xs
xsm
sm
md
lg

จากต้นสายถึงปลายทาง(ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้มีตัณหาจริตเหมาะที่จะเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะจะทำให้เห็น ได้ง่ายว่า กายไม่ใช่ของสวยงามที่น่าติดใจอะไร และเหมาะกับเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะจะทำให้เห็นว่า ในความเป็นจริงแล้ว ความทุกข์เกิดขึ้นเนืองๆ กายและเวทนาจึงเป็นกรรมฐานที่ใช้ปราบพวกตัณหาจริตโดยตรงทีเดียว

ผู้มีทิฏฐิจริตเหมาะกับการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะจะทำให้เห็นได้ ง่ายว่า จิตไม่เที่ยง มีความเกิดดับอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เมื่อจิตไม่เที่ยงเสียแล้ว ความปรุงแต่งอื่นๆก็ไม่เที่ยงไปทั้งหมด ไม่น่าจะจริงจังกับความคิดความเห็นซึ่งเป็น แค่ของลวงโลกที่คิดๆขึ้นมา แล้วยึดถือเอาไว้ก่อทุกข์ให้ตนเอง และเหมาะกับธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะจะเห็นได้ง่ายว่าธรรมทั้งหลายเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเราของเราและบังคับบัญชาไม่ได้ จิตและธรรมจึงเป็นกรรมฐานที่เหมาะกับคนเจ้าทิฏฐิหรือพวกที่ยึดมั่นใน “ความเห็นว่าเป็นตัวกูของกู” โดยตรงทีเดียว

ผู้มีตัณหาจริตมีอารมณ์ ๒ อย่างคือกายกับเวทนา คือถ้าเป็นผู้ที่ปัญญายังไม่แหลมคมไม่สามารถตัดวางอารมณ์ได้ง่ายๆ ก็ควรจะเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน บรรพที่แนะนำคืออิริยาบถบรรพและสัมปชัญญบรรพ ส่วนผู้ที่มีปัญญาแหลมคม ก็เหมาะสมกับเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ผู้มีทิฏฐิจริตก็มีอารมณ์ ๒ อย่างเช่นกัน คือถ้าเป็นผู้ที่ปัญญายังไม่แหลมคม ก็ควรเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะทำได้ง่ายกว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเหมาะกับผู้มีปัญญากล้า
เพื่อนนักปฏิบัติบางท่านมีความเห็นว่า ในยุคนี้พวกเราควรเจริญกายานุปัสสนา
สติปัฏฐานเท่านั้นเพราะ (๑) กายเป็นของหยาบ รู้ได้ง่ายกว่าจิต (๒) อาจารย์สอน กรรมฐานที่ใช้กายานุปัสสนาสติปัฏฐานยังมีอยู่มาก แต่อาจารย์ที่ชำนาญทางจิตพอ จะเป็นที่พึ่งพาหาไม่ได้แล้ว และ (๓) คนยุคนี้มีเครื่องปรนเปรอทางวัตถุมาก แสดงว่า เป็นตัณหาจริตเป็นส่วนใหญ่
ผู้เขียนยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับการวิเคราะห์เช่นนี้ กล่าวคือ
(๑) เรื่องที่ว่ากายรู้ได้ง่ายกว่าจิตนั้น มีความจริงอยู่เหมือนกัน แต่กายที่รู้ได้ง่ายนั้นเป็นเพียงบัญญัติของกาย เช่น นี่แขน นี่ขา นี่มือ นี่เท้า นี่ท้อง นี่ลมหายใจ นี่รูปยืน ไม่ใช่เรายืน นี่รูปเดินไม่ใช่เราเดิน นี่รูปนั่งไม่ใช่เรานั่ง นี่รูปนอนไม่ใช่เรานอน ฯลฯ ในขณะที่รูปปรมัตถ์รู้ได้ยากมาก เช่น การจะมีสติมีปัญญาเห็นว่ากายที่นั่งอยู่นี้เป็นรูป ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องรู้ด้วยความรู้สึกจริงๆ ไม่ใช่รู้ด้วยการคิดว่านี่เป็นรูปนั่งไม่ใช่เรานั่ง ความยากของการรู้รูปนี้เองทำให้การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะสำหรับสมถยานิก คือผู้ปฏิบัติต้องมีจิตที่ตั้งมั่นอย่างมากจึงจะมีกำลังพอที่จะเห็นรูปปรมัตถ์ได้ง่าย ก็พวกเราในยุคที่ชีวิตมีเรื่องสับสนวุ่นวายมากมาย จะมีสักกี่คนที่ทำสมถกรรมฐานได้จนถึงฌาน เพื่อเอาเป็นบาทฐานในการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อไม่มีกำลังความสงบพอ พอไปรู้กายก็มักจะเพ่งกาย กำหนด กาย หรือส่งจิตถลำเข้าไปจมแช่นิ่งๆ อยู่กับกาย หรือคิดถึงกายว่าเป็นรูปซึ่งก็เป็นเพียงการบัญญัติถึงรูปปรมัตถ์
ผู้เขียนเห็นว่าการจะรู้รูปปรมัตถ์หรือนามปรมัตถ์ได้ง่ายหรือยาก อยู่ที่จริตนิสัย
อย่างหนึ่ง และอยู่ที่การเคยฝึกฝนอบรมมาในอดีตอีกอย่างหนึ่ง คือถ้าเป็นตัณหาจริตและเคยอบรมมาในทางกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะพบว่าการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ถ้าเป็นทิฏฐิจริตและเคยอบรมมาในทางจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะพบว่าการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ง่ายมาก
(๒) การที่เห็นว่าผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะอาจารย์กรรมฐานที่สอนกายานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอยู่มาก และหาอาจารย์ที่สอนจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องจิตไม่ได้นั้น ผู้เขียนกลับเห็นว่าเราควร เจริญกรรมฐานให้เหมาะกับจริตของตน ไม่ใช่ปรับการปฏิบัติของตนตามอาจารย์ ซึ่งปรับกันไม่ได้จริง คล้ายกับที่เราควรปรับขนาดของเสื้อผ้าให้เข้ากับรูปร่าง ไม่ใช่ปรับรูปร่างให้เข้ากับเสื้อผ้า ดังนั้นถ้าหาอาจารย์สอนทางจิตไม่ได้ก็ควรศึกษากับพระศาสดาของพวกเราซึ่งยังดำรงอยู่ ทำนองเดียวกับที่พระจูฬปัณถกะได้พึ่งพาพระศาสดา เมื่อถูกพระมหาปัณถกะขับไล่เพราะท่านเรียนกรรมฐานกับพระมหาปัณถกะไม่สำเร็จ เวลานี้พระศาสดาของพวกเราก็คือพระธรรมวินัย ดังนั้นถ้าหาอาจารย์ที่สอนจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานไม่ได้ ก็ควรศึกษาจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าท่านสอนจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานไว้อย่างไรบ้าง หากศึกษาเข้าใจแล้วก็พอจะปฏิบัติไปได้ด้วยตนเอง หมายความว่าถ้าหากัลยาณมิตรคืออาจารย์ ไม่ได้ ก็ต้องศึกษาพระพุทธวัจนะและใช้โยนิโสมนสิการให้มาก เพราะการปฏิบัติธรรมโดยวิธีที่ไม่ถูกกับจริตนั้นมักจะไม่ได้ผล
(๓) การชี้ขาดว่าคนในยุคนี้เป็นพวกตัณหาจริตเพราะมีวัตถุมากนั้น เป็นเพียง ทัศนะส่วนบุคคลซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ เพราะไม่มีหลักฐานรองรับในพระไตรปิฎก และไม่มีงานวิจัยภาคสนามมารองรับด้วย แต่ในทัศนะของผู้เขียนกลับเห็นว่า ไม่ว่ายุคสมัยใดก็น่าจะมีทั้งผู้ที่เป็นตัณหาจริตและทิฏฐิจริต แม้ในยุคของพวกเรานี้ก็พบว่ามีคนจำนวนมากทีเดียวที่เป็นพวกเจ้าทิฏฐิ ชอบคิด ชอบโต้แย้ง ชอบแสวงหาความจริง มีหลายคนที่ทะเลาะกันเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองขัดกัน หรือเด็กรุ่น ใหม่แม้จะพอใจในขนมและของเล่นที่พ่อแม่หามาให้ แต่ก็มักพอใจที่จะถามเหตุผล หรือมีความคิดเห็นเป็นของตนเองอยู่เสมอ เป็นต้น

สรุปแล้วผู้เขียนเห็นว่า ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาตนเองว่ามีจริตนิสัยอย่างไร แล้วเลือกอารมณ์กรรมฐานให้เหมาะสมกับตนเอง ถ้าเห็นว่าตนเองมีตัณหาจริตก็ควรศึกษาอบรมจิตให้ตั้งมั่นแนบแน่นในความสงบ แล้วจึงเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้ามีทิฏฐิจริตก็ควรเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานไปได้เลย แต่ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ เราควร (๑) ศึกษาลักษณะของอารมณ์รูปนามให้ชัดเจน และ (๒) ศึกษาวิธีการเจริญสติปัฏฐานที่เป็นวิปัสสนา เพื่อให้รู้วิธีการเจริญวิปัสสนาอย่างถ่องแท้เสียก่อน เพราะถ้าไม่ศึกษาทั้งสองเรื่องนี้ให้ดี โอกาสปฏิบัติผิดพลาดจะมีสูงมาก เพราะทางแห่งความผิดพลาดมีอยู่นับร้อยนับพัน เช่น ไปหลงเพ่งกายและเพ่งจิต หรือไปตรึงความรู้สึกไว้ที่กายและจิตเพราะต้องการให้เกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม หรือไปคิดเรื่องกายและจิต หรือไปดูเรื่องราวความคิดแทนที่จะรู้อาการที่จิตคิด เป็นต้น ในขณะที่ทางสายกลางมีเพียงเส้นทางเล็กๆเฉพาะตัวเส้นเดียวเท่านั้น และเป็นเส้นทางที่เราไม่ค่อยจะคุ้นเคยเสียด้วย

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 86 ม.ค. 51 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น