xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โกกั้ง (10) โกกั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ความพยายามยึดอำนาจของ  หยังเหวินไท่  แล้วล้มเหลวจนถูกประหารชีวิตนั้น ต่อมาได้มีการเปิดเผยว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นได้บุกเข้ายึดพม่าแล้ว มีกองกำลังส่วนหนึ่งได้บุกเข้ายึดดินแดนโกกั้งด้วย ตอนนั้นโกกั้งยังอ่อนแอจึงมิอาจต่อต้านการบุกของญี่ปุ่นได้  หยังเหวินปิ่ง จึงต้องเปิดการเจรจาญี่ปุ่น

การเจรจาครั้งนั้น ญี่ปุ่นได้ยื่นเงื่อนไขโดยเรียกเอาเงิน 600,000 รูปีจากหยังเหวินปิ่งพร้อมอาวุธปืน 300 กระบอก เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นเรียกเอาจากเจ้าฟ้าแสนหวีคนอื่นๆ หากไม่ทำเช่นนั้นก็จะถูกจับกุมตัว ในเบื้องต้นหยังเหวินปิ่งยินยอมตามข้อเรียกร้องนั้นแต่โดยดี แต่ในทางลับแล้วเขากลับฝ่าวงล้อมของญี่ปุ่นหนีออกไปได้ในคืนวันหนึ่ง

หยังเหวินปิ่งหลบหนีเข้าไปในจีน แล้วทำการปลุกระดมรวบรวมสมัครพรรคพวกเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ในช่วงที่หยังเหวินปิ่งเจรจากับญี่ปุ่นนั้นกล่าวกันว่า หยังเหวินไท่ที่กำลังฝึกกองกำลังเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ที่เมืองต้าหลี่ในอวิ๋นหนันอยู่พอรู้เรื่องนี้เข้าก็ไม่พอใจ เขาจึงชักชวนนายทหารจีนสองคนกลับเข้าไปในพม่า

เมื่อเข้ามาถึงพม่าเขาก็เข้าพบกับเจ้าฟ้าแสนหวี แล้วขอให้เจ้าฟ้าแต่งตั้งนายทหารจีนสองคนนั้นให้เป็นผู้บัญชาการกองกำลังโกกั้ง ฝ่ายเจ้าฟ้าแสนหวีซึ่งไม่พอใจญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้วไม่ขัดข้อง จากนั้นนายทหารจีนทั้งสองก็ยุให้เขายึดอำนาจจากหยังเหวินปิ่ง โดยอ้างว่าหยังเหวินปิ่งสมคบกับญี่ปุ่น

หลังจากที่หยังเหวินไท่ยึดอำนาจได้สำเร็จ นายทหารจีนสองนายก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของหยังเหวินไท่ โดยตัวของหยังเหวินไท่ตั้งตนเป็นผู้นำคนใหม่ของโกกั้ง แต่เขาอยู่ในอำนาจได้เพียง 29 วันก็ถูกหยังเหวินปิ่งยึดอำนาจกลับคืนได้ดังได้กล่าวไปแล้ว

หลังจากที่หยังเหวินไท่ถูกประหารชีวิตก็ว่ากันว่า นายทหารจีนทั้งสองคนได้หนีกลับเข้าไปในจีน แต่ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใด พอเข้าไปได้ไม่นานทั้งสองก็กลับเข้ามาในพื้นที่โกกั้งอีกครั้งโดยหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า พอเวลาผ่านไปไม่นานหนึ่งก็ถูกโกกั้งพบตัวและถูกจับกุมตัวมาลงโทษในที่สุด

 กล่าวกันว่า เหตุการณ์ยึดอำนาจของหยังเหวินไท่นี้ได้สร้างความร้าวรานใจให้แก่ชาวโกกั้งอย่างมาก ด้วยเป็นเหตุการณ์ที่ได้เข้ามาทำลายความสงบสุขที่มาช้านานหลายสิบปีของชาวโกกั้ง ซ้ำยังมีจีนเข้ามาเกี่ยวพันในเหตุการณ์นี้อีกด้วย 

ส่วนหยังเหวินปิ่งนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นและตัวเขามิอาจต้านทานกองกำลังญี่ปุ่นได้ ข้างฝ่ายญี่ปุ่นพอรู้ว่าถูกเขาต่อต้านซึ่งผิดไปจากที่มีการเจรจากันก่อนหน้านี้ ก็พยายามที่จะจับกุมตัวเขา แต่หยังเหวินปิ่งไหวตัวทันโดยอาศัยอังกฤษช่วยพาเขาหลบหนีไป

ในช่วงการยึดครองพม่าของญี่ปุ่น และภายหลังจากที่หยังเหวินไท่ถูกประหารชีวิตไปแล้ว ดินแดนทางภาคเหนือของพม่าก็เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นมาหลายเส้า โดยข้างฝ่ายเจ้าฟ้าแสนหวีได้ยอมเข้าด้วยกับญี่ปุ่น และได้เก็บความแค้นที่มีต่อหยังเหวินปิ่งเมื่อคราวที่เขาไปร้องต่ออังกฤษในคดีของเขาจนชนะนั้น เจ้าฟ้าแสนหวีถือว่าตนถูกหักหน้า ทั้งที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาตนได้ให้อิสระแก่โกกั้งปกครองตนเองด้วยดี

โดยหลังคดีความครั้งนั้น เจ้าฟ้าแสนหวีได้หาทางกลั่นแกล้งโกกั้งด้วยการเรียกเกณฑ์แรงงานและเก็บภาษีเพิ่มขึ้น จนหยังเหวินปิ่งทนไม่ได้ จนถึง ค.ศ.1932 คณะผู้แทนของแสนหวีที่ไปสำรวจข้อมูลในโกกั้งถูกฆ่าตายไปสองคน และมีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ก็ยิ่งสร้างความคับแค้นใจให้แก่แสนหวีมากขึ้น ถึงแม้เหตุการณ์นี้โกกั้งจะได้ชดใช้ค่าทำขวัญให้แล้วก็ตาม

จากความคับแค้นดังกล่าว หลังจากที่แสนหวีไปเข้ากับญี่ปุ่นแล้วก็นำกองกำลังญี่ปุ่นเข้าไปยึดครองโกกั้งเป็นการแก้แค้น ในช่วงนี้เองที่หยังเหวินปิ่งได้อังกฤษช่วยพาเขาหลบหนีออกไป โดยตัวเขาได้เข้าไปหลบซ่อนตัวในพื้นที่ภายใต้อาณัติของอังกฤษด้วยความปลอดภัย

เหตุการณ์ยังมิได้สิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น เพราะหลังจากที่อังกฤษ จีน และโกกั้งตั้งหลักจากการรุกรานของญี่ปุ่นได้บ้างแล้ว การต่อต้านญี่ปุ่นก็เริ่มขึ้น โดยจีนที่ได้ส่งกองกำลังเข้ามาสร้างแนวป้องกันโกกั้งด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน โกกั้งจึงใช้สถานการณ์นี้ด้วยการชักธงชาติจีนขึ้นในพื้นที่ของตน

จนถึง ค.ศ.1944 อังกฤษซึ่งมาเห็นการปักธงชาติจีนเช่นนั้นก็ทำการประท้วงจีนที่ทำเช่นนั้น โดยยืนยันว่าโกกั้งเป็นดินแดนของอังกฤษก็ต้องชักธงชาติอังกฤษ พอจีนทราบความก็แจ้งแก่อังกฤษว่า ที่ตนชักธงของตนนั้นเป็นไปก็แต่เฉพาะในช่วงสงครามเท่านั้น และที่ทำเช่นนั้นก็เพราะโกกั้งได้อาศัยกองกำลังของตนในการต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งเท่ากับโกกั้งกำลังขึ้นต่อกองกำลังของจีน และหากจบภารกิจนี้แล้วก็จะให้กลับไปชักธงชาติอังกฤษดังเดิม

แต่อังกฤษไม่ยอมรับเหตุผลของจีนและไม่ไว้ใจจีน อังกฤษจึงส่งนายทหารยศพลตรีนายหนึ่งไปเจรจากับจีนที่แนวหน้าแล้วได้ข้อสรุปว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้มีการชักธงชาติร่วมกัน ที่สำคัญ ด้วยความไม่ไว้ใจจีน อังกฤษจึงได้เข้ามาทำการฝึกกองกำลังอาสาสมัครโกกั้งเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นไปด้วย

 กล่าวกันว่า การฝึกของอังกฤษนี้มิได้ฝึกเฉพาะด้านการทหารเท่านั้น หากยังได้อบรมความรู้ด้านการเมืองและการปกครอง อีกทั้งยังได้ส่งเครื่องบินลำเลียงอาวุธปืนพร้อมกระสุนมามอบให้โกกั้งอีกด้วย ที่อังกฤษทำเช่นนั้นมิใช่เพื่อให้ดูดีว่าตนเอื้อเฟื้อแก่โกกั้ง หากแต่ทำไปเพื่อให้เป็นหลักฐานว่า ตนได้ยืนหยัดต่อสู้กับญี่ปุ่นเพื่อที่จะนำมาเป็นข้ออ้างในภายหลังว่าพม่ายังเป็นของตนอยู่ 

อย่างไรก็ตาม หลังสงครามสิ้นสุดลงแล้ว อังกฤษซึ่งได้กลับมายึดครองพม่าอีกครั้งจึงได้ส่งตัวหยังเหวินปิ่งกลับมายังโกกั้ง การส่งตัวกลับครั้งนี้เป็นไปโดยทางเครื่องบิน เมื่อกลับมาถึงถิ่นของตนแล้ว หยังเหวินปิ่งก็ทำการฟื้นฟูการปกครองขึ้นใหม่ โดยมีนายทหารอังกฤษร่วมติดตามมาด้วยหนึ่งนายมาช่วยดำเนินการ

ส่วนกองกำลังของจีนที่อยู่ในโกกั้งก็ถอนกำลังกลับไปตามข้อตกลง

 ในช่วงนี้เองที่อังกฤษเริ่มยอมรับความอิสระของโกกั้ง โดยหลังจากที่สงครามสิ้นสุดลงแล้วนั้น อังกฤษได้ให้โกกั้งแยกตนเป็นอิสระใน ค.ศ.1947 และให้ผู้นำของโกกั้งมีคำนำหน้าตำแหน่งว่า เซาฟา (Saopha) 

 อันคำว่า เซาฟา นี้ตรงกับคำว่า เจ้าฟ้า (Chaopha, Chao Fa) ในภาษาไตของชนชาติไตที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนซึ่งก็คืออวิ๋นหนัน ความหมายของคำคำนี้ตรงกับภาษาไตในคำว่า เจ้าฟ้า ที่หมายถึง เจ้าแห่งสวรรค์ (Lord of the heavens) เพียงแต่คำว่า เซาฟา ถือเป็นภาษาของไทยใหญ่แห่งรัฐฉาน 

ถึงกระนั้นก็ควรกล่าวด้วยว่า โดยทั่วไปแล้วชาวโกกั้งมักเรียกชนชั้นนำของตนโดยมีคำว่า เซา (Sao) หรือ เจ้า นำหน้าชื่ออยู่แล้ว การใช้คำว่า เจ้าฟ้า จึงเท่ากับยกระดับตำแหน่งผู้นำให้ดูมีเกียรติและสูงขึ้นกว่าคำว่า เจ้า ในที่นี้จะขอเรียกตำแหน่งเซาฟานี้ว่า เจ้าฟ้า สืบไป

การให้โกกั้งอิสระนี้แท้จริงแล้วก็คือ หลักการแบ่งแยกแล้วปกครองที่อังกฤษถนัด มิใช่ความปรารถนาดีต่อโกกั้ง ด้วยจะทำให้พม่าปกครองโกกั้งด้วยความยากลำบากในเวลาต่อมา


กำลังโหลดความคิดเห็น