xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เบื้องหลังคำสั่งปิด “เบนซ์สตาร์แฟลก” สิ้นสภาพ “ดีลเลอร์” และ “ศูนย์บริการ” ผิดกฎการเงินหรือนโยบายราคาเดียวทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชยุส ยังพิชิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สตาร์แฟลก จำกัด
ถือเป็นอีกหนึ่ง “เรื่องร้อน” ในแวดวงรถยนต์ประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อ  “บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด”  แจ้งว่า ดีลเลอร์รายใหญ่คือ  “เบนซ์ สตาร์แฟลก ที่ดำเนินงานภายใต้การบริหารของ   “บริษัท เบนซ์ สตาร์แฟลก จำกัด”  ได้สิ้นสุดการเป็นตัวแทนจำหน่ายและศูนย์บริการเมอร์เซเดส-เบนซ์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป พร้อมระบุด้วยว่าลูกค้าสามารถใช้บริการกับตัวแทนจำหน่ายและศูนย์บริการอย่างเป็นทางการอื่นๆ จนสังคมเกิดคำถามว่า “เกิดอะไรขึ้น” กันแน่

ทั้งนี้ เบนซ์ สตาร์แฟลก เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2556 มี   “นายชยุส ยังพิชิต” เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณใกล้แยกดินแดงบนถนนวิภาวดีรังสิต ภายใต้งบประมาณการลงทุนกว่า 800 ล้านบาท

และที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นก็คือ เบนซ์ สตาร์แฟลกเป็นผู้จำหน่ายที่มียอดขายสูงสุดหลายปีติดต่อกัน ทั้งยังเป็นผู้จำหน่ายที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นแฟลกชิปสโตร์ของเมอร์เซเดส-เอเอ็มจี แห่งแรกด้วย

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ก่อนหน้านี้ทางเมอร์เซเดส-เบนซ์สั่งให้ เบนซ์ สตาร์แฟลก หยุดขายรถมาตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2568 จากนั้นเป็นการเคลียร์เรื่องการเงิน และในส่วนงานบริการหลังการขาย จนถึงวันสุดท้าย 30 มิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมประกาศให้ยุติการดำเนินงานอย่างเป็นทางการ

ส่วนต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้ “ไม่ธรรมดา” เพราะมีข้อมูลยืนยันว่า ไม่ใช่เกิดจากการ “ขาดทุน” เพราะเมื่อไปดูงบการเงินของ บริษัท สตาร์แฟลก จำกัด ตั้งแต่ปี 2563 - 2567 ก็พบว่า มีผลกำไรทุกปี โดยปี 2567 มีรายได้รวมกว่า 1,102 ล้านบาทเลยทีเดียว

คำถามมีอยู่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับเบนซ์ สตาร์แฟลกกันแน่?

ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด

ข้อมูลทางหนึ่งระบุว่า เป็นเพราะเบนซ์ สตาร์แฟลก ทำผิดกฎในการทำธุรกิจต่อบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงเป็นสาเหตุให้ต้องยุติการขายทันที ซึ่งตามขั้นตอนการสั่งปิดดีลเลอร์ขึ้นอยู่กับความผิด หากเป็นกรณีร้ายแรง ต้องหยุดการซื้อขายทันที จากนั้นจะเข้าสู่การบังคับหนี้ แล้วปลดป้าย CI ทุกอย่างของบริษัทแม่ออกจากโชว์รูม

ขณะที่ในอีกทางหนึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า เป็นผลมาจากนโยบายใหม่ของเบนซ์ประเทศไทยที่เรียกว่า  “Retail of the Future”  ซึ่งปรับระบบการขายตรงจากแบรนด์ โดย “กำหนดราคาเดียวทั่วประเทศ” ทำให้ดีลเลอร์อย่างสตาร์แฟลกที่เคยเน้นการแข่งขันด้านราคาไม่สามารถบริหารแบบเดิมได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ตัวแทนจำหน่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ในประเทศไทยทมีกว่า 33 แห่ง และศูนย์บริการรวม 41 แห่ง ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ตัวแทนจำหน่ายรายอื่นๆ จะมีโอกาสเผชิญกับสถานการณ์ในลักษณะเดียวกับ “สตาร์แฟลก” หรือไม่ เพราะในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า ยอดขายของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในประเทศไทย ไม่ค่อยดีนัก กล่าวคือในปี 2567 มียอดจดทะเบียนรวม 9,189 คัน ลดลง 30% เมื่อเทียบกับปี 2566

 “นายมาร์ทิน ชเวงค์”  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มรถ Entry Level ของตนเองยอดขายตกไปพอสมควร หลังจากคู่แข่งกระหน่ำลดราคา โดนรถราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท แย่งส่วนแบ่งการตลาดไป บวกกับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้ยอดขายลดลงต่ำกว่า 1 หมื่นคันครั้งแรกในรอบ 3 ปี

กระนั้นก็ดี ซีอีโอและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ไทย ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้มองถึงเป้าหมายที่จะทำยอดขายสูงๆ เพียงอย่างเดียว เพราะถ้าหากต้องการตัวเลขสวยๆ สามารถทำได้ง่ายๆ คือการลดราคา แต่บริษัทไม่ต้องการแบบนั้น โดยสิ่งที่สำคัญคือ การสร้างคุณค่า รักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ พร้อมขับเคลื่อนผลประกอบการทางธุรกิจในระยะยาว





โชว์รูมสตาร์แฟลก

กำลังโหลดความคิดเห็น