไรก็ให้เอง เวลานี้ผมมีรถยนต์ใช้ มีคนขับให้ ผมไม่ได้ซื้อ นะมีคนเขาให้มา คือพวกชาวสวนที่ปลูกกล้วยไม้เขานึกถึงบุญคุณที่เราให้ความรู้เรื่องการปลูกกล้วยไม้เขาก็เลยให้มา หรืออย่างกล้องถ่ายรูปนี่ก็มีลูกศิษย์ชาวญี่ปุ่นซื้อให้ เป็นกล้องนิคอน D80 ส่วนกล้องวิดีโอที่ผม ใช้ถ่ายรายการที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ก็มีคนให้มา คือผมประกาศตัวตั้งแต่ออกจากราชการ แล้วว่าผมจะไม่รับอามิสสินจ้าง ไม่เอาตำแหน่งใดๆ

• ปรัชญาในการใช้ชีวิตของอาจารย์คืออะไรคะ

ผมมีหลักที่เป็นรากฐานของชีวิตคือความซื่อสัตย์ ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ซื่อสัตย์ในการทำหน้าที่ และเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ซึ่งตรงนี้ทำให้เราไม่พลาดพลั้ง ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงหรือการเมืองจะผันผวนไปอย่างไรเราก็ยังดำรงจุดยืนของเราไว้ได้ ถ้าเป็นครูก็ต้องมีความรักความจริงใจให้แก่ลูกศิษย์

• แล้วการเป็นครูที่ดีจะเป็นได้อย่างไรคะ

ครูต้องเป็นคนที่มีความสุขกับการเป็นผู้ให้ ถ้าเรามีความสุขแล้วเราก็มีความอดทนในการทำหน้าที่ ไม่รู้สึกว่างานที่เราทำมันยากลำบาก
นอกจากนั้นครูควรจะติดดินด้วย การที่ครูมีปัญหาหนี้สินเยอะ เงินเดือน ไม่พอกับค่าใช้จ่ายก็เพราะไม่มีความอดทน เอาชนะใจ ตัวเองไม่ได้ เห็นอะไรก็อยากได้ ไม่ประมาณตัวเอง

ที่สำคัญครูต้องลงไปอยู่กับชาวบ้านและพาเด็กลง ไปอยู่กับชาวบ้านด้วย เพราะเราสอนเด็กอย่างหนึ่ง กลับไปบ้านพ่อแม่เขาอาจจะคิดอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าพ่อแม่เด็กเขาศรัทธาในตัวเราแล้วเราบอกอะไรเขาก็เชื่อ สมัยผมเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่างเมื่อไรผมต้องลงไปอยู่กับชาวบ้าน บางทีไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า ต้องอาบน้ำในปลักควายก็เคยมาแล้ว

มีลูกศิษย์ผมคนหนึ่งมีปัญหาต้องถูกพักการเรียน ผมก็ตามไปเยี่ยมเขาที่บ้านที่นครพนม ไปถึงก็เห็นเขา นั่งกินข้าวเหนียวจิ้มน้ำพริกกับแม่เขาอยู่ ก็เลยรู้ว่าพ่อเขาตาย อยู่กับแม่ในกระต็อบเล็กๆ ยากจนมาก เด็กคน นี้เขาเป็นนักร้องในวงดนตรีของมหาวิทยาลัยเกษตร พอถูกพักการเรียนก็เลยไปรับจ้างร้องเพลงตามไนท์คลับ ผมก็ไปนั่งฟัง คุยกับเขาว่ามีปัญหาอะไร หลังจากกลับมากรุงเทพฯ ผมก็ยังเขียนจดหมายคุยกับเขาอยู่เรื่อยๆ เขาก็มีกำลังใจ สุดท้ายก็กลับมาเรียน

• ชีวิตครูกับดอกกล้วยไม้ เหมือนกันตรงไหนคะ

การนำดอกกล้วยไม้มาเป็นสัญลักษณ์ของครูนั้นเกิดจากแนวคิดของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เนื่องจากท่านมีความเห็นว่ากล้วยไม้เป็นพืชที่ออกดอกช้า คนที่ปลูกกล้วยไม้ต้องอดทน ซึ่งก็เหมือนกับคนเป็นครูที่ต้องใช้ความอดทนในการสั่งสอนวิชาความรู้และคุณธรรมแก่เด็กๆ เพื่อหล่อหลอมให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็น คนดีมีความรู้

• ทราบว่ามีดอกกล้วยไม้พันธุ์หนึ่ง ที่มีนามสกุล ‘สาคริก’ อยู่ด้วย

ครับ ก็เป็นเรื่องที่บังเอิญมาพ้องกัน คือผมชอบศึกษากล้วยไม้แล้วก็ได้ค้นพบกล้วยไม้ใหม่พันธุ์หนึ่ง เป็นกล้วยไม้ดิน ฝรั่งเขาก็เลยให้เกียรติตั้งชื่อให้ ว่า Pecteilis sagarikii (นางอั้วสาคริก) เป็นการผสมนามสกุลของผมเข้ากับภาษาลาติน ซึ่งเป็นหลักของการตั้งชื่อพืชที่ถูกค้นพบขึ้นใหม่ ต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น นายกสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทย แล้วยังมีความ บังเอิญอีกเรื่องหนึ่งนะคือผมเป็นคนที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ผมเกิดวันที่ 4 ธันวาคม ต่อมาทางการเขาก็กำหนด ให้วันที่ 4 ธันวาคม เป็นวันสิ่งแวดล้อม

• ถ้าอย่างนั้นครูควรจะกระตุ้นให้เด็กหันมาสนใจธรรมชาติ และเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมอย่างไร

ผู้ใหญ่ต้องปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่างก่อน อย่าสอนแต่ปาก ถ้าอยากให้เขาปลูกต้นไม้เราก็ต้องลง มือปลูกกับเขาด้วย
อย่าเท้าเอวสั่งอย่างเดียว อย่างตอน ที่ผมเป็นอธิการบดีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมลงไปลอกคูคลอง ลงไปโกยผักตบชวากับนักศึกษา เด็กเขาก็เกิดศรัทธา เวลาคนนั่งรถเก๋งผ่านไปมาเห็นผมลงไปลอกคูกับเด็กเขาก็เปิดกระจกมายกมือไหว้ผม แล้วก็บอกว่าเขาไม่ได้เป็นลูกศิษย์ผมหรอก แต่ที่ไหว้ผมเพราะเขาเห็นว่าผมมีคุณธรรม นักศึกษาเขาก็เริ่มรู้แล้วว่าการทำงานอยู่กับดินนี่ไม่ใช่งานต่ำ ไม่ใช่สิ่งที่คน อื่นเขาดูถูก ตรงกันข้ามเขาชื่นชมศรัทธา

• แล้วปัญหาโลกร้อนที่โลกประสบอยู่ตอนนี้เกิดจากอะไรคะ

เป็นเพราะคนเราขาดหลักธรรม เราคิดแต่จะกอบโกยจากธรรมชาติ ไม่เคยคิดที่จะดูแลรักษา เราติดกับความสบาย ถ้ามนุษย์มีความอดทนนะคงไม่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเหมือนทุกวันนี้หรอก อะไรที่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยเนี่ยเราไม่ควรใช้มันมาก ไม่ว่าจะเป็นแอร์คอนดิชั่น สเปรย์น้ำหอม ฯลฯ

• เวลาไปบรรยายให้ความรู้ตามที่ต่างๆ อาจารย์ได้สอดแทรกธรรมะด้วยไหมคะ

ครับ ส่วนใหญ่ที่พูดคุยก็เกี่ยวข้องกับธรรมะ เพราะธรรมะคือธรรมชาติที่อยู่ในใจเรา เช่น การรู้จักข่มใจ เอาชนะใจตนเอง อันนี้เป็นธรรมะขั้นพื้นฐาน ข้อสำคัญเวลาเราให้ธรรมะหรือคุณครูที่สอนเด็กนี่เราอย่าไปยัดเยียด อย่างเด็กๆเขาก็มีธรรมชาติที่ชอบใฝ่รู้ เราอาจจะไม่ต้องไปกระตุ้นอะไร แต่ข้อสำคัญเราอย่าไปกดเขาเท่านั้นแหละ ถ้าผู้ใหญ่รู้จักหยุดฟังและทำความเข้าใจกับเด็ก เขาก็จะเติบโตทั้งทางความคิดและพฤติกรรม

• ธรรมะข้อไหนที่ครูควรยึดถือ และนำมาใช้ ได้ผลดีที่สุด

ธรรมะข้อนี้ไม่ใช่เฉพาะแต่คนที่เป็นครูนะ แต่เป็นธรรมที่ทุกคนควรจะมี นั่นก็คือเรื่องความซื่อสัตย์ ซึ่งต้องทั้งซื่อสัตย์ต่อตนเองและซื่อสัตย์กับคนอื่น ซื่อสัตย์ต่อตนเองก็คือรู้ว่าตนเองมีหน้าที่อะไร สิ่งไหนคือสิ่งที่ควรกระทำ และไม่ทำในสิ่งที่ไม่สมควร คนเราเมื่อซื่อ สัตย์ต่อตนเองก็จะไม่ไปทำชั่ว

• ไปให้ความรู้ที่ไหนเป็นประจำหรือเปล่าคะ

ก็ไม่มีกำหนดตายตัวหรอก ผมไม่เลือกสถานที่ เขาเชิญมาก็ไป มีเยอะไปหมด ทั้งมหาวิทยาลัย หน่วยงาน ราชการ บริษัทเอกชน

• นอกจากเป็นครูบาอาจารย์และนักวิชาการด้านการเกษตรศาสตร์แล้ว ทราบว่าอาจารย์ยังเป็นนักศิลปะศิลปินด้วย

อาจเป็นความชอบส่วนตัวนะ คือเราชอบอะไรหลายๆอย่างแล้วก็ลงมือทำ ผมเคยเขียนบทความเรื่องหนึ่ง พาดหัวว่า ‘ผมเป็นนักอะไรกันแน่’ (หัวเราะ) คือผมชอบงานศิลปะนะ ทั้งวาดภาพ ถ่ายรูป แล้วก็เล่นดนตรี อย่างภาพถ่ายนี่เวลาไปไหนก็จะพกกล้องถ่ายรูปไปด้วย ทั้งภาพวิถีชีวิตของคน สิ่งแวดล้อม ต้นไม้ใบหญ้า พบเห็นอะไรน่าสนใจก็ถ่ายเก็บไว้ สำหรับรูปวาดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นรูปดอกไม้ โดยเฉพาะรูปกล้วยไม้จะชอบมาก ส่วนเรื่องดนตรีนี่ที่โปรดปรานคือไวโอลิน ทุกวันนี้ก็จะหยิบมาเล่นบ่อยๆ (พูดจบ ก็หยิบไวโอลินมาสีให้ฟัง ด้วยลีลาที่พลิ้วไหวและท่วงทำนองไพเราะจับใจ)

• อาจารย์เคยมีโอกาสร่วมเล่นดนตรีกับ ‘ในหลวง’ ด้วยใช่ไหมคะ

ครับ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น คือที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะมีวงดนตรีซึ่งบรรดาอาจารย์และนักศึกษามาร่วมกันเล่น สมัยก่อนนี้พระองค์ท่านจะมาร่วมทรงดนตรีกับวงดนตรีของมหาวิทยาลัยต่างๆบ่อยๆเพื่อทำความคุ้ยเคยกับบรรดาคณาจารย์ พระองค์ท่านยังทรงทำรายการวิทยุที่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็ให้นิสิตเกษตรฯไปช่วย แล้วก็บอกว่าใครจะขอเพลงก็ได้นะ ท่านทรงมีพระเมตตา มากๆ นับว่าเป็นบุญนะที่ผมได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายครั้ง ตั้งแต่ครั้งที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอนที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมัยนายกรัฐมนตรี เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้เห็นพระองค์ท่านทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ซึ่งภาพนี้เป็นกำลังใจให้ผมตลอดมา ในเวลาที่เหน็ดเหนื่อยท้อแท้ ก็จะนึกถึงพระองค์ท่าน ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ย่อท้อต่อความลำบาก ทรงย่ำพระบาทไปทุกที่เพื่อความอยู่ดีกินดีของพสกนิกรชาวไทย ผมก็นำสิ่งเหล่านี้มาเป็นแนวทางในการทำงานและการดำเนินชีวิต

• สุดท้ายเนื่องในวันปีใหม่ 2551 นี้ อยากให้อาจารย์อวยพรปีใหม่สักหน่อยค่ะ


ผมว่าปีเก่าปีใหม่ไม่ได้อยู่ที่วันที่ 1 มกราคมเท่านั้น ใน 365 วันเป็นปีใหม่ทุกวัน คือพอเช้าขึ้นมาก็เป็นปีใหม่ แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าวันที่ 1 มกราคมเท่านั้นถึง จะเริ่มทำสิ่งดีๆ เพราะนั่นคือการฉวยโอกาส จริงๆแล้ว ความดีทำได้ทุกวัน เพราะฉะนั้นขอให้ถือว่าทุกวันเป็นวันใหม่ เป็นโอกาสในการทำความดี

.........

การดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย แต่เป็นไปเพื่อยังประโยชน์แก่บุคคลอื่นอยู่ตลอดเวลา ของ ‘ศ.ดร.ระพี สาคริก’ นั้นนับเป็นวิถีที่ไม่ง่ายนักหากไม่มีจิตใจอันแน่วแน่ ไม่มีความมุ่งมั่นในการเสียสละ และไม่มีจิตวิญญาณแห่งคำว่า ‘ครู’ ผู้ถือเป็นปูชนียบุคคลของศิษย์ทั้งปวง

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 86 ม.ค. 51 โดย จินตปาฏิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น