ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ย้อนรอยสถานการณ์สารพิษปนเปื้อนในลุ่มน้ำข้ามพรมแดน “แม่น้ำกก - แม่น้ำสาย – แม่น้ำโขง” ปกคลุมพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ. เชียงราย อันเป็นผลมากจากการทำ “เหมืองแร่แรร์เอิร์ธ” และ “เหมืองแร่ทองคำ” ในพื้นที่แหล่งต้นแม่น้ำกกในรัฐฉานของเมียนมา เพื่อป้อนอุตสาหกรรมของกลุ่มทุนจีน กำลังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชุมชนริมน้ำและเป็นภัยร้ายแรงต่อระบบนิเวศของไทย
เดือน เม.ย. 2568 สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ ได้เข้าตรวจคุณภาพน้ำในแม่น้ำกก ที่ไหลมาจากต้นน้ำในฝั่งประเทศเมียนมา เข้าสู่พื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ พบว่าน้ำมีสีขุ่นคล้ายกับมีตะกอนดินปนเปื้อนอยู่เป็นจำนวนมาก ผลการสุ่มตรวจแม่น้ำกกพบว่าน้ำมีสีขุ่นเกินค่าปกติเกือบ 10 เท่า และตรวจวิเคราะห์พบ “สารหนู” ซึ่งเป็นสารพิษอันตรายเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกกกว่าเท่าตัว
ขณะที่ข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพน้ำผิวดิน ระหว่างวันที่ 1 – 2 พ.ค. 2568 พบว่า แม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง บริเวณพื้นที่ จ.เชียงราย มีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก โดยเฉพาะ “สารหนู” และ “สารตะกั่ว” เกินค่ามาตรฐานในหลายจุด
หรือสรุปก็คือน้ำใน “แม่น้ำกก” และ “แม่น้ำสาย” ซึ่งไหลมาบรรจบที่ “แม่น้ำโขง” ครอบคลุมพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ทั้ง 3 สาย ปนเปื้อนโลหะหนักพบ “สารหนู” และ “สารตะกั่ว” ค่าเกินค่ามาตรฐาน โดยมีข้อมูลชี้ชัดว่าต้นตอของมลพิษทางน้ำมีสาเหตุมาจากการทำเหมืองแร่ขนาดใหญ่ที่รุกล้ำแหล่งต้นน้ำในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา
นพ.วรัญญู จำนงประสาทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ (นพ.สสจ.) ให้ข้อมูลว่า “ตะกั่ว” ที่พบในแม่น้ำกก อาจส่งผลต่อสุขภาพทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง อย่างรุนแรง อาจชักหรือหมดสติ ขณะที่ “สารหนู” จะเกิดความผิดปกติของผิวหนังโดยทำให้เกิดผื่นคันบริเวณที่สัมผัส คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียได้ นอกจากนี้ ผลการตรวจคุณภาพน้ำยังพบว่ามีปริมาณโคลิฟอร์ม แบคทีเรียสูง ซึ่งหากนำน้ำดังกล่าวมาบริโภคจะทำให้เกิดอาการไข้ ปวดท้อง และท้องเสีย
ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำ หรือใช้น้ำไปปรุงอาหาร หรือรดน้ำพืชผัก โดยเฉพาะเด็กและหญิงตั้งครรภ์
ขณะเดียวกันประเด็นที่ถูกจับตาอย่างหนัก็คือ มีรายงานระบุพบปลาติดเชื้อลักษณะผิวหนังพุพองในแม่น้ำกกและแม่น้ำโขง ในพื้นที่ จ.เชียงราย ทั้งหมด 6 จุด บริเวณจุดปากแม่น้ำกก 28 เม.ย. 2568 บริเวณปากแม่น้ำคำ บ้านสบคำ อ.เชียงของ 3 พ.ค. 2568 จุดฝายป่ายางมน บ้านเมืองงิม อ.เมืองเชียงราย 11 พ.ค. 2568 หาดฮ่อน แม่น้ำโขงบ้านหัวเวียง อ.เชียงของ 16 พ.ค. 2568 แม่น้ำโขง หน้าวัดแก้ว บ้านวัดแก้ว อ.เชียงของ และ 17 พฤษภาคม 2568 แม่น้ำโขงบ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่า พบปลาแข้ ซึ่งเป็นปลาหนังมีครีบที่จับได้จะมีอาการติดเชื้อ มีตุ่มพุพองเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเห็นปลามีอาการแบบนี้มาก่อน เพิ่งมาพบตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นมา โดยสิ่งที่ผิดสังเกตคือแม่น้ำกกและแม่น้ำสายขุ่นมากขึ้น
อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวกรมประมงได้เก็บ “ตัวอย่างสัตว์น้ำ” ไปตรวจสอบวิเคราะห์โลหะหนัก พบว่า “ค่าไม่เกินค่ามาตรฐาน” และ “ไม่พบแคดเมียม - ตะกั่ว” โดยระบุ “กรณีสัตว์น้ำจำพวกปลาเกิดมีตุ่มพุพอง” เกิดจาก “ปรสิตกลุ่มไดจีน (Digenea)” และ “แบคทีเรีย Aeromonas hydrophila” สรุปความว่าไม่ได้เกิดจากการปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำ ทว่า กลับมิได้คลายความปริวิตกของประชาชนลงแต่อย่างใด
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลอย่างร้ายแรงต่อคุณภาพชีวิตประชาชนในท้องถิ่น และเกิดกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำ กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในการจัดการของปัญหาของรัฐบาลไทย
โดยต้นตอของมลพิษทางน้ำมีสาเหตุมาจากการทำเหมืองแร่ขนาดใหญ่ที่รุกล้ำแหล่งต้นน้ำในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เป็นเหตุให้ลุ่มน้ำแห่งนี้กำลังเผชิญภาวะวิกฤตจากสารปนเปื้อน อันเป็นผลกระทบจากการทำ “เหมืองทองคำ” อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามแนวแม่น้ำกกในรัฐฉานของเมียนมา
ตามรายงานพบว่า การทำเหมืองส่งผลให้ระดับมลพิษในลำน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังจุดชนวนเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่โคลนถล่มรุนแรงในช่วงปลายปี 2567 บริเวณหมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำกกทั้งในฝั่งไทยและเมียนมา เป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ
และที่ทำให้เหตุการณ์เลวร้ายขึ้น การทำ “เหมืองแร่แรร์เอิร์ธ” โดย มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF)เปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมชี้ให้เห็นว่านอกจากเหมืองแร่ทองคำแล้วยังมีการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ ซึ่งเป็นแร่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี ชิปเอไอ ส่วนประกอบในเทคโนโลยีสำคัญในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศมหาอำนาจอย่างจีน โดยการขุดแร่ชนิดนี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับสูงมาก โดยเฉพาะการปล่อย “สารหนู” ซึ่งเป็น “สารก่อมะเร็ง” ลงสู่แหล่งน้ำ
ทั้งนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมชี้ชัดว่ามีเหมืองแร่แรร์เอิร์ธอยู่ 2 แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ทางตอนใต้ของ จ.เมืองสาด ห่างจากชายแดนไทยด้าน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ไปประมาณ 25 กิโลเมตร อีกแห่งเป็นเหมืองที่มีลักษณะเดียวกันตั้งอยู่เขตเมืองยอน เขตปกครองพิเศษที่ 2 (สหรัฐว้า/ว้าใต้)
และแสดงให้เห็นบ่อน้ำวงกลมที่ตั้งอยู่เรียงรายกันหลายชั้น ซึ่งการวางบ่อน้ำในลักษณะนี้เป็นลักษณะเดียวกันกับการขุดแร่แรร์เอิร์ธ ที่เคยพบเห็นในรัฐคะฉิ่น ซึ่งดำเนินการอย่างกว้างขวางโดยบริษัทจากประเทศจีน เป็นการขุดหาแร่เทอร์เบียม (Tb) และดิสโพรเซียม (Dy)
โดยภาพถ่ายดาวเทียมที่เมืองสาดได้แสดงให้เห็นว่าการขุดแร่แรร์เอิร์ธ (แร่หายาก) เกิดขึ้นทางตะวันออกของแม่น้ำกกห่างจากแม่น้ำประมาณ 3.6 กิโลเมตร ตั้งแต่กลางปี 2566 และทางตะวันตกของแม่น้ำห่างจากแม่น้ำเพียงประมาณ 2.6 กิโลเมตรตั้งแต่กลางปี 2567 เป็นต้นมา
อ้างอิงรายงานข่าวของ “สำนักข่าวชายขอบ” ระบุว่าทุนจีนเข้ามาดำเนินกิจกรรมการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ ในพื้นที่ปางวา (Pangwa) ตอนเหนือของเมียนมาซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนจีนในปี 2559 เพื่อนำกลับไปใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยแร่แรร์เอิร์ธซึ่งเป็นแร่หายากถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) พลังงานลม โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ โดยที่จีนถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก
ทั้งนี้ รายงานจาก องค์กร Global Witness ปี 2561 ระบุว่าเมียนมาถูกจัดเป็นอันดับ 3 ของโลกในด้านการผลิตแร่หายาก โดยในช่วงปี 2561 ผลิตแร่หายากต่ำกว่า 10,000 ตัน แต่หลังจากเกิดรัฐประหารในปี 2564 การผลิตกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในช่วงปี 2564 – 2566 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 40% และมีเหมืองเกิดขึ้นมากกว่า 300 แห่ง ซึ่งในปี 2566 จีนได้รับซื้อแร่หายากจากเมียนมาสูงกว่า 41,700 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
กระบวนการสกัดแร่กลับก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง แหล่งน้ำเสื่อมโทรมลงจากสารเคมีที่ใช้ในการแยกแร่ กระทบให้สัตว์น้ำตายจำนวนมาก ขณะเดียวกันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
มีรายงานความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพระบุว่าการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ ในรัฐคะฉิ่น ประเทศเมียนมา ทำให้เกิดดินถล่มเพราะใช้การละลายแร่ใต้ดิน รวมทั้ง สร้างมลพิษต่อน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน และส่งกระทบต่อสัตว์น้ำและสัตว์ป่าทำให้เสียชีวิต ตลอดพบการปนเปื้อนในพืชอีกด้วย
น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ International Rivers กล่าวถึงสถานการณ์สารปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง จ.เชียงราย ว่ามีแนวโน้มสารหนูและโลหะหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าเหมืองแร่ทองคำ แรร์เอิร์ธ ยังไม่ยุติลงทำให้การปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องจับตาจะมีสารแคคเมียมตามมาหรือไม่
แต่ประเด็นที่ต้องจับตา การแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยผ่านมา 3 เดือน ยังไม่เห็นรัฐบาลแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม ชาวเชียงราย 1.2 ล้านคน ต้องเผชิญชะตากรรมกับสิ่งที่เขาไม่ได้ก่อ ซึ่งสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นแค่ปีที่ 1 - 2 ของหายนะ ต่อไปลุ่มน้ำของไทยอาจกลายเป็นแหล่งมลพิษข้ามพรมแดนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคหากไม่มีการแก้ไข้เร่งด่วน
สำหรับท่าทีของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการเพื่อการแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง โดย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน ตั้งแต่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ. เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย โดยมุ่งจัดการจุดเริ่มต้นของปัญหาประเด็นการทำเหมืองของประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ มอบหมายให้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาสั่งการให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ดำเนินการในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับ กระทรวงทรัพย์ฯ ติดตามและรายงานการจัดการแหล่งที่มาของปัญหา เจรจาหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการหยุดหรือปรับปรุงวิธีการทำเหมือง เพื่อป้องกันการระบายสารปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ
ขณะที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประชุมกรมกิจการชายแดนทหาร คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำแม่น้ำระหว่างประเทศ ลุ่มน้ำโขงเหนือ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2568 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA ได้จัดทำข้อมูลย้อนหลัง 8 ปี ตั้งแต่ 2560 - 2568 โดยใช้ดาวเทียม พบการเปิดหน้าดินในพื้นที่เมียนมาเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ในช่วงปี 2567 -2568 และมีการใช้ดาวเทียมในแปลผลข้อมูลความขุ่น (turbidity) พบมีความขุ่นเพิ่มมากขึ้นในบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยได้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กรมกิจการชายแดนทหาร และกรมควบคุมมลพิษดำเนินการต่อไปแล้ว
ขณะเดียวกันก็ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาความร่วมมือแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก ดังนี้
1. ด้านการจัดการแหล่งที่มาของปัญหา กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการจัดประชุมหารือเตรียมความพร้อมของข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อม และภาพถ่ายดาวเทียม ร่วมกับกรมกิจการชายแดนทหาร กรมเอเชียตะวันออก GSTDA และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แล้ว เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2568 และมีข้อตกลงให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นหน่วยงานหลักในการประมวลผลและสังเคราะห์ข้อมูล 1) การบ่งชี้ทางสิ่งแวดล้อม 2) ผลกระทบต่อสุขภาพและระบบนิเวศ และ 3) ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) พิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือเมียนมาด้านการทำเหมืองที่ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษจะหารือร่วมกับ GISTDA กรมอนามัย และ กพร. เพื่อจัดส่งข้อมูลภาพรวมให้กับกรมกิจการชายแดนทหาร และกรมเอเชียตะวันออกใช้ประกอบการเจรจา
2. ด้านการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในแหล่งน้ำและการบรรเทาผลกระทบ นั้น เน้นวิธีปฏิบัติในการป้องกันการแพร่กระจายของโลหะหนัก และการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค บริโภค และการประกอบอาชีพ ซึ่งหน่วยทหารช่าง มีแผนขุดลอกแม่น้ำกก ระยะทาง 3 กิโลเมตร บริเวณหมู่บ้านธนารักษ์ - สะพานย่องลี อ.เมือง จ.เชียงราย ขณะที่กรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดการตะกอนในแม่น้ำ อาทิ การปรับสภาพน้ำ ระบบตักตะกอน การเบี่ยงกระแสน้ำ สำหรับการประปาส่วนภูมิภาค ได้จัดเตรียมแผนการบริหารจัดการกรณีแหล่งน้ำผิวดินปนเปื้อนในระยะยาว
3. ด้านการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่างน้ำ และตะกอนดินในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และลำน้ำสาขา รวมถึงเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำ คุณภาพน้ำประปา ผลิตผลทางการเกษตร และสุขภาพของประชาชน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ จะดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในแม่น้ำกกและลำน้ำสาขา แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขงเพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่างเป็น 2 ครั้งต่อเดือน
ในส่วนของกรมอนามัย ได้ทำการตรวจคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน และปัสสาวะของประชาชนในพื้นที่ จ. เชียงใหม่ และ จ. เชียงรายในเดือน เม.ย. 2568 ผลการเก็บน้ำประปา ไม่พบการปนเปื้อนสารหนู และตะกั่วไม่เกินมาตรฐาน และผลตรวจปัสสาวะไม่เกินมาตรฐาน
ส่วนด้านการประปาส่วนภูมิภาค ได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำดิบที่ใช้ในการทำประปาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาล ในพื้นที่อำเภอแม่อาย 10 จุด ไม่พบสารหนูและตะกั่วเกินมาตรฐานฯ ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำ ได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำแม่น้ำตก และแม่น้ำโขง (สถานีเชียงแสน) เดือนละ 2 ครั้ง มีการรายงานผลให้กับ จ.เชียงใหม่และ จ.เชียงราย
4. ด้านการบริหารจัดการ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทองรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอนุกรรมการ
รวมทั้งหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาที่ต้องจับตา กรณี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำออกแบบการสร้างเขื่อนที่มีคุณสมบัติกรองสารพิษ และดูดตะกอนที่ติดค้าง เพื่อรองรับผลกระทบในอนาคต เบื้องต้นเริ่มสำรวจและกำลังออกแบบเขื่อนเพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น
ขณะที่ ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่าข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ปัญหามลพิษปนเปื้อนในแม่น้ำกก “ไม่มีอะไรใหม่ ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกปกติ”
นั่นเพราะข้อสั่งการทั้งหมดเป็นแผนงานประจำของหน่วยงานราชการ เป็นผลจากการประชุม เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2568 ที่มี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลประชุมแก้ปัญหาน้ำกกเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นปล่อยหน่วยงานราชการทำงานเพียงลำพัง โดยเสนอแนะสิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน
โดยเสนอแนะสิ่งที่ “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังนี้
1. ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาแก้ปัญหานี้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากปัญหาเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ และขณะนี้ไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่เป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ทุกหน่วยงานทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ตามกฎหมายที่ให้อำนาจเท่านั้น ในขณะที่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้ามหน่วยงาน และข้ามชาติ ดังนั้น รัฐบาลต้องแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลปัญหานี้เป็นการเฉพาะ
2. เชิญผู้แทนประเทศเมียนมาและจีนที่อยู่ในประเทศไทยมารับทราบถึงปัญหา ผลกระทบ และหาทางออกร่วมกัน โดยเปิดการประชุมร่วมกับรัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลจีนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เนื่องจากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทั้งรัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดมลพิษในต้นน้ำกกและน้ำสาย โดยประเทศเมียนมาเป็นเจ้าของดินแดนทั้งหมด ถึงแม้ว่าพื้นที่บางส่วนอยู่ในการดูแล ควบคุมของกองกำลังชาติพันธุ์ก็ตามที ในขณะที่รัฐบาลจีนมีบริษัทเอกชนเข้าไปทำสัมปทานเหมืองแร่ และเป็นผู้รับซื้อแร่ทั้งหลายในเมียนมา รวมถึงรัฐบาลจีนมีความใกล้ชิดกับกองทัพสหรัฐว้า หนึ่งในกองกำลังที่ดูแลพื้นที่เหมืองหลายแห่งด้วย
และ 3. จัดตั้งศูนย์ติดตามและตรวจสอบคุณภาพน้ำขึ้นในจังหวัดเชียงราย เนื่องจากข้อมูลคุณภาพน้ำคือหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในขณะที่การตรวจสอบน้ำ ตะกอนดิน ผลผลิตการเกษตร และสุขภาพประชาชนดำเนินการโดยหน่วยงานที่อยู่ภายนอกจังหวัดเชียงราย จึงส่งผลให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างล่าช้า ดังนั้น จังหวัดเชียงรายจำเป็นต้องมีศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นของตัวเอง
ต้องยอมรับว่า การแก้วิกฤตสารพิษปนเปื้อนในลุ่มน้ำข้ามพรมแดน เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย อีกทั้ง รัฐบายไทยกำลังถูกจับตาประเด็นความล้มเหลวในการนำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมระดับสากลอย่าง “หลักการผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย (Polluter Pays Principle - PPP)” ซึ่งแนวคิดสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งหวังให้ผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงด้วยข้อจำกัดด้านการบังคับใช้กฎหมายอำนาจรัฐซึ่งอาจถูกครอบงำโดยกลุ่มทุน
หลายฝ่ายหวั่นซ้ำรอยเหตุการณ์การปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อม ปี 2518 กรณี “ลำห้วยคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี” จากการปล่อยน้ำเสียโรงแต่งแร่จากเหมืองตะกั่ว พบความผิดปกติในสิ่งแวดล้อม โคลนดินใต้ท้องน้ำมากผิดปกติ ส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง น้ำเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลขุ่น บริโภคเกิดอาการเวียนศีรษะ อุปโภคเกิดอาการคันคันตามผิวหนัง อีกทั้ง พบสัตว์น้ำปลาลอยตายเกลื่อน
สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงปี 2532 - 2541 ชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วยผิดปกติคล้ายคลึงกันก่อนทยอยเสียชีวิต หญิงตั้งครรภ์แท้งบุตร ขณะเดียวกัน ทารกเกิดใหม่จำนวนหนึ่งมีอาการผิดปกติด้านร่างกายและสมอง ไม่เพียงเท่านั้นยังพบสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านล้มตายจากอาการล้มชักน้ำลายฟูมปาก
กระทั่ง เป็นข่าวครึกโครมเกิดการรับรู้ในสังคม กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบ และพบการปนเปื้อนสารตะกั่วในน้ำสูงกว่าค่ามาตรฐานอาหารให้มีสารปนเปื้อนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (ปี 2529) ที่กำหนดไว้
เหตุการณ์ครั้งนั้น นำสู่การฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ โดยในปี 2547 “ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้” ยื่นฟ้อง “กรมควบคุมมลพิษ” ใน “คดีอาญา” ต่อศาลปกครองกลาง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าในการฟื้นฟูลำห้วย และยื่นฟ้อง “บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรท” ในฐานความผิดละเมิด พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็น “คดีแพ่ง”
โดยจุดจบของกรณีของลำห้วยคลิตี้ เป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวของหลัก PPP ซึ่งระบุให้ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ แต่กลับไม่มีการนำมาบังคับใช้อย่างจริงจังในเวลานั้น ผลสุดท้ายรัฐต้องนำภาษีประชาชนมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
สุดท้ายประเด็นการควบคุมแก้ไขแก้วิกฤตสารพิษปนเปื้อนในลุ่มน้ำข้ามพรมแดนของนับเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทย ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระดับนานาชาติ.