เมื่อกระแสลมเปลี่ยนทิศจากประเทศทางตอนใต้ของแคนาดา โดยจักรพรรดิทรัมป์ผู้ครองอำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งทำเนียบขาว (ฝ่ายบริหาร), สภาทั้งสอง (ฝ่ายนิติบัญญัติ) และรวมทั้งศาลสูงสุด (ฝ่ายตุลาการ) ได้ออกวาจาสิทธิ์ต้องการครอบครองประเทศแคนาดาให้มาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ โดยยกเหตุผลว่าภาษีเงินได้ของสหรัฐฯ ต่ำกว่าของแคนาดา น่าจะทำให้ชาวแคนาดาตาลุกวาวโดยเฉพาะเหล่าเศรษฐีแคนาดา รวมทั้งด้านความมั่นคงที่สหรัฐฯ มีกองทัพอันเกรียงไกรที่สุดในโลก ที่จะสามารถพิทักษ์แคนาดาให้ปลอดภัยยิ่ง
แต่เหตุผลที่จักรพรรดิทรัมป์ไม่ได้บอกกับแคนาดาก็คือ การที่หิมะในขั้วโลกเหนือกำลังละลายในอัตราที่รวดเร็ว, จนทำให้ภูเขาน้ำแข็งได้หลอมละลาย-เปิดเป็นน่านน้ำและทะเลอันกว้างใหญ่ ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการเข้ายึดครองน่านน้ำใหม่นี้ เพื่อขยายเขี้ยวเล็บไม่ยอมให้ประเทศที่มีพละกำลังคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือรัสเซียได้เข้ามาขยายอิทธิพลในบริเวณขั้วโลกเหนือนี้ในอนาคตอันใกล้ (ขณะนี้ ทั้งจีนและรัสเซียได้เริ่มซ้อมรบร่วมในบริเวณนี้อยู่เป็นระยะๆ)
ทรัมป์ได้ประกาศกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดา (หลังเข้ารับตำแหน่งที่ทำเนียบขาวได้เพียงเดือนเดียว) คืออะลูมิเนียมและเหล็ก (อัตรา 25% จากเดิมอยู่ที่ 0%) และรถยนต์กับอุปกรณ์อีก 25% รวมทั้งกล่าวหาว่าแคนาดาเป็นตัวร้ายที่เปิดพรมแดนให้เหล่าอาชญากรและพ่อค้ายาเสพติดแอบหลบเดินทางเข้าสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมาย รวมทั้งการมีส่วนทำให้สาร Fentanyl ได้ถูกลักลอบนำเข้าสหรัฐฯ...โดยกดดันให้แคนาดามาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ ก็จะได้ไม่มีกำแพงภาษีเหล่านี้ และสหรัฐฯ จะได้จัดการได้อย่างเด็ดขาด เรื่องผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายที่มาจากแคนาดาและสารเสพติดด้วย
ปรากฏว่า นายมาร์ค คาร์นีย์ ซึ่งมาเป็นหัวหน้าพรรครัฐบาลแทนนายกฯ จัสติน ทรูโด ได้ตอบโต้ทรัมป์อย่างแข็งกร้าว โดยประกาศขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้าสหรัฐฯ ทันที รวมทั้งการปลุกระดมชาวแคนาดาให้พร้อมใจกันสู้กับความอหังการของทรัมป์ที่คิดการใหญ่จะละเมิดอธิปไตยของแคนาดา...ทั้งๆ ที่แคนาดาคือมหามิตรกับสหรัฐฯ มาเป็นเวลาช้านาน และร่วมอยู่ในทั้ง จี 7, นาโต และข้อตกลงการค้าเสรี NAFTA ต่อมาเป็น USMGA
นายกฯ คาร์นีย์ตัดสินใจยุบสภา เพื่อให้ชาวแคนาดาลงมติให้อำนาจแก่เขาอย่างท่วมท้น เพื่อจะได้สู้กับสหรัฐฯ เต็มที่
ผลการเลือกตั้งก็พลิกล็อก ที่ฝ่ายค้าน (ผู้นำมีนโยบายแบบทรัมป์) ก็พ่ายแพ้ขนาดตัวเองสอบตก และทำให้นายกฯ คาร์นีย์ได้อาณัติจากแคนาดาเต็มไม้เต็มมือนายกฯ คาร์นีย์ ได้ทูลเชิญกษัตริย์ชาร์ลส์แห่งสหราชอาณาจักร มาเป็นองค์ประธานเปิดสภาของแคนาดา เพื่อส่งสัญญาณให้ทรัมป์ได้รับรู้ว่า แคนาดามีพันธมิตรข้างหลังคืออังกฤษและเครือจักรภพอีก 50 ประเทศ
กษัตริย์ชาร์ลส์เป็นกษัตริย์อังกฤษที่ไม่ได้มาเปิดสภามาถึง 50 ปีแล้ว-โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เคยเสด็จมาครั้งแรกเมื่อปี 1957 และครั้งที่ 2 เมื่อ 1977 เพราะจะมี Governor General ทำหน้าที่ต่างพระกรรณของกษัตริย์อังกฤษ ทำหน้าที่เปิดสภาในพระปรมาภิไธยแทน แต่ครั้งนี้ต้องเสด็จมาเองเพื่อแสดงพลังสนับสนุนเอกราชของแคนาดา
ซึ่งพระราชดำรัสเปิดสภา (ร่างขึ้นโดยรัฐบาลแคนาดา) ทรงยกเอาวลีกินใจในเพลงชาติของแคนาดาที่ว่า แคนาดาเป็นดินแดนแห่งความเข้มแข็งและอธิปไตยเสรี (Strong and Free)-เพื่อส่งสัญญาณไปยังทรัมป์ว่า แคนาดาเป็นประเทศอธิปไตยสมบูรณ์ และจะไม่ขายให้แก่ใคร (หมายถึงทรัมป์)
พระราชดำรัสยังทรงกล่าวถึงจะมีกฎเกณฑ์เข้มงวดยิ่งขึ้นต่อการตรวจตราสาร Fentanyl ทั้งเข้าและออกจากแคนาดา รวมทั้งการปฏิรูปมากมายที่กำลังรออยู่ ทั้งในด้านที่อยู่อาศัยที่จะสร้างอีก 5 แสนยูนิตใน 4 ปีข้างหน้า; การตั้งกองทุนเพิ่มให้ชาวเผ่าอินเดียนแดงต่างๆ (เจ้าของแผ่นดินตัวจริง) ได้เข้าถึงเงินและโครงการต่างๆ และการจัดการอย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้นต่อการลักรถยนต์, ขโมยบุกเข้าบ้าน, อาชญากรรมต่างๆ เป็นต้น
อีกซีกโลกหนึ่งคือ การเดินทางของอดีตเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเยือนเวียดนาม ซึ่งปธน.มาครงได้ฉวยโอกาสทองที่เวียดนามกำลังถูกกำแพงภาษีนำเข้าสหรัฐฯ สูงถึง 46% โดยมาเยือนเพื่อยกระดับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น-ซึ่งปธน.มาครงได้ประกาศว่า ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ และเชื่อมั่นในเรื่องการเจรจา (Dialogue) และความร่วมมือ... “ในขณะที่บางประเทศเลือกที่จะถอยห่าง (ต่างคนต่างอยู่...ก็คือ America First หรือ America Alone)…สำหรับฝรั่งเศสแล้ว เราเลือกที่จะสร้างสะพาน!!!” และ “ทุกหนทุกแห่งที่ผม (Macron) เดินทางไป หมายถึง trip นี้ ผมจะยืนยันอย่างเดียวว่า ฝรั่งเศสคือประเทศแห่งสันติภาพและความสมดุล”
ที่เขามาเยือนประเทศสำคัญ 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ เวียดนาม, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์) ซึ่งปธน.ฝรั่งเศสก็ได้ห่างเหินภูมิภาคนี้ไปเสียนาน โดยครั้งสุดท้ายที่ปธน.ฝรั่งเศสมาเยือนเวียดนามก็คือ 10 ปีที่แล้ว
ฝรั่งเศสกำลังทำตัวเป็นเส้นทางสายที่ 3 ที่ประเทศเหล่านี้จะหวังติดต่อใกล้ชิด หลังจากถูกสองมหาอำนาจคือ สหรัฐฯ และจีนต่างกดดันให้ประเทศเหล่านี้ต้องเลือกข้าง
ขณะที่เวียดนามได้ดุลการค้ากว่าแสนล้านดอลลาร์กับสหรัฐฯ และกำลังถูกกดดันจากทรัมป์อย่างหนัก ทั้งสินค้าจีนที่สวมสิทธิว่าผลิตที่เวียดนามเพื่อนำเข้าสหรัฐฯ รวมทั้ง non-tariff barriersมากมายถึงกับผู้นำเวียดนามจะลดภาษีนำเข้าจากรถยนต์จากสหรัฐฯ ลงมาเกือบเป็น 0% และต้องเปิดตลาดเพื่อนำเข้าผลไม้จากสหรัฐฯ รวมทั้ง LNG ฯลฯ
ขณะที่เวียดนามจะต้องซื้อเครื่องบินโบอิ้งเป็นจำนวนถึง 200 ลำให้แก่เวียตเจ็ทและสายการบินแห่งชาติ แต่ฝรั่งเศสก็ต้องรีบแจ้นมาเวียดนามเพื่อให้เวียดนามยังคงซื้อเครื่องบินแอร์บัส (อย่างน้อย 20 ลำ) ดังที่ได้แสดงเจตนารมณ์เอาไว้ก่อนที่จักรพรรดิทรัมป์จะเข้ามาเป็นลมเปลี่ยนทิศ
ปธน.มาครงยังได้ลงนามในข้อตกลงร่วมมืออีกหลายด้าน ทั้งเรื่องอาวุธ, เทคโนโลยีนิวเคลียร์, การสร้างทางรถไฟ และสาธารณูปโภคอีกมากมาย-โดยมาครงย้ำว่า ฝรั่งเศสเป็นมิตรที่ไว้ใจได้-ไม่กลับไปกลับมา (เหมือนบางประเทศ!!!) วางใจได้ในคำพูดนั่นเอง
บางทีศัตรูก็กลายมาเป็นมิตรได้เมื่อลมเปลี่ยนทิศ...ขนาดเคยขับเคี่ยวสู้รบกันมาระหว่างประเทศเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกับเวียดนาม หรือที่แคนาดาที่ร่ำๆ จะออกจากเครือจักรภพโดยไม่ให้กษัตริย์อังกฤษเป็น Head of State (กรณีแคว้น Quebec ที่ประชาชนพูดฝรั่งเศสต้องการออกจากเครือจักรภพ) ก็กลับมาแน่นแฟ้นกับลอนดอนในครั้งนี้ ก็เพราะจักรพรรดิทรัมป์นั่นเอง