xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จะเครซี่ Taxi ดับเครื่องชน ทอท. แบน! Grab แย่งลูกค้า...สนามบิน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นอีกครั้ง  “แท็กซี่ไทย” ลุกฮือขึ้นมาประท้วง “แบน Grab” ด้วยการ เรียกร้องให้  “บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)” หรือ “ทอท.”  เคลียร์ Grab ออกจากพื้นที่บริการรถผ่านแอปฯ ของสนามบินสุวรรณภูมิ

โดย “กลุ่มแท็กซี่” ขู่ฟ่อเตรียมยกระดับ  “ปิดสนามบิน”  หากไม่ได้รับความชอบธรรมจากรัฐในการสะสางปัญหาด้านกฎหมายเกี่ยวกับรถรับจ้างผ่านแอปฯ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ โดยเฉพาะประเด็นรายได้ที่ลดลงของรถแท็กซี่ที่ให้บริการบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากประชาชนหันไปใช้บริการรถยนต์ผ่านระบบแอปพลิเคชันมากขึ้น เป็นเหตุให้ “รายได้ลด”

 นายวรพล แกมขุนทด 
 นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ พร้อมผู้ขับขี่รถแท็กซี่กว่า 50 คัน เดินทางมาปักหลักชุมนุมที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่ วันที่ 20 พ.ค. 2568 โดยมีข้อเรียกร้องไปยัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาของกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพรถยนต์รับจ้างสาธารณะ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการอาชีพรถยนต์รับจ้างสาธารณะแท็กซี่

เรียกร้องให้ยกเลิกกฏกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน พ.ศ. 2560 และกฏกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกล์ พ.ศ. 2564 โดยอ้างว่ากฏกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับนี้

นอกจากนี้ เรียกร้องให้  “บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)” หรือ “ทอท.” ยกเลิกจุดรับส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชัน Grab ในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยอ้างว่าการดำเนินการเรียกใช้บริการผ่านระบบแพลตฟอร์มออนไลน์มีจำนวนมากกว่า ทำให้เกิดข้อเสียเปรียบของผู้ขับขี่รถแท็กซี่สนามบิน และไม่ต้องการให้แอปพลิเคชัน Grab จัดตั้งจุดรับส่งผู้โดยสารในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญ เช่น สนามบินที่ถือว่าเป็นประตูและหน้าต่างของประเทศไทย

 พร้อมฝากประโยคเด็ด รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนว่าจะเลือกใช้ผู้ขับขี่รถยนต์ของแอปฯ Grab หรือ ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ แต่หากรัฐบาลเลือก Grab ถือว่าเป็นการขายชาติ เพราะ Grab ไม่ใช่บริษัทของคนไทย 

ทั้งนี้ สืบเนื่อจากทางการไทยดำเนินการจัดระเบียนรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน (รถยนต์ส่วนบุคคล) โดยให้ดำเนินจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็น “รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” ให้บริการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทอท. ได้กำหนดจัดตั้งแกร็บเลานจ์ (Grab Lounge) บริการเรียกรถผ่านแอปฯ บริเวณอาคารผู้โดยสารชั้น 1 ประตู 4 (Curb นอก) พร้อมอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ด้วยบริการที่รวดเร็ว ปลอดภัย และมีราคาที่โปร่งใส เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดี ทอท. ชี้แจงว่า สนามบินสุวรรณภูมิมีบริการรถสาธารณะที่หลากหลาย ทั้งรถเมล์, รถ บขส., แท็กซี่มิเตอร์, รถยนต์ผ่านแอปพลิเคชัน (รถป้ายเขียว) และรถลิมูซีน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารทุกกลุ่มราคา โดยสถิติจำนวนเที่ยววิ่งของรถแท็กซี่มิเตอร์ที่ให้บริการผ่านคิวอยู่ที่ประมาณ 6,000 เที่ยวต่อวัน ขณะที่รถที่เรียกผ่านแอปพลิเคชันมีประมาณ 5,000 เที่ยวต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงรถแท็กซี่มิเตอร์ที่เข้าร่วมให้บริการผ่านแอปพลิเคชันด้วย

ยืนยันว่าการอนุญาตให้รถยนต์ผ่านแอปพลิเคชันให้บริการในพื้นที่สนามบินเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากสนามบินเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลของ ทอท. ซึ่งมีสิทธิ์ในการจัดการบริการต่างๆ ได้ แตกต่างจากวินรถสาธารณะบนพื้นที่สาธารณะ

อย่างไรก็ดี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมร่วมกับสมาคมผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ เพื่อหารือเกี่ยวกับการสร้างความเท่าเทียมระหว่างรถแท็กซี่กับผู้ให้บริการรถยนต์ผ่านระบบแอปพลิเคชันและมอบหมายให้ ทอท. พิจารณาแนวทางการให้บริการรถสาธารณะเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก พร้อมสั่งการให้กรมการขนส่งทางบก รวบรวมและจัดทำรายงานสรุปเพื่อร่วมหารือกับทีมกฎหมายของสมาคมฯ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ให้มีความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการรถยนต์รับจ้างสาธารณะแท็กซี่ โดยยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการเป็นสำคัญต่อไป

 นายจิรุตม์ วิศาลจิตร  อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่ากลุ่มผู้ขับแท็กซี่สุวรรณภูมิบางส่วนซึ่งเป็นส่วนน้อย มีเรียกร้องให้ยกเลิกบริการรถยนต์ผ่านแอปพลิเคชันภายในพื้นที่สนามบิน ผู้ขับแท็กซี่ต้องปรับตัวเข้ากับยุคสมัย จะปฏิเสธเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของแพลตฟอร์มคงเป็นไปไม่ได้ จะเห็นว่าแท็กซี่จำนวนมากได้ปรับตัวโดยเข้าร่วมให้บริการผ่านแอปพลิเคชันแล้ว ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเรียกผ่านแอปพลิเคชันด้วย

ขณะเดียวกัน สถาบันเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด Mastercard Economics Institute  เปิดเผยรายงานความ กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวเสี่ยงถูกฉ้อโกงเป็นอย่างยิ่ง โดยตอกย้ำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอต่อการพฤติกรรมฉ้อโกงต่างๆ นานามากที่สุด และจะพบเห็นการโกงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วงพีคสุดของฤดูกาลท่องเที่ยว

โดยรายงานชี้เป้าไปที่ “แท็กซี่” และ “บริการรถเช่า” ว่าเป็นขอบเขตหลักที่พวกนักท่องเที่ยวต้องเจอกับพฤติกรรมการฉ้อโกงมากที่สุด โดยปัญหาเกี่ยวกับแท็กซี่และรถเช่า คิดเป็นสัดส่วน 48% ของรายงานคดีฉ้อโกงนักท่องเที่ยวในเมืองหลวงของไทย

แน่นอนว่า รายงานดังกล่าวตอกย้ำภาพลักษณ์ด้านลบผู้ให้บริการแท็กซี่ไทย เป็นปัจจัยหนุนให้นักท่องเที่ยวหันมาใช้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ มากขึ้น

อีกประเด็นที่ชวนให้ติดตาม ขณะที่บริการรถผ่านแอปพลิเคชันได้รับความนิยมจากประชาชนในประเทศ ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมากนั้น กำลังเกิดสถานการณ์ปัญหาทับซ้อนว่าด้วยเรื่องของ “แรงงานแพลตฟอร์ม (Platform Worker)”  ในภาคบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ อาทิ Grab, Bolt, inDrive, TADA ฯลฯ กับการแบกรับต้นทุนแฝงต่างๆ ของผู้ขับ อาทิ ค่าซ่อมบำรุงค่าเสื่อมรถ ค่าประกันรถยนต์ ฯลฯ

และที่กำลังเป็นปัญหาถกเถียงในกลุ่มผู้ขับขี่คือ เรื่องอัตรค่าโดยสารที่ต่ำมาก ซึ่งรายได้ของคนขับเป็นราคาเหมาจ่ายต่อทริป คำนวณโดยระบบจากจากระยะทางและระยะเวลาเดินทาง ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นระบบคำนวณไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง อีกทั้ง รายได้ของคนขับต่อทริปถูกหักเปอร์เซ็นต์จากบางแอปฯ ค่อนข้างสูง

พวกเขากำลังผชิญปัญหาถูกแพลตฟอร์มกดขี่ ขณะที่บริษัทผู้ให้บริการรถผ่านแอปฯ รายใหญ่ Grab หรือ Bolt ฯลฯ ลอยตัวเหนือปัญหา กำลังเป็นระเบิดเวลาให้แรงงานแพลตฟอร์มออกมาประท้วงเรียกร้องเช่นเดียวกันหรือไม่?

ในประเด็นนี้ ภาครัฐทราบดีถึงปัญหาและคงต้องติดตามว่าจะมีการจัดระบบระเบียบตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานแพลตฟอร์มอย่างไร โดยเฉพาะ “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. …” ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนและลดทอนสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานแพลตฟอร์ม บทสรุปต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มคนขับแท็กซี่ส่วนน้อยที่ให้ ทอท. เคลียร์ผู้ขับรถผ่านแอปฯ Grab ออกจากพื้นที่นามบินฯ เนื่องจากปมเหตุแย่งลูกค้าส่งผลให้รายได้ลดลงนั้น เป็นภาพสะท้อนการของการไม่ปรับตัวให้เท่าทันยุคสมัยของแท็กซี่วัยดึกกลุ่มหนึ่งหรือไม่? เพราะต้องยอมรับว่าคนขับแท็กซี่อีกเป็นจำนวนมากต่างปรับตัว มองการเรียกรถผ่านแอปฯ เป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้ โดยไม่มีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มแม้แต่บาทเดียว

 สุดท้าย ทางการไม่ได้นิ่งนอนใจโดยมีการพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อข้อเรียกของกลุ่มแท็กซี่ ภายใต้หลักสำคัญยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการ.  


กำลังโหลดความคิดเห็น