xs
xsm
sm
md
lg

โรคสุดฮิต ความดันโลหิตสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวัสดีปีใหม่ 2550 ค่ะ ปีใหม่นี้หลายคนคงได้ไปร่วมเฉลิมฉลองรับปีใหม่กันอย่างเบิกบาน แต่จะฉลองอย่างไรก็คงต้องระวังเรื่องโรคภัยไข้เจ็บกันไว้บ้างนะคะ เพราะหลายโรคนั้นมาจากการรับประทานอาหารที่มากเกินไป เช่น โรคอ้วน หรือรับประทานสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น เตรื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรืออาหารที่มีไขมันสูง ก็ต้อง ระวังค่ะ เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่โรคสุดฮิตเมื่ออายุย่างเข้า สู่วัยกลางคน นั่นก็คือ โรคความดันโลหิตสูง

แม้ว่าโรคความดันโลหิตสูงจะเป็นโรคที่เป็นกันมาก แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจหรือรู้วิธีที่จะปกป้องตัวเองให้พ้นจากโรคนี้ ดังนั้น เริ่มต้นปีใหม่นี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องโรคนี้กันค่ะ โดย น.พ.อดทน ศรียุทธศักดิ์ จากโรงพยาบาลศิริราช ได้เขียนไว้ในหนังสือสาระน่ารู้เพื่อผู้สูงวัยให้ความรู้ไว้ดังนี้

• ความดันโลหิตคืออะไร
คือความดันในหลอดเลือดแดงที่เกิดจากหัวใจบีบตัว ส่งเลือดผ่านหลอดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย เราสามารถรู้ระดับความดันโลหิตของตนเองได้ โดยเครื่องวัดความดันโลหิตทั่วไปซึ่งจะให้ค่าความดันโลหิต 2 ค่า คือ ค่าความดันโลหิตตัวบน และค่าความดันโลหิตตัวล่าง ในบุคคลทั่วไป ค่าความดันโลหิตตัวบนจะมีค่าประมาณ 120 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันโลหิตตัวล่างจะมีค่าประมาณ 80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งเรามักเรียกรวมกันง่ายๆ ว่า ความดันโลหิต เท่ากับ 120/80 (คือตัวบน เท่ากับ 120 และตัวล่างเท่ากับ 80)

โดยทั่วไปค่าความดันโลหิตของคนเราจะไม่อยู่คงที่ตลอดเวลา เช่น หลังการออกกำลังกายหนักๆ หรือในขณะที่มีความตื่นเต้นตกใจ ค่าความดันโลหิตก็จะสูงเพิ่มขึ้นกว่า ปกติได้ แต่หลังจากได้พักหลังการออกกำลังกาย หรือหายจากภาวะตื่นเต้นตกใจแล้ว ค่าความดันโลหิตก็จะลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติได้เอง

การวัดความดันโลหิตที่ต่างเวลากันในแต่ละวัน ก็อาจได้ค่าความดันโลหิตไม่เท่ากัน พบว่าความดันโลหิตในช่วง เวลากลางวันจะสูงกว่าเวลากลางคืนประมาณร้อยละ 10-20 เพราะฉะนั้น การวัดความดันโลหิตเพื่อวินิจฉัยว่ามีความดันโลหิตสูงหรือไม่ จึงมีการกำหนดกฎเกณฑ์ ให้วัดความดันโลหิตในขณะที่ผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลัน และควรใช้ค่าเฉลี่ยของการวัดมากกว่า 2 ครั้ง ในการรายงานผล ค่าความดันโลหิตต่อการตรวจแต่ละครั้ง

• เมื่อใดจึงเรียกว่ามีความดันโลหิตสูง
ในบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้กินยาลดความดันโลหิต และไม่ได้อยู่ในภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลัน ถ้าวัดความดันโลหิตพบว่า ค่าความดันโลหิตตัวบน เท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท หรือค่าความดันโลหิตตัวล่าง เท่ากับหรือมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท จากการตรวจมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ให้ถือ ว่าผู้นั้นมีความดันโลหิตสูง

• ความดันโลหิตสูงมีผลต่อร่างกายของเรา อย่างไร

จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะมีโอกาสเป็นอัมพาตเกิดหัวใจล้มเหลว เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ มากกว่าผู้ที่ไม่มีความดันโลหิตสูง และพบว่าผู้ที่มีความดันโลหิต สูงและได้รับการรักษาจนความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ จะสามารถลดอัตราการเกิดอัมพาต หัวใจล้มเหลวได้ อย่างมีนัยสำคัญ
เพราะฉะนั้น การดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้มีความดันโลหิตสูง และการรักษาให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงมีความสำคัญ

• เราควรรับการวัดความดันโลหิตหรือไม่
ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอาจมีอาการผิดปกติทางร่างกาย หรือไม่ก็ได้ อาการที่พบบ่อยในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ สามารถพบได้ทั้งในผู้ที่มีและไม่มีความดันโลหิตสูง เพราะฉะนั้น การรอให้มีอาการผิดปกติแล้วจึงค่อยให้วัดความดันโลหิตจึงสายไปและไม่ถูกต้อง เนื่องจากผู้ที่มีความดันโลหิตสูงในระยะเริ่มต้น อาจไม่มีอาการผิดปกติของร่างกายให้พบได้ เพราะฉะนั้น การได้รับการวัดความดันโลหิตที่ถูกวิธี จึงเป็นวิธีที่จะวินิจฉัยโรคความ ดันโลหิตสูงได้ดีที่สุด โดยทั่วไปผู้ถูกวัดความดันโลหิต ควรหยุดบุหรี่ และงดกาแฟ 30 นาที และควรนั่งพักให้สบายอย่างน้อย 5 นาที ก่อนการวัดความดันโลหิต
บุคคลทั่วไปควรได้รับการวัดความดันโลหิตทุกคน ถ้าพบว่าปกติ ควรวัดต่อเนื่องทุก 2 ปี แต่ถ้าสูงกว่าปกติควรวัดบ่อยกว่านี้ ดังตารางข้างล่างนี้

• ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อพบว่าตัวเองมี ความดันโลหิตสูง
เนื่องจากการรักษาความดันโลหิตสูง สามารถลดอัตราการเกิดอัมพาตและหัวใจล้มเหลวลงได้ จึงแนะนำให้ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงทุกคนควรได้รับการรักษา ซึ่งประกอบด้วย การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันให้เหมาะสม และการใช้ยาลด ความดันโลหิต
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันในผู้ที่มีความ ดันโลหิตสูง มีดังนี้
1. ลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ควรควบคุมน้ำหนักตัวของเราให้มีค่าดัชนีมวลรวมของร่างกายให้ อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติควรได้รับการควบคุมปริมาณอาหารที่กินต่อวัน เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ยาดอง และเพิ่มการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักลง ไม่ควรใช้ยาลดความอ้วน เพราะยามักมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงและก่อให้เกิดโรคของลิ้นหัวใจได้
2. งดสูบบุหรี่ งดการดื่มสุรา และของมึนเมา เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ยาดอง
3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายเป็น ประจำอย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์ แนะนำให้เลือกการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหว เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ หรือการแกว่งแขน ไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินไปจนเหนื่อยมาก ควรให้รู้สึกเหนื่อยเล็กน้อยหลังออกกำลังกายแต่ละครั้งก็พอ
4. ควรงดกินอาหารที่มีรสเค็ม โดยไม่ปรุงอาหารให้มีรสเค็ม ไม่ใส่น้ำปลาหรือเกลือเพิ่มเวลากินอาหารนอกบ้าน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม หรือขนม ขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม
5. เพิ่มการกินผักและผลไม้เป็นประจำทุกวัน
6. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนย ขนมเค้ก มันฝรั่งทอด อาหารประเภททอดทั้งหลาย ไข่แดง หนังหมูและหนังไก่ เป็นต้น

• เมื่อใดจึงจะใช้ยารักษาความดันโลหิตสูง
โดยทั่วไป ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงควรดูแลปฏิบัติตัวใน ชีวิตประจำวันให้เหมาะสมเป็นลำดับแรก แต่ถ้าปฏิบัติดีแล้ว แต่ยังมีความดันโลหิตสูงตลอด หรือมีความดันโลหิตสูงเกินไปที่จะควบคุมได้ด้วยการปฏิบัติตัวเพียงอย่างเดียว แพทย์ก็จะพิจารณาใช้ยาลดความดันโลหิต
ในปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่สามารถใช้รักษาความดันโลหิตได้ดีทุกตัว แต่จะแตกต่างกันที่ผลข้างเคียงของยา จำนวนครั้งที่จะต้อง รับประทานยาในแต่ละวัน และราคาของยาแต่ละชนิด การที่ จะเลือกใช้ยาตัวใด แพทย์ก็จะพิจารณาจากสภาพร่างกายของ ผู้ป่วย และโรคประจำตัวอื่นของผู้ป่วยที่ต้องรักษาร่วมด้วย
ภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาให้หาย ขาดได้ แต่การใช้ยาลดความดันโลหิตสามารถลดอัตราการเกิดอัมพาต และหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นเพื่อให้ได้รับผลดีจากการรักษาอย่างเต็มที่ ผู้ที่มีระดับความดันโลหิตสูง จึงควรเอาใจใส่ในการปฏิบัติตัว
ควรรับการวัดความดันโลหิต เป็นระยะ และกิน ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมให้ความดันโลหิตของตน เองอยู่ในเกณฑ์ปกติตลอด

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 86 ม.ค. 51 โดยพรนภัส)
กำลังโหลดความคิดเห็น