ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จับตาธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร ติด 1 ใน 3 อันดับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเลิกกิจการสูงสุดในปี 2568 ไม่เพียงเท่านั้น สถิติตัวเลขการเลิกกิจการในปี 2567 ยังสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 89% ตอกย้ำผลกระทบเศรษฐกิจเมืองไทยอยู่ใน “วิกฤตต้มกบ” เผชิญภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาอย่างช้าๆ กว่าจะรู้ก็สายเสียแล้ว
เสียงบ่นด้วยความวิตกกังวลของผู้คนในแวดวงธุรกิจร้านอาหารนับตั้งแต่ร้านรถเข็นริมทางยันร้านภัตตาคารขึ้นห้าง เริ่มสะท้อนออกมาให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า “ขายไม่ดี” ยิ่งเสียกว่าเมื่อครั้งเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เสียอีก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากตัวเลข ข้อเท็จจริงก็ดำเนินไปในท่วงทำนองนั้นอย่างไม่อาจปฏิเสธความจริงได้
ทั้งนี้ หากเทียบเคียงปีก่อนๆ ยอดขายของธุรกิจร้านอาหารตกฮวบลงกว่า 40 - 50% โดยกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจซึมส่งผลกระทบธุรกิจร้านอาหารติดอันดับธุรกิจที่ปิดตัวมากที่สุดติดต่อกันถึง 3 ไตรมาส
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยสถานการณ์จดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่และเลิกกิจการ 5 เดือนของปี 2568 พบการจดทะเบียนเลิกกิจการ 5 เดือนของปี 2568 (มกราคม - พฤษภาคม 2568) มีจำนวน 4,776 ราย เพิ่มขึ้น 153 ราย (3.31%) เมื่อเทียบกับ 5 เดือนของปี 2567 (4,623 ราย) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 20,140 ล้านบาท ลดลง 51,704 ล้านบาท (-71.97%) เมื่อเทียบกับ 5 เดือนของปี 2567 (71,845 ล้านบาท)
โดยธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 447 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 847 ล้านบาท 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 232 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 1,096 ล้านบาท และ 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 202 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 487 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2567 มีร้านอาหารจดทะเบียนยกเลิกธุรกิจสูงถึง 89% ขณะที่การเปิดร้านใหม่ยังเท่าเดิมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
ขณะที่ธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2,910 ราย ทุนจดทะเบียน 5,988 ล้านบาท 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 2,483 ราย ทุนจดทะเบียน 9,314 ล้านบาท 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 1,537 ราย ทุนจดทะเบียน 3,027 ล้านบาท
สะท้อนว่าธุรกิจร้านอาหารมีปิดตัวมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการเปิดตัวอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยสถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารปี 2568 เต็มไปด้วยปัจจัยลบ อันเนื่องมาจากผลกระทบหนักจากสภาพเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ดังนั้น การทำร้านอาหารยุคนี้ต้องรอบรู้ เข้าใจทั้งผู้บริโภคว่าต้องการอะไร และปรับตัวให้ทันสภาวะเศรษฐกิจ
“อย่าว่าแต่กำไรเลย แค่ประคองตัวให้รอดให้พอมีเงินจ่ายพนักงานก็พอ เพราะยุคนี้ร้านอาหารแค่อร่อยอย่างเดียวไม่พอ ต้องสายป่านยาว ใครที่อ่อนแอ อาจจะหยุดธุรกิจไปก่อน ที่น่าห่วงคือ รายเล็ก-กลาง เขาไม่เหมือนรายใหญ่ที่อยู่ตัวและขายดี
“ขณะที่ร้านแนวบุฟเฟต์แม้จำนวนผู้ใช้บริการไม่ลด แต่ถูกกระทบจากการจับจ่ายต่อคนที่ลดลง เช่น ลูกค้า 100 คนเท่าเดิม แต่อาจลดแพ็กเกจจาก 1,500 บาท เหลือ 700 บาท แทน” นายกสมาคมภัตตาคารไทย ระบุ
ตลาดร้านอาหารในปี 2568 มีความท้าทายหลายประการ ได้แก่ ประการแรก การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2568 ในอัตราแตกต่างกันตามพื้นที่ ประมาณ 7-55 บาทต่อวัน เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.9% เช่น ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และ อ.สมุย สุราษฎร์ธานี ค่าแรง 400 บาทต่อวัน
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 14) ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2568 เพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป ตามที่กระทรวงแรงงาน ได้เสนอ โดยมีมติเห็นชอบในการกำหนดอัตราค่าจ้างใน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.ปรับอัตราค่าจ้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทุกพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นอัตราวันละ 400 บาท 2.ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในกิจการประเภทโรงแรมตามกฎหมาย เฉพาะโรงแรมประเภท 2 ประเภท 3 และประเภท 4 ทั่วประเทศ เป็นอัตราวันละ 400 บาท และ 3.กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเภทกิจการสถานบันเทิง ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการทั่วประเทศ เป็นอัตราวันละ 400 บาท
ทั้งนี้ ค่าแรงพนักงานจะคิดเป็น 20 - 25% ของต้นทุนร้านอาหาร ถือเป็นค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงจากปัญหาการแย่งแรงงานในพื้นที่ท่องเที่ยว ทำให้ต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวซึ่งพ่วงมาด้วยค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ เอเยนซี ค่าที่พัก และค่าอาหาร ตลอดจนค่าประกันสังคมที่ต้องจ่ายคนละครึ่งกับลูกจ้าง ดังนั้น จากเดิม ยกตัวอย่าง ค่าจ้างพนักงานอยู่ที่ 9,000 บาทต่อเดือน อาจต้องปรับขึ้นเป็น 12,000 บาทต่อเดือน ส่วนพนักงานคนอื่นๆ ที่มีค่าแรงสูงกว่านั้น ก็ต้องปรับขึ้นให้เท่าเทียมกัน
ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงปี 2568 ดันต้นทุนทั้งระบบให้ขยายตัว ตั้งแต่ต้นทางจากผู้ผลิต และโรงงาน นำไปสู่การขึ้นราคาค่าวัตถุดิบ ส่งผลให้กลุ่มร้านอาหารต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น และกดดันอัตรากำไรขั้นต้นร้านอาหารซึ่งมีสัดส่วนเพียง 15% ให้ลดลงไปอีก
ประการที่สอง กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัว เลือกซื้ออาหารมากขึ้น โดยเน้นซื้ออาหารจากตลาดนัดแทนไปกินร้านอาหาร หรือเลือกซื้ออาหารในราคาย่อมเยา พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เช่น ร้านขายไก่ย่าง เดิมขายทั้งตัวก็ปรับมาขายครึ่งตัว เป็นต้น
สถานการณ์ในปัจจุบันมีร้านค้าหลักหลายแสนร้านตลอดจนร้านอาหารในบนแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ส่งผลให้แข่งขันของธุรกิจร้านอาหารดุเดือด ประกอบกับผู้บริโภคกำลังซื้อลดลง
จากการเปิดตัวสถิติร้านอาหารที่คนทำร้านอาหารต้องรู้ ในงาน Thailand Restaurant Conference 2025 โดย ‘เอกลักษณ์ วิริยะโกวิทยา’ จาก LINE MAN wongnai ทำให้รู้ว่า ตอนนี้สถานการณ์ของธุรกิจร้านอาหารไม่ได้ดีตามที่คาดหวังกล่าวคือ ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2025 ธุรกิจร้านอาหารมีการเปิดร้านใหม่ลดลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 50% ของร้านที่เปิดใหม่มีการปิดตัวตั้งแต่ปีแรกของการเปิด สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในธุรกิจร้านอาหาร
อีกสถิติที่น่าสนใจ คือ เมื่อพิจารณาถึงทำเลที่ตั้ง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้วัดการอยู่รอดของร้านอาหาร จะเห็นได้ว่า ร้านที่เปิด ‘ในห้าง’ จะมีโอกาสรอดสูงกว่าร้าน ‘นอกห้าง’ ถึง 22% โดยแนวโน้มนี้เห็นความชัดเจนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
เหตุผลก็เนื่องจากห้างมีทราฟฟิกของลูกค้าที่พร้อมซื้อรออยู่แล้ว ดังนั้น การเปิดสาขาในร้าน ก็ไม่ต่างจากการซื้อประกันที่การันตีว่ามีลูกค้าแน่
เมื่อพิจารณาถึงช่องทางระหว่าง ‘หน้าร้าน’ กับ ‘เดลิเวอรี่’ ลูกค้าเทใจให้ช่องทางไหน? จากข้อมูลของ LINE MAN wongnai พบว่า ยอดขายหน้าร้านลดลง 14% ขณะที่ยอดขายบนแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่อย่าง Line Man เติบโตขึ้นมากกว่า 15% ทำให้เดลิเวอรี่ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ร้านอาหารต้องทำ
ดังนั้น ยุคนี้การยืนบน ‘ไหล่ยักษ์’ อาจจะช่วยให้ร้านอาหารสร้างยอดขายได้ไว ทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้เร็วขึ้น
ส่วนเมื่อเข้าแอปฯแล้ว ลูกค้ามองหาอะไร? คำตอบ คือ ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการค้นหาโปรโมชัน, 88% เล็งหาโปรฯค่าอาหาร, 59% ส่วนลดค่าส่ง,56% โปรโมชั่นเซ็ตเมนู,29% Flash Saleม27% โปรฯลูกค้าใหม่
สำหรับเมนูที่ลูกค้าค้นหามากสุด เพื่อให้ผู้ประกอบการรู้ทิศทางของความนิยมของผู้บริโภคนั้น 5 อันดับแรก ได้แก่ หม่าล่า 60%, หมี่ไก่ฉีก 58%, สุกี้ 51%, ผัดไทย (34%), และ ขนมปัง (28%) เมนูใหม่ที่เพิ่งติดโผในปีนี้
นอกจากนี้ ‘ชิโอะปัง’ เป็นเทรนด์อาหารที่มาแรงมาก โดยตั้งแต่ต้นปี 68 มีการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 130 เท่า มียอดขายเพิ่มขึ้น 11 เท่าภายใน 1 เดือน แม้ช่วงไตรมาส 2 จะเห็นเทรนด์การเติบโตที่เริ่มลดลงเล็กน้อย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศมีการแข่งขันรุนแรงในทุกระดับราคาและประเภทของอาหาร โดยประเทศไทยมีความหนาแน่นของร้านอาหารต่อประชากรอยู่ที่ 9.6 ร้านต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราส่วนที่สูง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจำนวนร้านอาหารในไทยมีอยู่ประมาณ 7 แสนร้าน ซึ่งแต่ละปีมีจำนวนร้านเปิดใหม่ราว 1 แสนร้าน ขณะเดียวกันสัดส่วนร้านที่ปิดตัวลงก็มีจำนวนเท่าๆ กันเช่นกัน สะท้อนว่าอายุของร้านอาหารค่อนข้างสั้น
นอกจากนี้ จังหวัดที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวสูง เกิดการเปิดตัวของร้านอาหารและเครื่องดื่มสูงเช่นกัน อาทิ ชลบุรี เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพมีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยละต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยว เนื่องจากภาวะการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่สูง ทำให้การลงทุนใหม่อาจยังต้องระวัง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ธุรกิจร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มในปี 2568 โตชะลอลงจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวกระทบการใช้จ่ายของผู้บริโภค และภาคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเสี่ยงไม่โต คาดว่ามูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 646,000 ล้านบาท เติบโต 2.8% จากปี 2567 (ปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่เติบโต 4.6% หรือมีมูลค่า 657,000 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2567)
รวมทั้งต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งราคาวัตถุดิบและค่าแรงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับขึ้นราคาอาหารทำได้จำกัดเนื่องจากภาวะการแข่งขันสูง ทำให้ร้านอาหารมีกำไรลดลง นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรง มีร้านอาหารใหม่ๆ เปิดตัวจำนวนมาก รวมถึงร้านอาหารจากต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาดในไทย ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น การแข่งขันด้านราคาและโปรโมชั่น
ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความแปลกใหม่ ประสบการณ์ คุณภาพ สุขภาพ และราคาที่สมเหตุสมผล มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ต่ำลง และพร้อมที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ เสมอ
ทั้งนี้ ผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่ฟื้นตัว แม้รัฐจะมีความพยายามกระตุ้นอยู่บ้างแต่ภาพรวมเศรษฐกิจไม่กระเตื้องเท่าที่ควร จึงส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศ และทำให้คนทั่วไปประหยัดค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารในปี 2568 ผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบรายเล็ก (บุคคล) ยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการในตลาดมีแผนที่จะขยายสาขาในกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มเดิม รวมถึงการเปิดแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มใหม่ครอบคลุมทุกเช็กเม้นท์ของตลาด และส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มร้านอาหารเอเชีย นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มยังมาจากแนวโน้มการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาทิ ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงานเปิดใหม่เป็นปัจจัยสนับสนุนจำนวนร้านอาหารเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ด้าน “น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์” โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ของธุรกิจร้านอาหารที่ค่อนข้างซบเซาในระยะนี้ เป็นสิ่งที่ ธปท.จับตามองอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมา ถือได้ว่าธุรกิจนี้เป็นเครื่องยนต์สำคัญของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในระยะถัดไปจาก Sentiment ของทั่วโลกเริ่มแย่ลง ประกอบกับรายได้ประเทศคู่ค้าที่ลดลง ก็จะมีส่วนกระทบไปถึงการใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยว และภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามมา
“เราจับตามองอยู่ เพราะที่ผ่านมาธุรกิจนี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญ และมีหลายปัจจัยที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวชะลอลง ทั้งนี้ในระยะถัดไป ทั่วโลกมี sentiment ที่แย่ลง ประกอบกับประเทศคู่ค้าของไทยอาจมีรายได้ลดลง ทำให้กระทบในแง่ของการใช้จ่าย นี่คือที่เรามองอยู่แล้วว่าการท่องเที่ยว และ sector อื่นๆ อาจได้รับผลกระทบจาก sentiment ข้างนอก รวมทั้งที่ผ่านมา ไทยอาจมีสถานการณ์ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันเริ่มกลับมาดีขึ้นแล้ว ดังนั้นภาคการท่องเที่ยวจะต้องติดตามต่อไป และไตรมาส 2 ก็เป็นช่วง Low season ต้องมอนิเตอร์ต่อ ถ้า year on year ยังลบอยู่ เห็นว่าการใช้จ่ายอาจไม่เยอะเท่าปีก่อน” โฆษก ธปท.ระบุ
อย่างไรก็ดี การบริโภคยังไม่ถึงขั้นฝืด เพราะลดลงเพียงบางจุดเท่านนั้น แต่หากดูจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแล้ว จะเห็นความระมัดระวังที่มากขึ้นในการใช้จ่าย อันเนื่องมาจากการมองภาพความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้น ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและภาคประชาชน ทำให้มีความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ
“ยังไม่เห็นว่าการใช้จ่ายฝืดถึงระดับที่จะนำไปสู่ demand ติดลบ แค่เห็นความระมัดระวังมากขึ้น” น.ส.ชญาวดี กล่าว
สรุป ในปีนี้ธุรกิจร้านอาหารยังเผชิญความท้าทายมากมาย ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว ต้นทุนเพิ่ม และกำลังซื้อลด รวมถึงการแข่งขันที่ดุเดือด ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดให้ได้