ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่าช็อกกันถ้วนหน้ากับการยืนยันรีดภาษีนำเข้าจากไทย 36% ของทรัมป์ นับเป็นการพ่ายศึกยกแรก และลุ้นระทึกว่าการเจรจาต่อรองยกสองก่อนเส้นตาย 1 สิงหาคมนี้ จะมีผลออกมาเป็นบวกหรือไม่
การเจรจายกแรกของ “ทีมไทยแลนด์” ที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าทีม ที่จบลงด้วยการที่สหรัฐฯยืนอัตราภาษี 36% ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเพราะความล่าช้ากว่าประเทศไทยจะได้คิวเจรจาก็จวนเจียนถึงเดดไลน์สิ้นสุดระยะเวลาการผ่อนผันในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568
หรือพูดภาษาชาวบ้านคือ สหรัฐฯไม่เห็นหัวรัฐบาลไทยที่อ่อนปวกเปียก จึงให้คิวเจรจาเกือบท้าย ๆ
เมื่อบวกกับความ “ไม่รู้เขารู้เรา” หรือรู้แต่ไม่กล้าแลก หรือไม่กล้าลงมือจัดการจริงจังกับสินค้าสวมสิทธิ์ของพี่ใหญ่จีน เพราะห่วงกระทบความสัมพันธ์ สุดท้ายข้อแลกเปลี่ยนที่ไทยเสนอไปจึงไม่เป็นที่น่าพอใจของสหรัฐฯ
ในจดหมายที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โพสต์ถึงรัฐบาลไทยผ่าน Truth Social เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ชี้ว่า ที่ผ่านมาสหรัฐฯขาดดุลการค้ากับไทยอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องยุติความไม่สมดุลที่สะสมมาเป็นเวลานาน อันเกิดจากนโยบายภาษี มาตรการที่มิใช่ภาษี และกำแพงการค้าอื่น ๆ ของไทย ความสัมพันธ์ในปัจจุบันจึงไม่อาจถือว่าเป็นไปอย่าง “ต่างตอบแทน” ได้
ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2025 สหรัฐฯ จะจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% สำหรับสินค้าทุกประเภทที่ส่งออกจากไทยเข้าสู่สหรัฐฯ โดยไม่ขึ้นกับอัตราภาษีในหมวดหมู่สินค้าเฉพาะใด ๆ ทั้งสิ้น สินค้าที่มีลักษณะถ่ายโอนผ่านประเทศที่สามเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี จะถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงขึ้น และหากประเทศไทย เลือกที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ไม่ว่าในอัตราใด อัตรานั้นจะถูกรวมเข้ากับภาษี 36% ที่สหรัฐฯ ประกาศใช้
อย่างไรก็ดี ทรัมป์ได้เปิดทางเจรจาต่อรอง หากรัฐบาลไทยจะเปิดตลาดที่เคยปิดต่อสินค้าสหรัฐฯ และยกเลิกกำแพงภาษี รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้า สหรัฐฯ อาจพิจารณาปรับอัตราภาษี โดยขึ้นอยู่กับทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ก่อนที่การเจรจายกแรกจะจบลงแบบจบเห่ นายพิชัย ชุณหวชิร พกพาความมั่นใจไปเจรจาโดยมีข้อเสนอนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวและอีเทนมากถึง 2 ล้านตัน/ปี จากโครงการก๊าซอะแลสกา เป็นเวลา 20 ปี และจะให้การบินไทยวางแผนซื้อเครื่องบินโบอิ้งเพิ่มอีก 80 ลำ พร้อมเตรียมเปิดตลาดนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรจากสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง แต่ข้อเสนอทั้งหมดถูกปัดทิ้ง
นับถอยหลังอีกไม่นานก็ถึงเส้นตาย 1 สิงหาคม 2568 ในการเจรจายกสองนี้ รัฐบาลจึงเทหมดหน้าตัก ตามที่ นายลวรรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอลดภาษีนำเข้าในอัตรา 0% ให้กับสหรัฐฯ หลายพันรายการ ซึ่งเป็นรายการเดียวกันกับหลายประเทศที่เป็นคู่ค้ากับไทย
“...ข้อเสนอครั้งที่สองที่ส่งไปยังไม่ได้ตอบกลับมา แต่เชื่อว่าผลจะเป็นไปในทิศทางบวก มั่นใจว่าไทยจะไม่โดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ 36% แน่นอน...” นายลวรณ เชื่อมั่น
แม้ทีมไทยจะเชื่อมั่น แต่ข้อที่น่ากังวลคือ นั่นเป็นข้อเสนอที่ตอบโจทย์สหรัฐฯได้อย่างแท้จริงหรือไม่ การที่ทีมไทยยื่นข้อเสนอ “ลดภาษีนำเข้าหลายพันรายการ” แต่กลับเป็นสินค้าที่สหรัฐฯไม่ได้ให้ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เช่น สินค้าเกษตร หรือของใช้ทั่วไป ต่างจากสิ่งที่สหรัฐฯต้องการจริง ๆ เช่น การเข้าถึง supply chain ด้านเซมิคอนดักเตอร์, EV, AI หรือการเปิดตลาดด้านบริการ-การเงิน-ดิจิทัล
อย่างไรก็ดี ถึงเวลานี้ ยังไม่มีรายละเอียดว่ารายการสินค้าหลายพันรายการ ที่มีการลดอัตราภาษีเป็น 0% นั้น ประกอบไปด้วยสินค้าในหมวดหลักใดบ้าง และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหลักจากการลดภาษีนี้คือใคร จะใช่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง หรือไม่ และธุรกิจภาคส่วนไหนที่จะได้รับผลกระทบหนัก
ประเด็นนี้รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้รับรู้ และเปิดรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อฟังความรอบด้าน พร้อมกับมีมาตรการเยียวยาผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนด้วย โดยเฉพาะภาคเกษตรที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ
สำหรับภาคเอกชนนั้น รัฐบาลมีเวทีรับฟังความเห็นทันทีที่รับทราบว่าสหรัฐฯ ยืนกรานเก็บภาษีนำเข้าจากไทย 36% ไม่ลดลงแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว โดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ว่า ได้มีการประเมินผลกระทบในทุกสมมติฐานและความเป็นไปได้ของแต่ละอัตราภาษี ที่จะเริ่มมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 และให้ภาคเอกชนกลับไปประเมินแบบเจาะลึก เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่แท้จริงต่อภาคธุรกิจไทยอย่างรอบด้าน ผลกระทบตกอยู่กับกลุ่มธุรกิจใดบ้าง ซึ่งอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีและสัดส่วนของการใช้วัตถุดิบในประเทศของแต่ละอุตสาหกรรม
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่า การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในเบื้องต้น อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าหลัก เช่น อาหารแปรรูป สินค้าเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อัญมณี เหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งคาดว่ามูลค่าความเสียหายต่อการส่งออกไทย อาจอยู่ที่ประมาณ 8-9 แสนล้านบาท
ทางด้าน นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงว่า การขึ้นภาษี 36% ของสหรัฐฯ สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ต้นทุนการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯสูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้ ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ กว่า 2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันมากที่สุด ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารสำเร็จรูป ข้าว ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ เป็นต้น
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ยังลามไปถึงการเลิกจ้างแรงงาน ราคาผลผลิตในประเทศตกต่ำ กระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและครัวเรือนไทย เศรษฐกิจชะงักงัน ไม่สามารถแข่งขันทางการค้ากับคู่แข่งได้ในระยะยาว
ทาง สรท. ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อดำเนินการ อาทิ ปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 0% ให้มากที่สุด, ขยายสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากสหรัฐฯ, เร่งจัดซื้อพลังงานให้มากขึ้นแทนการซื้อจากแหล่งอื่น การหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ, เร่งรัดการเจรจาเปิดการค้าเสรีในทุกกรอบที่มีอยู่ และข้อเสนออื่น ๆ เช่น การจัดหาแหล่งเงินทุน ปรับลดดอกเบี้ย ชะลอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มความเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าสวมสิทธิ์ เป็นต้น
นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. ชี้แนะว่า การเจรจาคงต้องใช้ “เวียดนามโมเดล” และจะต้องให้ได้ข้อยุติ เพราะคงไม่มีโอกาสเจรจารอบที่สามอีกแล้ว การต่อรองเพื่อแลกกับยอดเกินดุล 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ถือว่าคุ้มค่า ครอบคลุมทั้งเรื่องการค้าและการลงทุน ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบภาครัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
จากข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2568 สรท. ระบุสินค้าที่ไทยส่งไปสหรัฐฯ มากที่สุด อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
นักวิเคราะห์ที่มองกลเกมการขึ้นภาษีและการกดดันของสหรัฐฯ ทะลุถึงแก่นปัญหาที่น่ารับฟังคือ นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ที่มองว่า การเจรจากับสหรัฐฯจะหวัง win-win นั้นยาก มีแต่ต้องหาทาง give and take โดยคำนึงถึงผลกระทบในแต่ละทางเลือกอย่างรอบด้าน และชดเชยผลกระทบ
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP ชำแหละปัญหาว่าสหรัฐฯ ถือไพ่เหนือกว่าไทยที่พึ่งพาสหรัฐฯ มากกว่าสหรัฐฯพึ่งพาไทย โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ สูงถึง 18% ของมูลค่าส่งออกรวม ถ้าไทยเจอภาษี 36% คู่แข่งอย่างเวียดนาม-เม็กซิโก พร้อมเสียบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยาง ภาคการผลิตโดนซ้ำเติม แรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้าง หรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศภาษีต่ำ
ประเด็นสำคัญคือ ไทยกำลังถูกบังคับให้เลือก (trade off) ระหว่างภาคการส่งออก ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจ กับการเปิดตลาดให้สหรัฐฯ เพิ่ม ซึ่งอุตสาหกรรมที่เราปกป้องมากที่สุดทั้งภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี คือ ภาคเกษตร ที่แม้มีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจไม่มาก แต่จ้างงานจำนวนมาก มีผลต่อธุรกิจใหญ่น้อยมหาศาล การเปิดตลาดจะกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมากแน่ ๆ
ส่วนอีกเงื่อนไขหนึ่งคือ คือการป้องกันสินค้าจีนสวมสิทธิ์ ซึ่งอาจจะทำให้กระทบความสัมพันธ์กับจีน
อีกประเด็นคือ การเมืองในบ้าน-ยากกว่าเจรจานอกบ้าน ซึ่งในภาวะที่การเมืองขาดเอกภาพ และเสถียรภาพ การทำงานสามกระทรวงหลักอยู่คนละพรรค คำถามคือใครจะเป็นคนเคาะ และจะเคาะได้หรือไม่ ยังไม่นับว่าบางข้อเสนออาจจะผ่านสภาอีก Internal negotiations อาจจะยากกว่า external negotiation เสียอีก จึงต้องมีกลไกในการพิจารณาพูดคุยโดยมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชน ไม่งั้นมีปัญหาแน่นอน
นายพิพัฒน์ ชี้แนะว่า ในเมื่อการเจรจาแบบ win-win ไปได้ยากในกรณีนี้ อาจจะต้องหาทาง give and take และพิจารณาถึงผลกระทบในแต่ละทางเลือกอย่างรอบด้าน และหาทางชดเชย โดยต้องเข้าใจสิ่งที่สหรัฐฯต้องการก่อน นั่นคือ สหรัฐฯต้องการให้ไทยเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ ลดภาษีนำเข้า ยกเลิกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี และจัดการกับเรื่องสินค้าสวมสิทธิ์ ซึ่งต้องพิจารณาผลกระทบของแต่ละเรื่องอย่างเข้าใจอย่างแท้จริง เปรียบเทียบต้นทุนแต่ละทางเลือก และหาทางออก
นอกจากนั้น การพิจารณาหาทางเปิดเสรีภาคเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีมาตรการลดผลกระทบ ชดเชยความเสียหายแบบเข้าใจจริง ๆ โดยต้องสื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจประเด็น และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาทางเลือก
ขณะเดียวกัน ไทยยังต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ดึงลงทุนเทคโนโลยี-มูลค่าสูง สิทธิประโยชน์ R&D, เครดิตภาษี ให้ EV parts, AI hardware, data center มาตั้งฐานในไทย และ Upskill แรงงานสู่ทักษะดิจิทัล-หุ่นยนต์ เพิ่มค่าแรงเฉลี่ยและผลิตภาพ
ที่ขาดไม่ได้คือ War-Room เสียงเดียว โดยรวมคลัง-พาณิชย์-เกษตร-เอกชน ตัดสินรวดเร็ว ส่งสัญญาณชัดแก่สหรัฐฯ และนักลงทุนว่าประเทศ “เอาจริง” พร้อมกับเร่งกระจายตลาดส่งออก โดยใช้ RCEP, CPTPP, GCC เร่งทำ FTA กับกลุ่มประเทศใหญ่อย่าง EU เพื่อกระจายตลาดจากสหรัฐฯ
ขณะที่รัฐบาลและภาคเอกชน มีความหวังว่าการเจรจารอบสอง สหรัฐฯ น่าจะลดภาษีนำเข้าสำหรับไทยลง แต่สำหรับ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน กลับมองว่า โอกาสที่สหรัฐฯจะลดภาษีให้ไทยลงต่ำกว่า 36% มีโอกาสเป็นไปได้น้อย เนื่องจากไทยต้องแข่งกับประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯนับร้อยประเทศที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน และมีข้อเสนอลดภาษี 0% เช่นกัน
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่อาจส่งผลต่อการเจรจากับสหรัฐฯ ที่ทำให้อาจไม่บรรลุเป้าหมายก่อนเส้นตาย อาทิ ไทยเข้าร่วมกลุ่ม BRICs ซึ่งสหรัฐฯประกาศจะเก็บภาษีกับกลุ่ม BRICs เพิ่มอีก 10%, ไทยเข้าไปอยู่ในสงครามชิป AI ของสหรัฐฯ-จีน ทำให้สหรัฐฯเพ่งเล็งไทย, สหรัฐฯ มองว่าไทยกีดกันสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ โดยอ้างสินค้าจากสหรัฐฯไม่ปลอดภัย เป็นต้น
ในมุมมองของ นายพิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ชี้ว่า ไทยมีข้อเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ เช่น การจัดการปัญหาสินค้าสวมสิทธิ์จากจีน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของทรัมป์ และการเสนอซื้อสินค้าสหรัฐฯ เช่น เครื่องบินพาณิชย์และพลังงานจากอลาสกา เพื่อสร้างสมดุลการค้า
อดีตทูตไทยประจำสหรัฐฯ ยังเน้นย้ำด้วยว่า ดุลการค้า 1.2 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ จีน และไต้หวัน ซึ่งไทยได้รับเพียงค่าแรงและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระดับจำกัดเท่านั้น
ส่วนทางรอดของไทยในเวลานี้คือ เร่งขยายตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ที่มีประชากร 1,400 ล้านคน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และแอฟริกา เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ
อดีตทูตฯ พิศาล ยังเสนอให้รัฐบาลเขียนจดหมายตอบทรัมป์อย่างเป็นทางการ ด้วยถ้อยแถลงว่าเข้าใจปัญหาการขาดดุลการค้า และจะไม่ตอบโต้ด้วยสงครามการค้า พร้อมเจรจาเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และหยิบยกข้อได้เปรียบที่สหรัฐฯ ได้รับจากไทยมานาน เช่น การให้ใช้ที่ดินสถานทูตสหรัฐฯ บนถนนวิทยุ โดยไม่เสียค่าเช่ามานาน 70 ปี หรือการสนับสนุนด้านการวิจัยทางการแพทย์ของกองทัพสหรัฐฯ ที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า
หลัง “รัฐบาลลูกสาว” ถูกทรัมป์ต้อนเข้ามุม ทาง “พ่อนายกฯ” นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาปลุกปลอบว่า ยังมีเวลาเจรจาอีกยี่สิบกว่าวัน ถ้าเราเร่งเจรจาแล้วยอมทุกอย่างแก้ผ้าให้เลย เราก็ถูกชำเราฟรี ซึ่งข้อเสนอใหม่ส่งไปแล้วก็ต้องติดตามกัน เราให้ได้เท่าที่ไม่เสียหาย
นายทักษิณ ชำแหละการส่งออกไปสหรัฐฯ มี 3 ส่วนใหญ่ คือ 1. เป็นสินค้าที่บริษัทอเมริกามาจ้างทำที่ประเทศไทย หรือมาตั้งบริษัทแล้วส่งไปที่อเมริกา ส่วนนี้ไทยได้ค่าแรง และค่าวัตถุดิบเล็กน้อย ฉะนั้นก็รับสภาพค่าใช้จ่ายไป 2. ชิ้นส่วนมาจากจีน ประกอบที่ไทยแล้วก็ส่งไปขายอเมริกา ส่วนนี้เราเกินดุลสหรัฐอเมริกาแต่ขาดดุลที่จีน ส่วนนี้เราไม่ค่อยเดือดร้อน และ 3. อันนี้เดือดร้อน ทั้งเป็นผลิตภัณฑ์ของเอสเอ็มอี สินค้าการเกษตร เป็นส่วนที่ต้องปกป้อง ยอมในสิ่งที่เป็นไปได้ และยังมีเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างสหรัฐฯกับจีนด้วย
เป็นโจทย์ใหญ่ที่อยู่เหนือความสามารถของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่แท้ทรู