เป็นการเดินทางครั้งที่ 8 ของหัวหน้าผู้เจรจากำแพงภาษีกับสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นทันทีหลังทราบผลการเลือกตั้งสภาสูงของญี่ปุ่น ซึ่งพรรคแอลดีพีที่เขาสังกัดและเป็นพรรครัฐบาล ต้องประสบกับการพ่ายแพ้เสียที่นั่งเสียงข้างมากทั้งในสภาล่างและสภาสูงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 70 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 3
การเจรจาครั้งที่ 8 นี้ เขาได้พบกับรมต.พาณิชย์สหรัฐฯ นายฮาวเวิร์ด ลุตนิก และต่อมาได้เจรจากับรมต.คลังสก็อตต์ เบสเซนต์ และปรากฏว่าการเจรจาจบลงโดยสามารถผ่าทางตันได้
ทรัมป์ได้ออกมาประกาศทาง Truth Social ว่า มีข่าวดีข่าวใหญ่ โดยการเจรจาข้อตกลงทางการค้าประสบผลสำเร็จ ซึ่งเขาใช้คำว่า เป็น “Massive Deal” คือ เป็นข้อตกลงอภิมหาดีล ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเปิดตลาด OPENMARKET (โดยใช้อักษรขนาดใหญ่เน้นเป็นพิเศษ) ในด้านตลาดรถยนต์และสินค้าเกษตรที่จะมี “ข้าว” รวมทั้งสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ด้วย
ทรัมป์ยังเน้นว่า ทางญี่ปุ่นจะมีการลงทุน (สร้างงานมากมาย) ในสหรัฐฯ ถึง 550,000 ล้านเหรียญ...ทั้งนี้ เพื่อแลกกับอัตรากำหนดภาษีทรัมป์ที่เขาเคาะให้ที่ 15% อันจะเป็นอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ สำหรับสินค้าจากญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงรถยนต์ญี่ปุ่นและอะไหล่อุปกรณ์รถยนต์ต่างๆ
ทำเอากระดานดัชนีนิกเกอิพุ่งทันทีเกือบ 4% โดยเฉพาะดัชนีกลุ่มยานยนต์ทะยานกว่า 10% ซึ่งหุ้นรายตัวของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นพุ่งเป็นเลข 2 หลัก เช่น โตโยต้า มอเตอร์ พุ่งถึง 11% มาสด้าพุ่ง 17% มิตซูบิชิ มอเตอร์ พุ่ง 13% ฮอนด้าพุ่งเกือบ 9% และนิสสัน มอเตอร์พุ่ง 8%
เพราะอัตราภาษีที่ทรัมป์เคาะที่ 15% นี้ ถือว่าเป็นการลดลงมามากจากตัวเลขเดิมที่เขาขู่ว่าจะเป็น 25% ณ วันที่ 1 สิงหาคม (ตัวเลข 25% นี้เคยอยู่ที่ 24% ในวันที่ 2 เมษายน ด้วยซ้ำ!!)
ทางทรัมป์คาดว่า ญี่ปุ่นจะยอมตกลงเรื่องภาษีนี้ในช่วงก่อนเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ถึงกับส่งรมต.คลัง สก็อตต์ เบสเซนต์ เดินทางมาโตเกียว (ในภารกิจอื่น) แต่ก็ได้พบกับนายกฯ อิชิบะ และครม.ญี่ปุ่นทั้งคณะด้วยซ้ำ...คงคาดว่า ถ้าสามารถตกลงกันได้ และกำแพงภาษีของทรัมป์สามารถลดลงมาจาก 25% (มาอยู่ที่ 15%) อาจช่วยนายกฯ อิชิบะ และพรรคแอลดีพีที่อาจไม่ต้องเสียเก้าอี้ในสภาสูงมากอย่างที่โพลต่างๆ ได้ทำนายคาดการณ์
แต่อิชิบะคงไม่อยากเสี่ยงกับตัวเลข 15% นี้ เพราะจากโพลได้สะท้อนว่า พรรคใหม่ที่รณรงค์หาเสียงว่า “ญี่ปุ่นต้องมาก่อน (JAPAN FIRST)” จะเพิ่มเก้าอี้ได้มากขึ้น (จากแค่ 2 ที่นั่งในสภาสูง-ผลปรากฏว่าได้เพิ่มเป็น 15 ที่นั่ง) และพรรคฝ่ายค้านหลัก CDC ก็ได้เก้าอี้เพิ่มเช่นกัน
ทั้งนี้ เพราะปัญหาสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น ทำให้มีการเปิดประเทศให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานจำนวนมากและคนหนุ่มคนสาวเกิดความรู้สึกว่า งานดีๆ ถูกแย่งไป จึงหันไปเทคะแนนให้กับพรรคใหม่ที่หาเสียงแบบทรัมป์ในสหรัฐฯ นั่นเอง
ดังนั้น หลังเลือกตั้งตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นจึงรีบบินไปดี.ซี.เพื่อเจรจาให้ตกลงให้ได้
HSBC ออกรายงานว่า ตัวเลขเคาะที่ 15% นี้ อาจช่วยชะลองการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอิชิบะที่กำลังจะเกิดขึ้นในสภาฯ เพื่อล้มนายกฯ อิชิบะออกจากนายกฯ และเปลี่ยนขั้วรัฐบาลมาเป็นพรรค CDC เป็นแกนนำร่วมกับพรรคใหม่
สำหรับนายกฯ อิชิบะประกาศว่า อัตรา 15% ถือเป็นอัตราภาษีเข้าสหรัฐฯ ต่ำสุดในบรรดาเหล่าประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ
ต่ำกว่าเวียดนามที่ 20% ต่ำกว่าอินโดนีเซียที่ 19% ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ที่ 19% เช่นกัน
และถ้าเทียบกับกำแพงภาษีรถยนต์นำเข้าสหรัฐฯ จากสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 10% ก็จริง แต่ก็อนุญาตให้แค่รถยนต์อังกฤษ 1 แสนคันแรกเท่านั้น ที่เหลือก็เด้งไปอยู่ที่ 25% ขณะที่สำหรับรถยนต์ญี่ปุ่นนำเข้าสหรัฐฯ มีอัตราภาษีนำเข้าที่แค่ 15% โดยไม่มีข้อจำกัดด้านปริมาณ!! นับว่าดีลของญี่ปุ่นนี้ดีมากกว่าของสหราชอาณาจักร
ประเด็นเรื่องรถยนต์ญี่ปุ่นเข้าสหรัฐฯ นั้น เป็นประเด็นที่หินที่สุดในการเจรจาระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เพราะรายได้จากส่งออกรถยนต์ญี่ปุ่นคิดเป็นเกือบ 30% ของสินค้าส่งออกจากญี่ปุ่นทั้งหมดที่เข้าสหรัฐฯ
สำหรับเงื่อนไขที่ญี่ปุ่นได้ 15% นี้มาพร้อมกับสัญญาว่า ทางการญี่ปุ่นจะปล่อยกู้ (ดอกเบี้ยต่ำ) ให้กับเอกชนญี่ปุ่น เช่น ซอฟต์แบงก์ ที่จะร่วมทุนกับบริษัทอเมริกา เช่น OPECAI, Oracle เพื่อลงทุนสร้างงานที่สหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นด้าน Data Center หรือกิจการไฮเทคทั้งหลาย
ซึ่งนายกฯ อิชิบะยังเสริมด้วยว่า การร่วมลงทุนในสหรัฐฯ จะมีหลายๆ ธุรกิจสำคัญ เช่น ธุรกิจชิป, เภสัชกรรมและอุปกรณ์การแพทย์, อุตสาหกรรมเหล็ก, (ล่าสุดกับนิปปอนสตีล) อุตสาหกรรมต่อเรือ, อุตสาหกรรมแร่หายาก, การบิน, พลังงาน, รถยนต์, เทคโนโลยีควอนตัม, หุ่นยนต์ AI เป็นต้น
ญี่ปุ่นคงจะต้องติดตามใกล้ชิดว่า ทำเนียบขาวจะเคาะภาษีนำเข้าสหรัฐฯ สำหรับเศรษฐกิจใหญ่ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรปซึ่งมีสินค้ารถยนต์ส่งออกไปสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน ถึงกับมองว่า สหรัฐฯ กำลังผลักพันธมิตรให้กลายเป็นศัตรู จากกำหนดภาษีทรัมป์ในครั้งนี้
รวมทั้งเกาหลีใต้ซึ่งวันที่สหรัฐฯ เคาะ 15% ให้กับรถยนต์ญี่ปุ่นเข้าสหรัฐฯ นั้น หุ้นบริษัทรถยนต์ของเกาหลีใต้ก็ทะยานพุ่งขึ้นรับข่าวนี้ด้วยเหมือนกัน โดยคาดว่า เกาหลีใต้จะได้ตัวเลขภาษีนำเข้าไม่น้อยหน้าญี่ปุ่น เพราะเกาหลีใต้ก็มีความสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์ในการปิดล้อมจีนเช่นเดียวกับญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน ทั้งแคนาดาและเม็กซิโก ก็คงพยายามเจรจาเพื่อลดกำแพงภาษีรถยนต์และอะไหล่อุปกรณ์เครื่องยนต์ รวมทั้งอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปเพื่อไม่ให้น้อยหน้าไปกว่าญี่ปุ่น
และยังมีอินเดียที่สหรัฐฯ จะต้องให้น้ำหนักด้านภูมิรัฐศาสตร์ในการพิจารณาเคาะภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้