xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โกกั้ง (12) จากมิตรกลายเป็นศัตรู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หยังจินซิ่ว (Yang Jinxiu, ???) ผู้นำหญิงโกกั้งที่ครองอำนาจตั้งแต่  ค.ศ.1959 ไปจนถึง ค.ศ.1963

ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 การออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ชาวโกกั้งในครั้งนั้น สามารถแยกชาวโกกั้งจากกองกำลังกว๋อหมินตั่งได้ในระดับหนึ่ง แต่ด้วยเหตุที่ถิ่นโกกั้งตั้งอยู่ห่างไกลจากรัฐบาลกลางพม่า พม่าจึงมิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโกกั้งในเชิงลึกได้ ได้แต่ตั้งตัวแทนที่เป็นชาวโกกั้งให้ช่วยดูแลชาวโกกั้งแทนตน


จนถึง ค.ศ.1953 ก็ปรากฏว่า กองกำลังกว๋อหมินตั่งที่หลงเหลืออยู่มีการเคลื่อนไหวในพื้นที่ทางภาคเหนือของพม่ามากขึ้น รัฐบาลพม่าจึงส่งกองกำลังเข้าไปรักษาพื้นที่ชายแดนในถิ่นโกกั้งทันที การเข้าไปยังถิ่นโกกั้งของกองกำลังพม่าในครั้งนั้น ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับสองชนชาติมากขึ้นโดยลำดับ

จากความสัมพันธ์ดังกล่าว ยังผลให้รัฐบาลพม่าส่ง **หยังเจิ้นไฉ** เป็นตัวแทนโกกั้งในการประชุมของสหประชาชาติที่นิวยอร์กเมื่อ ค.ศ.1950 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพม่ามีความไว้วางใจในโกกั้งอยู่พอสมควร

นอกจากนี้ กองทัพพม่าที่ตั้งอยู่ตามแนวตะวันตกของแม่น้ำสาละวินยังให้ผู้ปกครองโกกั้งรวมกองกำลังเข้ากับตน เพื่อขับไล่กองกำลังกว๋อหมินตั่งให้ออกไปจากพม่าอีกด้วย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากโกกั้งเป็นอย่างดี

ไม่เพียงเท่านั้น โกกั้งยังได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพม่ามาเยือนโกกั้งอีกด้วย เมื่อมาถึงรัฐมนตรีมหาดไทยพม่าก็ได้รับการต้อนรับจากโกกั้งเป็นอย่างดี การเยือนในครั้งนั้นฝ่ายพม่าได้นำธงชาติพม่า พร้อมภาพของอองซานรัฐบุรุษที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของพม่ามามอบให้แก่โกกั้งอีกด้วย

ในโอกาสนี้เองที่ทางพม่าได้รวบรวมชายฉกรรจ์ชาวโกกั้ง 30 คน เพื่อนำไปฝึกให้เป็นกองกำลังตำรวจ การฝึกนี้มีขึ้นที่เมืองล่าเสี้ยว (Lashio) ซึ่งตั้งอยู่ในทางเหนือของรัฐฉาน และยังให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินจำนวน 400,000 รูปีแก่โกกั้งอีกด้วย ถึงแม้จะกล่าวกันว่า เงินก้อนนี้ไม่ได้ตกถึงมือของชาวโกกั้งก็ตาม

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1954 พม่าได้ให้โกกั้งกู้เงิน 150,000 หยวน เพื่อสร้างโรงพยาบาลที่เมืองเลาไก (Laukkai, Laukkaing, Laogai, Laokai) และหมู่บ้านต้าซุยถัง (ไม่ทราบตัวเขียน) และยังได้จัดตั้งสำนักงานทะเบียนราษฎร์และการปกครอง และสถานีตำรวจขึ้นที่เมืองเลาไกอีกด้วย

พอถึงเดือนมีนาคมปีเดียวกัน การจัดตั้งสำนักทะเบียนและการปกครองในถิ่นโกกั้งก็แล้วเสร็จพร้อมกับสถานีตำรวจ และเพื่อให้การปกครองเป็นไปอย่างราบรื่น พม่ายังได้เปิดให้มีการเรียนการสอนภาษาพม่าแก่ชาวโกกั้งด้วยเช่นกัน

 ครั้นถึง ค.ศ.1955 พม่ากับจีนคอมมิวนิสต์ได้ทำการปักปันเขตแดนระหว่างกันสำเร็จลงด้วยดี ถึงตอนนั้นก็เป็นอันรู้กันแล้วว่า กองกำลังเดนตายกว๋อหมินตั่งก็ไม่หลงเหลืออยู่ในถิ่นโกกั้งอีกแล้ว แต่ไปอยู่บนดอยแม่สลองในจังหวัดเชียงรายของประเทศไทยแทน โดยต่อมากองกำลังกลุ่มนี้รู้กันในหมู่ชาวไทยว่า กองพล 93 

ควรกล่าวด้วยว่า การปักปันเขตแดนระหว่างพม่ากับจีนที่สำเร็จด้วยดีในครั้งนั้น ทำให้พม่านับเป็นชาติแรกๆ ที่บรรลุในเรื่องเขตแดนกับจีน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นโดยง่าย แต่ก็ทำให้รู้ไปด้วยว่า เวลานั้นพม่าถือเป็นชาติในเอเชียไม่กี่ประเทศที่รับรองจีนคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ตาม หลังการเยือนของบุคคลระดับรัฐมนตรีของพม่าครั้งนั้น พม่าก็นับชาวโกกั้งเป็นชาวพม่าที่มีฐานะเหมือนชนชาติอื่นในพม่า อีกทั้งพม่ายังคงให้โกกั้งมีผู้นำเป็นของตนเอง และปกครองตนเองดังในอดีตที่ผ่านมา

โดยหลังจาก ค.ศ.1959 ไปแล้วโกกั้งมีผู้นำผู้หญิงชื่อว่า หยังจินซิ่ว (Yang Jinxiu, 杨金秀) ผู้นำหญิงคนนี้ปกครองโกกั้งไปจนถึง ค.ศ.1963 ก็มีผู้นำคนใหม่มาแทนคือ หยังเจิ้นเซิง (杨振声)

 หยังเจิ้นเซิงนอกจากจะเป็นผู้นำโกกั้งแล้วก็ยังเป็นผู้บัญชาการกองกำลังนักปฏิวัติแห่งโกกั้ง (commander of the Kokang Revolutionary Force) อีกด้วย เขาเป็นผู้นำไปจนถึง ค.ศ.1965 ก็ได้ผู้นำคนใหม่ 

กล่าวกันว่า ตลอดช่วงการปกครองของผู้นำสกุลหยังนั้น โกกั้งอยู่ด้วยความปกติสุขมายาวนาน 80 ปี จากนั้นก็หมดยุคของสกุลหยัง แต่ในระหว่างที่ชาวโกกั้งอยู่ด้วยความสงบสุขอยู่นั้น ก็ได้เกิดการรัฐประหารขึ้นในพม่าโดย เนวิน (Ne Win, ค.ศ.1911-2002)  รัฐประหารในครั้งนั้นได้ทำให้ความสงบสุขของโกกั้งต้องเปลี่ยนไปในเวลาต่อมา

การรัฐประหารมีขึ้นใน ค.ศ.1962 จากนั้นรัฐบาลทหารพม่าก็ประกาศยกเลิกรัฐสภาที่มีอยู่แต่เดิม การยุบเลิกครั้งนี้จึงทำให้ตำแหน่งวุฒิสมาชิกของของผู้นำโกกั้งถูกยุบเลิกไปด้วยในที่สุด แต่สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ของโกกั้งเลวร้ายลงก็คือ รัฐบาลทหารพม่ามีความคิดที่จะใช้กำลังกำราบโกกั้ง

จากความคิดดังกล่าว ทำให้รัฐบาลทหารพม่าส่งนายทหารยศนายพันคนหนึ่งเข้าไปยังถิ่นโกกั้งอย่างเงียบๆ ใน ค.ศ.1963 เพื่อสำรวจว่ากองกำลังติดอาวุธโกกั้งมีศักยภาพระดับใดก่อนที่จะส่งกำลังมาสยบ แต่แล้วในปีเดียวกันนั้นเองก็ได้เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมาอย่างไม่คาดคิด เมื่อพม่าได้จับกุมกองกำลังโกกั้งในขณะกำลังลำเลียงฝิ่นไปส่งยังท่าขี้เหล็ก

 การจับกุมครั้งนั้นทำให้ชาวโลกรู้ว่า โกกั้งกำลังสร้างตนจากการค้ายาเสพติด ถึงตรงนี้ก็ขอทวนความว่า งานศึกษานี้ได้เคยกล่าวไปแล้วว่า ตอนที่ฝิ่นยังมิใช่สิ่งผิดกฎหมายนั้น ทั้งคนไทยและคนในที่อื่นๆ ของโลกมีภาพคุ้นชินกับการมีอยู่ของฝิ่นเป็นปกติ ซ้ำบางครอบครัวยังมีสมาชิกที่ติดฝิ่นอีกด้วย 

ต่อเมื่อชาวโลกเห็นถึงอันตรายของฝิ่น และประกาศให้ฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมายแล้ว ฝิ่นและคนเสพฝิ่นจึงค่อยๆ กลายเป็นสิ่งแปลกแยกของสังคมอย่างช้าๆ

ส่วนไทยได้ประกาศให้ฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมายเมื่อ ค.ศ.1959 (พ.ศ.2502) ซึ่งตรงกับสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำ

การจับกุมชาวโกกั้งที่ขนฝิ่นในครั้งนั้นในด้านหนึ่งจึงบอกให้รู้ว่า โกกั้งยังไม่ได้รู้สึกว่าฝิ่นเป็นสิ่งแปลกแยก ตรงกันข้ามเมื่อฝิ่นกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายไปแล้ว ฝิ่นก็ย่อมหายากในหมู่คนเสพ จากเหตุนี้ ฝิ่นจึงมีราคาสูงขึ้นจากเมื่อครั้งยังถูกกฎหมาย และเป็นที่ต้องการของคนที่เสพติดมันอย่างขาดมันไปไม่ได้

จากที่กล่าวมานี้ เมื่อขบวนฝิ่นของโกกั้งถูกจับกุมแล้ว ต่อมาพม่าได้ถือเอาเป็นเหตุในการเข้าจับกุมชนชั้นนำโกกั้งไปด้วย ซึ่งผู้ที่จับกุมก็คือ บุคคลในสกุลหยัง และหนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมก็คือ  หยังจินซิ่ว เมื่อเธอถูกจับไปแล้ว ชาวโกกั้งก็สนับสนุนให้ หยังเจิ้นเซิง ขึ้นเป็นผู้นำแทน

อย่างไรก็ตาม ตอนที่หยังเจิ้นเซิงขึ้นมาเป็นผู้นำในขณะที่ฝิ่นกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายนั้น หยังเจิ้นเซิงซึ่งมีตำแหน่งทางการทหารอยู่ด้วยจึงได้แข็งขืนต่อรัฐบาลพม่า และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้โกกั้งต่อสู้กับรัฐบาลพม่าด้วยกำลังอาวุธนับแต่นั้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น