คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” และเค้าโครงของประวัติศาสตร์ของกฎหมายในฐานะที่เป็นกรอบกติกาการปกครองหรือ “รัฐธรรมนูญ” รวมทั้งโครงสร้างทางสังคมของสวีเดนก่อนการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วง ค.ศ. 1680 ไปบางส่วน รวมทั้งคำอธิบายการกำเนิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน ค.ศ. 1680 ไปแล้ว ในตอนนี้จะขอกล่าวถึงการบูรณาการและการสร้างความแข็งแกร่งมั่นคงต่อระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด
เมื่อที่ประชุมฐานันดรปี ค.ศ.1683 ปิดสมัยลง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของสวีเดนก็ได้ลงหลักปักฐานในทางกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าคนร่วมสมัยไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าทิศทางพัฒนาการทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแนวทางที่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดยึดถือ หรือเป็นเพียงการปรับตัวต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่หลักฐานและสัญญาณต่าง ๆ ก็ล้วนชี้ว่า พระองค์มุ่งสถาปนาพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจอันไม่ถูกจำกัดในฐานะผู้ปกครองเทวสิทธิ์ (the unrestricted authority of the divinely appointed ruler) และในช่วงทศวรรษ ค.ศ.1680 นั้น เป็นช่วงเวลาที่ พระองค์ทรงยืนยันแนวการปกครองรูปแบบใหม่ของพระองค์
ลำดับแรก พระองค์ได้ยืนยันที่จะเป็นผู้ปกครองที่บริหารราชการด้วยพระองค์เอง ตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญที่สุดได้สิ้นสุดลงหลังการเสียชีวิตของ Gyllenstierna แต่ละกระทรวงมีรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการบริหารงานในขอบเขตของตน มีการประสานระหว่างรัฐมนตรีเพียงเล็กน้อยผ่านคณะกรรมาธิการพิเศษหรือในฐานะองค์ประชุมสภาบริหารภายใต้พระองค์เท่านั้น พระเจ้าชาร์ลสที่สิบจึงทรงกำหนดและควบคุมทิศทางการบริหารราชการในภาพรวมด้วยตัวพระองค์เอง โดยมีคนสนิทที่ได้รับความไว้วางพระทัยดำรงตำแหน่งในขอบเขตที่แตกต่างกันไปและคอยทูลฯ ถวายคำแนะนำแก่พระองค์
บุคคลที่ว่านี้ได้แก่ Bengst Oxenstierna ดูแลการต่างประเทศ, Hans Wachtmeister ดูแลกองทัพเรือ, Claes Fleming ดูแลการเงินและงบประมาณ และ E. Lindschöld ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ (Secretary of State) ในกระทรวงต่างประเทศ (Chancery) เป็นต้น ทั้งนี้ บุคคลทั้งหมดที่เอ่ยชื่อมาต่างเป็นมีส่วนร่วมในการบริหารราชการในช่วงสงครามมาก่อน และ Lindschöld เป็นอภิชนใหม่ที่มีบทบาทสำคัญการผลักดันวาระแทนพระองค์ และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอาจารย์ของมกุฎราชกุมาร นั่นคือ พระเจ้าชาร์ลสที่สิบสองในเวลาต่อมา
ลำดับที่สอง กระบวนการร่างและตรากฎหมายสงฆ์ (Church Law) ปี ค.ศ.1686 ที่แสดงให้เห็นถึงแนวการปกครองของพระองค์อย่างชัดเจน นั่นคือ “พระองค์ทรงมุ่งแก้ปัญหาที่ค้างคามาด้วยการยืนยันในพระราชอำนาจอันไม่จำกัดอย่างแข็งขัน” โดยใช้พระราชอำนาจในการปฏิรูปหรือออกกฎที่เป็นมาตรฐานเดียวสำหรับพสกนิกรทั่วราชอาณาจักร
ในกรณีกฎหมาย นักบวชสวีเดนไม่เคยแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ภายหลังการรับคริสต์ศาสนานิกายลูเธอรันเป็นศาสนาแห่งราชอาณาจักรตั้งแต่ปี ค.ศ.1593 ด้วยเหตุผลของความเป็นอนุรักษ์นิยมที่กลัวความเปลี่ยนแปลงของสังคมสวีเดน เมื่อทรงเห็นวาระการปรับแก้กฎหมายสงฆ์อยู่ในวาระของที่ประชุมฐานันดรนักบวชในปี ค.ศ.1682 ดังที่เป็นมาโดยตลอด จึงมีรับสั่งให้ฐานันดรนักบวชเสนอร่างกฎหมายให้แก่ที่ประชุมฐานันดรทั้งสี่
ร่างกฎหมายนักบวชเดิมของฐานันดรนักบวชนั้นตั้งอยู่บนหลักการสองอาณาจักร (Two Kingdoms) ในแบบลูเธอรัน ที่แบ่งแยกอาณาจักรทางโลกและอาณาจักรทางธรรมออกจากกัน อันมีนัยสืบเนื่องว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจในการควบคุมจัดการอาณาจักรทางธรรม ซึ่งพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดและที่ปรึกษาของพระองค์ไม่อาจรับการจำกัดพระราชอำนาจเช่นนี้ได้
แต่ฐานันดรนักบวชได้อ้างสิทธิอำนาจในการกำหนดกิจการทางธรรมด้วย หลักการ Consistorium Regni คือหลักการที่ศาสนจักรมีอำนาจสูงสุดในกิจการทางศาสนาและของตนเอง นั่นคือ คณะกรรมการศาสนาจักรมีสิทธิ์ที่จะออกกฎหมายใดๆทั้งหมดของศาสนจักรและมีอำนาจในการพิพากาษาตัดสินเรื่องราวภายในศาสนจักรเอง
แต่คณะกรรมาธิการกฎหมายนักบวชที่ครองตำแหน่งทางสงฆ์ได้คัดค้านว่า อำนาจทั้งปวงต้องมาจากองค์พระมหากษัตริย์ นั่นคือ หลักการ ex concessione et commisione regis หรือคณะกรรมาธิการที่ได้รับการแต่งตั้งและมีอำนาจที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานให้ นั่นคือ คณะกรรมาธิการศาสนาที่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงเห็นชอบ และให้มีการแก้ไขร่างดังกล่าวโดยตัด หลักการ consistorium regni ทิ้งไปและกำหนดให้พระองค์มีพระราชอำนาจเต็มในกิจการเกี่ยวกับ “ศาสนากิจต่อพระผู้เป็นเจ้า พระวัจนะและพิธีสงฆ์”
โดยการอภิปรายในสภาบริหารที่อยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์ได้กล่าวถึงการจำกัดอำนาจนักบวชในการลงโทษทางวินัย ซึ่ง Lindschöld ก็ได้ปรับแก้ร่างดังกล่าวเพื่อยืนยันพระราชอำนาจในทางวินัยของนักบวชและยืนยันหลักการที่ว่าสิทธิอำนาจทั้งปวงย่อมมาจากองค์พระมหากษัตริย์
แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านภายในฐานันดรนักบวชก็ตาม โดยเฉพาะด้วยเหตุผลที่ว่าร่างกฎหมายใหม่นั้นไม่มีการเผยแพร่ในที่ประชุมสภาฐานันดร จึงไม่อาจลงคะแนนเสียงเพื่อตรากฎหมายออกมาได้ แต่สังฆราชาได้ปัดเสียงคัดค้านดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดได้มีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ต่อมา ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1686 พระองค์มีพระราชหัตถเลขาเผยแพร่แก่เหล่าบิชอปเพื่อกำจัดการอ้างถึง หลักการ consistorium regni ในหมู่นักบวช และในปี ค.ศ.1687 พระองค์ทรงให้มีการตีพิมพ์กฎหมายสงฆ์ฉบับใหม่พร้อมกับมีมติว่าด้วยการดำเนินการทางกฎหมายในคดีทางศาสนาเผยแพร่ทั่วราชอาณาจักร
ลำดับที่สาม กระบวนการแก้ปัญหาหนี้สินและการหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมในที่ประชุมสภาฐานันดรในปี ค.ศ.1686 ทั้งนี้ การเรียกประชุมสภาฐานันดรปี ค.ศ.1686 มีสาเหตุหลักมาจากการประเมินหนี้สินของสวีเดนครั้งใหม่ ซึ่งพบว่าสวีเดนมีหนี้สาธารณะมากกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 12 ล้านเหรียญ (dsm) และความต้องการเงินเพื่อเตรียมการปฏิบัติการทางทหารเข้าโจมตีเดนมาร์กในจังหวะที่ Brandenburg และ Lüneburg กำลังเตรียมโจมตีเดนมาร์กการประชุมสภาฐานันดรในปี ค.ศ.1686 สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่น่าสนใจ นั่นคือ ความเปลี่ยนแปลงของฐานันดรอภิชนในเชิงโครงสร้าง ภายหลังเหตุการณ์ในปี ค.ศ.1680-1682 อภิชนเก่าจำนวนหนึ่งเสียชีวิตลงหรือยุติบทบาททางการเมือง ขณะที่ พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดได้ทรงแต่งตั้งอภิชนใหม่เป็นจำนวนมาก ซึ่งอภิชนใหม่เหล่านี้ได้เข้ามามีบทบาทและดำรงตำแหน่งสำคัญ อย่างเช่น Lindschöld ที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาฐานันดรอภิชน หรือ Jakob Gyllenborg ที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาด้านการคลัง
ในขณะเดียวกัน พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดได้ทรงโอนอำนาจหน้าที่และการพิจารณาเนื้อหาของมติของสภาฐานันดรมายังคณะกรรมาธิการลับ อันหมายถึงการกีดกันฐานันดรชาวนาออกจากกระบวนการทางการเมือง และเพิ่มสัดส่วนจำนวนอภิชนในคณะกรรมาธิการลับให้มากยิ่งขึ้น อันสะท้อนว่าฐานันดรอภิชน(โฉมใหม่)ได้เข้ามาเป็นฐานันดรหลักของสวีเดนท่ามกลางฐานันดรอื่นๆ
ในอีกมุมหนึ่ง เนื้อหาและถ้อยคำของวาระการประชุมทั้งของที่ประชุมสภาฐานันดรและของคณะกรรมาธิการลับแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของการพยายามสร้างฉันทามติและความมีส่วนร่วมของทุกฐานันดร และถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์จะเป็นศูนย์กลางของการปกครอง แต่พระองค์ก็ทรงตระหนักและสนับสนุนให้พสกนิกรของพระองค์มีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ ดังการเปิดเผยตัวเลขและข้อมูลราชการแผ่นดิน ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าประเด็นวาระของพระองค์มีความสำคัญแล้ว ยังสะท้อนว่าพระองค์ทรงมีความใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย
ขณะเดียวกัน ได้มีการพิจารณาหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมในการแก้ปัญหาหนี้และในการสนับสนุนกิจการของราชอาณาจักรในปี ค.ศ.1686 อันสะท้อนให้เห็นถึงพระราชอำนาจของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดในการผลักดันวาระของพระองค์ แม้จะเป็นประเด็นที่มีประเด็นปัญหาในทางกฎหมายและในทางการเมืองก็ตาม
ในตอนต่อไป จะได้กล่าวถึงข้อถกเถียงและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับแนวนโยบายของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด