ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ภายหลังการก่อกบฏของหยังเหวินไท่จบไปแล้ว ความขัดแย้งที่นำไปสู่การแก่งแย่งอำนาจในหมู่สกุลหยังก็ยังมิได้จบลงโดยสิ้นเชิง ด้วยว่ายังได้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
การแก่งแย่งอำนาจที่ต่อจากกรณีหยังเหวินไท่ยังคงวนอยู่ในสมาชิกสกุลหยัง คราวนี้เกิดขึ้นระหว่าง หยังเหวินซิน กับ หยังเหวินฮุย (ไม่ทราบตัวเขียนจีนในพยางค์ที่สามของคนทั้งสอง) กล่าวกันว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น หยังเหวินซินมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของโกกั้ง โดยมีกองกำลังใต้บังคับบัญชาของเขาสี่กองพัน และผู้บังคับบัญชาของสี่กองพันนี้ล้วนเป็นคนในสกุลหยังทั้งสิ้น
การตั้งกองกำลังเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นนี้ทำให้โกกั้งมีกองทัพที่เข้มแข็งและมีความทันสมัยเป็นครั้งแรก โดยในด้านเสบียงอาหารจะเรียกเก็บจากราษฎรโกกั้ง ส่วนด้านอาวุธและกระสุนได้รับการช่วยเหลือจากจีน ความเป็นอยู่หรือค่าตอบแทนกำลังพลเหล่านี้แม้จะต่ำกว่าเกณฑ์ทั่วไป แต่จากการปลุกเร้าด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมก็ทำให้กำลังพลมีขวัญและกำลังใจที่ดี
ส่วนหยังเหวินฮุยนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องกับหยังเหวินซินและมีอายุไล่เลี่ยกัน ทั้งสองต่างโตมาด้วยกัน แต่ที่ต่างกันคือ อุปนิสัย ที่ว่ากันว่า หยังเหวินฮุยเป็นคนใจกล้า แต่มีนิสัยมุทะลุและมีความทะเยอทะยานสูง ในขณะที่หยังเหวินซินเป็นคนที่มีความสุขุมรอบคอบ
ด้วยเหตุที่มีบุคลิกภาพเช่นนั้น หยังเหวินซินจึงถูกดูแคลนว่าเป็นคนอ่อนแอ และคงมิอาจนำกองทัพไปได้สักกี่น้ำ
ในช่วงสงคราม หยังเหวินฮุยถูกส่งไปฝึกวิชาทหารที่จีน เมื่อกลับมาจึงถูกตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกองกำลังแสนหวี แต่ด้วยนิสัยดังกล่าวจึงทำให้ชาวโกกั้งไม่เห็นด้วยกับการที่เขาได้เป็นผู้นำกองกำลัง ส่วนหยังเหวินซินซึ่งหวาดระแวงเขาไม่น้อยก็ส่งคนคอยเฝ้าดูพฤติกรรมของเขา
และแล้วปัญหาก็มาเกิดขึ้นเมื่อมี ภรรยาของหยังเหวินปิ่ง เข้ามาเป็นตัวละคร ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ เรื่องของเรื่องก็คือว่า ตอนที่ญี่ปุ่นบุกยึดพม่าจากอังกฤษและโกกั้งก็พร้อมที่จะสู้กับญี่ปุ่นนั้น เรื่องที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ก็คือ เมื่อญี่ปุ่นรู้ว่าหยังเหวินปิ่งต่อต้านตนและกำลังหาทางเล่นงานเขาอยู่นั้น หยังเหวินปิ่งได้หนีไปจากโกกั้งโดยได้รับความช่วยเหลือจากอังกฤษ โดยเขาจะต้องไปขึ้นเครื่องบินที่อวิ๋นหนันของจีนแล้วตรงไปอินเดีย
การพาหนีนี้จะมีผู้ติดตามหยังเหวินปิ่งหนีไปด้วยคือ ภรรยาของเขา แต่ก็ให้เกิดเรื่องตลกร้ายขึ้นเมื่อภรรยาของเขามิอาจขึ้นเครื่องบินลำเล็กของอังกฤษได้ ด้วยว่าเธอมีรูปร่างที่อ้วนมาก อ้วนจนไม่สามารถโดยสารเครื่องบินได้ จึงได้แต่ส่งตัวเธอกลับมายังโกกั้ง
ตอนที่เธอเดินทางกลับมายังโกกั้งนี้เอง หยังเหวินฮุยรีบมาต้อนรับเธอทันที จากนั้นก็ยุให้เธอยึดอำนาจจากหยังเหวินปิ่งซึ่งเป็นสามีของเธอเอง หยังเหวินฮุยใช้เวลาในการยุเธออยู่นานพอควร แล้วคำยุของเขาก็สำเร็จเมื่อภรรยาของหยังเหวินปิ่งเห็นดีด้วย
การก่อการยึดอำนาจในขณะที่หยังเหวินปิ่งไม่อยู่จึงเกิดขึ้น แต่โชคร้ายก็คือว่า หยังเหวินซินซึ่งเฝ้าติดตามพฤติกรรมของหยังเหวินฮุยมาตลอดล่วงรู้ความลับดังกล่าว เขาจึงประกาศให้ทำการจับหยังเหวินฮุยและพรรคพวกในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ.1945
ฝ่ายหยังเหวินฮุยพอรู้ว่าตนเองเพลี่ยงพล้ำก็ควบม้าหนีการจับกุมไปยังบ้านของสกุลฟั่น แต่ก็ถูกปิดล้อมในเย็นวันเดียวกันนั้น แต่เขายังไม่ยอมแพ้โดยแต่งตัวปลอมเป็นชาวบ้านแล้วกระโดดกำแพงเพื่อหลบหนี ซึ่งก็หาได้รอดพ้นสายตาของกองกำลังที่ปิดล้อมไปได้ และทำให้เขาก็ถูกยิงเสียชีวิตในที่สุด
ภายหลังที่เหตุการณ์สงบลงแล้ว การตัดสินกรณีนี้ต่างไปจากกรณีหยังเหวินไท่ก็ตรงที่ว่า สมาชิกครอบครัวของหยังเหวินฮุยมิได้ถูกลงโทษไปด้วย ทั้งนี้เพราะหยังเหวินซินเห็นแก่ความเป็นเครือญาติที่ใกล้ชิดกัน ส่วนกองกำลังที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของหยังเหวินฮุยนั้น ก็ให้ญาติในสายเดียวกับตนมาดำรงตำแหน่งแทน
หลังจากนั้นไม่นานญี่ปุ่นก็ยอมแพ้ในสงครามโลก ส่วนหยังเหวินปิ่งก็กลับมายังถิ่นโกกั้งของตนและปกครองโกกั้งต่อไป
ด้วยข้อมูลที่ค่อนข้างจำกัดเรารู้แต่เพียงว่า หยังเหวินซินเกิดเมื่อ ค.ศ.1904 เป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาดีและมีชื่อเสียง ด้วยเกิดในตระกูลพ่อค้าที่มีความรู้ความสามารถ จนทำให้เขาผูกขาดการค้าในโกกั้ง เขาเคยถูกทางการพม่าควบคุมตัวสองครั้งด้วยสาเหตุที่ไม่แจ้ง แต่ก็มิอาจทำลายความเคารพนับถือที่ชาวโกกั้งมีต่อตัวเขาไปได้ อย่างไรก็ตาม เขามีอายุยืนยาวถึง 84 ปี และนับเป็นชาวโกกั้งคนที่สองที่มีอายุยืนยาวก่อนที่เสียชีวิตเมื่อ ค.ศ.1988
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเมื่อ ค.ศ.1945 แล้ว อังกฤษยังมิได้คืนเอกราชให้แก่พม่าในทันที แต่ก็รู้ดีถึงกระแสชาตินิยมในพม่าเป็นอย่างดี และคงด้วยหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง กระแสลัทธิอาณานิคมได้อ่อนตัวลง อังกฤษจึงมิอาจฝืนอยู่ในพม่าได้อีกต่อไป ยิ่งความเป็นมหาอำนาจของตนเสื่อมถอยลงด้วยแล้ว ก็ยิ่งมิอาจไม่คืนเอกราชให้แก่พม่าได้อีกต่อไป
โดยใน ค.ศ.1947 อังกฤษได้ประกาศให้พื้นที่ของโกกั้งเป็นรัฐฉาน จากนั้นก็คืนเอกราชให้แก่พม่าใน ค.ศ.1948 แต่นั้นมาอังกฤษก็ไม่ได้เข้าไปข้องแวะกับโกกั้งหรือรัฐฉานอีกเลย
ส่วนพม่าเมื่อได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว ก็ใช้เวลาสะสางปัญหาชนชาติพันธุ์ต่างๆ ภายในประเทศ จนมิอาจเข้าไปข้องเกี่ยวกับโกกั้งได้เช่นกัน แต่ก็ใน ค.ศ.1948 นี้เองที่โกกั้งมีผู้นำชื่อ หยังเจิ้นไฉ (楊振材) และในช่วงที่พม่ากำลังบริหารจัดการกับชนชาติพันธุ์ที่มีอยู่หลายชนชาตินั้น หยังเจิ้นไฉก็ได้รับแต่งตั้งจากพม่าให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาของพม่า
แต่ในขณะที่พม่ากำลังง่วนอยู่กับการจัดการการปกครองของตนหลังได้รับเอกราชอยู่นั้น ในจีนก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ชนะสงครามกลางเมืองที่มีกับกว๋อหมินตั่งใน ค.ศ.1949
ที่เป็นปัญหาคือ ถึงแม้ พคจ. ได้รับชัยชนะและประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1949 ก็จริง แต่การสู้รบกับกองกำลังของกว๋อหมินตั่งก็ยังคงมีอยู่ในบางพื้นที่ของจีน การสู้รบนี้กองกำลังของกว๋อหมินตั๋งเป็นฝ่ายตั้งรับและถอยร่นเอาตัวรอดไปเรื่อยๆ ในบางมณฑล ต่อเมื่อจนตรอกแล้วจึงได้ยอมแพ้
อวิ๋นหนันก็เป็นหนึ่งในมณฑลที่ว่า โดยกองกำลังกว๋อหมินตั่งถูกกองกำลัง พคจ.ตีจนถอยร่นและไม่ยอมแพ้ กองกำลังนี้ถูกตีจนเข้าไปในเขตโกกั้งใน ค.ศ.1950 การเข้าไปยังพื้นที่โกกั้งดังกล่าวได้สร้างความวุ่นวายสับสนให้แก่ชาวโกกั้ง เพราะไม่อาจจำแนกแยกแยะชาวโกกั้งกับชาวกว๋อหมินตั่งได้ ด้วยต่างก็มีรูปร่างหน้าตาเป็น “จีน” ด้วยกันทั้งคู่
ถึงตอนนั้นปัญหาก็มาตกแก่พม่า ว่าจะจัดการอย่างไรกับ “จีน” สองกลุ่มนี้ และสิ่งที่พม่าคิดได้ในขณะนั้นก็คือ บัตรประชาชน