ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่น่าจับตาหลัง “ทัวร์เถื่อน-ไกด์ผี” กลับมาแพร่ระบาดอย่างหนัก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในภาคธุรกิจท่องเที่ยว แม้ที่ผ่านมามีดำเนินการปราบปรามมาอย่างต่อเนื่องจนเรื่องเงียบหายไปพักใหญ่ โดยล่าสุด รัฐบาลสั่งการตรวจสอบบริษัทนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดทั่วประเทศ
ย้อนกลับไป เดือนเมษายน 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวเกาะพะงันจับกุม นายเดวิด วัย 45 ปี อดีตทหารหน่วยรบพิเศษ ชายชาวอิสราเอล หลังพบลักลอบเปิดทัวร์พาเด็กชาวต่างชาติเที่ยวหลายจุดบนเกาะพะงัน โดยคิดค่าบริการ 800 บาทต่อวัน หรือสูงถึง 8,000 บาทต่อสัปดาห์
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบกระทำผิดฐานประกอบอาชีพมัคคุเทศก์และธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเข้าข่ายทำงานนอกเหนือวีซ่าที่ได้รับ เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมเดินหน้ากวาดล้างชาวต่างชาติที่แฝงตัวกระทำผิด
หรือเมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 กองสืบตำรวจท่องเที่ยว จับกุม Mr.Yue Liu อายุ 31 ปี ชายชาวจีนลักลอบทำทัวร์เถื่อน รูปแบบ F I T บริเวณหน้าวัดพระแก้ว ลักษณะจัดการโปรแกรมเที่ยวเองเต็มระบบ ด้วยการบริการรูปแบบ VIP กินหรู อยู่สบาย โดยจองโปรแกรมนำเที่ยวผ่านระบบออนไลน์ จับกุมในฐานความประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตฯ และเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้
ขณะที่ในพื้นที่ภาคเหนือเองก็ประสบกับปัญหาเดียวกัน โดยที่ผ่านมาจับกุมบริษัททัวร์ผิดกฎหมายต่อเนื่อง มีการจับกุมมัคคุเทศก์ที่กระทำผิดเดือนละกว่า 60 - 70 ราย โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ที่ลักลอบทำงานเป็นมัคคุเทศก์ไปรอรับนักท่องเที่ยว โดยอ้างว่าเป็นญาติ หรือ เพื่อน และนำไปท่องเที่ยวตามจุดต่างๆ
นั่นคือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า “ทัวร์เถื่อน-ไกด์ผี” เข้ามาทำมาหากินในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาที่หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งรีบแก้ไขและวางมาตรการป้องกันโดยเร่งด่วน
ทั้งนี้ มัคคุเทศก์เถื่อนนอกจากเป็นการทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการแย่งอาชีพสงวนของคนไทย ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว และการนำเที่ยวลักษณะทัวร์เถื่อนจะไม่มีการทำประกันภัยให้แก่นักท่องเที่ยว หากเกิดอุบัติเหตุรุนแรงนักท่องเที่ยวก็จะไม่ได้รับการดูแลหรือเยียวยาใดๆ
นายวัสน์พล อรรถพรธนเสริฐ นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าปัจจุบันมัคคุเทศก์เถื่อนซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่ไม่ใช่สัญชาติไทยมาแย่งอาชีพซึ่งนับเป็นอาชีพสงวนของคนไทย พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ยุติธรรมกับมัคคุเทศก์ที่มีบัตรมัคคุเทศก์ และเรียกร้องให้ทางคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ไข และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อปกป้องภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว
สถานการณ์ปัญหามัคคุเทศก์ต่างชาติแย่งงานมัคคุเทศก์ไทย ไม่ได้มีเฉพาะมัคคุเทศก์กลุ่มชาวจีน แต่ยังมีมัคคุเทศก์เกาหลีใต้ที่เข้ามารับงาน รวมไปถึงบริษัทนำเที่ยวของชาวยุโรปที่มีข้อมูลไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทนำเที่ยวถูกกฎหมาย เป็นต้น
โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568 ได้มีการสุ่มตรวจสถานประกอบการของบริษัทนำเที่ยวจำนวน 940 ราย และมัคคุเทศก์ 338 ราย
พบการกระทำความผิดของบริษัทนำเที่ยว 3 ลำดับแรก คือ การประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต การไม่แสดงใบอนุญาต และการไม่ทำประกันให้นักท่องเที่ยว ส่วนความผิดหลักของมัคคุเทศก์ คือ การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีใบอนุญาต และการไม่แสดงใบสั่งงาน
รายงานสถิติกรมการท่องเที่ยว พบว่าในปี 2567 มีบริษัทนำเที่ยวที่ไม่ได้รับอนุญาตกว่า 15% และมัคคุเทศก์เถื่อนกว่า 10% จากจำนวนทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
ขณะที่ ข้อมูลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ระบุว่า ช่วงปี 2567-2568 มีคดีเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติและไทยจำนวน 120 คดี โดยมีการดำเนินคดีจนถึงขั้นศาลแล้ว 55 คดี
สำหรับบทลงโทษผู้กระทำผิดในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และส่วนผู้ปฏิบัติหน้าที่มัคคุเทศก์โดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ การโฆษณาขายทัวร์ไม่ว่าช่องทางใด ต้องแสดงเลขที่ใบอนุญาต ชื่อ และที่ตั้งให้นักท่องเที่ยวทราบ และต้องใช้มัคคุเทศก์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องเท่านั้น
ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมมือหน่วยงานพันธมิตร เปิดปฏิบัติการเชิงรุกตรวจสอบบริษัทนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัยของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (ศปต.)” เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาทัวร์นอมินีและมัคคุเทศก์เถื่อนอย่างจริงจัง ดำเนินการร่วมกับ 5 หน่วยงานหลัก สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
มาตรการดังกล่าวแสดงถึงความเด็ดขาดของรัฐบาลในการปราบปราม “ทัวร์เถื่อน – ไกด์ผี” ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว แม้จะเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากในระยะสั้น แต่การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังถือเป็นก้าวสำคัญ
นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่าปี 2568 จะตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อเนื่องต่อ โดยสามารถประชาชนเบาะแสเกี่ยวกับบริษัทนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ที่กระทำผิดผ่านช่องทางเฟซบุ๊กเพจกรมการท่องเที่ยว หรืออีเมล tgtcenter@tourism.go.th และ DOT-TGIS@tourism.go.th
ขณะที่ นส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย โดยการดำเนินการอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องในการปราบปรามทัวร์เถื่อนและมัคคุเทศก์เถื่อน ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
สถานการณ์ “ทัวร์เถื่อน – ไกด์ผี” รัฐบาลดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ ศปต. ตลอดจนการเพิ่มโทษให้หนักขึ้นและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมและลดการกระทำผิดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย