ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากหาช่องทางกู้อยู่เป็นนาน ในที่สุด “ครม.อิ๊งค์” ก็เคาะออก “G-Token” หรือ “พันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบโทเคน” เป็นเครื่องมือกู้เงินรูปแบบใหม่ โดยประชาชนนักลงทุนคนไทยที่ซื้อ “G-Token” จะเป็นหนูทดลองนำร่องเป็นประเทศแรกของโลก
ต้องถือว่า “โทเคนดิจิทัลของรัฐบาล” (Government Token : G-Token) เป็นอีกหนึ่งในผลงาน “พ่อคิด ลูกทำ” เพราะเมื่อปลายปีที่แล้ว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีฐานะเป็น “พ่อนายกฯ” ได้นำเสนอแนวคิดการออกสเตเบิลคอยน์ที่ค้ำประกันด้วยพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond)
ต่อมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนนตรี ผู้เป็น “ลูกสาว” ก็รับไอเดียดังกล่าวมาสานต่อ และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. ..... เพื่อรองรับการดำเนินการของกระทรวงการคลัง ในการออกและเสนอขาย G-Token เป็นประเทศแรกของโลก
การออก G-Token เพื่อเป็นเครื่องมือระดมทุนใหม่ของรัฐบาล โดยจะเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป หลาย ๆ คนก็อาจจะยังงงงวยว่าโทเคนดิจิทัล มีที่มาที่ไปอย่างไร และจะเป็นเหมือน “ดิจิทัล วอลเลต” ที่รัฐบาลเพื่อไทย โพนทะนาว่าจะเอามาแจกในโครงการ “เงินหมื่นดิจิทัล” เพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจของประเทศ แต่สุดท้ายโครงการ “หมื่นดิจิทัล” ก็ไม่ได้ปังแถมตอนนี้ยังแป๊กไม่รู้อนาคตจะลูกผีหรือลูกคน หรือไม่?
ทั้งนี้ หากสืบสาวไปยังจุดเริ่มต้นของการออก G-Token นั้น “พ่อนายกฯ” พูดถึงเหรียญที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน หรือสเตเบิลคอยน์ (stablecoin) หรือโทเคนดิจิทัล บนเวทีสัมมนาของพรรคเพื่อไทย ภายใต้โครงการเสริมศักยภาพ สส. ในหัวข้อ “สถานการณ์ทิศทางโลกและการปรับตัว” เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ว่า เรื่องสเตเบิลคอยน์ นายกรัฐมนตรี (แพทองธาร ชินวัตร) อาจจะให้กระทรวงการคลัง ศึกษาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยไม่ต้องพิมพ์แบงก์ที่ไหน ด้วยการออกคอยน์ โดยมีบอนด์ของรัฐบาลค้ำประกัน พร้อมกับฝันเฟื่องว่า การออกสเตเบิลคอยน์ เพื่อทำให้เงินไหลเวียนในเศรษฐกิจ จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตถึงเป้าหมาย 5% แน่
เมื่อ “พ่อนายกฯ” สั่งการ ทาง “ขุนคลัง” นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เด้งรับ รีบสานต่อ โดยนำเรื่องเข้าครม. ภายใต้แผนการบริหารหนี้ ปีงบประมาณ 2568 ซึ่ง ครม. มีมติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 เห็นชอบแผนบริหารหนี้ วงเงินรวม 1,663,295 ล้านบาท
การปรับแผนบริหารหนี้ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ที่จะนำหนี้บางส่วนมาปรับเป็น G-Token เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ปี 2561 (15,479 ล้านบาท), พันธบัตรพิเศษ ปี 2563 (625 ล้านบาท), พันธบัตร “สุขกันเถอะเรา” ปี 2558 (10,000 ล้านบาท) และพันธบัตรรัฐบาล ปี 2563 (42,361 ล้านบาท) ซึ่งสำนักบริหารหนี้สาธารณะ จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะคัดเลือกหนี้ส่วนไหนมาออก G-Token
ต่อมาอีกเดือนกว่านับจากมีนาคม 2568 ก็ถึงเวลาการทำคลอด G-Token อย่างเป็นทางการ โดยที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 มีมติอนุมัติวิธีการกู้เงินโดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token : G-Token) ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้อำนาจกระทรวงการคลัง ออกโทเคนดิจิทัลโดยวงเงินกู้ตามกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณด้วยวิธีการเสนอขายให้แก่ผู้มีสิทธิซื้อโดยตรง ผ่านผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนิติบุคคลอื่นที่สามารถรับคำสั่งซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ รวมถึงการกำหนดวงเงิน อายุ อัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขการโอน และกำหนดประเภทผู้มีสิทธิซื้อ เป็นการส่งเสริมการออมของภาคประชาชน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล
การออก G-Token ครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง
ทางสำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่า หากกระทรวงการคลัง พิจารณาได้ว่าการกู้เงินโดยวิธีการออก G-Token ไม่ใช่การออกตราสารหนี้ ซึ่งไม่เป็น “หลักทรัพย์” ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แล้ว ก็สามารถดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดย G-Token มีการกำหนดสิทธิให้ผู้ถือมีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลัง กำหนด
ปัจจุบัน การกู้เงินตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 จะทำเป็นสัญญาหรือออกตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง ตั๋วเงิน หรือหุ้นกู้
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า G-Token วงเงินทดลอง 5,000 ล้านบาท ถือเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐใช้รูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลในการระดมทุนจากประชาชนโดยตรง ซึ่ง G -Token เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความมั่นคง ไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี และไม่สามารถนำไปใช้แทนเงินสดหรือซื้อขายสินค้าได้ ไม่ใช่เครื่องมือการชำระเงิน ประชาชนจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินทั่วไป วงเงินลงทุนต่ำ ถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินใหม่
เป็นที่น่าสังเกตว่า นายพิชัย ตอบชัดเจนว่า G -Token ไม่สามารถใช้แทนเงินสดหรือซื้อสินค้าได้ ปรับเปลี่ยนจากแนวทางก่อนหน้าที่นายพิชัย เคยบอกว่า ในอนาคตจะมีการวางแผนพัฒนาแพลตฟอร์มให้ใช้ G -Token ซื้อสินค้าได้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่แบงก์ชาติ และ ก.ล.ต.ค้านหัวชนฝา โดยแบงก์ชาติ ออกประกาศ เมื่อปี 2565 ห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
“ขุนคลัง” ย้ำว่า การออก G-Token ครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญคือ เพิ่มเครื่องมือระดมทุนของรัฐบาล และขยายโอกาสการเข้าถึงการลงทุนให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดย G-Token จะอยู่ภายใต้ระบบควบคุมที่ปลอดภัยและโปร่งใส สามารถซื้อขายผ่านระบบดิจิทัลของตลาดทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับข้อกังวลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีต่อการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในระบบเศรษฐกิจนั้น กระทรวงการคลัง ยืนยันว่า G-Token ไม่ใช่เครื่องมือชำระเงินตามกฎหมาย ไม่เป็นภัยต่อเสถียรภาพของเงินบาท
ทั้งนี้ การเปิดให้ประชาชนจองซื้อ G-Token คาดว่าจะเริ่มต้นได้ภายใน 2 เดือนข้างหน้า โดยวางแผนเปิดจำหน่ายจริงในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568 ภายใต้ขนาดการทดลองที่เหมาะสม ก่อนพิจารณาขยายวงเงินหรือขอบเขตการดำเนินงานเพิ่มเติมในระยะถัดไป หากได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการในระบบตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยที่พร้อมรองรับ G-Token แล้วประมาณ 7–8 ราย ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกด้านการซื้อขายและการดูแลระบบหลังบ้าน
นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้แจงว่า G-Token มีความเสี่ยงต่ำ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายและประกาศของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สามารถซื้อขายในตลาดรอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนบริหารจัดการทางการเงินและสภาพคล่องได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน การซื้อขายแลกเปลี่ยนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง ต้องใช้เวลาดำเนินการเกิน 7 วัน แต่การซื้อขายแลกเปลี่ยน G-Token คาดว่าจะเป็นแบบ Real Time แม้ในเอกสารจะระบุระยะเวลาเป็น T+1 ซึ่งหมายถึง หลังจากทำรายการเรียบร้อยแล้ว จะมีระยะเวลาประมาณ 1 วันทำการ การซื้อขายถึงจะสำเร็จ
นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนการในการดำเนินการของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เนื่องจากปัจจุบัน สบน. จะเสียค่าดำเนินการอยู่ราว 0.03% ของวงเงินจำหน่าย เช่น ถ้าออกพันธบัตรออมทรัพย์ 1 หมื่นล้านบาท ต้นทุนค่าดำเนินการ จะอยู่ที่ 3 ล้านบาท
สบน. จะกำหนดแผนการเสนอขาย G-Token ให้กับประชาชนครั้งแรก วงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เป็นไปตามกรอบวงเงินการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ประจำปีงบประมาณ 2568 ที่ สบน.วางแผนไว้ว่าในวงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท การออก G-Token ในรอบแรกนี้จึงจะไม่เพิ่มหรือไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะ และไม่ใช่การระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลตแต่อย่างใด
ส่วนกำหนดเวลาที่เสนอขายอย่างเร็วที่สุดภายในกรกฎาคม 2568 และภายในเดือนกันยายน 2568 อย่างช้าที่สุด โดยผู้มีสิทธิ์ซื้อในตลาดแรกคาดว่า จะกำหนดให้เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น ตั้งเป้าขายในราคาเริ่มต้นหน่วยละ 1 บาท
ผลตอบแทนของ G-Token จะเบิกจ่ายจากงบชำระหนี้ ในกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะเช่นเดียวกับเครื่องมือระดมทุนอื่น ๆ โดย สบน. มีแผนที่จะเสนอขาย G-Token อย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือกในการลงทุน ซึ่ง สบน. จะพิจารณากำหนดรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงต้นทุน ความเสี่ยง สภาวะตลาด และวิธีการลงทุนของผู้ลงทุน รวมถึงแผนการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม ทาง สบน. ยังต้องทำงานร่วมกับ ก.ล.ต. กำหนดรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อีก โดยรายละเอียดและเงื่อนไขในการจำหน่าย ขอให้รอหนังสือชี้ชวนอีกครั้ง
ส่วนอัตราผลตอบแทน G-Token จะเทียบเคียงกับพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาล ทั้งนี้ สบน.เพิ่งเปิดจำหน่าย พันธบัตรออมทรัพย์ปีงบประมาณ 2568 ครั้งที่ 1 วงเงิน 25,000 ล้านบาท อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว 2.65% ต่อปี
มาฟังเสียงสะท้อนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันบ้าง ทาง ธปท. โดยนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังจะออก G-Token ว่า การออก G-Token มีลักษณะคล้ายกับการออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งถือเป็นเครื่องมือการระดมทุนสำคัญของภาครัฐ เพราะฉะนั้น ความสำคัญของการออก G-Token จึงอยู่ที่การมีระบบและกระบวนการที่ดี มีความปลอดภัย มีกฎหมายรองรับ และควรคุ้มครองประชาชนได้เทียบเคียงได้กับพันธบัตรรัฐบาล
นายสักกะภพ มองว่า ลักษณะการใช้ G-Token ควรเป็นเครื่องมือระดมทุนเป็นสำคัญ โดย ธปท. ไม่อยากเห็นการนำมาใช้ในรูปแบบสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ
ทางด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่า แม้กฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะ มาตรา 10 วรรคหนึ่งเปิดให้ใช้วิธีการอื่นใดก็ได้ตามที่ ครม.อนุมัติ แต่ถ้าอ่านตามเนื้อความที่บัญญัติไว้ ย่อมจะต้องหมายถึงหลักฐานแห่งหนี้ในทำนองเดียวกับสัญญาหรือตราสารหนี้ อย่างไรก็ดี นิยามโทเคนดิจิทัลในกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ไม่น่าจะเข้าข่ายเป็นหลักฐานแห่งหนี้ตามข้อบัญญัตินี้ และ G-Token อาจไม่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ดังที่รัฐบาลโฆษณาชวนเชื่อ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องทำความชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องการขายคืน ซึ่งราคาในกองทุนรวมจะเป็นไปตามกติกาโดยมี ก.ล.ต. กำกับดูแล แต่กรณี G-Token ผู้ลงทุนจะต้องไปขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งราคาอาจจะผันผวนไปแต่ละชั่วโมงตามแรงเก็งกำไรได้
อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีเงื่อนไขบังคับไม่ให้ผู้ถือ G-Token นำไปใช้เพื่อชำระหนี้ตามกฎหมายแก่บุคคลอื่น เพราะจะเข้าข่ายเป็นเงินตราอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อน
สำหรับข้อควรระวังในการลงทุน G-Token นักลงทุนควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล ขณะที่การลงทุนผ่านตลาดรอง ในช่วงแรกอาจยังไม่มีตลาดรองรับชัดเจน อาจส่งผลต่อการขาย G-Token ก่อนครบกำหนด
โปรดอย่าลืมว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจให้ดี