กิธ เมง ประธานรอยัลกรุ๊ป
มีธุรกิจที่หลากหลายทั้งโมบิเทล (MobiTel) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา เทเลเซิร์ฟ (TeleSURF) ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์รายใหญ่ เจ้าของสถานีโทรทัศน์ CTN สัมปทานทางรถไฟ 2 สายพนมเปญ-ปอยเปต และพนมเปญ-ท่าเรือสีหนุวิลล์ ธนาคารเอเอ็นแซดกัมพูชา บริษัทประกัน โรงแรมรอยัลพาร์ค รีสอร์ท ที่เสียมเรียบ และแคมโบเดียน่า ซึ่งเป็นโรงแรมห้าดาวในพนมเปญ
โครงการยักษ์ของกลุ่มรอยัล กรุ๊ป คือ การลงทุนพัฒนาเกาะรง หรือเกาะรัง ซึ่งเป็นเกาะใหญ่อันดับสองในอ่าวไทยของกัมพูชา เป็นโครงการขนาดใหญ่มีทั้งโรงแรม รีสอร์ต กาสิโน และสนามกอล์ฟ
กิต เม้ง ประธานหอการค้ากัมพูชา เจ้าของ Royal Group ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ออกญา” อีกทั้งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติหลายแห่งโดยเฉพาะจีน เช่น Huawei, China Southern Power Grid เป็นต้น
ลี ยง พัด ราชาเกาะกง
ธุรกิจในกลุ่ม ลี ยง พัด ได้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงที่ดินจำนวนมาก โดยเฉพาะในเกาะกงและกำปงสปือ เพื่อใช้ในโครงการทางด้านการเกษตรขนาดใหญ่ เช่น การทำไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล
มีรายงานขององค์กรทางด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเคยกล่าวหาว่า เขาใช้อิทธิพลทางการเมืองและความสนิทสนมกับครอบครัวของ ฮุน เซน รุกที่อุทยานแห่งชาติโบทูมสกอร์ในจังหวัดเกาะกง อย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปี คิดเป็นเนื้อที่มากกว่าแสนไร่
นอกจากนี้ ยังได้รับสัมปทานในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มากมายในกัมพูชา เช่น การสร้างสะพาน ถนน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) อย่าง Phnom Penh Special Economic Zone และ Koh Kong Special Economic Zone ที่มีมูลค่าการลงทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์
ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ โรงแรมและรีสอร์ท 4 แห่งคือ O-Smach Resort, Garden City Hotel, Koh Kong Resort, Phnom Penh Hotel ที่เป็นของกลุ่มบริษัท L.Y.P. Group ถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทาและคอลเซ็นเตอร์ที่บังคับหรือหลอกลวงคนไปทำธุรกิจผิดกฎหมาย
สำหรับ ลี ยง พัด วุฒิสมาชิกของกัมพูชา ผู้ทรงอิทธิพลระดับชายแดนที่ขึ้นชื่อที่สุด เพิ่งถูกทางการสหรัฐฯคว่ำบาตร ในฐานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมายอันละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อเร็ว ๆ นี้
เย่ภู่ และ เลา เมงคิน
คู่รักแลนด์ลอร์ดเมืองแขมร์
เจ้าของ Pheapimex ได้รับสัมปทานป่าไม้และที่ดินขนาดใหญ่ การสกัดแร่เหล็ก การปลูกไผ่ การนำเข้ายา และการก่อสร้างโรงแรม รวมถึงการผลิตเกลือไอโอดีน ซึ่งรัฐบาลให้สิทธิ์ผูกขาด มีสายสัมพันธ์กับภริยาฮุน เซน และลูกหลานแต่งงานเชื่อมโยงกันกับครอบครัวฮุน มีบทบาทอยู่ในเครือข่ายธุรกิจที่ผูกโยงกับตระกูลฮุน โดยเฉพาะในด้านอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างโครงการรัฐ
บริษัทอีกแห่งหนึ่งที่ทั้งสองคนก่อตั้งขึ้น คือ กัมพูชาอินเตอร์เนชั่นแนลอินเวสต์เมนต์ ดีเวลลอปเมนท์ กรุ๊ป (CIIDG) ได้เริ่มร่วมทุนในปี พ.ศ. 2553 กับบริษัทจีน เจียงซู ไท่หู อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาด 1,113 เฮกตาร์ ใกล้สีหนุวิลล์
ทั้งนี้ หุ้นส่วนสำคัญของเย่ภู่และเลา เมงคินก็คือ “เจียง โซเพียบ”
ลิม ชิวโฮ เจ้าแม่นำเข้า-ส่งออก
ธุรกิจของเธอเติบใหญ่ขึ้นหลังย้ายมาอยู่ที่สีหนุวิลล์ กลายเป็นผู้ค้าส่งสินค้า มีคลังสินค้าในกรุงพนมเปญ และร้านค้าขนาดใหญ่ ขยายไลน์จากเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยการจับมือชาวสิงคโปร์และพันธมิตรชาวกัมพูชาทำธุรกิจจัดจำหน่ายเหล้าเบียร์อย่าง เฮนเนสซี่ จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ และไฮเนเก้น ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัท แอทวู้ด อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต ในปี 2537 ผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการรายเดียวของประเทศ
รวมทั้งแตกไลน์ธุรกิจไปอีกหลากหลาย กลายเป็นนักพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งยังเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรม สถานบันเทิง และแหล่งช็อปปิ้ง
หนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของเธอ คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ หรือ PPSEZ ที่ร่วมมือกับพันธมิตรญี่ปุ่น ซึ่งกลายเป็นแหล่งลงทุนสำคัญของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นในปัจจุบัน และบริษัท แอทวู้ดฯ ยังเป็นผู้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สีหนุวิลล์และบาเว็ท ซึ่งอยู่ใกล้กับชายแดนเวียดนาม
มง ฤทธี กระเป๋าเงินของฮุน เซน
เป็นที่รู้จักกันในฐานะนักธุรกิจผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศกัมพูชา และมักจะถูกกล่าวอ้างว่าเป็น “กระเป๋าเงินของฮุนเซน” เป็นผู้ก่อตั้ง มอง ฤทธี กรุ๊ป บริษัทผู้ส่งออกยางพาราไปประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน และในภูมิภาคเอเชีย บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จในธุรกิจปาล์มน้ำมันและปศุสัตว์
นอกจากนี้ เขายังก่อตั้งบริษัทอื่น ๆ เช่น บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่รับงานเฉพาะสัญญาขนาดใหญ่เพื่อก่อสร้างอาคารสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการกุศลของอดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ทั้งหมด และให้ความช่วยเหลือการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงเรียน เจดีย์ โรงพยาบาล ถนน และสะพาน
รวมถึงบริษัท กรีน ซี อะกริคัลเจอรอล โค. ธุรกิจที่ดินที่ได้รับสัมปทานในจังหวัดสตรึงเตรง รวมทั้งยังเป็นเจ้าของท่าเรือเอกชน ออกญา มอง พอร์ต ที่เขาใช้ส่งออกสินค้าเกษตรของเขา มีที่ตั้งอยู่ใกล้กับสีหนุวิลล์
ซก กง เจ้าพ่อปิโตรเลียม
ซก กง เป็นนักธุรกิจเชื้อสายเวียดนาม-เขมร เริ่มต้นประกอบธุรกิจกระจายสินค้าและจัดหาสินค้าให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางรถจักรยานยนต์ของเวียดนาม ต่อมาได้ตั้งโรงงานผลิตยางพารา เพื่อผลิตสินค้าให้กับรัฐบาลกัมพูชา โดยผลิตรองเท้ายางที่ทำจากยางรถยนต์ รวมทั้งยังเป็นผู้จัดหาเครื่องแบบทหาร อาหาร ยาง ให้กับทางกองทัพ
ในปี 2533 ได้ก่อตั้งบริษัท Sokimex ขึ้น ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นบริษัทผู้จัดหาปิโตรเลียมรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ขายให้กับรัฐบาลรวมถึงภาคเอกชน และยังได้ขยายกิจการไปยังธุรกิจขนส่ง พลังงาน เกษตรอุตสาหกรรม ยางพารา และธุรกิจท่องเที่ยว โดยเป็นเจ้าของโรงแรม 4 แห่ง ในกัมพูชา และยังมีแผนจะเปิดเพิ่มอีกหลายแห่ง โดยหนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญ คือ การได้สิทธิจำหน่ายตั๋วเข้านครวัด ในปี 2552
ในช่วงทศวรรษ 1990s – 2000s เขาเป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ร่ำรวยและทรงอิทธิพลที่สุดในกัมพูชา ซก กง ถือว่าเป็น oligarch เจ้าแรก ๆ ที่เติบโตมาพร้อมกับอำนาจของฮุน เซน โดยได้รับสัมปทานสำคัญจากรัฐบาล เช่น สิทธิบริหารท่องเที่ยวปราสาทนครวัด ผ่านบริษัท Sokha Hotel สิทธิการนำเข้าน้ำมันแบบปลอดภาษี สัมปทานที่ดินสำหรับพัฒนาโรงแรม รีสอร์ต และโครงการใหญ่
บริษัทในกลุ่มSokimex ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลฮุน เซน ผ่านกลไกทางนโยบายและกฎหมาย ทั้งในด้านสัมปทานและภาษี ซึ่งสะท้อน สายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างทุนกับอำนาจรัฐ แม้ในช่วงหลังบทบาทของซก กง จะลดลงเล็กน้อย โดย ฮุน เซน เริ่มผลักดันกลุ่มทุนรุ่นใหม่ เช่น กิต เม้ง และลูกหลานของตนเองขึ้นมาแทน แต่เครือข่ายของ ซก กง ยังมีบทบาทในระดับเบื้องหลัง โดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม
ปุง เขียวเซ ผู้บุกเบิกธนาคาร
เป็นผู้ก่อตั้ง Canadia Bank ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในแง่ของสินทรัพย์และการถือครองสุทธิ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกด้านการธนาคารและเศรษฐีด้านการเงินชั้นนำของกัมพูชา
นอกจากนี้ ยังลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ เช่นศูนย์การค้า Soryaห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของกัมพูชา Canadia Tower ตึกระฟ้าแห่งแรกของราชอาณาจักร Koh Pich Chroy Changvar Satellite City และ สนามบินนานาชาติ Techo ขนาด 2,600 เฮกตาร์ที่ถูกกำหนดให้เป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
รวมทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะและสังคมมากมายทั่วกัมพูชา เช่น Norea City, Kong Sam Ol Overpass, สะพาน Russey Keo และทางแยกต่างระดับ Russey Keo, สะพาน Koh Norea เป็นต้น