ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ชาไทย” หรือ “ชาเย็น” ถือเป็นเมนูเครื่องดื่มที่มีรสชาติถูกปาก คุ้นลิ้นหรือคุ้นเคยของคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน พร้อมกับ “สีส้ม” ซึ่งเสมือนเป็นเอกลักษณ์ ส่งผลทำให้ “ชาไทยสีส้ม” กลายเป็นเมนูหบักในร้านขายเครื่องดื่มแทบจะทุกร้าน รวมทั้งมีร้านที่จำหน่ายชาไทยเป็นการเฉพาะอีกเป็นจำนวนไม่น้อย
เรียกว่า เป็นอีกหนึ่งธุรกิจเครื่องดื่มที่มีผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดกันเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้น หากแต่ยังครองใจผู้บริโภคทั่วโลก โดยติดอันดับ Tops 10 เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ที่อร่อยที่สุดในโลกปี 2024 อีกด้วย
ทั้งนี้ นอกจาก “ชาไทยสีส้ม” แล้ว ขณะนี้เป็นที่น่าสังเกตและเป็นที่น่าจับตากับการปลุกกระแส “ชาไทยไม่ใส่สี” สร้างความแตกต่างเพิ่มทางเลือก สลัดภาพจำ “ชาไทยสีส้ม” ซึ่งเป็นการเติมแต่ง “สาร Sunset Yellow FCF” หรือสีผสมอาหารที่สังเคราะห์จากกระบวนการทางเคมี เพื่อเพิ่มสีสันให้เครื่องดื่มยอดฮิต ด้วยตามปกติชาไทยโดยธรรมชาติมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเบจตามธรรมชาติของชา
ที่สำคัญคือ ทำให้เกิดความสับสนว่า สีส้มในชาไทยนั้นมีความปลอดภัยต่อการบริโภคหรือไม่ อย่างไร เพราะในบางประเทศประกาศห้ามใช้หรือควบคุมการใช้สีผสมอาหารประเภทนี้ อาทิ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ หรือประเทศในโซนยุโรป เนื่องจากข้อกังวลในเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ หากมีใช้เกินกว่าปริมาณที่กำหนด
จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ชาไทยของสภาผู้บริโภคร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า “สีส้มในชาไทย” หรือ “สาร Sunset Yellow FCF” เป็นสีซึ่งมีการใช้แพร่หลายทั่วไปในระดับโลก โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ Sunset Yellow FCF ในอาหารและเครื่องดื่มได้ โดยระบุว่าชาที่ใส่สีจะถูกนับเป็นประเภทชาปรุงสำเร็จที่ปรุงแต่งสีกลิ่นรส ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ใส่สีผสมอาหารนี้ได้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สอดคล้องตามมาตรฐานสากล
สออดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งถือว่า Sunset Yellow FCF ยังปลอดภัยสำหรับการใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งต้องควบคุมการใช้และการบริโภคอย่างเหมาะสม โดยกำหนดให้ใช้ในปริมาณ 0-4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (น้ำหนักตัว) ต่อวัน
อ้างอิงบทความ Methods for the analysis of Sunset Yellow FCF (E110) in food and beverage products- a review ตีพิมพ์ในวารสาร TrAC หรือ Trends in Analytical Chemistry ระบุว่า Sunset Yellow FCF สีผสมอาหารขนาดนี้ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม อาจส่งผลให้เกิดอาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการทางพฤติกรรมที่รวมไปถึงการขาดสมาธิ และหุนหันพลันแล่น หรือแม้แต่โรคมะเร็ง และผลเสียต่อสุขภาพอื่นๆ เมื่อบริโภคมากเกินปริมาณที่กำหนดไว้และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
แปลไทยเป็นไทยก็คือ สีส้มในชาไทยบริโภคได้ มีความปลอดภัย เพียงแต่ต้องจำกัดในปริมาณที่พอดี
ดร.นุติ หุตะสิงห เชฟและนักวิทยาศาสตร์ทางอาหาร เปิดเผยหากดื่มชาไทยเกิน 2 แก้วต่อวัน จะได้รับเจ้าสารสีส้มตัวนี้มากกว่าปริมาณที่มาตรฐานสากลกำหนดไว้ ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น กระตุ้นให้เกิดอาการสมาธิสั้นในเด็ก รวมไปถึงความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหรือผลเสียต่อไต
ทั้งนี้ ในชาทั่วไปมี สาร Oxalate ปนอยู่ โดยชาดำมีปริมาณมากที่สุด รองลงมาคือชาแดงและชาเขียว ชาไทยผลิตจากชาดำ คนขายมักใส่ผงชาเยอะเพื่อความเข้มข้น ทำให้การละลายของสาร Oxalate ในน้ำเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เมื่อสารตัวนี้พบกับแคลเซียมในไต ทำให้แข็งตัวเป็นสารประกอบแคลเซียมที่มีโอกาสกลายเป็นนิ่วในไตได้ ไม่นับรวมกับน้ำตาล ไขมันจากครีมเทียม นมข้นหวานและสารปรุงแต่งที่ได้รับเพิ่มขึ้นตามปริมาณแก้วที่ดื่มในแต่ละวัน
อย่างไรก็ดี สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) สะท้อนภาคการส่งออกผลิตภัณฑ์ชาไทยที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2564 โดยมีมีมูลค่าสูงถึง 508.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119.36% นอกจากนี้ ภาคธุรกิจได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชาไทยรุกตลาดอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ LINE MAN Wongnai เปิดเผยรายงาน ปี 2567 พบว่าร้านเครื่องดื่มที่ขายชาไทย Specialty เพิ่มขึ้นกว่า 205% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สอดรับกับพฤติกรรมคนไทยที่หันมาดื่มชาไทยคุณภาพสูงมากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมามียอดสั่งดีลิเวอรี่จำนวนกว่า 4 แสนแก้ว เติบโต 81% เมื่อเทียบกับปี 2566
ทั้งนี้ แนวโน้มการเติบโตของชาไทย Specialty มีจุดเริ่มต้นในปี 2565 ที่อุตสาหกรรมชาขยายตัวในเชิงโครงสร้าง ทั้งด้านคุณภาพของใบชา ความหลากหลายของแหล่งปลูก และกำลังการผลิต ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นตลาดค้าชาใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก
ตลอดจน กระแส “ชาไทยลิซ่า” เมนู Thai up the World by Lisa ที่สร้างสรรค์โดย “ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล” ร่วมกับ Erewhon ซูเปอร์มาร์เก็ตไฮเอนด์ในสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้บริโภคกระแสหลักหันมาสนใจเมนูชาไทยพรีเมี่ยมมากขึ้
และผลิตภัณฑ์ที่น่าจับตามากที่สุด คือ “ชาไทยไม่ใส่สี” เทรนด์ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค ทั้งนี้ “ชาไทยไม่ใส่สี” ได้รับความสนใจอย่างน่าจับตา สะท้อนแนวโน้มการบริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพโดยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหันมาบริโภคเครื่องดื่มทางเลือก
ข้อมูลจาก บ.ดาต้าเซ็ต จำกัด นำเปิดเผยเสียงสะท้อนในสังคมออนไลน์ (Social Listening) ระหว่างวันที่ 16 – 23 มิถุนายน 2568 พบว่าบนโซเชียลมีเดียมีการพูดถึง (Mention) “ชาไทยไม่ใส่สี” 819 ครั้ง และได้รับการมีส่วนร่วม หรือเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) รวมกว่า 287,424 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคชื่นชอบแบบใหม่ (ไม่ใส่สี/สีธรรมชาติ) 84.9% และ ชอบแบบเดิม (สีส้ม) 15.1% เผยให้เห็นจุดแข็งของชาไทยแบบใหม่ ด้านความปลอดภัยและไม่ใส่สีเทียม ผู้บริโภคชื่นชอบรสชาติที่แท้จริงของใบชาสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
แบรนด์เครื่องดื่มทะยอยเปิดตัว “ชาไทยไม่ใส่สี” โดยเฉพาะการขยับของบิ๊กเนม “ชาตรามือ” ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดชาไทยกว่า 70% เตรียมออกโปรดักต์ “ชาไทยไม่ใส่สี” โดย นายเศรษฐกิจ เรืองฤทธิเดช กรรมการบริหาร แบรนด์ชาตรามือ เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาเนื่องมาจากข้อกังวลเรื่องสีสังเคราะห์ในชาไทย กระแสข่าวก็อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่สบายใจ นำไปสู่แผนออกผลิตภัณฑ์ชาไทยไม่ใส่สี ขณะเดียวกัน เตรียมผลิตภัณฑ์ชาไทยสีส้มแต่งสีธรรมชาติ สกัดจากเบตาแคโรทีนที่ได้จากแครอทและมะเขือเทศ สำหรับคนที่ยังต้องการสีส้มตามเอกลักษณ์เดิมของชาไทย
หรือ “คาเฟ่ อเมซอน” เปิดตัวเมนูใหม่ “ชาไทยพรีเมียม ไม่ใส่สี” โดย นายไกรพิท เปรมมณี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจไลฟ์ สไตล์ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ระบุว่าตลาดชาในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และมองหาทางเลือกใหม่ที่ดีต่อร่างกาย จึงร่วมมือกับสิงห์ปาร์ค เชียงราย พัฒนาเมนู ชาไทยพรีเมียม ที่ไม่ใส่สี แต่ยังคงเอกลักษณ์และรสชาติของชาไทยไว้อย่างครบถ้วน ด้วยการเลือกใช้วัตถุดิบชาคุณภาพพร้อมพัฒนาสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญด้านชาโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ แบรนด์อื่น ๆ อาทิ “KOI Thé Thailand” แบรนด์ชานม ที่มีเมนู Thai Tea ชาไทยไม่ใส่สี มาตั้งแต่ปี 2564 “Chongdee Teahouse” ที่จำหน่ายเมนูชาไทยแบบไม่ใส่สี ในรูปแบบของชาใต้ที่ไม่ใส่สี และไม่แต่งกลิ่นสังเคราะห์ สกัดกลิ่นด้วยระบบ Steam Distillation เป็นต้น
**สิ่งที่เกิดขึ้นจึงนับเป็นการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจไม่น้อย ด้วยปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้บริโภคจำนวนมากกำลังดื่มชาไทยสีสังเคราะห์โดยไม่รู้ตัว “ชีเสิร์ฟ ชาไทยไม่ใส่สี” นับปรากฎการณ์สะท้อนปลี่ยนแปลงของตลาดเครื่องดื่มชาไทยสีส้มอย่างน่าจับตา เพราะทุกคนมีสิทธิในการเลือกบริโภคอย่างปลอดภัย.