ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ใกล้ถึงเส้นตาย 1 สิงหาคม 2568 ที่ทรัมป์จะรีดภาษีนำเข้าจากไทย 36% แต่ดูเหมือน “ทีมไทยแลนด์” จะยังไม่มีข้อเสนอที่เร้าใจในระดับ Great Deal อย่างที่เวียดนามและอินโดนีเซียทำสำเร็จ
ถึงตอนนี้เหลือเพียงไทยแลนด์ เพียงหนึ่งเดียวใน 5 ชาติอาเซียน ที่จะถูกทรัมป์รีดภาษีมหาโหดถึง 36% ขณะที่เวียดนาม ลดเหลือ 20% จาก 46% ล่าสุด อินโดนีเซีย ลดเหลือ 19% จาก 32% ส่วนฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 20% มาเลเซีย 25% และ สิงคโปร์ 10% นั่นหมายความว่าไทยจะเสียเปรียบคู่แข่งขันอย่างมาก ทั้งชาติอาเซียนและหลายประเทศทั่วโลก ที่ต่างยื่นข้อเสนอเพื่อแลกกับการขอลดภาษีนำเข้าสหรัฐฯ
ข้อเจรจาต่อรองที่ไทยจะเสนอต่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเจรจายกสอง ตามที่นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาย้ำอีกครั้งว่า จะเปิดเสรีสินค้านำเข้าให้สหรัฐฯ 0% ซึ่งมีการเสนอไป 90% ของรายการสินค้า หรือ 10,000 พิกัดรายการ จนบัดนี้ยังไม่ได้มีเสียงตอบรับกลับมาจากสหรัฐฯ แต่อย่างใด เพราะเป็นสินค้าที่ไทยเปิดเสรีกับประเทศอื่นด้วย
ส่วนอีก 10% ที่อาจจะมีผลกระทบต่อรายการสินค้าและอุตสาหกรรมกลุ่มเสี่ยง ทีมไทยแลนด์ ก็ยังอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ อยู่ว่าจะเปิดกว้างมากน้อยแค่ไหน และเชคลิสต์แล้วมีรายการไหนบ้างที่จะเจอแจ๊กพอต สร้างความกังวลและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น
สำหรับเรื่องการสวมสิทธิสินค้า ซึ่งสหรัฐฯ ให้ความสำคัญมากนั้น ไทยต้องเข้มงวดการใช้สัดส่วนวัตถุดิบในประเทศ (Local Content) ขณะนี้พบว่ามี 10-15 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง เพราะใช้วัตถุดิบในประเทศน้อยกว่าจากต่างประเทศ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรที่จะทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้เดินหน้าต่อไปได้ และยังสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนั้น ๆ
ล่าสุด นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า คืนวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ตามเวลาไทย ทีมไทยแลนด์ นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐ อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อพิจารณาข้อเสนอเพิ่มเติมของไทยที่จัดทำใหม่ ซึ่งไทยได้เสนอการลดภาษีนำเข้าสินค้าให้สหรัฐเป็น 0% ในสินค้าหลายหมื่นรายการ และยังมีข้อเสนออื่น ๆ ที่ยื่นให้สหรัฐฯ อีก
นอกจากนั้น รัฐบาลได้เตรียมมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีมาตรการเยียวยาไว้ 2 ระดับ คือ ถ้าถูกเก็บภาษี 36% จะมีสินค้าใดได้รับผลกระทบ และผลกระทบลงลึกถึงระดับใด เช่น แรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และหากถูกเก็บ 20% จะกระทบสินค้ากลุ่มใด ผลกระทบเป็นอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ดี ภายใต้ความวิตกกังวลของทุกภาคส่วนที่ต้องเตรียมรับผลกระทบขั้นสุดจากภาษีทรัมป์ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่ง่อนแง่นเสียเต็มประดา กับทีมงานรัฐมนตรีหน้าใหม่ ก็ยังไม่สามารถทำให้นักธุรกิจ นักลงทุน และประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะไปรอด
หากพินิจจากที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบ 10 นโยบายให้ข้าราชการในสังกัด ตลอดจนทูตพาณิชย์ทั่วโลกและพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ รับไปปฏิบัติการสู้ศึกภาษีทรัมป์ บอกได้คำเดียวว่าไม่มีอะไรใหม่ และชัดเจนเป็นรูปธรรมสมน้ำสมเนื้อกับการสู้ศึกครั้งใหญ่
สำหรับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ออกมา อาทิ การเตรียมข้อมูล วิเคราะห์ และเตรียมมาตรการรับมือการยกระดับการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ การส่งออกและขยายตลาดใหม่ผ่านทูตพาณิชย์ต่างประเทศเพื่อชดเชยความเสี่ยงจากตลาดเดิม การเร่งรัดการเจรจาเอฟทีเอใหม่ ๆ เช่น ไทย-อียู, ไทย-เกาหลีใต้ การส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเทคโนโลยีและตลาดออนไลน์ การสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร การปราบสินค้าสวมสิทธิ์ การปฏิรูปบริการภาครัฐให้ทันสมัย การยกเครื่องกฎหมายด้านพาณิชย์ให้เอื้อต่อการแข่งขัน ฯลฯ
ก่อนหน้านี้ ในการประชุมทีมไทยแลนด์ เพื่อรับมือกับศึกภาษีทรัมป์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 แบบเต็มทีม และมี “พ่อนายกฯ” นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นเชิงกลยุทธ์ ได้วางกรอบแนวทางเจรจา 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.การตรวจสอบผลกระทบจริงต่อเกษตรกร, SMEs และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อออกมาตรการเยียวยาให้ตรงจุด 2.เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่น ก๊าซฯLNG, ข้าวโพด, ปุ๋ย ฯลฯ และ 3.เจรจาให้ได้อัตราภาษีที่ไม่เสียเปรียบคู่แข่ง เช่น เวียดนาม และเข้มงวดกับการส่งผ่านสินค้าหรือสวมสิทธิ์
หลังจากนั้น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ โดยให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเตรียมซอฟท์โลนไว้ประมาณ 2 แสนล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อช่วยเหลือทั้งการลงทุน การจ้างงาน การบริหารสินค้าคงคลัง และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงิน มาตรการเยียวยาต่างๆ โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้จากระดับปกติที่ดอกเบี้ย 2%
ซอฟต์โลนดังกล่าวจะมาจากธนาคารออมสินเป็นหลัก และบางส่วนจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเน้นช่วยภาคเกษตร รวมถึงธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK โดยสัดส่วนการปล่อยกู้จากธนาคารใดยังต้องรอความชัดเจนจากฝั่งสหรัฐฯ ว่าจะกำหนดอัตราภาษีกับไทยอย่างไร
อย่างไรก็ดี มาตรการช่วยเหลือด้วยการให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ก็ใช่ว่าจะตอบโจทย์ หากอุตสาหกรรมนั้น ๆ ได้รับผลกระทบหนัก แข่งขันไม่ได้ โอกาสรอดก็ยาก ฟื้นตัวก็ยาก แบงก์ก็ไม่ปล่อยกู้ ซอฟท์โลนก็ช่วยอะไรไม่ได้
หากเจาะลึกลงไปในภาคส่วนที่จะกระทบหนัก นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า มีมากกว่า 20 อุตสาหกรรม จาก 47 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะได้รับผลกระทบหนักหากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้า 36% โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหาร
ด้าน นายนาวา จันทนสุรคน รองประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกันของสมาชิก ส.อ.ท. 47 กลุ่มอุตสาหกรรม มีข้อสรุปว่า หากต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ 36% จริง บางกลุ่มอุตสาหกรรมอาจจะไปไม่รอด เพราะพึ่งตลาดส่งออกสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก เช่น อุตสาหกรรมถุงมือยางใช้ในการแพทย์ ซึ่งไทยส่งออกไปที่สหรัฐฯ เป็นหลัก ขณะที่คู่แข่งขันของไทยคือ มาเลเซีย ทางสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าเพียง 25%
ข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า สินค้าไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือน ปี 2568 (มกราคม - พฤษภาคม 2568 ) สินค้า 20 อันดับแรก ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ หากไม่ได้รับการปรับลดลงจาก 36%
ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่งออกมูลค่า 6,567 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ผลิตภัณฑ์ยาง ส่งออกมูลค่า 1,985 ล้านดอลลาร์,เครื่องโทรสารโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 1,802 ล้านดอลลาร์, อัญมณีและเครื่องประดับ 1,049 ล้านดอลลาร์, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 1,045 ล้านดอลลาร์,
หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 990 ล้านดอลลาร์, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 979 ล้านดอลลาร์, รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 765 ล้านดอลลาร์,เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ 762 ล้านดอลลาร์,อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด 709 ล้านดอลลาร์
นอกจากนั้น ยังมี เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 556 ล้านดอลลาร์, ผลิตภัณฑ์พลาสติก 553 ล้านดอลลาร์, แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า 497 ล้านดอลลาร์, อาหารสัตว์เลี้ยง 438 ล้านดอลลาร์, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 385 ล้านดอลลาร์, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 377 ล้านดอลลาร์, เครื่องนุ่งห่ม 371 ล้านดอลลาร์, ข้าว 369 ล้านดอลลาร์, เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน 336 ล้านดอลลาร์, ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ 336 ล้านดอลลาร์ และอื่น ๆ มูลค่า 6,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับสินค้าเกษตรที่อ่อนไหวที่สุด เพราะส่งผลกระทบในวงกว้าง มีกระแสข่าวมาตลอดว่าสหรัฐฯ ต้องการเปิดตลาดเนื้อสุกร ไก่เนื้อ และเนื้อโค และกลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี เป็นต้น
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประเมินว่า หากเปิดตลาดให้เนื้อหมูสหรัฐฯซึ่งมีต้นทุนต่ำเข้ามาตีตลาดในไทย จะกระทบกับผู้เลี้ยงสุกรกว่าแสนรายที่จะล้มหายตายจาก และจะส่งผลกระทบตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ผู้ปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง อาหารสัตว์ โรงงานแปรรูป และแรงงานนับล้านชีวิตที่จะล่มสลายไปพร้อมกัน
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคเนื้อหมูยังจะมีความเสี่ยงจากสารเร่งเนื้อแดงที่สหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้ภายใต้เกณฑ์มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ทั้งในส่วนของเนื้อแดง และเครื่องในหมู ผู้บริโภคมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากสารเร่งเนื้อแดงเป็นสารก่อมะเร็ง
สำหรับผลกระทบต่อการส่งออก ข้าวหอมมะลิ ไปสหรัฐฯ นั้น นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์ว่า การที่สหรัฐฯเรียกเก็บภาษีสูงถึง 36% จะทำให้ราคาข้าวหอมมะลิในตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 เหรียญต่อตัน จากปกติที่ราคาเฉลี่ยตันละ 900-1,000 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน
โดยในปี 2567 ข้าวหอมมะลิไทยมีสัดส่วนในตลาดสหรัฐฯ สูงกว่า 850,000 ตัน ขณะที่เวียดนาม สหรัฐฯมีการนำเข้าเฉลี่ย 40,000 ตันต่อปี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 600-700 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งผู้บริโภคมีแนวโน้มจะลดการซื้อข้าวหอมมะลิจากไทยแล้วหันไปซื้อข้าวหอมเวียดนามแทน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ในฐานะประธานกรรมการบริษัทในเครือ V-SERVE GROUP เปิดเผยผลสำรวจผู้ประกอบการส่งออกจากกรณีภาษีทรัมป์ ร้อยละ 36 จากกลุ่มตัวอย่าง 179 ราย พบว่า มีผู้ประกอบการร้อยละ 42 ได้รับผลกระทบ โดยผลกระทบระดับปานกลางถึงรุนแรง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61 ของกลุ่มตัวอย่าง
ทั้งนี้ ลักษณะของผลกระทบส่วนใหญ่ คือ ถูกผลักภาระค่าภาษีจากผู้ซื้อ/วัตถุดิบ-ค่าแรงสูงขึ้น รองลงมาคือ แนวโน้มคำสั่งซื้อลดลงกระทบต่อยอดขายการแข่งขันในตลาดอื่น ๆ รุนแรง ราคาค่า Sea Freight สูง/ผันผวน และสินค้าเวียดนามเข้ามาแย่งตลาดในสหรัฐฯ โดยขณะนี้ เริ่มเห็นสัญญาณการลดลงของออเดอร์ส่งออก โดยเฉพาะคำสั่งซื้อระยะยาวที่ลดลงอย่างเป็นนัย และพบว่าออเดอร์จากสหรัฐฯ เริ่มไหลไปเวียดนามที่มีภาษีต่ำกว่าและต้นทุนโดยรวมต่ำกว่าไทย
ภาคเอกชน ยังแสดงความกังวลถึงข้อเสนอใหม่ในการเพิ่ม Local Content ซึ่งส่วนใหญ่เดิมร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 60 – 70 จะกระทบผู้ประกอบการ BOI ที่ได้รับมาก่อนหน้านี้หรือไม่
ส่วนมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ส่งออก ด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง 2 แสนล้านบาท ต้องครอบคลุมทั้งโซ่อุปทาน แต่หากคงให้ธนาคารปล่อยกู้แบบเดิม ๆ แบงก์คงไม่ปล่อยกู้ เพราะผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ ยอดขายลดลง รัฐบาลจะต้องตั้งกองทุนหรือมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้แบงก์รัฐปล่อยกู้เป็นกรณีพิเศษ
นอกจากซอฟท์โลนเสริมสภาพคล่อง คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร เป็นประธาน ได้ออก “มาตรการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทย เพื่อรองรับโลกยุคใหม่” เพื่อรับมือภาษีทรัมป์ อาทิ ให้สิทธิพิเศษแก่เอสเอ็มอี จากที่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี วงเงินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มเป็นยกเว้น 5 ปี ในวงเงินร้อยละ 100
มาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทย สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด รถยนต์ไฟฟ้าแบบ PHEV ร้อยละ 45 ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ร้อยละ 15 และเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 40 โดยจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ
การปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานบุคลากรต่างชาติ โดยกำหนดว่า หากเป็นกิจการผลิตที่มีการจ้างงานทั้งบริษัทตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จะต้องมีการจ้างบุคลากรไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 เป็นต้น
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...กรณีของอินโดนีเซีย นับเป็นประเทศที่สองในอาเซียนที่สหรัฐฯประสบความสำเร็จในการเจรจา ให้ดีล 19% หลังจากเวียดนาม ได้รับดีล 20% ในช่วงก่อนหน้า เป็นตัวอย่างของดีลที่เรียบง่าย เข้าใจง่าย - Total and Free Acess สำหรับสินค้าอเมริกา บวกกับการซื้อสินค้าสหรัฐฯเพิ่มเติม เพื่อให้ได้รับดีลที่ดีกว่าเวียดนาม และเป็นตัวอย่างว่า “ได้รับจดหมายแล้ว ก็ยังเปลี่ยนได้ ถ้ามี Great Deal ที่ใช่สำหรับสหรัฐ”
มาลุ้นกันว่า ไทยจะจบที่ตรงไหน จะอยู่ในช่วงที่ห่างจากคู่แข่งทั้งสองนี้ไม่มากหรือไม่ .... ตอนนี้เหลือแค่ไทยคนเดียวในกลุ่มนี้ ที่ยังเกิน 30% ซึ่งจะมีนัยยะในระยะสั้น ระยะยาว กับเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง !!!!