xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (43): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

 การประชุมสภาฐานันดรในปี ค.ศ.1693 ถือเป็นหมุดหมายของการยกย่องเชิดชูพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดพระมหากษัตริย์แห่งสวีเดนอย่างสูงสุด โดยฐานันดรทั้งสี่มารวมตัวเพื่อแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวของความเป็นองคาพยพการเมืองของสวีเดนภายใต้การนำพระราชอำนาจนำของพระมหากษัตริย์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานมาให้


ถึงแม้ว่าที่ประชุมสภาฐานันดรจะสละซึ่งอำนาจต่างๆ ทางรัฐธรรมนูญไปหมดแล้ว พระราชพินัยกรรมของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดในปีเดียวกันนั้น ก็ไม่ได้มุ่งกำจัดสภาฐานันดรออกจากการเมืองการปกครองของสวีเดนเสียเลย เพียงแต่ลดทอนอำนาจหน้าที่ของที่ประชุมสภาฐานันดรไปสู่หน้าที่ดั้งเดิมคือ มีหน้าที่จัดการเฉพาะในกรณีที่เกิดสถานการณ์ที่เป็นสถานการณ์พิเศษสุดวิสัยจริงๆเท่านั้น แต่ในยามปกติ ที่ประชุมสภาฐานันดรไม่มีความจำเป็นต่อการบริหารราชการโดยทั่วไปอีกต่อไป
กล่าวสำหรับ การบริหารราชการโดยรัฐบาลของพระมหากษัตริย์ ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด การบริหารราชการแผ่นดินของสวีเดนมีพระมหากษัตริย์เป็นจุดศูนย์กลางที่เป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนรัฐราชการ กิจการน้อยใหญ่ทั้งหมดกระทำภายใต้พระนามและอาศัยพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่การตรากฎหมายนักบวชแห่งปี ค.ศ.1686 จนไปถึงพระบรมราชานุญาตในรูปของพระราชหัตถเลขาที่อนุญาตให้  Nils Olsson ที่เป็นชาวนาธรรมดาสามารถแต่งงานกับหลานสาวได้

แต่แน่นอนว่ามนุษย์คนหนึ่งย่อมไม่สามารถบริหารจัดการกิจการจำนวนมากและลงไปรายละเอียดเช่นนี้ได้ แม้แต่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดที่ได้ชื่อว่า  “ทรงอุทิศพระองค์ต่อพระราชภารกิจอย่างยิ่งยวด”  พระองค์ทรงตื่นบรรทมตั้งแต่ตีสี่ ทรงงานตลอดทั้งวันจนถึงเย็น และเว้นว่างแต่เพื่อการสวดมนต์และทรงพระกระยาหารในช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น การบริหารราชการแผ่นดินของพระองค์จึงอาศัยกลไกราชการที่พัฒนาและปฏิรูปให้เป็นสมัยใหม่และอาศัยข้าราชบริพารและที่ปรึกษาของพระองค์
มีการกล่าวว่า พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงยึดมั่นในสิทธิหน้าที่ความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างบริสุทธิ์ใจและด้วยศรัทธาอันแกร่งกล้า พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่ง มีความว่า
 “การปกครองราชอาณาจักรไม่ควรตั้งอยู่หรือถูกจำกัดโดยสิทธิในข้อยกเว้นส่วนบุคคลหรือตราสารเสรีภาพและอภิสิทธิ์ใดๆ แต่เป็นสิทธิ์และหน้าของพระมหากษัตริย์ที่จะรักษาระเบียบและดำเนินกิจการที่จำเป็นต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งมวล” และ “อุดมคติในฝันแบบอำนาจนิยม”  นี้จะเป็นจริงได้ก็จำต้องอาศัยพึ่งพาข้าราชการที่แวดล้อมพระองค์

อย่างไรก็ดี มีการกล่าวว่า   “บุคลิกลักษณะของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดสุ่มเสี่ยงต่อการถูกชักใย”  พระองค์ทรงมีสติปัญญาที่จำกัด ไม่ได้รับการศึกษาในระดับสูง ทรงมีความยากลำบากในการอ่านการเขียน ทรงหลีกเลี่ยงการกล่าวพระราชดำรัสในที่สาธารณะและทรงมีข้อจำกัดในการสื่อสารแม้เป็นการส่วนพระองค์ก็ตาม

แม้ทั้งหมดเหล่านี้เป็นข้อจำกัดที่สำคัญในการบริหารรัฐราชการสวีเดนในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่กระนั้น พระองค์ทรงสามารถรับข้อมูลได้ในปริมาณที่มากและสามารถทำความเข้าใจและมีพระราโชบายทางกฎหมายได้ แต่  “สิ่งที่พระองค์ขาดคือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ พระองค์ขาดซึ่งจินตนาการและพระองค์ไม่น่าจะเคยมีพระราชดำริที่แปลกใหม่เลยตลอดชีวิต ความเห็นของพระองค์ที่ทรงประกาศออกมาก็ล้วนแต่เป็นสิ่งจำเจและการกระทำของพระองค์ก็ล้วนวางอยู่บนฐานของการกระทำก่อนหน้า โลกทัศน์ของพระองค์ยังเป็นสองมิติ คือขาว-ดำที่ไม่มีเฉดสีระหว่างกลาง”  

แต่ความหนักแน่นของพระองค์ถือเป็นจุดแข็ง แต่ความไม่ยืดหยุ่นของพระองค์ก็ถือเป็นจุดอ่อนไปในขณะเดียวกัน กล่าวในภาพรวมแล้ว พระองค์ทรงมีวิธีการบริหารราชการแบบปฏิบัตินิยม (pragmatic) ที่เน้นยืนยันพระราชอำนาจของพระองค์ควบคู่ไปกับการจำกัดรายจ่ายโดยการใช้งานข้าราชการที่มีอยู่อย่างหนัก อารมณ์ฉุนเฉียวของพระองค์ยังนำไปสู่การกลั่นแกล้งและการข่มขู่คุกคามข้าราชการของพระองค์อีกด้วย

ข้าราชบริพารและอภิชนที่รายล้อมพระองค์ต่างเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีทักษะการสื่อสาร ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องผลประโยชน์ของพวกตนด้วย อย่างไรก็ดี พระองค์ก็ดูจะรับรู้และระมัดระวังที่ปรึกษาของพระองค์ ด้วยความเชื่อตามแนวคริสต์ศาสนาที่ว่า มนุษย์เป็นคนเลวโดยธรรมชาติที่จะเดินไปวิถีทางชั่วเช่นนั้น แต่จะละเว้นเมื่อเกิดความกลัวการลงโทษ

 ตัวอย่างบรรดาที่ปรึกษาที่มีบทบาทสำคัญต่อพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดได้แก่

1) Jakob Hastfer ผู้บัญชาการราชองครักษ์ที่ไม่เคยอยู่ห่างจากพระองค์

2) Christopher Gyllenstierna ผู้ว่าการกรุงสต๊อกโฮล์มผู้สนับสนุนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแข็งขัน

3) Field Marshal Rutger von Ascheberg ทหารรับจ้างต่างชาติที่ต่อมาเป็นผู้ว่าการจังหวัด Skåne และที่ปรึกษาทางด้านการทหารที่พระองค์ทรงเคารพรักดุจบิดา

4) Nils Bielke นายทหารที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาบริหาร เขาพยายามแย่งชิงอำนาจจาก Oxenstierna แต่ถูกลงโทษให้ไปรับตำแหน่งผู้ว่าการ Pomerania อยู่ช่วงหนึ่งก่อนกลับมาที่กรุงสต๊อกโฮล์ม

5) Lindschöld ผู้ดูแลกิจการต่างประเทศ ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด จนได้รับตำแหน่งเป็นพระอาจารย์ของมกุฎราชกุมาร และเป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านกฎหมาย และได้รับแต่งตั้งเป็นอภิชนระดับสูง แต่ในขณะเดียวกัน พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดก็ทรงระมัดระวังในความโน้มเอียงนิยมฝรั่งเศสของ Lindschöld 

แต่นอกเหนือจากตัวอย่างตัวบุคคลข้างต้นที่สามารถโน้มน้าวมีอิทธิพลต่อพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดแล้ว สิ่งที่เป็นกลไกและระบบราชการที่บริหารปกครองราชอาณาจักรสวีเดน ได้แก่
 หนึ่ง สภาบริหารในพระมหากษัตริย์  แม้ว่าการเปลี่ยนชื่อในปี ค.ศ.1682 อาจสะท้อนถึงการลดบทบาทของสถาบันแห่งนี้ แต่สภาบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ยังคงสถานะเช่นเดิม ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นคือ การพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะทางภายในสภาบริหาร สมาชิกสภาบริหารบางส่วนพิจารณากิจการด้านตุลาการเป็นหลัก และสมาชิกส่วนอื่น ๆ ก็มีกิจการด้านเฉพาะแตกต่างออกไป

ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางนี้สื่อนัยว่า สภาบริหารยังมีหน้าที่สำคัญในการบริหารราชการ แต่สภาบริหารไม่ได้เป็นองค์กรที่มีความสามารถรอบด้านเช่นเดิมที่เคยประชุมร่วมกันอีกต่อไปแล้ว สภาบริหารพิจารณางานทางด้านการบริหารเป็นส่วนใหญ่ จะมีแต่นโยบายต่างประเทศที่สมาชิกมีการถกเถียงการอย่างจริงจัง ซึ่งในบางกรณี พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดก็ทรงรับนโยบายจากเสียงข้างน้อยของฝ่ายค้านในที่ประชุมสภาบริหารด้วย
กล่าวในภาพรวมแล้ว ภายหลังปี ค.ศ.1682 สภาบริหารมีบทบาทในการบริหารปกครองแผ่นดินในด้านพิธีการและด้านการบริหารราชการโดยทั่วไป แต่ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจเชิงนโยบาย

 สอง กระทรวงที่เรียกว่า Chancery  ในขณะนั้น มีขอบเขตหน้าที่ผสมกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงมหาดไทย, สำนักเลขาธิการรัฐบาล และกระทรวงการคลังเข้าไว้ด้วยกัน นำโดย Bengt Oxenstierna ภายในกระทรวง “Chancery” มีคณะรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งทำหน้าที่ร่างวาระให้พระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาและแปลงพระราชวินิจฉัยเป็นพระราชหัตถเลขาหรือพระบรมราชโองการสั่งงานราชการ อันหมายถึงบทบาทและอิทธิพลในการตั้ง เร่งและชะลอวาระทางการเมือง

กระทรวงนี้ยังจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะทูลเกล้าฯถวายแก่พระมหากษัตริย์ โดยกว่าร้อยละ 80 ของพระบรมราชวินิจฉัยสุดท้ายของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดมาจากรายงานและข้อเสนอจากกระทรวง “Chancery”

ฉะนั้น คำกล่าวที่ว่า  “สวีเดนปกครองโดยเหล่าข้าราชการ” จึงถือเป็นความจริงและเป็นที่รับรู้ทั่วไปด้วย ดังที่บุคคลต่าง ๆพยายามเข้าหากระทรวง “Chancery” เพื่อเจรจาต่อรองหรือขอความช่วยเหลือในผลประโยชน์ต่าง ๆ

ส่วนกิจการระหว่างประเทศในกระทรวง “Chancery” นั้น Oxenstierna ดูแลรับผิดชอบเองเป็นหลัก โดยพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงให้มีการพัฒนาความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้นผ่านการตั้งหอจดหมายเหตุเฉพาะการต่างประเทศและการปฏิรูปองค์กรสถานทูต หลักฐานยังชี้ว่า พระองค์ทรงพยายามตรวจสอบและสอดส่องกิจการระหว่างประเทศให้อยู่ในการควบคุมของพระองค์อีกด้วย อนึ่ง กระทรวง “Chancery” ในรัชสมัยของพระองค์มีปริมาณงานล้นมือ แต่พระองค์ไม่ทรงมีพระราชประสงค์จะให้ขยายกระทรวง ด้วยเหตุผลทางการคลัง แต่ทรงมุ่งผลักดันให้มีการปฏิรูปประสิทธิภาพในการบริหารราชการแทน
(โปรดติดตามตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น