xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปตท. เร่งเครื่องจัดทัพธุรกิจใหม่ ทยอยโละทิ้งบริษัทย่อย ถึงคิว “IMD”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แผนการเขย่าโครงสร้างธุรกิจ รีดไขมัน เพื่อฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก ของกลุ่ม ปตท. ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น ล่าสุดถึงคิวเฉือนทิ้งบริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด (IMD) ซึ่งผลิตอุปกรณ์การแพทย์ จากก่อนหน้าที่ถอนการลงทุนในธุรกิจถ่านหิน ขนส่ง และยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งแข่งขันสูง และขาดทุน

นางสาวภัทรลดา สง่าแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด(IMD) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2568 มีมติอนุมัติให้เลิกกิจการของ IMD ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้นในสัดส่วน 40% ผ่าน บริษัทอินโนบิก (เอเซีย) จํากัด ร่วมกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ทุนจดทะเบียน 282 ล้านบาท คาดว่าจะดําเนินการจดทะเบียนเลิกกิจการแล้วเสร็จภายในปี 2568 ซึ่งการเลิกกิจการของ IMD เป็นไปตามนโยบายของ ปตท.ในการปรับโครงสร้างการดําเนินธุรกิจ

บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด จัดตั้งเมื่อปี 2564 ทำธุรกิจโรงงานผลิตผ้าไม่ถักทอ (Non-woven Fabric) เช่น ผ้าที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blown ณ เขตประกอบการอุตสาหกรรม ไออาร์พีซี จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ โดยเป็นการขยายธุรกิจในกลุ่มธุรกิจสุขภาพและการแพทย์ ของกลุ่ม ปตท.ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ หลังจากนายคงกระพัน อินทรแจ้ง เข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เขาได้ปรับโครงสร้างธุรกิจและปรับทิศทางการลงทุนของกลุ่ม ปตท. ใหม่ทั้งหมด จากก่อนหน้านี้ที่ ปตท.ให้ความสำคัญกับธุรกิจใหม่ตามเทรนด์โลก ซึ่ง ปตท.ไม่มีความเชี่ยวชาญ

การทบทวนแผนการลงทุนใหม่ นำไปสู่การทยอยเลิกกิจการ การหาพันธมิตรร่วมทุน หรือถอนการลงทุนจากธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก หรือธุรกิจที่ทำแล้วขาดทุน หรือมีแนวโน้มไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

กรณี เลิกกิจการ IMD คือรายล่าสุด ขณะที่ก่อนหน้านี้ ปตท. ได้ยุติการลงทุนธุรกิจถ่านหิน โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเม้นท์ จำกัด (PTTGM) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติอนุมัติให้ดำเนินการปิดบริษัท PTT International Holdings Limited (PTTIH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นผ่านบริษัท PTTGM ในสัดส่วนร้อยละ 100 โดยจะดำเนินการจดทะเบียนเลิกกิจการแล้วเสร็จภายในปี 2569 สอดคล้องกับนโยบายของ ปตท. ในการปรับโครงสร้างและยุติการลงทุนในธุรกิจถ่านหิน

และอีกสองเดือนถัดมา ปตท.ได้แจ้งเลิกกิจการ 2 บริษัทย่อย ตามแผนปรับโครงสร้าง คือ บริษัท ปตท กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) และ บริษัท ที-อีโคซิส โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 มีมติอนุมัติให้เลิกกิจการของบริษัท ปตท กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด (PTTGE TH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ผ่านบริษัท ปตท กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) โดยคาดว่าจะดำเนินการจดทะเบียนเลิกกิจการแล้วเสร็จภายในปี 2568

ส่วนบริษัท ที-อีโคซิส จํากัด (T-ECOSYS) ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านอุตสาหกรรม (IDP) ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. มีมติอนุมัติให้เลิกกิจการเช่นกัน โดย T-ECOSYS เป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ผ่าน บริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จํากัด (SMH)

การเลิกกิจการของ PTTGE TH ซึ่งลงทุนในธุรกิจปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และการเลิกกิจการของ T-ECOSYS สอดคล้องกับแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ และนโยบายของ ปตท. ในการเลิกบริษัทย่อยที่ไม่มีกิจกรรมทางธุรกิจแล้ว

นอกจากนั้น กลุ่ม ปตท. ยังเลิกกิจการธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร โดยเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา นายคงกระพัน อินทรแจ้ง เผยว่า กลุ่ม ปตท. ได้เลิกธุรกิจขนส่ง ตามแผนการเลิกดำเนินธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจพลังงาน

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2565 กลุ่ม ปตท. ขยายสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ โดยบริษัท สยาม แมนเนจเมนท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.มีมติตั้งบริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) โดย SMH ถือหุ้นสัดส่วน 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 230 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร ทั้งการขนส่งทางราง ทางบก ทางเรือ และทางอากาศ รวมถึงการบริหารจัดการคลังสินค้าห้องเย็น ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์

GML ยังได้ร่วมมือกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพื่อขยายตลาดสินค้าเกษตรสู่ต่างประเทศผ่านระบบราง โดยมีเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ

กลุ่ม ปตท. ยังถอยร่นจากสมรภูมิธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่แข่งขันเดือด โดยธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ที่บริษัท ปตท. มีแผนร่วมมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn Group) เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ในประเทศไทยนั้น ทาง ปตท. เจรจากับฟ็อกซ์คอนน์ ที่มีความชำนาญในธุรกิจนี้ ให้เป็นผู้ดำเนินการหลัก และเปิดทางให้ดึงพันธมิตรใหม่เข้ามาเพิ่ม พร้อมกับยุติการก่อสร้างโรงงานผลิตรถอีวีที่ตั้งอยู่ในเขตอีอีซีไปก่อน

 บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด(IMD) ที่ ปตท.เพิ่งประกาศเลิกกิจการล่าสุด
อย่างไรก็ดี ปตท.ยังคงความสนใจในธุรกิจสถานีชาร์จอีวี โดยให้อยู่ภายใต้บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ที่มีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ทั่วประเทศ 2 พันกว่าแห่ง

สำหรับธุรกิจ Life Science แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตดี และที่ผ่านมาได้สร้างกำไรให้ ปตท. แต่เป็นธุรกิจที่ ปตท.ไม่มีความชำนาญ จึงประกาศถอนตัวเช่นกัน โดย บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ที่เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัท โลตัส ไต้หวัน เพื่อขยายพอร์ตธุรกิจยาในต่างประเทศ ได้ประกาศหาพันธมิตรธุรกิจเพื่อเข้ามาถือหุ้นใหญ่และบริหารจัดการ

ขณะเดียวกัน อินโนบิก ได้ยกเลิกแผนร่วมทุนกับองค์การเภสัชกรรม เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง อีกด้วย

ส่วนบริษัท Flagship ที่ลงทุนในบริษัทย่อยแล้วขาดทุน หรือแข่งขันสูง ไม่มีอนาคต ต่างก็ถอนการลงทุนเช่นกัน ดังเช่น บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ยุติการดำเนินธุรกิจร้านไก่ทอด เท็กซัส ชิคเก้น (Texas Chicken) โดยทยอยปิดทุกสาขาเมื่อเดือนกันยายน 2567 ถือเป็นการปิดฉากการรุกธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน หรือ QSR ในกลุ่มไก่ทอดโดย OR อย่างสมบูรณ์ หลังทำตลาดในไทยมากว่า 9 ปี

ตามมาด้วย Kouen ธุรกิจอาหารรายที่ 2 ในรอบไตรมาส 3/2567 ที่ OR เลิกรา โดย OR ได้ถอนการลงทุนในบริษัท อิ่มทรัพย์โกลบอล คูซีน จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ชื่อ Kouen, Ono Sushi และร้านอาหารแบรนด์อื่น ๆ ซึ่ง OR เข้ามาลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 25% ผ่านบริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด บริษัทย่อย เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ในวงเงินไม่เกิน 192 ล้านบาท โดย OR ขายหุ้นออกไปในมูลค่า 110 ล้านบาท

ทางด้าน บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ได้ทบทวนการลงทุนใหม่เช่นกัน โดยเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา บริษัทได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ยุติดำเนินกิจการ บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด (PTTAC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้าที่บริษัทถือหุ้นร้อยละ 50 โดยเริ่มหยุดการขายและส่งมอบผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้า ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 คาดกระบวนการจะแล้วเสร็จภายในปี 2571 เป็นการปลดโซ่ตรวนหลังจาก PTTGC ตั้งด้อยค่าสินทรัพย์จาก PTTAC สูงถึง 8,937 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2567 รวมถึงการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ใน Vencorex ซึ่งทำให้ PTTGC ขาดทุนอย่างหนัก

พีทีที อาซาฮี ก่อตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 โดยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กับบริษัท อาซาฮี คาเซอิเคมิคอลส์ คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น แต่ละฝ่ายถือหุ้น 50%-50% เพื่อเติมเต็มห่วงโซ่ธุรกิจปิโตรเคมีของกลุ่มปตท.ให้ครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่เมื่อสถานการณ์ธุรกิจปิโตรเคมีเปลี่ยนไป มีการแข่งขันสูง อาซาฮี คาเซอิเคมิคอลส์ฯ ได้ถอนการลงทุนไปก่อนหน้า และตามมาด้วย ปตท. เป็นการปิดฉาก พีทีที อาซาฮี อย่างสมบูรณ์

การจัดทัพใหม่โดยลด ละ เลิกกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักออกไป ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้หันมามุ่งเน้นธุรกิจ Hydrocarbon ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของปตท.ที่สร้างรายได้และกำไรมาตลอด ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สำหรับการปรับทิศทางกลยุทธ์ธุรกิจด้วยการยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจที่มีอยู่เดิม อาทิ กลุ่มธุรกิจ Hydrocarbon and Power ประกอบด้วย ธุรกิจสำรวจและผลิต (E&P) ภายใต้การบริหารงานของบริษัทลูก คือ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) จะเน้นขยายแหล่งสำรวจและผลิตทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนธุรกิจก๊าซฯ จะเสริมแกร่งด้วยการแสวงหา Alternative Source โดยขยายการลงทุนตลอด LNG Value Chain ส่วนธุรกิจไฟฟ้า จะมุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้าให้กลุ่ม ปตท. และแสวงหาโอกาสเติบโตและทำกำไรในต่างประเทศ เช่น การลงทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในอินเดีย และอื่น ๆ

กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ที่ ปตท. ถือหุ้นในบริษัทลูก ทั้ง บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บมจ.ไทยออยล์ (TOP)และบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ที่เผชิญปัญหาวัฏจักรราคาปิโตรเคมีตกต่ำจากกำลังการผลิตจีนล้นตลาดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปตท.ต้องแบกรับภาระการขาดทุน เวลานี้ ปตท. กำลังมองหาพันธมิตรธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ หรือมีวัตถุดิบและตลาด เพื่อช่วยหนุนให้ธุรกิจกลุ่มนี้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

ธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก มี บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เป็นหัวหอก เมื่อปี 2567 OR มีมาร์เก็ตแชร์ค้าปลีกน้ำมัน 35% ปรับลดลงลงจากปี 2566 ที่ครองส่วนแบ่ง 38-39% ปีนี้ OR จึงวางเป้ายอดขายเท่ากับปี 2566 ซึ่งไตรมาสแรกของปี 2568 ยอดขายน้ำมันเติบโตขึ้นตามการท่องเที่ยว

นอกจากนั้น ปตท.ยังหาทางสร้างการเติบโตและโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไฮโดรเจน และโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) โดยมี PTTEP เป็นหัวหอกในการลงทุน

การจัดทัพธุรกิจใหม่ ทำให้ ปตท. มั่นใจว่าปี 2568 จะมีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 3,090,453 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 90,072 ล้านบาท

สำหรับงบลงทุน 5 ปีของปตท. (2568-2572) วงเงินรวม 54,463 ล้านบาท ลดลง 34,740 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบลงทุน 5 ปี (2567-2571) ที่ตั้งไว้ประมาณ 89,203 ล้านบาท โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่ลดลง จากโครงการ GSP ท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง และโครงการมาบตาพุด เฟส 3 ที่มีการทยอยเบิกจ่ายในปี 2567 ทำให้งบลงทุนเหลือน้อยลง เนื่องจากโครงการใกล้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์

ส่วนธุรกิจ Non-Hydrocarbon ลดลงมาจากโครงการผลิต EV ที่มีการทบทวนหาพาร์ทเนอร์ใหม่มาร่วมกับ Foxconn โดยปตท.อาจไม่มีการลงทุนเพิ่มอีก

ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 1/2568 ปตท.มีรายได้จากการขาย 700,223 ล้านบาท ลดลง 10.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีรายได้ลดลง ทำให้ปตท.มีกำไรสุทธิรวม 23,315 ล้านบาท ลดลง 19.5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 28,967.50 ล้านบาท

แต่หากเปรียบเทียบไตรมาส 1/2568 กับไตรมาส 4/2567 ปตท.มีรายได้จากการขายลดลงเพียง 3.3% จากไตรมาสก่อน แต่มี EBITDA เพิ่มขึ้น 236 ล้านบาท หรือ 0.3 % มาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่มีผลดำเนินงานดีขึ้น ทำให้ไตรมาส 1/2568 ปตท. มีกำไรสุทธิ 23,315 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,004 ล้านบาท โตขึ้น 150.40% จากไตรมาสก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 9,311 ล้านบาท

ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก แม้แต่กลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท. ยังต้องเร่งปรับกระบวนทัพใหม่ กำจัดจุดอ่อนทิ้ง เสริมแกร่งธุรกิจหลัก เพื่อหาทางรอดพ้นวิกฤต


กำลังโหลดความคิดเห็น