คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” และเค้าโครงของประวัติศาสตร์ของกฎหมายในฐานะที่เป็นกรอบกติกาการปกครองหรือ “รัฐธรรมนูญ” รวมทั้งโครงสร้างทางสังคมของสวีเดนก่อนการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วง ค.ศ. 1680 ไปบางส่วน รวมทั้งคำอธิบายการกำเนิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน ค.ศ. 1680 ไปแล้ว
ในตอนนี้จะขอกล่าวถึงการปฏิรูปราชอาณาจักรสวีเดนหลังการสถาปานาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดต่อจากตอนที่แล้ว
พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงปฏิรูปการคลังและการทหาร และการปฏิรูปรายได้สำหรับกิจการด้านการทหารสามารถแก้ประเด็นปัญหาพื้นฐานสองประการ นั่นคือ การหาแหล่งรายได้สำหรับกองทัพประจำการในสวีเดนซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนในขณะนั้น และการใช้รายได้ที่ไม่ได้เป็นตัวเงินให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ในขณะเดียวกัน ระบบดังกล่าวยังเป็นระบบที่สมเหตุสมผลในทางเศรษฐกิจ เพราะนายทหารที่ประจำการก็ยังคงอยู่ในกระบวนการผลิตในเศรษฐกิจด้วย
ทั้งนี้ หลักฐานชี้ว่านายทหารมักทำให้ได้ปริมาณการผลิตที่สูงกว่าพันธะที่คาดการณ์ไว้ การปฏิรูปดังกล่าวจะให้ความมั่นคงแก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย นั่นคือ รัฐมีจำนวนนายทหารคงที่ตามที่กำหนดไว้ ขณะที่ชาวนาก็มั่นใจได้ว่าจะไม่มีการเพิ่มค่าเช่าหรือเก็บภาษีเพิ่มเติมตามอำเภอใจ ทั้งนี้ ความมั่นคงส่วนหนึ่งมาจากการจัดตั้งการประกันภัย (insurance) ต่าง ๆ โดยมีการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งไว้เป็นกองกลางสำหรับอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น (อัคคีภัย การเสียชีวิตของนายทหาร การสูญหายของยุทโธปกรณ์) ดังที่มีพระบรมราชโองการในปี ค.ศ.1685 ภายใต้แนวทาง “ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน” หรือที่ให้เก็บเงินทหารม้าจำนวน 3 เหรียญ (dsm) รายปีเป็นค่าประกันยุทโธปกรณ์ในปี ค.ศ.1690
ขณะเดียวกัน มีหลักฐานเอกสารต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า “ความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนโครงการนำไปสู่คำสั่ง คำแนะนำ คำวินิจฉัย ไปจนถึงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นจำนวนมหาศาลจากพระมหากษัตริย์” ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของระบบราชการของสวีเดนในการรับมือจัดการกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้น
และในส่วนของพระมหากษัตริย์ พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรง “แน่วแน่ในการยืนยันให้เหล่าชาวนาส่งมอบพันธะเต็มจำนวนภายในเวลา แต่พระองค์ก็ทรงเคี่ยวเข็ญกับเจ้าหน้าที่และข้าราชการที่ละเลยสิทธิของประชาชนคนธรรมดา”
หลังจากที่ได้ทรงรับทราบข้อเรียกร้องของเหล่าชาวนา พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขากำชับแก่ผู้ว่าการจังหวัดในปี ค.ศ.1683 และทรงตรากฎหมายเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิที่อาจเกิดขึ้นในที่ดินอย่างละเอียด (ที่กำหนดไว้ใน indelningsverk) ในปี ค.ศ.1685 ซึ่งมาจากพระราชประสงค์ในการทำหน้าที่พระมหากษัตริย์ที่ทรงธรรมต่อพระผู้เป็นเจ้า
อนึ่ง พระราชประสงค์ของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดที่จะขยายระบบ indelningsverk (การจัดสรรเกณฑ์กองกำลังทหาร) ไปสู่งานราชการด้านอื่น ๆ ดังที่ทรงประกาศแก่ที่ประชุมฐานันดรในปี ค.ศ.1686 แต่ไม่สามารถสำเร็จลุล่วงภายในรัชสมัยของพระองค์
การปฏิรูปกองทัพในมิติอื่น ๆ ล้วนมุ่งเป้าสู่ “กองทัพที่มีคุณภาพสูงที่มาจากประชาชนชาวสวีดิช มีระเบียบวินัยที่ตั้งอยู่บนความเชี่ยวชาญทางการทหารและความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้บังคับบัญชากับนายทหาร กองทัพ[ใหม่ภายหลังการปฏิรูป]ยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดี มีการฝึกฝนอย่างสมจริง และเสริมด้วยการวางแผนเส้นทางการส่งบำรุงอย่างรอบคอบ”
พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงมีพระราชประสงค์ให้นายทหารเป็นคนในชาติที่ต้องการปกป้องบ้านเกิดของตน (เว้นแต่นายทหารในพื้นที่โพ้นทะเล) นั่นคือ ทรงให้ความสำคัญแก่ “อัตลักษณ์ความเป็นชาติ” และมีพระราชประสงค์ให้นายทหารเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่ดีด้วย นายทหารจะต้องรับการอบรบและผ่านการทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนา พระองค์ทรงแสดงถึงทัศนะที่มุ่งไม่ให้นายทหารถูกละเมิดโดยผู้บังคับบัญชา
ทั้งนี้ การยึดมั่นในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด (stern disciplinarian) ของพระองค์ผสานไปกับความตระหนักในพันธะหน้าที่ของพระองค์ที่จะต้องปกป้องสิทธิ(ทางกฎหมาย)ของนายทหารในฐานะพสกนิกรของพระองค์
นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระราชประสงค์ให้อาวุธยุทโธปกรณ์มีมาตรฐานเดียวกัน โดยทรงพัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์ในประเทศและให้มีการทดสอบและรับรองคุณภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เป็นมาตรฐานด้วย ส่วนการฝึกซ้อมรบนั้น พระองค์ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ทรงเสด็จฯทั่วราชอาณาจักรเพื่อตรวจพลทหารด้วยพระองค์เอง ทั้งยังกำหนดการฝึกซ้อมในระดับต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ
และท้ายที่สุด พระองค์ทรงร่างแผนเพื่อการระดมพลอย่างรวดเร็วพร้อมจัดวางเส้นทางการลำเลียงกำลังพลและกำลังบำรุงให้ทันแก่สถานการณ์ และทรงจัดวางยุทธศาสตร์การรบที่เน้นการป้องกัน แต่ก็พร้อมที่จะเข้าโจมตีอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันมิให้สงครามยืดยาวนานซึ่งเป็นจุดอ่อนของสวีเดน ผลความสำเร็จของการปฏิรูปทั้งหมดนี้จะไปปรากฎในรัชสมัยต่อไป
ในส่วนของกองทัพเรือนั้น มีการปฏิรูปที่แตกต่างออกไป เนื่องจากไม่ได้มีการประจำการกระจายทั่วแผ่นดินของราชอาณาจักร พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดไม่ได้ทรงให้ความสำคัญแก่กองทัพเรือเท่ากองทัพบกและกองทหารม้า และอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น พระองค์ได้ทรงมอบหมายให้ Hans Wachtameister เป็นหัวหอกในการดำเนินการปฏิรูปกองทัพเรือนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1679 โดยความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดขึ้น คือ การย้ายฐานทัพเรือหลักจากกรุงสต๊อกโฮล์มไปยังฐานทัพเรือใหม่ทางตอนใต้ที่ Karlskrona ในจังหวัด Blekinge ที่เพิ่งยึดได้มาจากเดนมาร์ก ทั้งนี้เพื่อป้องกันประเทศจากศัตรูทางตอนใต้และเพื่อยืนยันสิทธิการครองน่านน้ำบอลติก “dominium maris Balticis” ของพระมหากษัตริย์สวีเดน
ในประเด็นด้านการเงินนั้น กองทัพเรือไม่สามารถใช้ระบบรายได้เช่นเดียวกับกองกำลังทางบก โดยเข้าทำสัญญากับท้องถิ่นต่าง ๆ จำนวน 55 ฉบับ ในการแลกเปลี่ยนพันธะการเกณฑ์ทหารกับการสนับสนุนกองทัพเรือเป็นตัวเงิน พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับนายทหารเรือและนักเดินเรือขึ้นในปี ค.ศ.1692 และมีการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือในพื้นที่เมือง Karlskrona ส่งผลให้มีการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจในจังหวัด Blekinge ซึ่งทำให้มีชาวสวีเดนเข้ามาอยู่อาศัยในจังหวัดใหม่นี้มากยิ่งขึ้นด้วย
ผลลัพธ์ของการปฏิรูปกองทัพเรือสามารถอ้างอิงได้จากรายงานของกระทรวงกองทัพเรือต่อที่ประชุมฐานันดรในปี ค.ศ.1697 ที่ระบุความสำเร็จห้าประการ ได้แก่
1) การสร้างฐานทัพเรือที่ Karlskrona
2) การสร้างกองทัพเรือขึ้นใหม่ จาก 27 ลำในปี ค.ศ.1680 เพิ่มเป็น 52 ลำในปี ค.ศ.1697
3) การรวมกองกำลังทางทะเลไว้ที่เดียว
4) การครอบคลุมรายจ่ายของกองทัพเรือและของกองกำลังโดยไม่เป็นภาระทางการเงินแก่รัฐมากนัก และ
5) การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารและงบประมาณของกองทัพเรือ
นอกเหนือจากสมรรถภาพของกองทัพที่เพิ่มขึ้นและการมีระบบกองทัพแบบสมัยใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญแล้ว การปฏิรูปกองทัพยังส่งผลในทางสังคม เพราะหลังจากการปฏิรูป ที่กลุ่มชาวนาได้เข้าสู่สัญญาและต้องมีพันธะที่มากขึ้น แต่ก็ได้รับความมั่นคงและเสรีภาพที่มากขึ้นด้วย ทั้งจากการคุ้มครองความปลอดภัยจากรัฐที่มากขึ้น และจากการพ้นจากพันธะการเกณฑ์ทหาร
ส่วนกลุ่มทหาร จากที่อดีตมักประกอบไปด้วยบุคคลที่ถูกขับออกจากสังคม ได้กลายเป็นกลุ่มข้าราชบริพารที่มีระเบียบวินัยขององค์พระมหากษัตริย์ เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเป็นอยู่และได้รับการยอมรับในสังคม