xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (45): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงการปรับปรุงกลไกและระบบราชการที่บริหารปกครองราชอาณาจักรสวีเดนภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้วเจ็ดประการ ในตอนนี้จะได้กล่าวต่อจากตอนที่แล้ว
 แปด การปฏิรูปศาลสูง หรือ Svea hovrätt 
 ที่สถาปนาขึ้นก่อนหน้านี้ในรัชสมัยของพระเจ้ากุสตาฟที่สอง (Gustav II Adolf) และค่อย ๆ มีการสถาปนาศาลสูงในพื้นที่อื่น ๆ ตามมาเป็นลำดับ
ศาลสูง เป็นองค์กรที่สำคัญต่อการควบคุมท้องถิ่นจากศูนย์กลาง ปัจจัยสนับสนุนพัฒนาการของศาลสูงคือ การพัฒนาบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและทางราชการ ศาลสูงมีบทบาทในฐานะศาลฎีกาสุดท้าย และมีบทบาทในการวางแนวทางตัดสินคดี มาตรฐานโทษแก่ศาลชั้นรองอื่น ๆ ทั้งหมด โดยศาลเหล่านั้นจะต้องส่งรายงานให้ศาลสูงตรวจสอบ นอกจากนี้ การตัดสินโทษประหารทุกกรณีจะต้องส่งเรื่องให้ศาลสูงยืนยันด้วย

ทั้งนี้ เป็นที่ถกเถียงว่าอำนาจของประธานศาลสูงนำไปสู่การลดบทบาทของคณะลูกขุนหรือไม่ แต่หลักฐานต่าง ๆ ชี้ว่าคณะลูกขุนยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป และเช่นเดียวกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ Svea hovrätt มีภารกิจล้นมือ แต่ในภาพรวมก็สามารถพัฒนาประสิทธิภาพองค์กรเพิ่มขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดนไม่ได้กำจัดสถาบันทางการเมืองการปกครองที่มีประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วม หากแต่ใช้สถาบันองค์กรเหล่านั้นในการดำเนินโครงการนโยบายของตน

ในทางด้านตุลาการ ศาลต้องตัดสินคดีจำนวนมากที่เกี่ยวกับการบังคับและการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ๆในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด และมีการนำบทลงโทษมาใช้ควบคุมประชาชนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย แต่กระนั้น คณะลูกขุนในศาลท้องถิ่นสามารถต่อต้านอำนาจราชการได้พอสมควร ซึ่งเป็นจารีตที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังเอกสารที่แสดงถึงการต่อต้านที่เหล่าเจ้าหน้าที่ต้องเผชิญ

พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงให้ความสำคัญกับกิจการด้านการยุติธรรมและทรงตรวจตราศาลสูงอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เนื่องจากพันธะหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ต่อพระผู้เป็นเจ้าในการบริหารความยุติธรรมในราชอาณาจักรอย่างเป็นกลาง จึงไม่แปลกที่ปรากฎตำนานในหมู่ชาวบ้านคนธรรมดาว่ามี  “บุรุษนิรนามในชุดเสื้อคลุมสีเทา’ (old grey cloak)  ที่เดินทางไปทั่วราชอาณาจักรเพื่อจัดการกับผู้มีอำนาจอิทธิพลและปกป้องบุคคลธรรมดา ที่เข้าใจกันว่าคือพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดหรือคนของพระองค์

 เก้า ศาสนจักรลูเธอรัน  เป็นองค์กรสำคัญองค์กรหนึ่งในมิติการปกครองท้องถิ่น เพราะเป็นองค์กรตัวกลางระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชนธรรมดา

ศาสนจักรถือได้ว่าเป็นพื้นฐานการปกครองเลยถือเดียว เนื่องจากการปกครองที่มีเสถียรภาพขึ้นอยู่กับความชอบธรรมในสายตาของผู้ที่อยู่ใต้การปกครองตลอดจนพันธะทางศีลธรรมในการปฏิบัติตามอำนาจรัฐ ฉะนั้น ศาสนจักรจึงเป็นกลไกสำคัญในการปลูกฝังอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง

ศาสนจักนของสวีเดนมีลักษณะพิเศษที่ไม่ต้องเผชิญกับการท้าทายจากชุมชนนิกายอื่น แม้ชุมชนคาลวินในหมู่ชาวต่างชาติก็ปฏิบัติศาสนกิจในกรอบของชุมชน หากชาวต่างชาติจะตั้งถิ่นฐานในราชอาณาจักรก็จะต้องเลี้ยงดูบุตรหลานให้เป็นลูเธอรันอีกด้วย มีแต่เพียงชุมชนนิกายกรีกโอธอดอกซ์ ทางจังหวัดชายแดนที่ Kexholm และ Ingelmanland เท่านั้นที่มีปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็พออยู่ร่วมกันได้ ฉะนั้น ถือได้ว่าศาสนจักรของสวีเดนไม่ต้องเผชิญความท้าทายใด ๆ ในสวีเดนและฟินแลนด์เลย
กล่าวได้ว่า ศาสนจักรลูเธอรันมีอำนาจและได้รับความเคารพในสังคมถึงขนาดที่สามารถเป็นคู่แข่งของระบบราชการได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้กฎหมายศาสนจักรพยายามยืนยันถึงพระราชอำนาจสูงสุดของพระมหากษัตริย์ทั้งในภาพรวมและในรายละเอียด ดังกรณีที่ให้ผู้ว่าการจังหวัดมีอำนาจในการตรวจสอบดูแลกิจการและการดำเนินงานของศาสนจักรในพื้นที่

พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดยังทรงปฏิเสธแนวคิดว่าด้วยสภาศาสนที่มีอำนาจในการปกครองตนเองระดับหนึ่ง ถึงกระนั้น พระองค์ก็ทรงแสดงความเคารพต่อศาสนจักรและหน้าที่อันชอบธรรมของฝ่ายศาสนจักร ด้วยฝ่ายศาสนจักรยังสามารถโต้แย้งพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดได้ในประเด็นกรณีที่กระทบผลประโยชน์ของฝ่ายศาสนจักรได้

มีตัวอย่างสองกรณีคือ ความพยายามปรับแก้บทวิสัชนาในปี ค.ศ.1686 และบทสวดในปี ค.ศ.1693 ซึ่งได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากทางศาสนจักร โดยมีการกล่าวหาว่าร่างที่เสนอนั้นเป็นการบิดเบือนคำสอนของคริสต์ศาสนาจนนำไปสู่การเสนอร่างใหม่ นอกจากนี้ ความพยายามของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดที่ให้มีการแปลพระคัมภีร์ใหม่ก็ยังถูกศาสนจักรคัดค้าน โดยฝ่ายศาสนจักรเสนอให้มีการเพิ่มเติมเพียงอรรถาธิบายประกอบเท่านั้น ฉะนั้น ศาสนจักรจึงมีอำนาจในการต่อต้านการปฏิรูปขอพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด อยู่พอสมควรโดยเฉพาะในกรณีเนื้อหาเชิงเทคนิค

ในขณะเดียวกัน “การควบคุมและการปรับความคิดยังเป็นกิจการที่สำคัญของศาสนจักร” การศึกษาในสวีเดนถูกควบคุมดูแลโดยศาสนจักร และครูทุกคนก็เป็นสมาชิกของฐานันดรนักบวช ระเบียบว่าด้วยการศึกษาแห่งปี ค.ศ.1693 ก็ยืนยันบทบาทดังกล่าว ทุกเขตปกครองของนักบวชจะต้องมีโรงเรียนมัธยมหนึ่งแห่ง หลักสูตรการศึกษาระดับชาติก็มีเนื้อหาอนุรักษ์นิยมอย่างสูงและแนวคุณธรรมจริยธรรมและหน้าที่ของพลเมืองดีและมนุษย์ที่ดีตามปรัชญาของอริสโตเติล

 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงมี “ความกระตือรือร้นสนพระทัยในระบบการศึกษาระดับชาติที่ดำเนินการโดยฝ่ายศาสนจักร โดยวางอยู่บนความเชื่อมั่นที่ว่าจะสามารถปลูกฝังความคิดทางการเมืองที่ถูกต้องแก่พสกนิกรของพระองค์” 
โดยในทางปฏิบัติ แนวคิดหรือการถกเถียงใดที่อาจกระทบต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะถูกจำกัดหรือหลีกเลี่ยงในคำเทศนาในเขตศาสนาต่าง ๆ พร้อมกันนี้ นักบวชยังมีหน้าที่ในการเก็บบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับประชาชนภายในเขตและสร้างหลักประกันให้ประชาชนทุกคนสามารถอ่านออกเขียนได้เพื่อที่จะรับรู้พระวจนะและโองการของพระผู้เป็นเจ้าด้วยตนเอง โดยมีโรงเรียนสอนคำสอนทุกวันอาทิตย์

และที่สำคัญ การรู้หนังสือยังเป็นเงื่อนไขในการดำเนินการทางราชการ อย่างการแต่งงานหรือการรับราชการทหาร ฉะนั้น ชาวสวีเดนในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จึงมีอัตราการรู้หนังสือที่สูงกว่าชาวยุโรปประเทศอื่น และการสอนคำสอนก็ช่วยให้ประชาชนทุกคนรู้จักบทสำคัญที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในพระคัมภีร์ โดยเฉพาะ Roman 13 ที่สนับสนุนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และหน้าที่ในการจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้แก่มวลมนุษย์

นอกเหนือจากนี้แล้ว ศาสนจักรยังมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะผ่านที่ประชุมทางศาสนาในท้องถิ่น ที่ทำหน้าที่ด้านระเบียบวินัยทางศาสนจักรและเข้ามาบริหารจัดการกิจการต่าง ๆ ในชุมชน โดยมีนักบวชเป็นผู้นำในการรวมตัวของชุมชน

พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงพอพระราชหฤทัยที่เห็นการปกครองตนเองในเขตศาสนาเชื่อมโยงเข้ากับระบบราชการและกลไกการควบคุมทางสังคมในภาพใหญ่ระดับราชอาณาจักร แม้ว่าพระองค์จะเข้าแทรกแซงสนับสนุนการปฏิบัติตามศาสนกิจของประชาชนในสวีเดนอยู่บ้าง พระองค์ก็ทรงเข้าพระทัยถึงข้อดีของการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังตัวอย่างการเลือกนักบวชในเขตโดยประชาชนในพื้นที่ พระองค์ทรงตระหนักว่าประชาชนในพื้นที่ย่อมมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจที่เกี่ยวของกับตนในบางประการ และประชาชนในพื้นที่เองก็ตระหนักในสถานะของตนที่มีสิทธิมีเสียง อย่างเช่นในการเจรจาต่อรองเพื่อทำสัญญาตามธรรมเนียมในเรื่องของภาระหน้าที่ที่นักบวชจะต้องทำและค่าตอบแทนที่จะได้รับ

ในภาพรวม ศาสนจักรลูเธอรันเป็นองค์กร-กลไกหนึ่งที่สำคัญของระบบราชการของสวีเดน ฝ่ายศาสนจักรทำหน้าที่ส่งต่อคำสั่งของรัฐบาลมาในระดับชุมชน พร้อมกับช่วยอธิบายและให้เหตุผลสนับสนุนคำสั่งดังกล่าว และคอยส่งข้อมูลเชิงสถิติต่าง ๆ กลับให้แก่รัฐบาลกลาง นักบวชที่เป็นประธานสภาศาสนาในท้องถิ่นยังมีบทบาทเป็นคนกลางในการประสานประชาชนในพื้นที่กับกลไกราชการ นอกจากนี้ ศาสนจักรยังเป็นองค์กรที่สมาชิกล้วนเป็นสามัญชน เพราะนักบวช ถ้าไม่ได้เป็นลูกหลานชาวนาก็เป็นลูกหลานของฝ่ายศาสนจักรเอง
ศาสนจักรยังทำหน้าที่กระจายคุณค่าและยืนยันในความชอบธรรมของระบอบราชการโดยการเชื่อมโยงประชาชนจำนวนมากเข้ามารองรับเป็นฐานของระบบราชการอีกด้วย ซึ่ง  “ไม่ว่าพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดจะทรงตระหนักรู้หรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นได้สะท้อนว่า การปรึกษาหารือและการเจรจาต่อรองในระดับท้องถิ่นเป็นการส่งเสริมโครงสร้างแบบอำนาจนิยม”  ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
(โปรดติดตามตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น