ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จับตาวาระการผลักดันสัตว์เศรษฐกิจใหม่ของไทย ล่าสุด กรมอุทยานฯ ปลดล็อก “เหี้ย” สัตว์ป่าคุ้มครองสู่การเพาะพันธุ์เพื่อการค้า โดยกำหนดเงื่อนไขจากแหล่งสถานีเพาะเลี้ยงที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเท่านั้น
ประการสำคัญ “ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเพาะเลี้ยงเหี้ย” เพราะต้องขออนุญาตและตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น และ “ไม่สามารถนำเหี้ยจากธรรมชาติมาเลี้ยง” เนื่องด้วยเหี้ยยังคงเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” หากครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีบทลงโทษตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
นอกจากนี้ ยังมีสัตว์เศรษฐกิจดาวเด่นที่น่าจับตา คือ “นกกรงหัวจุก” หรือ “นกปรอดหัวโขน” ที่กำลังสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ได้รับการผลักดันเป็น Soft Power จังหวัดชายแดนใต้ และ “ปลาสวยงาม” นานาพันธุ์ของไทย อาทิ ปลากัด, ปลาทอง, ปลาหางนกยูง, ปลาหมอสี ฯลฯ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกกว่าพันล้าน เตรียมทำคลอดแผนครองตลาดโลกตำแหน่งผู้นำการผลิตและการค้าสัตว์น้ำสวยงาม
เพาะพันธุ์ตัวเหี้ย สร้างมูลค่าเพิ่ม
“เหี้ย” หรือ “Varanus salvator” ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่สามารถเพาะพันธุ์ได้อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2567 ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของเหี้ยในการเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการทั่วประเทศ จึงได้มีการเร่งดำเนินการในหลายส่วน
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าการเปลี่ยนแปลงสถานะดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าประชาชนทั่วไปจะสามารถจับเหี้ยจากธรรมชาติมาเลี้ยง หรือเพาะพันธุ์เหี้ยได้ทันทีโดยไม่มีข้อกำหนด และไม่ไช่เหี้ยที่อยู่ตามธรรมชาติ แต่เป็นเหี้ยที่อยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเพื่อให้ผู้ได้รับอนุญาตนำไปเพาะขยายพันธุ์เท่านั้น
ดังนั้น การเพาะพันธุ์เหี้ยเพื่อการค้าหรือเพื่อวัตถุประสงค์ใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เท่านั้น โดยผู้ที่สามารถดำเนินการได้คือ ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กรมฯ กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
เงื่อนไขสำหรับผู้ที่ประสงค์จะขออนุญาตเพาะพันธุ์เหี้ย ผู้ขออนุญาตเพาะพันธุ์ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครอง มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะทำการเพาะเลี้ยงหรือได้รับการยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น และต้องไม่มีประวัติเคยต้องโทษคดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
และในส่วนของพ่อแม่พันธุ์ไม่สามารถจับได้เองจากธรรมชาติ เนื่องจากเหี้ยยังมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 จำเป็นต้องซื้อจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเท่านั้น และหลังจากมีผู้ได้รับอนุญาตเพาะพันธุ์และมีสัตว์ที่ได้จากการเพาะพันธุ์แล้ว ผู้ขออนุญาตจึงจะสามารถซื้อจากสถานที่เพาะพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตนั้นได้
นอกจากนี้ เหี้ยที่ได้จากการเพาะพันธุ์ทุกตัวต้องมีการทำเครื่องหมายโดยการฝังไมโครชิพ เพื่อป้องกันการลักลอบนำมาจากธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถจับเหี้ยจากธรรมชาติมาเลี้ยงเองได้ ประการสำคัญ ต้องทำความเข้าใจว่าเหี้ยยังคงเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” การจับเหี้ยจากธรรมชาติมาเลี้ยง หรือครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
นายเฉลิม พุ่มไม้ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กล่าวว่าเบื้องต้นจะจำหน่ายเหี้ยที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี โดยมีเอกชนแจ้งความประสงค์แล้ว 1 ราย ในการซื้อพ่อแม่พันธุ์ประมาณ 30 - 40 คู่ เพื่อเปิดกิจการเพาะพันธุ์เหี้ย โดยผู้ที่จะมาซื้อและนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ ต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมฯ ให้เป็นสถานที่มีสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อการเพาะพันธุ์ โดยกำหนดราคาพ่อแม่พันธุ์เหี้ยตัวละ 500 บาท
กรมอุทยานฯ ระบุว่าการเปิดให้เพาะพันธุ์เหี้ยดังกล่าว จะไม่กระทบประชากรเหี้ยในธรรมชาติ เพราะจะมีการฝังไมโครชิพในตัวพ่อแม่พันธุ์ รวมทั้ง ต้องแจ้งกรมฯ เมื่อมีลูกออกมาเพิ่มขึ้น หากตรวจพบการสวมสิทธิด้วยการจับเหี้ยในธรรมชาติมาเอง หรือคนทั่วไปที่ไม่มีใบอนุญาตนำไปเลี้ยง ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย และมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
วัตถุประสงค์ของการส่งเสริมการเพาะพันธุ์เหี้ยถูกกฎหมายเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแปรรูปผลิตภัณฑ์หนัง ซึ่งคุณลักษณะหนังเหี้ยมีลักษณะลวดลายเฉพาะตัว ผิวสัมผัสนุ่มเหนียว มีความทนทาน
รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุขคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยมุมมองว่าตัวเหี้ยต่างประเทศอนุญาตให้เพาะทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงมีหนังเครื่องหนัง ที่เกี่ยวกับตัวเหี้ย หรือ Varanus ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก
แต่ในต่างประเทศที่เอามาทำเครื่องหนังเป็นคนละพันธุ์กับของไทย ซึ่งแต่ละพันธุ์ก็จะมีลวดลายเฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดเครื่องหนังในโลกยังไม่มีลายตัวเงินตัวทองไทย ซึ่งมองว่าโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการไทย
ทว่า ความท้าทายหนังของตัวเหี้ยในต่างประเทศแม้มีราคาสูง แต่ในเมืองไทยยังไม่เคยมีฟาร์มตัวอย่างการเลี้ยงตัวเหี้ยเพื่อให้ได้หนังที่คุณภาพดี ฉะนั้น จากหนังเหี้ยราคาหลักหมื่นหลักแสนบาท อาจเหลือแค่ไม่กี่พันบาท หากหนังมีรอยตำหนิ หรือเกิดเจ็บป่วยจากโรคซึ่งอาการออกมาทางผิวหนังทำให้หนังไม่สวย
อย่างไรก็ดี ศักยภาพของเหี้ยในบทบาทสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ นอกจากสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์หนังข้างต้น ในส่วนของการบริโภค “เนื้อ” และ “ไข่” ของเหี้ย สามารถรับประทานได้ ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าเมนูจากตัวเหี้ยไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่หลังจากที่พวกมันอยู่ในสถานะสัตว์ป่าคุ้มครอง การบริโภคตัวเหี้ยก็น้อยลงเพราะผิดกฎหมาย ดังนั้น หลังการเปิดให้เพาะพันธุ์เพื่อเศรษฐกิจเมนูจากตัวเหี้ยอาจเป็นจุดเด่นสร้างสีสันวงการอาหาร
นอกจากนี้ ในมิติทางวิชาการอ้างอิงงานวิจัยพบว่าสารในตัวเหี้ยมีคุณประโยชน์ทางการแพทย์ “สารต้านแบคทีเรีย” และ “สารต้านมะเร็ง” บางชนิด ซึ่งยังต้องศึกษาต่อยอดอีกหลายปี เพราะในปัจจุบันการทำวิจัยไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยหลักการสวัสดิภาพสัตว์ นักวิจัยไม่สามารถจับสัตว์ในธรรมชาติมาวิจัยได้
และที่ต้องเฝ้าระวังหลังการปลดล็อกเพื่อการค้าแล้วก็คือ รัฐต้องมีการกำกับดูแลเรื่องการลอบจับตัวเหี้ยที่อยู่ตามธรรมชาติมาสวมลอยเลี้ยงหรือจำหน่าย นอกจากนี้ ต้องมีการติดตามตรวจสอบว่าไม่มีการปล่อยลงสู่ธรรมชาติเพราะจะซ้ำเติมปัญหาเพิ่มจำนวนประชากรเหี้ยในหลายพื้นที่ที่สร้างความรำคาญให้แก่ประชาชน
ปลุก Soft Power สัตว์เศรษฐกิจ
“นกกรงหัวจุก” – “ปลายสวยงาม”
สัตว์เศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ที่น่าจับตาก็คือ “นกกรงหัวจุก” หรือ “นกปรอดหัวโขน” โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ปฏิรูปวงการสัตว์ป่าครั้งสำคัญมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนกับการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน
โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมกรณีการขอถอดถอนนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาอย่างรอบด้านเพื่อผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจคู่กับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
นายพุฒิธร วรรณกิจ นายกสมาคมอนุรักษ์และเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่าการถอดชื่อออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง สามารุสร้างมีเม็ดเงินหมุนเวียนในวงการนกกรงหัวจุกหลายร้อยล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ฟาร์มเพาะเลี้ยง งานวิจัยด้านวัคซีนและยา ธุรกิจอาหารนก และการส่งออกสู่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและยุโรป ที่กำลังนิยมเลี้ยงเป็นนกสวยงามเสียงร้องไพเราะ
โดยปัจจุบันมีผู้เพาะเลี้ยงที่ขึ้นทะเบียนได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ค้าครอบครองนกกรงหัวจุก จำนวน 11,466 ราย นกปรอดหัวโขน 134,325 ตัว และยังพบกลุ่มผู้ลักลอบดักจับนกกรงหัวจุกในธรรมชาติ โดยนกถูกกฎหมายจากฟาร์มเพาะเลี้ยงมีราคาแพง 2,500 บาทขึ้นไปต่อตัว แต่นกผิดกฎหมายราคาประมาณ 350 – 1,000 บาทต่อตัว ดังนั้น หากการค้านกกรงหัวจุกอย่างเสรี จะเกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างเหมาะสม ประการสำคัญนกที่เพาะจากฟาร์มจะมีคุณภาพดีเสียงร้องที่ดีกว่านกที่ลอบจับมาจากธรรมชาติ
ทั้งนี้ นกกรงหัวจุกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเปิดโอกาสในผู้ที่ต้องการเพาะเลี้ยง ซื้อขาย สามารถทำได้โดยการขออนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตามกฏกระทรวงฯ
ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเลี้ยงหรือเพาะพันธุ์ สามารถทำได้โดยการขออนุญาตอย่างถูกต้องตามขั้นตอนปัจจุบัน จึงมีข้อโต้แย้งมองว่าไม่จำเป็นต้องนำนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพราะเป็นมาตรการเดียวในการคุ้มครองนกกรงหัวจุกนอกพื้นที่อนุรักษ์จากการดักจับจากธรรมชาติ
ทั้งนี้ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดเตรียมประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นจากประชาชนผู้เลี้ยง ผู้ประกอบการ และสมาคมเลี้ยงนกที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านเกี่ยวกับการเสนอปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มนักอนุรักษ์ เนื่องจากความกังวลต่อความเสี่ยงที่อาจทำให้นกกรงหัวจุกในประเทศไทยสูญพันธุ์ไปจากถิ่นที่อยู่
สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ระบุว่าโดยหลักการแล้วการปลดสัตว์ป่าคุ้มครองออกจากบัญชีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแน่ใจว่า ประชากรสัตว์ป่าชนิดนั้น ไม่มีแนวโน้มลดลงจริง รวมถึงมีมาตรการดูแลในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกกรงหัวจักที่แหล่งอาศัยส่วนใหญ่อยู่นอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ และได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการลักลอบดักจับเพื่อค้าเป็นสัตว์เลี้ยง ส่งผลให้ประชากรนกในภาคใต้ของประเทศไทย เรียกได้ว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ทั้งนี้ ยังไม่มีมาตรการใดในการดูแล ป้องกันการดักจับนกจากทางภาครัฐ ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต หากนกชนิดนี้ได้รับการปลดจากสัตว์ป่าคุ้มครองจริง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการผลักดันผ่านกิจกรรม “ยกระดับผลิตภัณฑ์และพัฒนาทักษะอาชีพการทำกรงนกปรอดหัวโขน สู่การเป็น Soft Power” ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เพื่อส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของประชาชนในพื้นที่
นายอารี หนูชูสุข นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ เปิดเผยว่ามีการระดมสมองร่วมกับภาคส่วนต่างๆ และชมรมผู้เลี้ยงนกในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอาหารนกคุณภาพ การส่งเสริมสมุนไพรพื้นถิ่นเพื่อดูแลสุขภาพนก การรวมกลุ่มเครือข่ายเพาะพันธุ์ รวมถึงการผลักดันนโยบายเข้าสู่เวทีการเจรจาระหว่างประเทศ นอกจากนี้ มีการจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนนกกรงหัวจุกเป็นสัตว์เศรษฐกิจและ Soft Power
ขณะที่ นายอิบรอฮีม อ้นบุตร ประธานชมรมผู้เลี้ยงและเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุก จังหวัดสงขลา กล่าว่า ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงนกเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ความต้องการกรงนกก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย กรงนกในท้องตลาดมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ราคาหลักร้อยไปจนถึงหลักล้านบาท รองรับกลุ่มลูกค้าหลายระดับ ทั้งในเชิงพาณิชย์และในรูปแบบงานศิลปะ ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้เลี้ยงและความคิดสร้างสรรค์ของช่าง และกรงที่ได้รับความนิยมในขณะนี้มักเป็นกรงเชิงพาณิชย์ทั่วไปที่มีราคาจับต้องได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่นกของผู้เลี้ยงสามารถคว้าชัยชนะจากการแข่งขันได้ ก็จะมีการเปลี่ยนกรงเป็นแบบที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อสะท้อนคุณค่าของนกที่เลี้ยง
“อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การเพาะพันธุ์นกอย่างเสรี เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาชีพ รวมถึงการสนับสนุนการผลิตกรงนก ซึ่งเชื่อมโยงกับภาคเกษตร เช่น การปลูกไผ่ที่ใช้เป็นวัสดุทำกรง เพราะอาชีพนี้สามารถส่งเสริมได้ทุกช่วงวัย แม้แต่ผู้ที่เคยต้องโทษ เมื่อพ้นโทษแล้วก็สามารถยึดอาชีพทำกรงนกเป็นช่องทางสร้างรายได้และกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณค่า” ประธานชมรมผู้เลี้ยงและเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุก จังหวัดสงขลา กล่าว
ในประเด็นยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ด้วยบทบาทของนกกรงหัวจุกมีความสำคัญต่อนิเวศวิทยา การปลดล็อกอาจนำไปสู่สูญพันธุ์ของนกกรงหัวจุกในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ดังนั้น การผลักดันนกกรงหัวจุกเป็นสัตว์เศรษฐกิจต้องดำเนินควบคู่กับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
สำหรับสัตว์เศรษฐกิจดาวเด่นที่ต้องจับตาอีกชนิดหนึ่ง คือ “ปลาสวยงาม” อ้างอิงสถิติของธนาคารโลกในปี 2567 มีมูลค่าการซื้อขายทั่วโลก ประมาณ 10,000 ล้านบาท ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่าพันล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 11 % โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกในการผลิตสัตว์น้ำสวยงามส่งออก
โดยล่าสุด นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรม เผยเตรียมทำคลอดแผนปฏิบัติการพัฒนาขึ้นแท่นผู้นำการผลิตและการค้าสัตว์น้ำสวยงาม ดันส่งออกปลาสวยงามของไทย ตั้งเป้าผู้นำการผลิตและการค้าปลาสวยงาม เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม มีชนิดพันธุ์ที่หลากหลาย มีปัจจัยที่อำนวยต่อการเจริญเติบโต มีช่องทางการตลาดและการขนส่งที่สะดวก และเกษตรกรไทยมีความสามารถในการผลิต สัตว์น้ำสวยงามที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และพัฒนาสายพันธุ์ที่แปลกใหม่อยู่เสมอ สัตว์น้ำสวยงามของไทยจึงได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดโลก
ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกปลากัดประมาณ 400 ล้านบาท หรือราว 40% ของการส่งออกสัตว์น้ำทั้งหมด รองลงมา คือ ปลาทอง( 7.3%) ปลาหางนกยูงและปลาสอด ( 6.4%) กุ้งสวยงาม (5.8%) กลุ่มปลาหมอสีและปลาออสการ์ (3.9%) และปลาชนิดอื่นๆโดยเฉพาะปลาสวยงามพื้นเมืองของประเทศไทย เช่น ปลาก้างพระร่วง ปลาลูกผึ้ง ปลาซิวต่างๆ มีประเทศผู้นำเข้าสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา(20%) สหภาพยุโรป (13.2%) จีน (10%)
โดยกรมประมงดำเนินแผนพัฒนาแผนปฏิบัติการพัฒนาสัตว์น้ำสวยงาม พ.ศ. 2566 – 2570 ครอบคลุมตั้งแต่การวิจัยการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง การส่งเสริมการตลาด และการส่งออก ลดเงื่อนไขและข้อจำกัดในการพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ สร้างแนวร่วมในการขับเคลื่อนขยายช่องทางการขนส่งสัตว์น้ำ โดยดึงพันธมิตรอย่างไปรษณีย์ไทยเข้ามาร่วมผลักดันด้านการขนส่งสัตว์น้ำ เพิ่มศักยภาพในการดำเนินการขนส่งผ่านระบบไปรษณีย์ไทยเพิ่มเติมจากเดิมที่มี 7 ชนิด ได้แก่ ปลากัด ปลาสอด ปลาหางนกยูง กบ ปลาไหล กลุ่มหอยฝาเดียวและไข่หอย กลุ่มพรรณไม้น้ำ
สุดท้ายการผลักดันสัตว์เศรษฐกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกำลังดำเนินไปอย่างน่าจับตา โดยต้องไม่ลืมว่าผลักสัตว์เศรษฐกิจต้องควบคู่กับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน.