ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เห็นสภาพการเมืองไทยทั้ง “ฝ่ายรัฐบาล” และ “ฝ่ายค้าน” แล้วก็คงต้อง “ปลงอนิจจัง” เพราะทั้งสองฝ่ายล้วนแล้วแต่มี “ดีล” ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น โดยเป็นดีลที่ทำให้สถานการณ์ดำเนินไปด้วยความแปลกประหลาดและสร้างความหดหู่กับผู้ที่ได้รับรู้ข้อเท็จจริง
สำหรับฝ่ายรัฐบาล สิ่งที่ประชาชนคนไทยและชาวโลกได้เห็นก็คือ นับจากนี้ประเทศไทยจะไม่มีนายกรัฐมนตรี แต่จะมี “รักษาการนายกรัฐมนตรี” ที่ชื่อ “ภูมิธรรม เวชยชัย” ทำหน้าที่ไปพลางจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคดีคลิปการสนทนากับ “ฮุน เซน”
ขณะที่ “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” ที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ จะไปนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแทนตามแผนการที่วางไว้ล่วงหน้าด้วยยังคงต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป
อย่างไรก็ตี ต้องถือว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางการเมือง เลยแม้แต่น้อย เพราะ “ตระกูลชิน” ยังคงอยู่ในอำนาจและพรรคเพื่อไทยยังคงเป็นรัฐบาลเหมือนเดิม
แต่สิ่งที่แปลกประหลาดก็คือ นี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ “รักษาการนายกรัฐมนตรี” จะต้องคอยเงี่ยหูฟังคำสั่งจาก “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม” ในฐานะลูกน้องสายตรงบ้านจันทร์ส่องหล้า ผู้มีหน้าที่ประคับประคอง “หลานอิงค์”
และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า บรรดารัฐมนตรีจะเรียก “ท่านนายกฯ” เหมือนเดิมอีกต่างหาก
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทุกอย่างยังเหมือนเดิมจำต้องบันทึกเอาไว้ว่า เป็นเพราะ “พรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.)” ภายใต้การนำของ “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ยังคงชูรักแร้หนุนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต่อไปโดยไม่ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล กระทั่งเป็นที่ร่ำลือว่า เป็นเพราะ “ดีล” ของทั้งสองฝ่ายยังคงทำงาน
เป็นดีลที่เกิดขึ้นเมื่อครั้ง “ทักษิณ ชินวัตร” ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งอีกสถานะหนึ่งก็คือ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรครวมไทยสร้างชาติ และเป็นที่มาของการที่พรรคเพื่อไทยหันไปจับมือกับพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามในการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ
นอกจากนั้น ความพิสดารอีกประการหนึ่งก็คือ การที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้ไม่มี “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” โดยตามข่าวที่ยืนยันตรงกันคือเว้นเอาไว้เพื่อรอให้ “บิ๊กแก้ว-พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์” อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่เคยเป็น สว.และจะต้องเว้นวรรคไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเวลา 2 ปี จึงสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้
หรือต้องรออีก 3 เดือนคือหลังวันที่ 30 กันยายน 2568 จึงจะมาเป็นรัฐมนตรีได้....ซึ่งก็ถือเป็น “เคสแรก” ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลยก็ว่าได้ โดยระหว่างนี้ให้ “บิ๊กเล็ก-พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาการไปพลาง
มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเป็นไปตาม “ดีล” ที่เรียกว่า “ดีลลังกาวี” หรือไม่ เพราะการปรากฏชื่อเป็น “บิ๊กแก้ว-พลเอกเฉลิมพล” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยที่ต้องรอถึง 3 เดือนไม่มีเหตุผลอื่นที่อธิบายได้
ที่สำคัญคือ ใครที่ติดตามเรื่องดีลลังกาวีที่มีการเปิดมาก่อนหน้านี้ก็จะพบชื่อ “บิ๊กแก้ว-พลเอกเฉลิมพล” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหนึ่งในบุคคลที่ปรากฏตัวร่วมกับ “บิ๊กแดง-พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์” ที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ในห้วงเวลาที่บังเอิญอย่างร้ายกาจที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เดินทางไปที่เกาะลังกาวีในช่วงนั้นเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี “บิ๊กแดง” ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้พบกับ “ทักษิณ”และภารกิจที่ลังกาวีก็เป็นเรื่องปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ต้องยอมรับว่าการปรากฏชื่อ “บิ๊กแก้ว” ว่าคือ “ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ในรัฐบาลแพทองธารจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับดีลลังกาวี ด้วยเป็นที่รับรู้ว่า บิ๊กแก้ว” เป็นน้องรักของ “บิ๊กแดง” และได้รับการสนับสนุนให้ก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด
กระนั้นก็ดี ไม่เพียงแต่ฝ่ายรัฐบาลที่ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่อง “ดีล” ในฟากของ “พรรคฝ่ายค้าน” อย่าง “พรรคส้ม” หรือ “พรรคประชาชน”ที่ก่อตั้งโดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และวันนี้มี “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” เป็นหัวหน้าพรรค ก็มีคำถามเรื่อง “ดีล” เช่นกัน โดยเฉพาะหลังเกิดกรณีคลิปสนทนาระหว่าง “แพทองธาร ชินวัตร” กับ “ฮุนเซน” และศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคดีไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้นางสาวแพทองธารหยุดปฏิบัติหน้าที่
กล่าวคือ ขณะที่ประชาชนคนไทยจำนวนมากเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่พรรคประชาชนกลับแสดงท่าทีด้วยท่วงทำนอง ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาล
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า “ผมและพรรคประชาชนยืนยันว่าพวกเราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการนิติสงคราม ที่กำจัดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกไปโดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะการใช้ข้อหาเกี่ยวกับจริยธรรม ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของตุลาการเท่านั้น ดังนั้น อีกหนึ่งโจทย์ที่สำคัญยิ่งของรัฐบาลชุดถัดไปในการแก้ไขปัญหานี้ คือการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร ลบล้างมรดก คสช. ที่ฝังกลไกอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สร้างกลไกการตรวจสอบรัฐบาลโดยประชาชนมีส่วนร่วม”
ขณะที่เมื่อมีการเรียกร้องให้พรรคประชาชนใช้วิถีทางในระบอบประชาธิปไตยยื่น “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มีพฤติกรรมชัดว่า ฝักใฝ่และมีความสัมพันธ์อันดีกับชาติที่จ้องจะรุกล้ำอธิปไตยของประเทศ แต่พรรคประชาชนกลับปฏิเสธ โดยยืนกรานอย่างเดียวที่จะให้รัฐบาล “ยุบสภา” และปฏิเสธที่จะใช้กลไกรัฐสภาในการยื่น “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ซึ่งเป็นอำนาจที่อยู่ในมือของตัวเองและสามารถกำหนดได้
จนทำให้เกิดความสงสัยว่า หรือเป็นเพราะ “ดีลฮ่องกง” ที่ “อดีตหัวหน้าพรรคส้ม” ไปเจรจาต้าอ่วยกับ “ผู้นำคนเสื้อแดง” จึงทำให้มีเยื่อใยต่อกันเสมอมา
เป็นดีลที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ยอมรับจากปากตัวเองว่า บินไปคุยกับ “ทักษิณ” ที่ฮ่องกงจริง และว่ากันว่า บทสนทนาในวันนั้นเป็นการหารือเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันระหว่างก้าวไกล-เพื่อไทย โดยก้าวไกลยอมถอยเรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่เพื่อไทยต้องสนับสนุนเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทุกสีทุกฝ่าย ตั้งแต่ปี 2549-2566 ซึ่งหมายรวมถึงนักโทษการเมืองระหว่างปี 2562 เป็นต้นมาด้วย
“จตุพร พรหมพันธุ์” วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ถึงกับตั้งคำถามกรณีที่พรรคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการที่ประธาน สว.ยื่นเรื่องร้องเรียนไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงที่พรรคภูมิใจไทยเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ในประเด็นเรื่องความมั่นคงของชาติ แต่จนถึงตอนนี้พรรคประชาชนยังไม่เห็นชอบว่า “อยากถามว่าพรรคประชาชนเป็นฝ่ายไหนกันแน่ เพราะการที่ประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก พรรคประชาชนกลับเรียกร้องให้ประชาชนถอนตัวจากการชุมนุม จึงอยากให้ไปทบทวนให้ดี อย่าใส่ความว่าประชาชนเรียกร้องรัฐประหาร”
และไม่ใช่แค่เพียงสถานการณ์ ณ ขณะนี้เท่านั้น เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสังคมมีความเห็นตรงกันว่า “พรรคส้มเป็นฝ่ายค้านที่ค้านไม่เต็มหมัด”
เผลอๆ จะมี สส.น้อยกว่า “เกลอเก่า”ที่เคยจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันมาอย่าง “ค่ายสีน้ำเงิน-พรรคภูมิใจไทย” และ ณ เวลานี้แตกหักกันถึงขั้น “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” เสียด้วยซ้ำไป
ดังจะเห็นได้จา ผลการสำรวจความคิดเห็นที่ดำเนินการโดยสถาบันการสำรวจความคิดเห็นนิด้าโพลระหว่างวันที่ 19-25 มิถุนายน 2568 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง โดยคะแนนความนิยมของนางสาวแพทองธารในฐานะนายกรัฐมนตรีลดลงจาก 30.9% ในเดือนมีนาคมเป็น 9.2% ในขณะเดียวกัน คะแนนความนิยมของพรรคเพื่อไทยโดยรวมก็มีแนวโน้มลดลงจาก 28.1% เหลือ 11.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่สถาบันนิด้าโพลเริ่มดำเนินการสำรวจความนิยมพรรคการเมือง
ทว่า ในอีกทางหนึ่งก็สัมผัสว่า “พรรคประชาชน” ก็เล่นเกมการเมืองกับ “พรรคเพื่อไทย” เช่นกัน กล่าวคือ “เสี่ยเท้ง-ณัฐพงษ์” ให้สัมภาษณ์ว่า “คุยกันตลอด” กับ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” เพียงแต่ในรายละเอียดขอยังไม่สื่อสารในตอนนี้ เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด
ที่น่าจับตากว่านั้นก็คือ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม หลังที่ประชุม สส.พรรคประชาชนได้มีการหารือ ก็มีความเห็นว่า หลังจากนี้หากนางสาวแพธองธารต้องพ้นจากตำแหน่ง การเมืองจะไม่ถึงทางตัน เพราะรักษาการนายกรัฐมนตรีก็ยังสามารถยุบสภาได้
หรือถ้าต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่ พรรคประชาชนสามารถช่วยโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ โดยไม่ต้องไปร่วมรัฐบาล แต่ต้องมีเงื่อนไขเบื้องต้นคือ รัฐบาลใหม่ต้องเป็นรัฐบาลชั่วคราวเพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งใหม่พร้อมกับจัดทำประชามติถามประชาชนเรื่อง สสร. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เร็วที่สุด ซึ่งระหว่างนี้น่าจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์กรณีพิพาทไทย-กัมพูชาให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ แล้วยุบสภาภายในปลายปีนี้หลัง พ.ร.บ. งบประมาณผ่านสภาแล้ว
นั่นเป็นที่มาของกระแสข่าวที่แพร่สะพัดว่า “หรือส้มจะกับมือกับน้ำเงิน” เพื่อหนุนให้ “เสี่ยหนู-อนุทิน” เป็น “นายกรัฐมนตรีชั่วคราว” เพื่อทำภารกิจดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
สุดท้าย สิ่งที่สังคมตั้งคำถามก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลานานหรือไม่ จะ “ช้า” หรือ “เร็ว”เพราะต้องยอมว่า การตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างอะไรจาก “สภาวะสุญกาศทางการเมือง” ย่อมไม่เป็นผลดีกับประเทศ โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้า ทั้งปัญหาข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องประชาชนที่กำลังยืนอยู่บนปากเหวแห่งความพินาศฉิบหายชนิดที่พร้อมจะตกลงไปก้นเหวได้ทุกขณะจิต
เรื่องนี้เคยมี “กรณีตัวอย่าง” ที่เคยเกิดขึ้นและอาจสามารถเทียบเคียงได้ 2 เรื่องด้วยกัน
กรณีแรกเป็นกรณีของ “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าจากพรรคเพื่อไทยที่ถูกยื่นวินิจฉัยประเด็นคุณสมบัติ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณีแต่งตั้ง “ทนายถุงขนม-พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ แม้ศาลจะไม่สั่งให้ “เศรษฐา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังมีมติรับคำร้องเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดพิจารณาคดีเศรษฐา ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 เพียงนัดเดียวก่อนกำหนดนัดแถลงด้วยวาจาในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 โดยมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ “เศรษฐา” พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
กรณีนี้ใช้เวลาในการพิจารณาราว 3 เดือน
ส่วน “กรณีที่สอง” เป็นกรณีของ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อดีตนายรัฐมนตรีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หลังรับคำร้องในกรณีถูกยื่นตีความ การนับวาระความเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ
โดยกรณีนี้ ศาลใช้เวลารวบรวมข้อมูลทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและความเห็นจากนักกฎหมาย ก่อนที่ต่อมาในวันที่เมื่อ 30 กันยายน 2565 ศาลจะมีคำวินิจฉัยว่า วินิจฉัย“ไม่สิ้นสุด” สภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี
กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาราวเดือนเศษ
สำหรับคดีคลิปเสียงของนางสาวแพทองธาร หากพิจารณาจากข้อต่อสู้ ทางพรรคเพื่อไทยมี 2 ประเด็นคือ เห็นว่า เป็นคลิปที่ยังไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้น และเนื้อหาคลิปก็ไม่ปรากฏชัดว่า เข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรง หรือขาดความซื่อสัตย์สุจริตตามหลักเกณฑ์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะไม่มีข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ว่าประเทศสูญเสียอธิปไตย ดินแดน หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นเพียงการหารือเพื่อแก้ปัญหาชายแดนเท่านั้น
ส่วนประเด็นที่สองคือ เห็นว่า เป็นคลิปเสียงที่บันทึกโดยไม่ได้รับความยินยอม ซึ่งอาจขัดต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งยังไม่แน่ว่า ศาลจะรับฟังหรือให้ความน่าเชื่อถือกับพยานลักษณะนี้ได้หรือไม่
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจใช้เวลาไม่นานนักในการพิจารณาก่อนมีคำวินิจฉัย นานสุดก็น่าจะราวๆ 3 เดือนนับจากนี้คือจะตกอยู่ที่ในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ หรือเร็วสุดก็จะราวๆ เดือนเศษ หรืออยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้
และไม่ว่าผลจะออกมาใน “ทางดี” หรือ “ทางร้าย” ก็จะสามารถต่อจิ๊กซอว์ให้เห็นทั้ง “ดีลลังกาวี” และ “ดีลฮ่องกง” ว่าจะยังคงอยู่หรือแปรเปลี่ยนกลับกลายไปในทิศทางใดอีกครั้งอย่างแน่นอน.