คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ในราวเดือนมีนาคม ค.ศ. 1689 ที่ประชุมสภาฐานันดรจึงได้ตรา พระราชบัญญัติ Cancelling Act (Kassationsakt/ deed of cassation/ การกระทำที่ต้องห้าม) ที่มีเนื้อหาห้ามวิพากษ์วิจารณ์และฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดมิได้ และสภาฐานันดรได้ได้มีการประกาศ the declaration of sovereign ที่มีเนื้อหายืนยันพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรงต้องรับผิดชอบต่อผู้ใด
กล่าวโดยสรุป การประชุมสภาฐานันดรในปี ค.ศ.1689 ถือเป็นความสำเร็จของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด ที่ที่ประชุมสภาฐานันดรยอมรับว่า พระองค์เป็นผู้ที่ทำให้สวีเดนอยู่ในภาวะสันติภาพมากว่าสิบปี และที่ประชุมสภาฐานันดรได้ให้คำสัญญาว่าจะยึดมั่นในการปฏิรูปของพระองค์ไปชั่วนิรันดร์ ทั้งยังตราพระราชบัญญัติประนามระเบียบการที่มีเนื้อหาจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์ ซึ่งสื่อถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ และประธานฐานันดรอภิชนก็ได้กล่าวในการปิดประชุมโดยกล่าวถึงพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของระบอบพระมหากษัตริย์สืบราชสันตติวงศ์โดยเชื่อมโยงเข้ากับลัทธิเทวสิทธิ์
ฉะนั้น การประชุมสภาฐานันดรครั้งนี้จึงเป็นการยืนยันฉันทามติของสังคมต่อระบอบการปกครองใหม่ของ Charles XI ดังที่พระองค์ได้มีพระราชหัตถเลขาถึง Lindschöld แสดงความพอพระราชหฤทัยในการประชุมสภาฐานันดรดังกล่าว
การประสภาชุมฐานันดรปี ค.ศ.1693 เป็นการประชุมฐานันดรครั้งสุดท้ายในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด สาเหตุในการเรียกประชุมคือ การสวรรคตของพระราชินี Ulrika Eleonora ในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.1693 การรวมตัวของเหล่าฐานันดรในครั้งนี้จึงเป็นการรวมตัวเพื่อร่วมพระราชพิธีและแสดงถึงความโศกเศร้าอาลัยร่วมกันของผู้คนในสังคม และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ยังเป็นการยืนยันในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์อย่างสมบูรณ์อีกด้วย
พระราชินี Ulrika Eleonora เป็นเจ้าหญิงเดนมาร์กที่อภิเษกสมรสกับพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดตามที่สถาบันพระมหากษัตริย์ของทั้งสองกำหนดขึ้น (คลุมถุงชน) กระนั้น ชีวิตคู่ของทั้งสองพระองค์ก็เป็นไปได้ด้วยดี ทั้งสองต่างมีศรัทธาต่อคริสต์ศาสนาแบบลูเธอรันและต่างมุ่งหวังความสุขในโลกหน้า
หลักฐานแสดงให้เห็นว่าพระราชินีพยายามปรับตัวเข้ากับสถานะใหม่ของพระองค์อย่างมาก ได้แก่ การที่พระองค์พยายามสร้างสายสัมพันธ์กับชาวสวีเดน พยายามเสด็จเข้าไปพบปะกับชาวสวีเดน และเป็นองค์อุปถัมภ์สงเคราะห์ด้วยเงินส่วนพระองค์ในการสนับสนุนสถานเลี้ยงดูเด็กกำพร้าในกรุงสต๊อกโฮล์ม การสร้างโรงงานทอผ้าในเมือง Karlberg ที่ทรงพำนักเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจนในพื้นที่ และสนับสนุนบุคคลสูงอายุกว่า 1,700 คน รวมถึงอภิชนตระกูลเก่าแก่อย่าง de la Gardie ที่ประสบกับการสูญเสียทรัพย์สินจากนโยบายเวนคืนอีกด้วย
มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าพระองค์เป็นที่นิยมอย่างมากในสวีเดน พระราชินีทรงโปรดที่จะใช้ชีวิตที่แตกต่างจากพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด พระองค์ทรงโปรดศิลปะ ดนตรี และการเข้าสังคม ซึ่งตรงข้ามกับพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดที่ไม่ทรงโปรดกิจกรรมฟุ่มเฟือยใด ๆ
กระนั้น อุปสรรคใหญ่ที่สุดของพระราชินีคือพระราชมารดาของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดที่นิยมตระกูล Holstein-Gottorp และรังเกียจเดนมาร์กอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ดี พระราชนินีก็ผ่อนปรนและประคับประคองชีวิตคู่ของพระองค์ได้อย่างดี ทรงตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่องถึง 8 ครั้ง และให้ประสูติพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ทรงพระชนม์ชีพหลังประสูติจำนวนสามพระองค์ การสิ้นพระชนม์ของพระองค์นำมาซึ่งความโศกเศร้าเป็นอย่างมากแก่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดตลอดพระชนม์ชีพ
เมื่อไม่ได้มีประเด็นวาระที่มีความสำคัญจำเป็น การประชุมสภาฐานันดรในปี ค.ศ.1693 จึงถือได้ว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่ที่ยืนยันถึงความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชอำนาจสมบูรณ์และเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่ดี การสนับสนุนความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าของพระองค์จากความสำเร็จต่าง ๆ ที่เริ่มปรากฎผล
คำสำคัญคำหนึ่งที่ปรากฎในการประชุมคือคำว่า “condescend/condescension” อันหมายถึงการที่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดได้ทรงเปิดเผยข้อมูลการบริหารราชการและปรึกษาหารือ นั่นคือมีความโปร่งใสต่อเหล่าฐานันดร ทั้งๆที่พระองค์ไม่ทรงมีความจำเป็นใด ๆ ในทางกฎหมายที่จะต้องกระทำการดังกล่าว
ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมสภาฐานันดรได้มีมติให้พระราชอำนาจองค์พระมหากษัตริย์สามารถเก็บเงินสนับสนับสนุนในการทำสงครามได้อย่างถาวร อันเป็นการสละสิทธิ์และอำนาจของที่ประชุมสภาฐานันดรอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเห็นได้จากกระบวนการร่างมติที่ประธานฐานันดรอภิชนให้ตั้งคณะกรรมาธิการใหม่ขึ้นมาเพื่อร่างรายละเอียดมติดังกล่าว โดยให้ “เขียนสิ่งที่อยู่ในวาระการประชุมซ้ำอีกครั้ง และให้แสดงความซาบซึ้งในพระมหาการุณาธิคุณของพระองค์” เท่านั้น
นับต่อไปนี้ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาในการเก็บเงินสนับสนุนจากเหล่าฐานันดรได้สองครั้งต่อปี และสามารถกู้ยืมเงินเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้โดยที่เหล่าฐานันดรเป็นผู้จ่ายหนี้ดังกล่าว
การประชุมสภาฐานันดรปี ค.ศ.1693 ยังได้ออกคำ ประกาศอำนาจอธิปไตย (Declaration of Sovereignty 1693) อีกด้วย ซึ่งในความเป็นจริงเป็นเพียงข้อความที่คณะกรรมาธิการลับเขียนตอบต่อวาระการประชุมลับที่ถูกนำมาบรรจุไว้ในข้อมติของที่ประชุมสภาฐานันดรเท่านั้น และยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการเยินยอสรรเสริญตามธรรมดาหรือเป็นการขยายพระราชอำนาจที่สำคัญ โดยเนื้อหาของคำประกาศระบุว่า
“พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ใดในโลกมนุษย์ แต่มีพระราชอำนาจในการปกครองและนำพาราชอาณาจักรของพระองค์ตามพระราชวินิจฉัยในฐานะพระมหากษัตริย์ที่เป็นชาวคริสต์ บนฐานของคำประกาศในปี ค.ศ.1680 และ ค.ศ.1682, กฎแห่งพระผู้เป็นเจ้า และกฎหมายระหว่างประเทศ”
ในทางหนึ่ง ความตั้งใจในการบรรจุข้อความดังกล่าวลงในข้อมติอาจถือได้ว่าเป็นการจงใจละวลีที่ว่าทรงปกครอง “ตามกฎหมายและข้อบังคับทางกฎหมาย” ออกไป ดังจะเห็นได้จากการกล่าวข้อความดังกล่าวซ้ำ ๆในการประชุม และการบังคับให้ฐานันดรอภิชนประทับตราของตนบนมติของที่ประชุมสภาฐานันดรในการสนับสนุนการตีความที่ว่าเป็นการเพิ่มขยายพระราชอำนาจโดยจงใจ
แต่ในอีกทางหนึ่ง การที่คำประกาศเป็นเพียงข้อความสั้น ๆ ในข้อมติของที่ประชุมสภาฐานันดร การที่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดไม่ได้ทรงให้ความสำคัญกับข้อความดังกล่าวในปี ค.ศ.1693 และรูปแบบการบริหารปกครองแผ่นดินที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สะท้อนว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นความพยายามในการขยายพระราชอำนาจโดยจงใจ
อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นของนักวิชาการบางคน เห็นว่า จากคำประกาศ the Declaration of Sovereignty 1693 ทำให้สภาฐานันดรไม่ได้เหลือสิทธิ์อำนาจตามกฎหมายในการจำกัดพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์อีกต่อไป
แน่นอนว่า ย่อมมีบุคคลที่ไม่พอใจในพัฒนาการทางการเมืองที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจดังกล่าวไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมือง คำตอบอีกประการซึ่งน่าจะเป็นคำตอบที่สำคัญที่สุดที่ฐานันดรอภิชนยอมเสียอำนาจของตนไป อาจเป็นเพราะ ในขณะนั้น ผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีรูปแบบการปกครองอื่นที่เป็นทางเลือกมาเสนอ
นอกเหนือไปจากระบอบคณาธิปไตยก่อนหน้านี้ที่สูญเสียความชอบธรรมและความไว้วางใจไปแล้ว
กระนั้นก็ดี มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ชัดเจนและแหลมคมที่สุด นั่นคือ ข้อเขียนของ Claes Rålamb ที่มองเห็นถึงการสูญเสียอำนาจที่เป็นหน้าที่สำคัญของที่ประชุมสภาฐานันดรและมองว่าสถาบันทางการเมืองทุกสถาบันควรต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน กระนั้น เขาไม่เคยเผยแพร่ข้อเขียนของเขาไปไกลกว่ากลุ่มคนสนิท ทั้งยังยึดถือหลักหน้าที่ในการถวายความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ จนทำให้ทางออกที่เขาเสนอเหลือเพียงการภาวนาให้พระผู้เป็นเจ้าดลใจองค์พระมหากษัตริย์ หรือหันไปโจมตีที่ปรึกษาของพระองค์เท่านั้น โดย Rålamb ได้พาดพิง Göran Persson โฆษกฐานันดรชาวนาที่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด
ขณะเดียวกัน ก็มีข้อวิจารณ์จากฝ่ายนักบวช นั่นคือ Jacob Boethius จากเทศบาลใน Mora ได้วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายนักบวชและคำเทศนาในปี ค.ศ.1693 อย่างรุนแรง เขาอภิปรายประเด็นดังกล่าวต่อนักบวชคนอื่น ๆ ซึ่งต่างพากันเห็นแย้งและแนะนำให้เขาหยุดพูด และเมื่อพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดสวรรคต Boethius ได้มีบันทึกกราบบังคมทูลถึงข้อวิจารณ์ของเขาต่อพระเจ้าชาร์ลสที่สิบสอง แต่เขากลับถูกพิพากษาในฐานกบฏและถูกลงโทษประหารในทันที แต่ได้มีการลดโทษลงเหลือการจำคุกตลอดชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีเอกสารอื่น ๆ ที่โจมตีไปที่ตัวบุคคลนั่นคือ ตัวพระมหากษัตริย์มากกว่าตัวระบอบการปกครอง ดังข้อเขียนหนึ่งที่ยืนยันถึงหลักการพื้นฐานของสวีเดนที่ให้ “พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจสูงสุด สภาบริหารมีสิทธิอำนาจ และเหล่าฐานันดรมีเสรีภาพ” โดยข้อความในเอกสารนั้นเสนอทางออกโดยการหันไปพึ่งพิงหรือมีความคาดหวังต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ (พระเจ้าชาร์ลสที่สิบสอง) เท่านั้น ไม่ได้มีการเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแต่อย่างใด
ในทางตรงข้าม ปรากฎหลักฐานที่ชี้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ดังตัวอย่างจาก “A dialogue between a foreigner and an honest Swede” ที่นำเสนอแนวคิดว่า “มีแต่พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระราชอำนาจเท่านั้นที่สามารถปกป้องคุ้มครองประชาชนคนธรรมดาจากการกดขี่ของชนชั้นนำได้ โดยเฉพาะพวกอภิชนใหม่ที่เลวร้ายที่สุด”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)