ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ทัพจีนที่ถูกส่งมาจัดการจักรพรรดิหย่งลี่นี้อยู่ภายใต้การบัญชาของ อู๋ซันกุ้ย ผู้ซึ่งเปิดประตูเมืองให้ทัพแมนจูกรีธาเข้าโค่นล้มราชวงศ์หมิง ดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้วเมื่อก่อนหน้านี้
เกี่ยวกับเรื่องนี้มีประเด็นที่ควรกล่าวด้วยว่า การกำจัดกองกำลังหรือเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์เดิมให้สิ้นซากนั้น เป็นเรื่องปกติที่ทำมาทุกยุคทุกสมัยเมื่อมีการผลัดแผ่นดิน ทั้งนี้เพื่อมิให้มีเสี้ยนหนามของอำนาจเดิมหลงเหลืออยู่ ซึ่งบางทีอาจฟื้นกำลังของตนขึ้นมาได้ แล้วก็ย้อนกลับมาทำลายกลุ่มอำนาจใหม่ อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในประวัติศาสตร์จีน
ก่อนที่ทัพของอู๋ซันกุ้ยจะกรีธามาที่อวิ๋นหนันนั้น ราชวงศ์ชิงได้วางแผนที่จะจัดการกับกองกำลังต่างๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในจีน และส่วนหนึ่งก็คือ พื้นที่ที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้โดยมีอวิ๋นหนันเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย แผนที่ว่ามีขึ้นใน ค.ศ.1660 พอปีถัดมาทัพของอู๋ซันกุ้ยจึงได้รับคำสั่งให้กรีธามาจัดการพื้นที่แห่งนี้
ตอนที่ทัพของอู๋ซันกุ้ยมาถึงอวิ๋นหนันนั้น ผู้ปกครองอวิ๋นหนันคือ หงเฉิงโฉว ที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้ว การปกครองของหงเฉิงโฉวแม้จะมีนโยบายที่ดี แต่ก็ยังเข้าถึงชนชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งกระจัดกระจายไปทั่วมณฑลได้ยาก อีกทั้งยังมีอยู่หลายสิบชนชาติและแต่ละชนชาติต่างก็มีผู้นำและวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นของตนเอง
โดยที่ควรกล่าวด้วยว่า แม้จนทุกวันนี้อวิ๋นหนันก็ยังจัดเป็นมณฑลที่มีชนชาติที่มิใช่จีนมากที่สุด คือมีอยู่ 25 ชนชาติจากที่มีอยู่ 56 ชนชาติทั่วประเทศ ซ้ำประชากรของ 25 ชนชาตินี้ยังคิดเป็นร้อยละ 38 ของประชากรทั้งหมดในอวิ๋นหนันอีกด้วย
ดังนั้น เมื่อทัพของอู๋ซันกุ้ยมาถึงอวิ๋นหนันแล้ว ภารกิจจึงใช่แต่จะตามล่าหาตัวหย่งลี่เท่านั้น หากแต่ยังต้องจัดการกับชนชาติที่มีใช่จีนดังกล่าวให้มาขึ้นต่อราชวงศ์ชิงอีกด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควร จากเหตุนี้ ภารกิจแรกของอู๋ซันกุ้ยจึงคือการล่าตัวหย่งลี่มาให้ได้
เมื่อทัพของอู๋ซันกุ้ยมาถึงอวิ๋นหนันแล้วจึงได้กดดันพม่าให้ส่งตัวหย่งลี่ให้กับตน
พระเจ้าพินดาเลไม่เพียงไม่ยอมส่งตัวหย่งลี่ให้แก่จีนเท่านั้น หากยังพร้อมที่จะสู้รบกับจีนอีกด้วย แต่เมื่อรบกันแล้วก็กลับพ่ายแพ้ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ไม่ย่อท้อที่จะเอาชนะจีนให้จงได้ พระองค์จึงทรงให้เกณฑ์ชาวมอญจากเมืองเมาะตะมะมาช่วย แต่ชาวมอญซึ่งไม่เต็มใจที่จะช่วยต่างก็พากันหนีทัพ ซ้ำร้ายบางส่วนของชาวมอญยังก่อกบฏขึ้นอีกด้วย
ที่สำคัญ มีชาวมอญราว 6,000 คนได้หนีเข้ามายังสยาม และก็ได้รับการต้อนรับด้วยดีจากกษัตริย์สยามซึ่งก็คือ สมเด็จพระนารายณ์ (ค.ศ.1632-1688)
อย่างไรก็ตาม การที่พระเจ้าพินดาเลทรงให้ความช่วยเหลือแก่หย่งลี่จนนำมาซึ่งความยุ่งยากแก่พม่านี้ ได้ยังความไม่พอใจให้แก่ สภาลุดดอ (Luddaw) ซึ่งเป็นสภาแห่งรัฐ (Council of State) ของพม่า แต่แทนที่สภาลุดดอจะรับผิดชอบร่วมกับพระเจ้าพินดาเล สภาลุดดอกลับจับพระองค์มาเป็นแพะรับบาป และถอดพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ใน ค.ศ.1661
ผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์สืบต่อคือ พระเจ้าปเยมิน (Pye Min, ค.ศ.1619-1672) ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าพินดาเล พระเจ้าปเยมินทรงรับที่จะเป็นกษัตริย์โดยมีข้อแม้ว่า พระองค์จะยังคงยกย่องและเอาพระทัยพระเชษฐาของพระองค์ แต่ข้อแม้นี้ไม่เป็นที่ยอมรับของเหล่าเสนามาตย์ในสภาลุดดอ จนเป็นเหตุให้เหล่าเสนามาตย์จับเอาพระเชษฐาของพระองค์มาประหารชีวิตเสีย
หลังจากที่พระเจ้าปเยมินขึ้นครองราชย์แล้ว การปกครองของพระองค์แม้จะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่สภาลุดดอก็ยังคงต้องการกษัตริย์ที่เข้มแข็งกว่านี้ โดยเฉพาะกับการจัดการกับชาวจีนที่ให้ความช่วยเหลือหย่งลี่ ถึงกระนั้นก็ตาม พระเจ้าปเยมินก็สามารถขับไล่กองกำลังชาวจีนที่เข้ามาคุกคามอยู่ตรงชายแดนได้ส่วนหนึ่ง ในขณะที่การดูแลหย่งลี่ก็ยังคงเป็นไปได้ด้วยดี
อย่างไรก็ตาม ตอนที่พม่าขับไล่กองกำลังชาวจีนนั้น ได้เกิดจลาจลขึ้นมาจนมีการเข่นฆ่าชาวจีนไปจำนวนมาก ข่าวจลาจลนี้มีไปถึงสยามที่อยุธยา และทำให้สยามใช้โอกาสที่พม่ากำลังตกอยู่ในความวุ่นวายกรีธาทัพเข้าตีเชียงใหม่ แต่ชาวเชียงใหม่กลับเข้าข้างพม่าด้วยการตีโต้ทัพสยามจนแตกพ่ายไป
ครั้นเหตุการณ์สงบลงได้ระยะหนึ่ง ก็ให้เป็นเวลาที่ทัพจีนของอู๋ซันกุ้ยมาจ่อตรงชายแดนพม่าเข้าพอดี พม่าจึงต้องเผชิญภัยคุกคามอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้อู๋ซันกุ้ยยกทัพเข้ามายังพม่าโดยอ้างว่า เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์หมิงหลงเหลืออยู่เป็นเสี้ยนหนาม ซึ่งก็คือการบังคับพม่าให้ส่งตัวหย่งลี่ให้แก่จีนนั้นเอง
ว่าที่จริงแล้วพระเจ้าปเยมินทรงปฏิเสธที่จะส่งตัวหย่งลี่ให้แก่ทัพจีน แต่เหล่าเสนามาตย์ได้ทูลต่อพระองค์ว่า ในสมัยพระเจ้าพินดาเลนั้น ข้าหลวงอวิ๋นหนันเคยส่งตัวเจ้าชายไทยใหญ่ที่ลี้ภัยไปยังอวิ๋นหนันคืนให้แก่พม่า คราวนี้ก็ควรที่พระองค์จะต้องส่งตัวหย่งลี่คืนให้แก่จีนบ้าง จากคำแนะนำนี้ทำให้พระเจ้าปเยมินมิอาจปฏิเสธได้อีกต่อไป และแล้วหย่งลี่จึงถูกส่งตัวไปแก่ทัพจีนในที่สุด
เมื่อกลับไปอยู่ในอุ้งมือของอู๋ซันกุ้ยแล้ว หย่งลี่ผู้เป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงใต้ก็ถูกสำเร็จโทษ กล่าวกันว่า ตอนที่หย่งลี่ถูกควบคุมตัวอยู่ต่อหน้าอู๋ซันกุ้ยนั้น พระองค์ทรงดูถูกดูแคลนอู๋ซันกุ้ยว่าเป็นผู้ทรยศราชวงศ์หมิง ด้วยการเปิดประตูให้ทัพแมนจูเข้ามายึดประเทศจีน พระองค์ตรัสว่า แม้นเมื่อทรงเห็นหน้าอู๋ซันกุ้ยก็ให้รู้สึกสะอิดสะเอียนเป็นที่ยิ่ง
ในบันทึกประวัติศาสตร์ของพม่าเล่าว่า หย่งลี่ถูกประหารด้วยการใช้เหล็กแหลมจ้วงแทงจนสิ้นพะชนม์
หลังจากนั้นอู๋ซันกุ้ยก็ได้รับความดีความชอบจากราชวงศ์ชิง โดยเขาถูกแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ปกครองมณฑลอวิ๋นหนัน ซึ่งดูโดยผิวเผินแล้วถือว่าได้รับการตอบแทนจากราชวงศ์ชิงจนถึงขนาด แต่ก็มีมุมมองในอีกด้านหนึ่งว่า ตำแหน่งที่สูงส่งดังกล่าวใช่ว่าจะดีจริง ด้วยว่านั่นคือการถีบส่งอู๋ซันกุ้ยให้ไกลปืนเที่ยง
ที่ราชสำนักชิงทำเช่นนี้ก็เพราะตระหนักดีว่าอู๋ซันกุ้ยมิใช่ชาวแมนจู หากคือชาวฮั่นหรือชาวจีนที่ย่อมกระด้างกระเดื่องขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ การส่งอู๋ซันกุ้ยไปอยู่มณฑลชายแดนจึงเป็นไปเพื่อให้ราชสำนักชิงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของตน แล้วความจริงก็เป็นเช่นนั้น ด้วยหลังจากนั้นอู๋ซันกุ้ยก็ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นมาจริงๆ ด้วยการตั้งราชวงศ์โจวขึ้นมา แล้วเข้าต่อกรกับราชวงศ์ชิงได้ระยะหนึ่งระหว่าง ค.ศ.1678 ถึง ค.ศ.1681 ก่อนที่จะถูกปราบลงได้ในที่สุด
ส่วนเรื่องราวของเราก็คือว่า หลังจากที่หย่งลี่ถูกส่งกลับไปสำเร็จโทษที่จีนแล้วนั้น คณะที่ติดตามพระองค์มามิได้กลับไปจีนพร้อมกับพระองค์ หากยังคงตั้งรกรากอยู่ในดินแดนพม่าและสืบสายกระจายพันธุ์เรื่อยมา ครั้นเวลาล่วงไปหลายร้อยปีคนจีนกลุ่มนี้ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น
และกลายเป็นกลุ่มชนที่เรียกกันต่อมาว่า โกกั้ง