ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ตลาดกาแฟพิเศษ” หรือ “Specialty Coffee” เติบโตสวนทางเศรษฐกิจอย่างน่าจับตา มูลค่ากาแฟพิเศษไทยสูงกว่า 30,000 ล้านบาท เติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 15% ต่อปี ร้านกาแฟ Specialty Coffee ราคาต่ำกว่า 100 บาทต่อแก้ว ครองใจผู้บริโภคยุคใหม่ Premium Mass
โดย LINE MAN Wongnai ปิดเผยภาพรวมธุรกิจร้านอาหารไทย จากปัจจัยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงส่งผลให้ยอดขายของร้านอาหารลดลง 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่กลับสวนทางกับตลาดกาแฟที่ยังเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะ ร้านกาแฟ Specialty ราคาจับต้องได้ (Affordable Specialty Coffee) ที่มีราคาต่อบิลต่ำกว่า 100 บาท กลายเป็นสัดส่วนตลาดที่เติบโตเร็วที่สุด โดยในกรุงเทพฯ เติบโตสูงถึง 46% และในต่างจังหวัดเติบโต 19%
นอกจากนี้ กาแฟ Specialty ครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่กว่ากาแฟทั่วไป โดยมีสัดส่วนยอดขายทั่วประเทศ 56% และในกรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงถึง 66%
ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai เปิดเผยว่าร้านกาแฟกลุ่ม Specialty ที่ขายกาแฟคุณภาพดีในราคาจับต้องได้ หรือต่ำกว่า 100 บาทต่อบิล มียอดขายพุ่งขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยอดขายร้านเดิมโตถึง +46% ขณะที่ต่างจังหวัดโต +19% สะท้อนเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่มองหาของดีราคาเข้าถึงได้มากกว่าความหรูหรา
จำนวนร้านกาแฟเปิดใหม่ในครึ่งแรกของปี 2568 จะลดลงจาก 7,000 ร้านในปี 2567 เหลือ 5,000 ร้าน แต่ร้านกาแฟยังมีอัตราการอยู่รอดสูงกว่าร้านอาหารทั่วไป โดยร้านกาแฟมีอัตราปิดตัวในปีแรกเพียง 43% เทียบกับร้านอาหารที่ปิดตัวถึง 50% สะท้อนว่าแม้ว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่กาแฟเป็นเครื่องดื่มแบบ Functional ที่คนกินทุกวัน และกินมากขึ้นทั่วโลก
ขณะที่ ร้านกาแฟแบบ Chain อย่าง Amazon ซึ่งมียอดขายดี เป็นอันดับ 1 บน LINE MAN เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ อเมซอน พรีเมียม Selected Cup ซึ่งวางตำแหน่งให้เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกาแฟพรีเมียมที่ตอบรับเทรนด์ตลาด Specialty Coffee
ไกรพิท เปรมมณี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจไลฟ์สไตล์ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) เปิดเผยว่า ตลาดกาแฟไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและเติบโตอย่างมีคุณภาพ จากอดีตที่เน้นความสะดวกและราคาจับต้องได้ สู่ปัจจุบันที่ผู้บริโภคเริ่มก้าวข้ามจากความสะดวกสบาย มาสู่การใส่ใจในรายละเอียดและคุณภาพของกาแฟมากขึ้น ทั้งในเรื่องของรสชาติที่ซับซ้อน แหล่งที่มาของเมล็ดกาแฟ กระบวนการคั่วที่พิถีพิถัน และวิธีการชงที่หลากหลาย ผู้บริโภคเริ่มมองหากาแฟที่สะท้อนรสนิยมและมอบประสบการณ์ที่เหนือกว่า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าตลาดกาแฟพรีเมียมกำลังเติบโตอย่างมีศักยภาพ ทั้งนี้ เพื่อตอบรับเทรนด์ผู้บริโภคที่มองหาประสบการณ์กาแฟระดับพรีเมียมในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ แบรนด์กาแฟ Specialty Coffee ได้ปลุกกระแสรับตลาด Premium Mass คอกาแฟรุ่นใหม่ อย่างน่าจับตา ชูคอนเสปกาแฟดี ทำไมต้องแพง สร้างภาพจำแบรนด์ Premium Mass Coffee ให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความคุ้มค่าเลือกดื่มได้ทุกวัน
อาทิ One to Two จากร้านกาแฟเล็กๆ ในภาคเหนือ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 โดยมีความตั้งใจอยากให้ทุกคนได้ดื่มกาแฟดี คัดสรรค์กาแฟ Specialty โดยไม่ต้องจ่ายราคาแพง เจาะตลาด Premium Mass ปัจจุบันมีสาขากว่า 55 แห่งทั่วประเทศ โดยจำหน่ายกาแฟเริ่มต้นราคากาแฟ 55 บาท และสร้างยอดขายทะลุ 140 ล้านบาทในปี 2567 ที่ผ่านมา
หรือ UNO! Coffee เปิดตัวกลางปี 2568 ด้วยการสร้างปรากฏการณ์ในโซเชียลมีเดีย มีคนจำนวนมากเข้าคิวต่อแถวรอซื้อเมนูกาแฟสายพันธุ์เกอิชา ซึ่งถือเมล็ดกาแฟที่หายากและราคาแพงที่สุดในโลก โดยจำหน่ายในราคาเพียง 85 บาทต่อแก้ว ปั้นแบรนด์ Specialty Coffee โดยยอมลดกำไรเพื่อผู้บริโภคเข้าถึงกาแฟระดับสูงในราคาไม่แพงต่ำกว่า 100 บาท
ทั้งนี้ ภาพรวมมูลค่าตลาดกาแฟไทยอยู่ที่ 65,000 ล้านบาท โดยมูลค่ากาแฟพิเศษไทยอยูที่ 30,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 46% ของมูลค่าตลาดกาแฟทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งมูลค่าตลาดกาแฟพิเศษของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมากกว่า 15% ต่อปี เป็นภาพสะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความนิยมบริโภคกาแฟพิเศษมากขึ้น
กล่าวสำหรับตลาดเครื่องดื่ม Specialty กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น “มัทฉะ Specialty” หรือ “ชาเขียวจากญี่ปุ่น” เป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มรักสุขภาพทั่วโลก ด้วยเอกลักษณ์ของรสชาติและกลิ่นที่หลากหลาย ซึ่งมาจากความแตกต่างของสายพันธุ์ใบชา แหล่งเพาะปลูก และกระบวนการผลิต ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกมัทฉะที่ตรงกับรสนิยมของตนเองได้
ทั้งนี้ มีการประเมินว่าตลาดมัทฉะทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2570 เติบโตเฉลี่ย 9.44% ต่อปี ซึ่งสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพอากาศทั่วโลกทำให้ผลผลิตใบชาเขียวลดลง ส่งผลให้คุณภาพไม่สม่ำเสมอทำให้เกิดภาวะขาดแคลนมัทฉะส่งผลให้มัทฉะราคาสูงขึ้น
อ้างอิง ข้อมูลจาก LINE MAN Wongnai ระบุว่ายอดขาย “มัทฉะ” เติบโตต่อเนื่องถึง 28% ซึ่งการแข่งขันก็รุนแรงตามไปด้วย เพราะมีจำนวนร้านเพิ่มจาก 9,600 ร้านในไตรมาส 2 ปี 2567 เป็น 12,400 ร้านในปี 2568
ขณะที่ “ชาไทย Specialty” โตแรงไม่แพ้กัน สามารถเลือกรสชาติและกลิ่นหอมได้เหมือนกับเมนูกาแฟ Specialty ข้อมูลจาก LINE MAN เปิดเผยว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มีร้านเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 205% ยอดสั่งเติบโต 81% ทะลุ 4 แสนแก้วในปี 2567 โดย ชาไทย Specialty มีจุดเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมชาขยายตัวในเชิงโครงสร้าง ทั้งด้านคุณภาพของใบชา ความหลากหลายของแหล่งปลูก และกำลังการผลิต ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นตลาดค้าชาใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก
หรือ “โกโก้ Specialty” ซึ่งมีคาเฟ่เปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้น เสิร์ฟเมนูโกโก้จากหลายแห่งปลูก โดยมอบประสบการณ์การดื่ม Test Note ที่แตกต่าง ผลผลิตของโกโก้ในแต่ละพื้นที่จะให้รสชาติแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่ปัจจัยของสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ ซึ่งโกโก้ไทยมีความโดดเด่นเอกลักษณ์ชวนให้ลิ้มลอง
โดยปี 2568 คาดการณ์ว่าตลาดผลิตภัณฑ์โกโก้และช็อกโกแลตของไทย จะมีมูลค่ามากถึง 9,000 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 5.3 จากปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากเทรนด์โกโก้ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ตลาดโกโก้ในตลาดโลกราคาพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ผลผลิตจากทวีปแอฟริกาตะวันตกแหล่งปลูกรายใหญ่ของโลกมีผลผลิตลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ราคาของโกโก้นำเข้ามีราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตโกโก้คุณภาพเช่นเดียวกัน โดยตั้งเป้าเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของเอเชีย
ทั้งนี้ LINE MAN ให้การสนับสนุนโกโก้ไทยโดยชวนร้านค้าบนแพลตฟอร์มร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนธุรกิจโกโก้ไทย หันมาเลือกใช้โกโก้ไทยเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร และกระจายรายได้สู่เกษตรกรท้องถิ่นของไทย เพื่อร่วมผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมโกโก้ในอาเซียนอีกด้วย
อย่างไรก็ดี กาแฟ Specialty โตแรงเป็นอันหนึ่ง โดย เมนู Specialty อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ชาไทย มัทฉะ และ โกโก้ ต่างได้รับความนิยมรองลงมา ทั้งหมดสะท้อนค่านิยมของผู้บริโภคยุคใหม่ เปิดรับประสบการณ์การดื่ม ดื่มด่ำความซับซ้อนของรสชาติที่ดี ผ่านคัดเลือกอย่างกระบวนการพิถีพิถัน ผลิตจากแหล่งปลูกคุณภาพ เป็นต้น