xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ใกล้จบ “เรือดำน้ำเครื่องยนต์จีน” “บิ๊กอ้วน” แบะท่า “กำขี้ดีกว่ากำตด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบกับนายบอริส ปิสโตเรียส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อหาบทสรุปเกี่ยวกับเครื่องยนต์ที่จะติดตั้งในเรือดำน้ำที่ซื้อจากจีน
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณี โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26 T ระหว่าง  กองทัพเรือไทย กับบริษัทผู้ผลิตจีน China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd. (CSOC)  ซึ่งประสบภาวะชะงักงันจากการไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ MTU 396 จากเยอรมนีได้ จนกลายเป็นเรื่องคาราคาซังกันมาหลายปี ถึงเวลาที่ “บิ๊กอ้วน” ผู้ที่บอกว่าตนเองไม่ได้เป็นคนเซ็นสัญญา แต่ต้องมาแก้ไขปัญหาให้จบ โดยขีดเส้นไม่เกินเดือนมิถุนายน 2568 นี้ จะมีคำตอบออกมาชัดเจนแน่นอน

กล่าวสำหรับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ถือเป็นโครงการในฝันของกองทัพเรือมากว่าครึ่งศตวรรษ หลังจากปลดประจำการเรือดำน้ำ ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้ง 4 ลำแรกของไทย นั่นคือ ร.ล.มัจฉาณุ, ร.ล.วิรุณ, ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล ในปี พ.ศ.2494

ความไฝ่ฝันดังกล่าว บรรลุผลเมื่อคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาส เอส 26 ที (Yuan Class S26T) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกองทัพเรือของไทยลงนามในสัญญากับ CSOC รัฐวิสาหกิจของจีน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 พร้อมทั้งกำหนดให้ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล MTU 396 รุ่น 16V SE84 ที่ผลิตจาก   “บริษัท มอเตอร์ แอนด์ เทอร์ไบน์ ยูเนียน (MTU) ของประเทศเยอรมนี”  ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติด้านความเงียบ ความเสถียร และความสามารถในการหลีกเลี่ยงการตรวจจับ ก็มีอันต้องเผชิญวิบากกรรมการจัดหาเครื่องยนต์เรื่อยมาจนถึงบัดนี้ จากกำหนดส่งมอบ ปี 2566

กล่าวคือเยอรมนี ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) และพันธมิตรนาโต ยืนยันว่าไม่สามารถออกใบอนุญาตส่งออกเครื่องยนต์ดังกล่าวไปยังจีนได้ เนื่องจากติดข้อจำกัดจากคว่ำบาตร EU arms embargo ที่มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่เหตุการณ์เทียนอันเหมิน ในปี 1989 ซึ่งห้ามการส่งออกยุทโธปกรณ์ไปยังจีน แม้เครื่องยนต์ MTU จะถูกจัดอยู่ในหมวด “dual-use” หรือสินค้าใช้ได้ทั้งพลเรือนและทหาร แต่ในบริบทที่จีนนำไปติดตั้งในเรือรบเพื่อขายต่อให้กับประเทศที่สาม (เช่น ไทย) ทำให้เยอรมนี ตีความว่าเข้าข่ายละเมิดเจตนารมณ์ของการคว่ำบาตร

หลังจากที่เยอรมนีปฏิเสธคำร้องขอส่งออกเครื่องยนต์ MTU 396 อย่างเป็นทางการในช่วงปี 2563-2564 บริษัท CSOC ของจีน ได้เข้าสู่การเจรจากับกองทัพเรือไทยเพื่อหาทางออกใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการเจรจาที่ยืดเยื้อและซับซ้อน โดยมีการเสนอแนวทางที่หลากหลาย โดยเฉพาะการเสนอให้ไทยยอมรับการเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นรุ่น CHD 620 ที่จีนผลิตเอง

ฝ่ายจีน ยืนยันว่า สามารถปรับแต่งให้เครื่องยนต์รุ่น CHD 620 มีสมรรถนะใกล้เคียงกับ MTU พร้อมเสนอแพคเกจชดเชย มูลค่ารวม 200 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเครื่องฝึก simulator มูลค่า 125 ล้านบาท และหลักสูตรฝึกอบรมลูกเรือรวม 75 ล้านบาท ทั้งยังขยายการรับประกันจากเดิม 2 ปี เป็น 8 ปี
กองทัพเรือไทย ได้จัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญไปทดสอบสมรรถนะของ CHD 620 ในห้องปฏิบัติการประเทศจีน โดยประเมินด้านกำลังขับ เสียงรบกวน ความร้อน และการสั่นสะเทือน ผลทดสอบบางส่วนใกล้เคียงเกณฑ์ที่กำหนด แต่ยังมีข้อกังวลด้านคุณภาพวัสดุและระบบควบคุม

ฝ่ายจีน แจ้งเพิ่มเติมว่า เครื่องยนต์ CHD 620 ถูกติดตั้งในเรือดำน้ำของปากีสถานแล้ว และยืนยันว่ามีศักยภาพในการใช้งานจริง อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยยังคงสงวนท่าที โดยให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยในระยะยาวและความน่าเชื่อถือระดับสากล

สถานะล่าสุดของโครงการเรือดำน้ำเวลานี้ อยู่ในภาวะชะงักงัน โดยการก่อสร้างตัวเรือหยุดที่ขั้นตอนก่อนติดตั้งเครื่องยนต์ และสิ่งปลูกสร้างสนับสนุนหลายอย่างยังไม่แล้วเสร็จ ขณะเดียวกัน บริษัทยื่นขอขยายเวลาการส่งมอบออกไปอีก 1,270 วัน ส่วนงบประมาณปี 2569 ก็ไม่มีการจัดสรรงบเพิ่มเติมสำหรับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ

ที่ผ่านมา แม้ว่าโครงการจะคืบหน้าไปกว่า 60% และจ่ายเงินไปแล้วหลายพันล้านบาท แต่รัฐบาลเพื่อไทยยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะเดินหน้าหรือยุติโครงการ โดยมีปัจจัยสำคัญ เช่น ความกังวลเรื่องความโปร่งใส ความสัมพันธ์กับ EU ความไม่มั่นใจในเครื่องยนต์ CHD 620 แรงกดดันจากกลุ่มการเมือง และกระแสสังคมที่ถามไถ่ไม่เลิกราว่าเรือดำน้ำมีไว้ทำไม

อย่างไรก็ตาม ความคาราคาซังนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลจีนไม่ยอมนิ่งเฉย จึงกดดันทางไทยเรื่อยมาว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ จะเอาหรือไม่เอาเครื่องยนต์จีน ซึ่งเป็นทางเลือกเดียวที่ไทยเหลืออยู่ในเวลานี้ เนื่องจากหากไม่เอา ก็เท่ากับว่ายอมเสียเงินที่จ่ายไปแล้วฟรี ๆ เพราะกองทัพเรือของไทยไปยอมรับสภาพแล้วว่าการที่จีนไม่สามารถส่งมอบเรือดำน้ำตามสเปกที่สั่งซื้อได้ คือ ตัวเรือจีนเครื่องยนต์เยอรมัน นั้นเป็น “เหตุสุดวิสัย” 

 ความหมายคือ จีนไม่ได้ผิดสัญญา อีกทั้งกองทัพเรือก็ตกลงใจแล้วว่า เรือดำน้ำเครื่องยนต์จีนก็ได้ ไม่ติดใจแล้ว ส่งคนไปทดสอบแล้วด้วย ทางพรรคฝ่ายค้านก็บอกเอาเถอะดีกว่าไม่ได้อะไร 

ทั้งหลายทั้งปวงจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ “บิ๊กอ้วน” ต้องเคลียร์คัททุกประเด็นก่อนที่จะนำเสนอเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย

สำหรับประเด็นเรื่องเยอรมนีจะยอมขายเครื่องยนต์ให้ หรือไม่ งานนี้ “บิ๊กอ้วน” ซึ่งบินไปเยอรมนีเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ได้หารือทวิภาคีกับนายบอริส ปิสโตเรียส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้คำตอบชัดเจนแล้วว่า เยอรมนีไม่สามารถขายเครื่องยนต์ให้ได้

ดังนั้นทางเลือกของไทยตอนนี้มี 2 ทางคือ  ทางเลือกแรก  รับเรือดำน้ำจากจีน ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ CHD620 ของจีนไว้ แล้วจ่ายเงินส่วนที่เหลือให้ครบ แม้จะไม่ตรงสเปกตามสัญญาก็ตาม แต่เมื่อจีนรับประกันมั่นใจเครื่องยนต์จีน ใช้งานได้ดีแน่นอน และไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่เป็นหนูทดลอง เพราะปากีสถานรับเอาเครื่องยนต์ CHD620 ไปใช้แล้ว และไม่มีปัญหาอะไร การได้เรือดำน้ำ 1 ลำ มาให้กองทัพเรืออวดแสนยานุภาพ ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

 ทางเลือกที่สอง  คือ ยกเลิกสัญญากับจีน แต่เงินมัดจำที่จ่ายไปแล้ว 7,000 ล้านบาท จะไม่ได้คืนมาสักสตางค์แดงเดียว เพราะจีนไม่ได้ผิดสัญญา ที่หาเครื่องยนต์จากเยอรมนีให้ไม่ได้ เป็นเรื่องที่กองทัพเรือ ไปเซ็นรับสภาพแล้วว่าเป็น “เหตุสุดวิสัย” เมื่อมาทรงนี้แล้ว การยกเลิกสัญญานอกจากจะเสียค่ามัดจำแล้ว ยังอาจเจอจีนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามมาอีกดอก

หากนับรวมค่ามัดจำที่จ่ายไปแล้ว บวกกับงบประมาณที่เกี่ยวข้องกันอีก 11,000 ล้านบาท ทั้งการสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ, งบฝึกอบรมการใช้เรือดำน้ำ, งบอำนวยการ ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขว่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่กันแน่ และเผื่อแจ๊กพอตถูกจีนฟ้องร้อง ค่าเสียหายน่าจะไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาทเป็นแน่แท้

“ขณะนี้มี 2 ทางเลือก คือ ไม่ไปต่อ หรือยกเลิก แต่ประเด็นคือ เงินที่เราจ่ายเงินไป 7-8 พันล้านบาท ก็จะไม่เหลือ และอีกทางคือ รับไว้ ภายใต้เงื่อนไขที่ไว้ใจได้ คือ เรื่องของความปลอดภัย โดยจะต้องจัดการเรื่องสัญญาให้ชัดเจน ....ถ้าไปต่อก็ไม่มีปัญหาอะไร โดยจะได้เครื่องยนต์ที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน สามารถใช้งานได้” นายภูมิธรรมกล่าว และบอกว่า หากจะตัดสินใจก็ต้องไปถามกฤษฎีกาว่ามี 2 ทางเลือกดังกล่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีความเห็นอย่างไร ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี ทางจีนอยากได้คำตอบมานานแล้ว ทั้งจีนและบริษัทและกองทัพเรือ เสนอเงื่อนไขให้ต้องตัดสินใจ

 พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์  ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวว่า เรื่องที่รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการทราบ ก็ได้คำตอบครบถ้วนแล้ว พร้อมยอมรับว่าในงบประมาณปี 2569 คงยังไม่มีการตั้งเรื่องของบเกี่ยวกับเรือดำน้ำ เพราะต้องทำเรื่องสัญญาให้ชัดเจนก่อน หากสัญญายังไม่ชัดก็คงจะตั้งงบประมาณไม่ได้

 บทสรุปมหากาพย์เรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย คงมีบทจบที่ต้องติดตั้งเครื่องยนต์ CHD620 ของจีน ตามแรงกดดัน และหนทางที่ตีบตันเหลือเพียงสายเดียวของไทย 


กำลังโหลดความคิดเห็น