xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อการเมืองส่วนตัวกลายเป็นวิกฤตของชาติ: วิเคราะห์ความขัดแย้งไทย–กัมพูชาผ่านมิติทางจิตวิทยาการเมือง / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาในช่วงกลางปี 2568 ได้พัฒนาไปสู่จุดวิกฤตที่สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังคงถูกขับเคลื่อนโดยความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างผู้นำมากกว่าระบบสถาบันที่เป็นทางการ เหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นในช่วงนี้ไม่เพียงแต่เป็นข้อพิพาทชายแดนทั่วไป แต่ยังเป็นการเผยให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างที่ลึกซึ้งของการเมืองแบบ “รัฐส่วนบุคคล” (personalist state) ที่อัตลักษณ์ของผู้นำและอัตลักษณ์ของชาติผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างแยกไม่ออก

บทความนี้มุ่งวิเคราะห์ความขัดแย้งดังกล่าวผ่านมุมมองของทฤษฎีจิตวิทยาการเมือง (political psychology) ธรรมาภิบาล และการเมืองระหว่างประเทศ โดยตั้งคำถามสำคัญว่า เหตุใดความสัมพันธ์ส่วนตัวที่แตกร้าวระหว่างผู้นำจึงสามารถบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐและภูมิภาคได้ และกลไกใดที่จำเป็นในการป้องกันไม่ให้การเมืองส่วนตัวกลายเป็นวิกฤตของชาติ

การวิเคราะห์ความขัดแย้งนี้จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจธรรมชาติของการเมืองในทั้งสองประเทศ ซึ่งมีลักษณะ “ระบอบส่วนบุคคล” (personalist regime) ที่อำนาจถูกรวมศูนย์ไว้ที่บุคคลหนึ่งหรือกลุ่มคนจำนวนน้อย และการตัดสินใจทางการเมืองมักขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนตัว ความภักดี และเครือข่ายอุปถัมภ์มากกว่าหลักการและสถาบัน ในบริบทของไทยและกัมพูชา การเมืองแบบครอบครัวนิยม (dynastic politics) ได้กลายเป็นลักษณะเด่นที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ของชาติเลือนลาง ตระกูลชินวัตรและตระกูลฮุน เซนต่างเป็นตัวอย่างของการสืบทอดอำนาจทางการเมืองที่ผ่านการผสมผสานระหว่างอำนาจทหาร ทุนการเมือง และเครือข่ายอุปถัมภ์

บุคลิกภาพและจิตวิทยาของผู้นำส่งผลต่อการตัดสินใจทางการเมือง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้นำรู้สึกถูกคุกคามในด้านศักดิ์ศรีหรืออำนาจ การตอบสนองทางอารมณ์มักจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายมากกว่าการคำนวณผลประโยชน์แบบเหตุผล ในกรณีของความขัดแย้งไทย-กัมพูชา การที่ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำพังทลายลง ได้นำไปสู่การเกิดขึ้นของ “ความโกรธจากการหลงตัวเอง” (narcissistic rage) หรือความโกรธที่เกิดจากการรู้สึกถูกดูหมิ่นหรือทรยศ ซึ่งแสดงออกผ่านการตอบโต้เชิงสัญลักษณ์และการใช้วาทกรรมชาตินิยม

โครงสร้างอำนาจในทั้งสองประเทศเผยให้เห็นถึงรูปแบบการเมืองที่เรียกว่า “การเมืองแบบมรดกตกทอด” (political patrimony) ซึ่งอำนาจรัฐถูกมองเป็นสมบัติส่วนตัวที่สามารถถ่ายทอดได้ ตระกูลฮุน เซนในกัมพูชาได้สร้างระบบอำนาจที่ผสมผสานระหว่างการควบคุมกองทัพ พรรคประชาชนกัมพูชา และเครือข่ายธุรกิจ โดยมีการเตรียมการถ่ายทอดอำนาจไปยังฮุน มาเนต บุตรชาย ในทำนองเดียวกัน การกลับมาของตระกูลชินวัตรผ่านแพทองธาร ชินวัตร สะท้อนถึงการพยายามฟื้นฟูอิทธิพลทางการเมืองที่เคยสูญเสียไป การที่แพทองธารมีบทบาทในการทูตกับกัมพูชาจึงไม่เพียงแต่เป็นการดำเนินนโยบายของรัฐ แต่ยังเป็นการแสดงออกของอัตลักษณ์และศักดิ์ศรีส่วนตัวของตระกูล

เหตุการณ์การรั่วไหลของคลิปเสียงการสนทนาส่วนตัวระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ เป็นสัญญาณของความล้มเหลวในการจัดการข้อมูลทางการทูต และการขาดระบบรักษาความลับที่มีประสิทธิภาพ การที่ข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีทางการเมือง สะท้อนถึงการขาดจริยธรรมทางการเมืองและการไม่เคารพหลักการทูต มากกว่านั้น การที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐทั้งสองกลับขึ้นอยู่กับ “เคมี” ส่วนบุคคลระหว่างผู้นำ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของระบบการทูตสถาบัน ซึ่งควรจะมีความต่อเนื่องและเสถียรภาพไม่ว่าผู้นำจะเปลี่ยนแปลงหรือมีปัญหาส่วนตัวกันเพียงใด

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในความขัดแย้งนี้คือการที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายผูกภาพลักษณ์ตนเองเข้ากับอัตลักษณ์ของชาติอย่างแยกไม่ออก ฮุน เซนมักจะเรียกตนเองว่าเป็น “คนกัมพูชาแท้” และ “ผู้ปกป้องอิสรภาพของชาติ” ในขณะที่ทักษิณและแพทองธารมองตนเองว่าเป็นตัวแทนของคนไทยและของชาติ การผสมผสานระหว่างอัตลักษณ์ส่วนบุคคลและอัตลักษณ์แห่งชาตินี้ ทำให้การวิจารณ์ในระดับส่วนตัวถูกแปรความหมายเป็นการโจมตีต่อชาติ และการป้องกันตนเองกลายเป็นการปกป้องความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นกลไกทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “การผสมผสานระหว่างอัตลักษณ์ส่วนบุคคลและอัตลักษณ์แห่งชาติ”

การตอบสนองของรัฐบาลไทยต่อความขัดแย้งนี้สะท้อนถึงลักษณะของ “การเมืองเชิงสัญลักษณ์” ที่เน้นการแสดงออกทางการเมืองมากกว่าการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ การปิดด่านชายแดน การเพิ่มกำลังทหาร และการประท้วงทางการทูต การเรียกทูตไทยกลับจากกัมพูชา การส่งทูตกัมพูชากลับประเทศของเขา และการปะทะกันระหว่างทหารบริเวณชายแดนล้วนเป็นมาตรการที่มีผลกระทบทันทีและส่งสัญญาณทางการเมืองที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ยังขาดการมองภาพรวมระยะยาว การปิดด่านชายแดนส่งผลกระทบต่อการค้าและประชาชนในพื้นที่มากกว่าที่จะกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากฝ่ายกัมพูชา การเพิ่มกำลังทหารอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าที่ไม่จำเป็นและเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ที่บานปลาย

ข้อวิจารณ์สำคัญต่อการจัดการของฝ่ายไทยคือการขาดความโปร่งใสในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ การที่รัฐบาลหลีกเลี่ยงการเปิดเผยหลักฐาน เช่น ภาพถ่ายและวิดีโอจากเหตุการณ์ทุ่นระเบิด ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องความน่าเชื่อถือและสร้างพื้นที่ให้กับการฉวยโอกาสทางการเมือง มีความเป็นไปได้สูงว่าความขัดแย้งกับกัมพูชาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาภายในประเทศ โดยเฉพาะวิกฤตทางเศรษฐกิจและข้อวิจารณ์เรื่องการจัดการประเทศ การสร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้ประชาชนหันมาสนับสนุนผู้นำหรือรัฐบาลในช่วงวิกฤตผ่านการเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้านเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่ผู้นำหลายประเทศเคยใช้ อย่างไรก็ตาม การใช้ความขัดแย้งระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือทางการเมืองภายในมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากอาจนำไปสู่การบานปลายที่ไม่สามารถควบคุมได้ และสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างสองประเทศ

พฤติกรรมของฮุน เซนในเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของกลไกป้องกันทางจิต (defense mechanisms) หลายประการอย่างชัดเจน การตัดสินใจเผยแพร่คลิปเสียงการสนทนาส่วนตัว อาจตีความได้ว่าเป็นรูปแบบของการผลักความรู้สึกผิด ความอับอาย หรือความล้มเหลวของตนเองในการบริหารประเทศออกไปภายนอก แล้วโยนความรับผิดนั้นให้ผู้อื่นรับแทน ในทำนองเดียวกัน

การกล่าวหาแพทองธารว่าเป็น “ผู้ทรยศชาติ” อาจเป็นความพยายามปกป้องอัตลักษณ์ของตนในฐานะผู้นำที่แข็งแกร่งและซื่อสัตย์ต่อผลประโยชน์ของประเทศ ด้วยการเบี่ยงเบนความสนใจไปยังบุคคลอื่นที่สามารถถูกสร้างภาพให้เป็นฝ่ายผิดได้ทางการเมืองและอารมณ์ ทั้งนี้ ก็เพื่อรักษาอำนาจเชิงสัญลักษณ์และปกป้องภาพลักษณ์ตนเองท่ามกลางสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการถูกวิจารณ์

และการแสดงความโกรธอย่างเปิดเผยของฮุน เซนยังสะท้อนถึงลักษณะของ “คลิกภาพแบบหลงรูปตนเอง”(narcissistic personality) ที่ไม่สามารถยอมรับการวิจารณ์และมีแนวโน้มที่จะตอบโต้อย่างรุนแรงเมื่อรู้สึกถูกดูหมิ่น การที่เขาใช้อำนาจรัฐในการตอบโต้ปัญหาส่วนตัวแสดงให้เห็นถึงการขาดการแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ของชาติ

ต้นธารของความขัดแย้งอาจดูเหมือนเป็นเพียงรอยร้าวเล็ก ๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เมื่อลองเพ่งพินิจให้ลึกลง จะพบว่าการปิดด่านชายแดน การบังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างเข้มงวด และการตอบโต้ของกัมพูชา ล้วนสะท้อนถึงความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานาน ขณะเดียวกัน คลิปเสียงที่หลุดออกมา ซึ่งบันทึกบทสนทนาอย่างไม่เป็นทางการระหว่างแพทองธารและฮุน เซน ได้กลายเป็นจุดลุกลามทางการเมือง เสมือนจุดระเบิดในห้องที่เต็มไปด้วยแก๊ส ภายใต้ภาวะตึงเครียดเช่นนี้

คำพูดของแพทองธารที่ระบุว่าแม่ทัพภาค 2 เป็น “ฝ่ายตรงข้าม” ยิ่งตอกลิ่มให้เกิดความคลางแคลงใจว่าปัญหานี้อาจเกี่ยวพันถึงระดับกองทัพ ซึ่งเป็นตัวแสดงสำคัญในสมการอำนาจของไทย

เมื่อความขัดแย้งที่เคยซุกซ่อนใต้พรมเริ่มปะทุขึ้นสู่เวทีสาธารณะ เสียงที่เคยกระซิบก็กลายเป็นเสียงตะโกน ในช่วงเดือนกรกฎาคม การกล่าวหาของฝ่ายกัมพูชาและสื่อที่หนุนหลังฮุน เซน ได้มุ่งเป้าไปที่ทักษิณโดยตรง ทั้งข้อกล่าวหา “แกล้งป่วย” เพื่อเลี่ยงคดี และการ “ช่วยเหลือยิ่งลักษณ์หลบหนี” กลายเป็นการกล่าวหาที่ไม่เพียงลบล้างความชอบธรรมของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย แต่ยังตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของผู้นำฝ่ายรัฐบาลในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การกล่าวหาว่ามีการ “ทรยศชาติ” ด้วยการส่งเอกสารลับให้กัมพูชา และการขู่เปิดโปงเรื่อง “หมิ่นเบื้องสูง” ได้ขยายขอบเขตของความขัดแย้งจากมิติทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา สู่ปริมณฑลของอำนาจภายในประเทศ และกลายเป็นแรงเสียดทานต่อเสถียรภาพทางการเมืองของไทยเอง

สุดท้าย เมื่อทุกช่องทางแห่งการประนีประนอมถูกปิดตาย นายทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศชัดเจนว่า ผู้นำกัมพูชาไร้จริยธรรม และ “ตัดขาด” ความสัมพันธ์กับฮุน เซน ประโยคที่ว่า “ต่างคนต่างลืมชื่อกันไปแล้ว” ไม่ใช่เพียงคำพูดในอารมณ์ หากแต่เป็นเส้นแบ่งอย่างเด็ดขาดที่สะท้อนถึงการแตกหักในระดับจิตวิทยาทางการเมือง

การตัดสัมพันธ์ครั้งนี้มิใช่เพียงความร้าวรานส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลสะเทือนต่อโครงสร้างอำนาจและความมั่นคงภายในของไทย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้แพทองธารหยุดปฏิบัติหน้าที่ อำนาจบริหารสูงสุดของรัฐบาลจึงสั่นคลอน ขณะที่เสียงสนับสนุนจากฐานมวลชนก็เริ่มระส่ำระสาย ความขัดแย้งระหว่างผู้นำทั้งสองจึงกลายเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่ไม่เพียงยากจะย้อนกลับ แต่ยังอาจเปิดประตูสู่สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่อาจคาดเดา

ฉากสุดท้ายของความสัมพันธ์ที่ครั้งหนึ่งเคยแน่นแฟ้น กลับกลายเป็นความเงียบเย็นของการตัดขาดอย่างสิ้นเยื่อใย เหลือเพียงเศษซากของการเมืองที่แตกร้าว รอวันชำระล้างท่ามกลางอนาคตที่คลุมเครือ

ทว่า เงาความขัดแย้งกลับไม่หยุดอยู่เพียงในมิติการทูต เมื่อเหตุการณ์ยกระดับสู่ความรุนแรงทางกายภาพ ทหารไทยสามนายถูกกับระเบิดได้รับบาดเจ็บสาหัส สัญญาณอันตรายนี้ได้ผลักดันให้รัฐบาลไทยเริ่มตอบโต้และเปิดเกมรุกทางการทูตอย่างจริงจัง และเมื่อทหารไทยนายที่สี่ได้รับบาดเจ็บจากกับระเบิดของฝ่ายกัมพูชาในวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 การตอบโต้ก็ยกระดับขึ้นอีกขั้น รัฐบาลไทยเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศ และขอให้ทูตกัมพูชากลับประเทศของตน มาตรการทางการทูตที่ชี้ชัดถึงการตัดช่องสื่อสารโดยสิ้นเชิง และในที่สุด สถานการณ์ก็นำพาไปสู่จุดที่เลวร้ายที่สุด เมื่อเกิดการปะทะด้วยอาวุธระหว่างกองกำลังของทั้งสองประเทศในช่วงเช้าของวันที่ 24 กรกฎาคม ความขัดแย้งที่เริ่มจากถ้อยคำจึงจบลงด้วยเสียงปืน.

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมิได้กระทบเฉพาะตัวผู้นำ หากยังสั่นคลอนจิตวิทยาสาธารณะของประชาชนทั้งสองประเทศ การที่ประชาชนต้องกลายเป็นผู้ชมจำเป็นของความขัดแย้งซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากความไม่ลงรอยในระดับบุคคลของผู้นำ สร้างความรู้สึกผิดหวัง ล้มละลายความหวัง และบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อระบบการเมืองโดยรวม ความรู้สึกว่า “การเมืองไม่ใช่พื้นที่ของความรับผิดชอบสาธารณะ แต่เป็นเวทีของอารมณ์ส่วนตัว” เริ่มแพร่หลาย โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ซึ่งเคยฝากความหวังไว้กับอนาคตทางการเมืองที่ดีกว่า ภาพผู้นำที่แลดูเหมือนเด็กทะเลาะกันกลางเวทีโลก ได้ปลุกคำถามที่สำคัญในหมู่ประชาชนว่า บุคคลเหล่านี้มีวุฒิภาวะพอจะนำพาประเทศผ่านวิกฤติหรือไม่ และระบบการเมืองที่ปล่อยให้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกำหนดชะตาชาติสมควรได้รับความไว้วางใจอีกต่อไปหรือไม่.

กรณีความขัดแย้งครั้งนี้ยังเผยให้เห็นถึงข้อจำกัดอย่างชัดเจนของ “ASEAN Way” ซึ่งเป็นแนวทางการทูตที่เน้นการปรึกษาหารือ การไม่แทรกแซงกิจการภายใน และการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ในขณะที่หลักการเหล่านี้อาจเหมาะสมกับข้อพิพาทที่เกิดจากผลประโยชน์ของรัฐ แต่กลับไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดจากปัจจัยส่วนบุคคลของผู้นำ การขาดกลไกบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพทำให้อาเซียนไม่สามารถเข้ามาไกล่เกลี่ยหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม การพึ่งพาความสมัครใจและความร่วมมือจากประเทศสมาชิกกลายเป็นอุปสรรคเมื่อความขัดแย้งเกิดจากปัจจัยทางอารมณ์และศักดิ์ศรีส่วนบุคคล

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชาเกิดขึ้นในบริบทของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน การที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันกับมหาอำนาจทั้งสอง อาจทำให้ความขัดแย้งนี้กลายเป็นพื้นที่ของการแข่งขันอิทธิพลระหว่างมหาอำนาจ การที่กัมพูชามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ในขณะที่ไทยพยายามรักษาความสมดุลระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน อาจทำให้ความขัดแย้งนี้มีมิติที่ซับซ้อนขึ้น และยากต่อการแก้ไขด้วยกลไกภูมิภาคเพียงอย่างเดียว


เหตุการณ์นี้อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนากลไกความร่วมมือใหม่ในภูมิภาค การที่เห็นได้ชัดว่า ASEAN Way ไม่เพียงพอในการจัดการกับความขัดแย้งแบบใหม่ อาจนำไปสู่การหาทางเลือกใหม่ เช่น การจัดตั้งกลไกอนุญาโตตุลาการภูมิภาค หรือการพัฒนามาตรฐานจริยธรรมสำหรับผู้นำภูมิภาค การสร้างกลไกป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงชายแดน การจัดตั้งระบบการเตือนภัยล่วงหน้า และการพัฒนาช่องทางการสื่อสารระหว่างประเทศในระดับต่าง ๆ อาจเป็นทางออกที่จำเป็นในอนาคต

การแก้ไขปัญหาในระยะยาวจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการปฏิรูประบบการทูตของทั้งสองประเทศ การจัดตั้งกลไกป้องกันการใช้ข้อมูลทางการทูตในทางการเมือง การฝึกอบรมนักการทูตเรื่องจริยธรรมและความลับของรัฐ และการสร้างระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนา “ความทรงจำเชิงสถาบัน”(institutional memory) ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ผูกติดอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำแต่ละยุค การจัดวางระบบการสื่อสารและความร่วมมือในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ราชการ นักการทูต ไปจนถึงภาคประชาสังคมและภาคเอกชน จะช่วยสร้างกลไกที่มีความยืดหยุ่นและสามารถรองรับการเปลี่ยนผ่านของผู้นำได้อย่างราบรื่น ทั้งยังเป็นหลักประกันให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ แม้ในยามที่เกิดวิกฤตหรือความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง.

การจัดตั้งคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นขั้นตอนแรกในการสร้างกลไกแก้ไขข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการนี้ควรประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศที่สาม และมีอำนาจในการให้คำปรึกษาที่มีผลผูกพัน การขยายกลไกนี้ไปสู่ระดับอาเซียนผ่านการจัดตั้ง “ASEAN Conflict Prevention Center” ที่มีบทบาทในการเฝ้าระวัง วิเคราะห์ และเตือนภัยเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง รวมถึงการให้บริการไกล่เกลี่ยและอนุญาโตตุลาการ

การเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคม องค์กรไม่แสวงผลกำไร และนักวิชาการมีบทบาทในการติดตามและวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศ จะช่วยสร้างการตรวจสอบและถ่วงดุลที่จำเป็น การจัดตั้ง “Civil Society Dialogue Platform”ระหว่างไทยและกัมพูชา อาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในระดับประชาชน การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษา และเศรษฐกิจระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ จะช่วยสร้างรากฐานของความสัมพันธ์ที่ไม่ขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมืองเพียงอย่างเดียว การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนจะเป็นแหล่งของความยืดหยุ่นและความต่อเนื่องในความสัมพันธ์ระยะยาว

กล่าวโดยสรุป ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาในปี 2568 มิใช่เพียงข้อพิพาทชายแดนธรรมดา หากแต่เป็นภาพสะท้อนของปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในระบบการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังคงถูกครอบงำโดยการเมืองแบบรัฐส่วนบุคคล ความคลุมเครือระหว่างอัตลักษณ์ของผู้นำกับอัตลักษณ์ของชาติ ประกอบกับการขาดกลไกสถาบันที่มีเสถียรภาพและอิสระพอในการบริหารจัดการความขัดแย้ง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต้องผูกติดอยู่กับอารมณ์ ความใกล้ชิด หรือความแค้นส่วนตัวของบุคคลเพียงไม่กี่คน

เหตุการณ์นี้จึงเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนถึงความเปราะบางของระบบการเมืองที่ไร้หลักธรรมาภิบาล ไร้สถาบัน และขาดวุฒิภาวะทางจริยธรรมของผู้นำ ความตึงเครียดที่ปะทุจากการตัดสินใจเชิงอารมณ์ไม่เพียงบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐ หากยังสะเทือนต่อทั้งภูมิภาค ทั้งนี้ ยิ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการออกแบบระบบตรวจสอบและถ่วงดุลที่เข้มแข็ง รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบนพื้นฐานของสถาบัน มากกว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ผันผวนและเปราะบาง


กำลังโหลดความคิดเห็น