ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จับตาก้าวสำคัญของปลดล็อกสุราไทย “คราฟท์เบียร์” จะก้าวไปไกลแค่ไหน ล่าสุด ครม. มีอนุมัติเบียร์สด คราฟท์เบียร์ ใส่ถัง Keg ขายนอกโรงเบียร์ Brew Pub ได้ทั่วประเทศ เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการรายย่อย ชิงส่วนแบ่งตลาด แอลกอฮอล์ 5 หมื่นล้าน ฝันใหญ่ผลักดันคราฟท์เบียร์ไทยขึ้นแท่น Soft Power
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการ ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสุรา สาระสำคัญประกอบด้วย
1. ขยายโอกาสให้โรงเบียร์ Brew Pub หรือโรงเบียร์ที่ไม่ได้บรรจุเบียร์ขวดขายแต่จะผลิตใส่ถัง – มีหัวปั๊มจ่ายเบียร์สด คราฟท์เบียร์ สามารถบรรจุใส่ถัง Keg หรือภาชนะที่ออกแบบสำหรับการบรรจุเบียร์สด ขั้นต่ำ 20 ลิตร ออกจำหน่ายนอกสถานที่ได้ เพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการพัฒนาสุราชุมชน อันมีส่วนช่วยสร้างรายได้และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสุรารายย่อยสามารถขยายตลาดทางการค้าและมีการเติบโตทางธุรกิจได้
ทั้งนี้ ได้แก้ไขกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 เปลี่ยนแปลงชื่อจากโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต เป็นโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ขนาดเล็กและขนาดกลาง
2. แก้ไขปัญหาสุราชุมชนไกลแหล่งน้ำ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง สามารถตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะน้อยกว่า 100 เมตรได้ โดยให้มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
และ 3. ขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถตั้งโรงอุตสาหกรรมขนาดกลางได้ทันทีโดยไม่ต้องรอเป็นโรงอุตสาหกรรมขนาดเล็ก 1 ปี เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้กับผู้ประกอบการสุรารายย่อย
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มติ ครม. อนุมัติในหลักการ ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการลดข้อจำกัดในการเข้าสู่ธุรกิจและการประกอบธุรกิจของผู้ผลิตสุรารายใหม่ โดยเฉพาะผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราชุมชนรายย่อย ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมสุราชุมชนให้มีความสามารถในการแข่งขัน ช่วยยกระดับรายได้ของชุมชน และส่งเสริมการใช้ผลผลิตภายในประเทศมาต่อยอดได้ สร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมเพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศโดยการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตกำลังเตรียมแก้ไขปลดข้อจำกัดเพื่อหนุนสุราชุมชนในอีกหลายประเด็นเร็วๆ นี้
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) เปิดเผยมูลค่าการตลาดสุราในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท ประเมินอนาคตผลิตภัณฑ์สุราชุมชนรวมถึงอุตสาหกรรมคราฟท์เบียร์จะมีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น 5 - 10% หรือ 25,000 - 50,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันครองส่วนแบ่งการตลาดไม่ถึง 1% หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งตลาดคราฟท์เบียร์ไทยเป็นผลมาจากโดยหลังจากปลดล็อกเงื่อนไขข้อจำกัดทางกฎหมายต่างๆ แล้ว ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีโอกาสในการประกอบธุรกิจมากขึ้น มีศักยภาพต่อยอดผลิตภัณฑ์ผลักดันสู่ Soft Power ของไทยได้
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยรายงานระบุว่า การปลดล็อกข้อจำกัดการจำหน่ายเบียร์สดในถัง Keg นอกโรงเบียร์ได้ทั่วประเทศ ตลอดจนการทยอยปลดข้อจำกัดเอื้อธุรกิจสุราเพื่อเพิ่มรายได้ชุมชน ผลักดันสู่หนุน Soft Power นับป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในระดับโครงสร้างสำคัญๆ อาทิ ด้านรายได้ชุมชน รัฐบาลสร้างเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ ภาครัฐกำลังใช้สุราชุมชนเป็น Soft Power และ GDP Multiplier
ทั้งนี้ การเปิดเสรีครั้งนี้ไม่ใช่แค่ปลดล็อกธุรกิจ แต่คือการสร้างเครื่องจักรเศรษฐกิจรากฐาน ให้สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ (Commercial Micro-Industry) เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นดัน Sake, เกาหลีใต้ Soju คาดการณ์ GDP Multiplier 1.6-2.0 เท่า ต่อธุรกิจคราฟท์เบียร์หนึ่งแห่ง ซึ่งมาจากการจ้างงาน, วัตถุดิบท้องถิ่น, บริการรองรับ เป็นต้น
ด้านการเกิดใหม่ของเศรษฐกิจ SMEs พลิกชุมชนเป็นผู้ผลิต มูลค่าหมุนเวียนใหม่เกิดขึ้น การเปิดเสรีให้ใช้ถัง Keg จำหน่ายนอกสถานที่ทั่วประเทศ เป็นโอกาสทางรายได้ระดับหมู่บ้าน สร้างธุรกิจใหม่ในชนบท ได้แก่ โรงต้มคราฟท์เบียร์, โฮมสเตย์-เบียร์, จุดท่องเที่ยวตามรอยสุราท้องถิ่น ส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับท้องถิ่นด้วยการใช้ผลผลิตข้าว, ข้าวโพด, มันสำปะหลัง เป็นต้น
ด้านการใช้ Soft Power แบบ Local Intelligence อุตสาหกรรมใหม่ของไทยที่รัฐหนุนเต็มตัว การยกระดับข้อกำหนดระยะห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะ เปิดโอกาสให้ตั้งโรงงานได้ทั่วประเทศ เป็นการแก้ Pain Point สำคัญของ startup/SMEs ที่ถูกจำกัดสิทธิมานาน โดยคาดว่าจะเห็นการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ของผู้ผลิตในภาคเหนือ อีสาน และภาคตะวันตก ที่มีวัตถุดิบหลากหลายขึ้น และด้านการสร้าง S-Curve ใหม่ให้กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, บรรจุภัณฑ์, ค้าปลีก และเครื่องดื่ม ในมุมกลยุทธ์ ตลาดหุ้นไทยได้อานิสงส์เชิงบวกระยะกลางถึงยาว
ที่ผ่านมา คราฟท์เบียร์ไทยคว้ารางวัลระดับนานาชาติมากมาย รวมทั้งมีการขยับออกสู่ตลาดโลก อาทิ Group B USA บริษัทในเครือ Group B Beer ผลักดัน 3 แบรนด์คราฟท์เบียร์ไทย อาทิ Yodbeer – Bearnana Wit, Pheebok – Sawasdee IPA และ Sandport – Samakkee Lager รุกตลาดสหรัฐอเมริกา โดยวางขายตามร้านอาหารไทยและร้านอาหารเอเชีย ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เช่น ลอสแองเจลิส ซานดิเอโก ซานฟรานซิสโก ช่วงเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งตั้งเป้าดันคราฟท์เบียร์ไทยเป็น Soft Power สร้างพื้นที่นักต้มเบียร์ไทยได้โชว์ฝีมือ
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปคือ เรื่องการปลดข้อจำกัดโฆษณาเหล้าเบียร์ในประเทศไทย ซึ่งหมายถึงความอยู่รอดได้ของธุรกิจคราฟท์เบียร์รายย่อย โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแก้ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ
โดยช่วงเดือนมีนาคม 2568 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ ... พ.ศ. ... ซึ่งจะนำไปสู่การปลดล็อกให้สามารถประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างรอกฎหมายบังคับใช้ ยังห้ามมิให้โฆษณา
อย่างไรก็ดี เกิดข้อกังวลว่าการปลดล็อคกฎหมายต่างๆ เอื้อธุรกิจน้ำเมาอย่างคราฟท์เบียร์จะส่งผลให้คนดื่มเยอะขึ้นหรือไม่นั้น? ต้องเข้าใจว่ากลุ่มผู้บริโภคคราฟท์เบียร์ไม่ใช่กลุ่มเดียวกับนักดื่มเพื่อมึนเมา วัฒนธรรมของคราฟท์เบียร์เป็นการดื่มด่ำรสชาติเพื่อความสุนทรีย์ อีกทั้ง คราฟท์เบียร์มีราคาสูงกว่าเบียร์ตลาดทั่วไป 2 – 3 เท่า
อ้างอิงงานวิจัยจาก University of Vermont ปี 2018 ระบุว่าคราฟท์เบียร์ดึงดูดกลุ่มที่มีการศึกษาสูง รายได้ปานกลางถึงสูง และสนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือการบริโภคอย่างยั่งยืน
แต่ต้องยอมรับว่า การปลดล็อกกฎหมายเอื้อธุรกิจประเภทนี้ย่อมส่งผลให้คนบางกลุ่มอยากทดลองดื่ม แต่ด้วยข้อจำกัดด้านราคาและวัฒนธรรมการดื่มของคราฟท์เบียร์ ไม่น่าจะส่งผลให้ให้คนดื่มเบียร์เยอะไปกว่าเดิม สิ่งสำคัญการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับคราฟท์เบียร์ไม่ใช่เพื่อสนับสนุนเพิ่มการบริโภค แต่มุ่งเน้นการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์