xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โกกั้ง (13) โลซิงฮันกับขุนส่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โลซิงฮัน

ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 เมื่อโกกั้งได้กลายเป็นศัตรูกับรัฐบาลพม่าไปแล้ว ทางการพม่าจึงยกกำลังกว่า 300 นายเข้ายึดพื้นที่ของโกกั้ง จากนั้นก็จัดตั้งที่ว่าการอำเภอขึ้นมา เพื่อจะปกครองโกกั้งโดยตรงต่อไป แต่เมื่อไปถึงก็ถูกกองกำลังโกกั้งภายใต้การนำของหยังเจิ้นเซิงต่อต้าน 


กองกำลังของหยังเจิ้นเซิงมีมากกว่า 1,000 นายได้เคลื่อนเข้าไปใกล้ชายแดนไทย ซึ่งการย้ายกองกำลังครั้งนั้น ต่อมาได้กลายเป็นหลักหมายของการสิ้นสุดของการปกครองระบบเจ้าฟ้า หลังจากนั้นกองกำลังอื่นๆ ของโกกั้งก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับพม่าเพิ่มขึ้น

จากเหตุดังกล่าว ตั้งแต่ ค.ศ.1966 เป็นต้นมา ดินแดนโกกั้งได้กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เพราะได้เกิดกลุ่มต่อต้านพม่าขึ้นมาหลายกลุ่ม ส่วนความขัดแย้งในสกุลหยังก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม แต่อำนาจยังคงอยู่ในมือของหยังเจิ้นเซิง

หลังจากหมดยุคของหยังเจิ้นเซิงแล้ว คนที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำต่อคือ  โลซิงฮัน 

 โลซิงฮันในความรับรู้ของคนไทยเมื่อทศวรรษ 1960 และ 1970 คือรู้ว่าเขาคือ ราชาเฮโรอีนพม่า เพียงแค่ฉายาก็ทำให้รู้ต่อไปว่า โกกั้งที่มีอิสระในการปกครองตนเองมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับพม่าและเพื่อนบ้านของพม่า แต่จากฉายานี้ก็น่าที่จะมาทำความรู้จักกับบุคคลผู้นี้ตามสมควร 

โลซิงฮันก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำใน ค.ศ.1965 และอาจนับเป็นผู้นำคนแรกของโกกั้งที่มิได้มาจากคนในสกุลหยัง โลซิงฮันที่เป็นชื่อของเขานี้คงเรียกตามการออกเสียงภาษาอังกฤษที่เขียนว่า Lo Hsing Han หรือบางที่ก็เขียนว่า Law Sit Han ชื่อนี้ในภาษาจีนกลางคือ ลว๋อซิงฮั่น (罗星汉)

โลซิงฮัน (ค.ศ.1935-2013) เกิดในครอบครัวชาวโกกั้งที่ยากจน ตอนที่เขาเติบโตเป็นวัยรุ่นเป็นช่วงที่โกกั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลพม่า และด้วยความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ได้ทำให้เขามีอาชีพเป็นทหารบ้าน (militia) โดยอยู่ในสังกัดของกองกำลังคาคเวเย (Ka Kwe Ye) ที่จัดตั้งขึ้นโดยราชายาเสพติดอีกคนหนึ่งที่ชื่อ  ขุนส่า 

เนื่องจากขุนส่าเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวไทยในช่วงเดียวกับที่รู้จักโลซิงฮัน อีกทั้งยังมีภาพความเชื่อมโยงกับโลซิงฮันด้วยแล้ว ในที่นี้จึงขอคั่นด้วยการกล่าวถึงขุนส่า เพื่อให้เข้าใจพัฒนาการขบวนการค้ายาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อไทยได้มากขึ้น อย่างน้อยทั้งสองต่างก็คือราชายาเสพติดด้วยกันทั้งคู่ ถึงแม้ขุนส่าจะมิใช่ชาวโกกั้งก็ตาม

 ขุนส่ามีพ่อเป็นคนจีนที่อาศัยอยู่ในพม่า เขาจึงมีชื่อจีนว่า จังฉีฟู (張奇夫, ค.ศ.1934-2007) ชาวไทยมักเรียกเขาว่า จังซีฟู แต่เขาก็มีชื่อไทยด้วยคือ จันทร์ จางตระกูล ส่วนแม่ของเขาเป็นชาวไทใหญ่ชื่อ แสงคำ พออายุได้สามขวบพ่อของเขาก็เสียชีวิต ต่อมาแม่ของเขาจึงได้แต่งงานกับนายอากรท้องถิ่นของจีน 

.ในวัยเด็กเขาไม่ได้รับการศึกษาในระบบมากนัก แต่หลังจากกว๋อหมินตั่งแพ้ในสงครามกลางเมืองให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีนใน ค.ศ.1949 แล้ว เขากับครอบครัวได้หนีเข้ามาลี้ภัยอยู่ในพม่า ตอนที่อยู่ในพม่านี้เองที่ขุนส่าได้บวชเป็นสามเณร ซึ่งทำให้เขาได้เรียนหนังสือตามสมควร

ตราบจนต้นทศวรรษ 1950 ขุนส่าที่กำลังโตเป็นหนุ่มได้มีโอกาสเข้าฝึกการทหารกับกองกำลังกว๋อหมินตั่ง ซึ่งงานศึกษานี้ได้เคยกล่าวไปแล้วว่า หลังจากที่จีนเป็นคอมมิวนิสต์ได้ไม่นานนั้น กองกำลังกว๋อหมินตั่งได้ถูกกองกำลังของจีนรุกไล่จนต้องเข้าไปในแดนพม่า และได้อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นนานหลายปี ก่อนที่จะถูกทางการพม่าขับไล่ในเวลาต่อมา แต่ก็ในช่วงนั้นเองที่ได้กลายเป็นโอกาสให้ขุนส่าได้ฝึกทหารไปด้วย

และด้วยความรู้ในการสู้รบ ขุนส่าจึงตั้งตนเป็นใหญ่ในขณะที่มีอายุเพียง 16 ปี จนเมื่อกองกำลังของเขาค่อยๆ ขยายตัวเติบใหญ่ขึ้นในต้นทศวรรษ 1960 ขุนส่าจึงได้เข้าสู่ขบวนการค้ายาเสพติด โดยอ้างว่าเพื่อใช้เป็นทุนบำรุงกองกำลังของเขาในการปลดปล่อยรัฐฉานของชาวไทใหญ่

แต่ก็เป็นรู้กันว่า กองกำลังของเขาถูกนำมาใช้เพื่อคุ้มครองการค้ายาเสพติดเป็นหน้าที่หลัก โดยอ้างว่าเอารายได้จากการค้ายาฯ มาต่อสู้เพื่อเอกราชของรัฐฉาน แต่การต่อสู้กับพม่าในความเป็นจริงแล้วแทบจะกลายเป็นหน้าที่รอง

ขบวนการค้ายาเสพติดของขุนส่าเติบโตรุ่งเรืองตลอดทศวรรษ 1970 ถึง 1990 และถูกหมายหัวจากตำรวจสากลและไทย แต่เขาก็สามารถเอาตัวรอดมาได้เพราะมีกว๋อหมินตั่งที่ไต้หวันให้การสนับสนุน ตราบจนทศวรรษ 1990 ขุนส่าได้เจรจาสงบศึกกับพม่า จากนั้นก็ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองย่างกุ้งของพม่าจนสิ้นชีพอย่างสงบเมื่อ ค.ศ.2007 ในขณะที่มีอายุได้ 73 ปี

ขุนส่า
การที่ขุนส่ามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนไทยเป็นอย่างดี ทำให้มีเรื่องราวของเขาถูกนำมาสร้างเป็นหนังเมื่อ ค.ศ.1982 (2525) ผู้สร้างเป็นผู้กำกับหนังมือดี (ในตอนนั้น) คือ  ทรนง ศรีเชื้อ  (พ.ศ.2495-) โดยทรนงตั้งชื่อหนังเรื่องนี้ว่า  ถล่มค่ายนรกจางซีฟู และผู้ที่แสดงเป็นจังซีฟูหรือขุนส่าคือ สมจินต์ ธรรมทัต  (พ.ศ.2474-2547)

ด้วยเหตุที่ชอบดูหนังและเป็นผู้ติดตามหนังของทรนง ศรีเชื้อ (ในตอนนั้น) แทบทุกเรื่องจึงไม่พลาดหนังเรื่องนี้และจำได้ว่า ทรนงได้ดึงเอาท่าสูบบุหรี่ของขุนส่ามาใช้ในหนังด้วย คือท่าที่คีบบุหรี่โดยใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับบุหรี่ โดยให้มวนบุหรี่ตั้งอยู่บนนิ้วกลาง ซึ่งเป็นท่าของคนสูบซิก้าร์

จนท่าที่ว่านี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของขุนส่าไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองกำกับศิลป์ยอดเยี่ยมของไทย และยังได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากมหกรรมภาพยนตร์อาเซียนที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์อีกด้วย ซึ่งทำให้เห็นว่า ทรนง ศรีเชื้อ (ในตอนนั้น) เป็นนักสร้างหนังคุณภาพคนหนึ่งของเมืองไทย

จากภูมิหลังโดยสังเขปของขุนส่าดังกล่าว การที่โลซิงฮันมีความสัมพันธ์กับขุนส่าจึงไม่ต่างกับมาพบกันของสองปีศาจ ที่ต่อมาจะได้สร้างความหายนะอันประมานค่าไม่ได้ให้แก่มนุษย์ทั่วโลก แต่กล่าวในบริบทการฝึกทหารในกองกำลังของขุนส่าแล้วพึงต้องกล่าวด้วยว่า กองกำลังดังกล่าวในเวลานั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลพม่า

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า รัฐบาลพม่าต้องการให้กองกำลังของขุนส่าและโลซิงฮันช่วยตนต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (พคพ.) แต่ด้วยเหตุที่กองกำลังของทั้งสองอยู่ได้ด้วยการผลิตและค้ายาเสพติด นานวันเข้าก็เพลิดเพลินกับรายได้จากการค้ายาฯ จนการต่อสู้กับ พคพ. เป็นงานรองไป

ที่สำคัญ โลซิงฮัน (รวมทั้งขุนส่า) รู้ดีว่า พคพ. ได้รับการสนับสนุนจากจีนคอมมิวนิสต์ในเวลานั้นอย่างแข็งขัน ภายใต้นโยบายการช่วยเหลือแบบพรรคพี่พรรคน้อง หรือที่ฝ่ายซ้ายเรียกด้วยความภาคภูมิใจว่า การช่วยเหลือทางสากล จะสู้อย่างไรก็ยากที่จะเอาชนะได้

 เมื่อเป็นเช่นนี้โกกั้งภายใต้การนำของโลซิงฮันจึงมั่นคงได้ด้วยการค้ายาฯ และเนื่องจากการผลิตยาฯ มีต้นทุนต่ำ แต่สร้างกำไรสูงเมื่อขายไป โกกั้งจึงยึดเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจเรื่อยมา โดยไม่สนใจว่ามันจะสร้างเภทภัยหรือหายนะให้แก่ชาวโลกอย่างไรบ้าง 


กำลังโหลดความคิดเห็น