หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
การพูดบนเวทีหารายได้ของเครือเนชั่นที่เชิญทักษิณมาสัมภาษณ์นั้น 3 บรรณาธิการที่เป็นผู้สัมภาษณ์วางบทบาทของทักษิณอย่างเด่นชัดว่า เป็นเหมือนผู้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินด้วยตัวเอง มีอำนาจและมีอิทธิพลเหนือพรรคเพื่อไทยและเหนือรัฐบาลอย่างชัดแจ้ง แม้เรื่องนี้จะเป็นข้อห้ามทางกฎหมายที่เขียนไว้ในพรบ.พรรคการเมือง และรัฐธรรมนูญ หลังจากก่อนหน้านี้เคยเชิญทักษิณหลังพ้นโทษมาดๆมาเป็นองค์ปาฐกและทำเงินไปแล้วหลายสิบล้านบาท
ในฐานะผมเป็นสื่อตัวเล็กๆไม่รู้เหมือนกันว่า การเป็นสื่อนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงสถานะของแหล่งข่าวหรือต้องเคารพหลักการตามกฎหมายหรือไม่ ในการตั้งคำถามกับแหล่งข่าวเพื่อถ่ายทอดสู่สังคม ต้องตระหนักไหมว่า สิ่งที่เราร่วมกับแหล่งข่าวและนำเสนอออกมานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทำนองคลองธรรม หรือหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจต้องถูกแบ่งแยกและถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบ บุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งตามกฎหมายไม่ควรมีอิทธิพลเหนือการบริหาร
แต่บรรยากาศบนเวทีนั้นเราเห็นแต่การเออออห่อหมกพูดอวยกัน และแสดงให้เห็นว่า มีการเตรียมการมาแล้วว่าจะถามอะไรบ้างเพื่อเชิดชูทักษิณให้เป็น “ผู้นำนอกระบบ” ที่มีอำนาจตัวจริง
เราต้องตั้งคำถามไหมว่า ทักษิณมีอำนาจอะไรกับสิ่งที่เขาถ่ายทอดออกมาทั้งการจัดคณะรัฐมนตรี การพูดว่าทางออกของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือการจัดการรับมือกับภาษีทรัมป์ จะมองว่า สิ่งนั้นเป็นการแสดงความเห็นเหมือนกับความเห็นของนักวิจารณ์การเมืองนักวิชาการหรือบุคคลสาธารณะทั่วไปก็ไม่น่าจะได้ เพราะถ้าเราฟังทั้งหมดของการนำเสนอบนเวทีนั้นสะท้อนว่า เขาคือผู้มีบทบาทในฐานะ “ผู้นำนอกระบบ” ที่กำกับอนาคตของประเทศนี้อย่างแท้จริง
ทักษิณไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการในรัฐบาลหรือสภา แต่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายและกลยุทธ์ของพรรคเพื่อไทย เช่น การบอกว่ามีทางออกคือการเสนอชื่อนายชัยเกษม นิติสิริเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือการยุบสภา แม้นั่นจะเป็นขั้นตอนปกติตามรัฐธรรมนูญก็ตาม หรือการแนะนำการเจรจาเพื่อรักษาเสถียรภาพรัฐบาล พูดถึงการดึงพรรคฝ่ายค้านเข้ามาเติม การมีอิทธิพลในลักษณะนี้ขัดแย้งกับหลักการที่ผู้นำต้องรับผิดชอบต่อประชาชนผ่านการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งตามกฎหมาย
วันนี้สังคมไทยหรือพูดว่าสื่อยอมให้ทักษิณ ซึ่งไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและไม่มีตำแหน่งในรัฐบาล กลับมีบทบาทเด่นในการกำกับทิศทางของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล เช่น การให้คำแนะนำในประเด็นเศรษฐกิจ (“ถ้าผมไม่เสือก แล้วใครจะเสือก”) หรือการจัดการความขัดแย้งกับพรรคภูมิใจไทยและฮุนเซน ซึ่งโดยหลักการอิทธิพลนี้ขาดความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย เนื่องจากเขาไม่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนที่เป้นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
ทักษิณใช้ถ้อยคำประชานิยม เช่น “อยากเห็นคนไทยรักกัน” และ “ให้เวลาแก้ปัญหา” เพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจและรักษาฐานเสียงในภาคเหนือและอีสานที่พรรคของเขายังเข้มแข็ง สะท้อนว่าเขามีอิทธิพลนอกระบบช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ผู้นำที่ “อยู่เหนือการเมือง” แต่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยที่ต้องการผู้นำที่รับผิดชอบต่อกลไกสาธารณะ เพราะไม่มีกลไกไหนสามารถตรวจสอบเขาได้ตามระบบของการคานอำนาจ
การที่ทักษิณพูดถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางการเมืองในลักษณะที่แสดงถึงความมั่นใจในประสบการณ์ของตนเอง ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นผู้นำที่แท้จริงมากกว่าแพทองธาร ซึ่งลดความน่าเชื่อถือของระบอบประชาธิปไตยที่เน้นบทบาทของผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง และทำให้แพทองธารมีสถานะเป็นเพียงนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด ต่างกันที่ก่อนหน้านี้ทักษิณแอบสั่งการอยู่หลังม่าน แต่วันนี้เขาออกมาแสดงตนอย่างชัดแจ้งอยู่บนเวทีหน้าม่านการเมือง
ทักษิณพูดบนเวทีว่าสัปดาห์นี้เขาจะแก้ไขปัญหาภาษีทรัมป์ หลังจากนั้นก็ปรากฏว่า เขาเข้าไปบ้านพิษณุโลกในวันหยุด และเรียกที่ปรึกษาและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาคุย ในวันที่แพทองธารลูกสาวถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เหมือนกับเขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ว่าการแทนลูกสาว แม้นายพิชัยจะอ้างว่า เขาเป็นผู้เชิญทักษิณเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง ในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญ หรือ ที่ปรึกษาที่มีความรู้และประสบการณ์ ในการเจรจาทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกำแพงภาษีของทรัมป์
พิชัยกล่าวว่า “เห็นว่าทักษิณรู้เรื่องเหล่านี้ดี น่าจะให้ข้อคิดเห็นได้ดี จึงเชิญมาร่วมประชุมด้วย” และ “เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างดี และสามารถให้ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานได้” ซึ่งสะท้อนว่าในสายตาของพิชัยมีทักษิณคนเดียวเท่านั้นที่จะแก้ปัญหานี้ได้
แต่สังคมก็รู้ว่าการพูดของพิชัยเป็นการแก้เกี้ยวเท่านั้นเอง เพราะคนที่มีอำนาจที่แท้จริงในรัฐบาลนี้คือ ทักษิณ แม้ว่าเขาจะอ้างว่า ถ้าเขาไม่เสือกแล้วใครจะเสือก หรือเพราะเขาเป็นพ่อของนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีกฎหมายอะไรหรือใบอนุญาตอะไรที่จะทำให้เขาทำเช่นนั้นได้ หน่วยงานที่น่าจะรู้เรื่องนี้ดีที่สุดคือ กกต. แต่เราก็รู้กันว่า ไม่อาจคาดหวังอะไรได้จากกกต.ชุดนี้
ซึ่งโดยกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 28 กำหนดไว้ว่า ห้ามพรรคการเมือง “ยินยอม” ให้บุคคลที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคเข้ามาควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ พรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรค หรือสมาชิกของพรรคไม่เป็นอิสระ ทั้งทางตรง และทางอ้อม หากพรรคการเมืองใดมีการกระทำที่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าว ไม่จำเป็นที่จะต้องมีผู้ร้องเรียน แต่กกต.โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง สามารถดำเนินการตรวจสอบ ถ้ามีมูลจริงแล้วถึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนต่อ และถ้าศาลพบหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําผิดจริง ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นได้ถึง 10 ปี ตามมาตรา 92 (3)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 45 ห้ามมิให้บุคคลที่มิใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา หรือมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาครอบงำหรือชี้นำการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาหรือรัฐมนตรี มาตรา 160 รัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และไม่ยอมให้บุคคลอื่นมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของตน
เห็นได้ชัดว่า ทักษิณยังใช้เวทีนี้สร้างฉากละครการเมืองเพื่อแก้ต่างให้แพทองธารที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จากคลิปเสียงของฮุนเซนว่า แพทองธารไม่ได้กระทำโดยไร้เดียงสา ไร้สติปัญญา แต่ถูกจัดฉากโดยฮุนเซน เพราะแพทองธารปฏิบัติตามโปรโตคอลทางการทูตในตอนแรก โดยพาคณะรัฐมนตรีไปด้วย และการสนทนาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะฮุนเซนโทรเข้ามายังเบอร์ส่วนตัวโดยไม่คาดคิด หลังจากก่อนหน้านี้รอคอยโทรศัพท์ของฮุนเซน 3 ชั่วโมงแล้วแยกย้ายกันกลับไปเสียก่อน ทั้งที่ตอนนั้นมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย
แต่คำถามที่เขาตั้งคำถามถึงคือการขาดความรับผิดชอบที่บุคคลซึ่งอยู่ในสภาวะวิสัยที่บุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีพึงกระทำผ่านบทสนทนา พร้อมชัดเจนว่า หากฮุนเซนต้องการอะไรก็จะจัดการให้ และพูดว่าแม่ทัพภาค 2 เป็นฝ่ายตรงข้าม สะท้อนถึงความไม่มีซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนไม่มีปฏิบัติตามาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(4)(5)
เหมือนทักษิณยอมรับว่า แพทองธารไม่มีสติปัญญาความสามารถด้วยตัวเองว่า ควรจะพูดกับผู้นำต่างชาติที่กำลังมีปัญหาความขัดแย้งกับชาติที่ตัวเองมีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไร คือเธอต้องมีพี่เลี้ยงอยู่ข้างๆ และที่สำคัญเราไม่รู้เลยว่า ถ้าคลิปเสียงไม่ถูกปล่อยออกมาเพราะฮุนเซนโกรธที่ทหารสั่งปิดด่านหลังจากยอมถอนทัพแล้ว สิ่งที่แพทองธารรับปากจะตอบสนองข้อเรียกร้องของฮุนเซนคืออะไร และประเทศชาติจะต้องเสียอะไร
วันนี้เราปล่อยให้ทักษิณเข้ามามีบทบาททางการเมืองทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจ และเป็นบุคคลที่เคยใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ทุจริตแสวงหาผลประโยชน์จากทุจริตเชิงนโยบายเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจของตัวเองจนศาลสั่งยึดทรัพย์และถูกตัดสินจำคุกมาแล้ว เข้ามามีบทบาททางการเมือง โดยพยายามอ้างคำพูดให้เข้าใจเหมือนกับว่า เขามีใบอนุญาตจากฝ่ายที่สังคมไม่อาจก้าวล่วง พยายามแสดงออกว่า เขามีดีลที่จะเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง กลายเป็น”ผู้มีอำนาจนอกระบบ”ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างอำนาจในระบบและตามครรลองของการ
หรือว่าจริงๆ แล้วมีใครที่สถาปนาอำนาจให้ทักษิณเข้ามาสทร.ทุกเรื่อง เรายอมรับให้อำนาจนอกระบบแบบนี้ดำเนินอยู่ในบ้านเมืองของเรา แล้วเชื่อว่าวิถีทางแบบนี้มันจะรักษาระบอบและองค์ประกอบของความเป็นรัฐเอาไว้อย่างการท้าทายของคนรุ่นใหม่ที่เรียบร้อยการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆหรือ