xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (38): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงยืนยันที่จะเรียกคืนทรัพย์สินเป็นจำนวนมากกลับคืนสู่พระคลังแม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการอย่างล่าช้าก็ตาม และการตั้งคณะกรรมาธิการด้านการคลังในการจัดทำรายการทรัพย์สินทั้งหมดทุกประเภทในราชอาณาจักรก็ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าจะทำสำเร็จได้ 

เป็นการยากที่จะสรุปผลของนโยบายการเวนคืนที่เกิดขึ้นสำหรับแต่ละกรณี การเรียกคืนทรัพย์สินกลับคืนยังเปิดช่องทางการเจรจาต่อรองระหว่างอภิชนกับพระมหากษัตริย์ อภิชนอาจอ้างถึงการพัฒนาที่ดินให้มีมูลค่ามากขึ้นหรือนำประเด็นการไม่ได้รับเงินเดือนประจำมาต่อรอง นอกจากนี้ การร้องขอความกรุณาอย่างจำยอมต่อพระมหากษัตริย์ก็มักทำให้ได้การยินยอมอนุโลมใดๆ

 “พระเจ้าชาร์ลสที่สิบอ็ดทรงยืนกรานว่าการยินยอมและการยกเว้นทั้งปวงอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจอธิปไตยของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว” 


พระองค์ทรงห้ามมิให้คณะกรรมาธิการการเวนคืนกระทำการผ่อนปรนโดยต่อรองกันเอง นอกจากนี้ อภิชนอาจเลือกเสนอการแลกเปลี่ยนที่ดินส่วนอื่นเพื่อรักษาที่ดินที่เป็นประโยชน์ต่อสถานะและฐานะของอภิชนได้ กระนั้น พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดไม่ได้มีพระราชประสงค์ที่จะพรากทรัพย์สินของฝ่ายอภิชนไปทั้งหมด

พระองค์ทรงยืนยันว่าอภิชนจะต้องมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีตามสถานะและพระองค์ก็ทรงพร้อมที่จะให้เงินสนับสนุนในส่วนดังกล่าว นอกจากนี้ อภิชนยังจะได้รับเงินเดือนประจำตำแหน่งราชการที่มั่นคงและสม่ำเสมอจากสถานะการคลังของประเทศที่มั่นคงขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่านโยบายการเวนคืนนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อกลุ่มอภิชนอย่างที่พวกอภิชนวิตกกังวลกัน

มีความพยายามที่ประเมินถึงผลของนโยบายการเวนคืนในภาพรวมผ่านสัดส่วนการถือครองที่ดินที่ชาวนาเช่าทำการเกษตร (tenancy) พบว่าในปี ค.ศ.1600 ที่ดินจำนวนสองในสามเป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่เพียงหนึ่งในสามเท่านั้นเป็นที่ดินของอภิชน

พอถึงปี ค.ศ.1680 อภิชนมีสัดส่วนที่ดินมากขึ้นจนกลายเป็นสองในสาม ขณะที่สถาบันกษัตริย์ถือที่ดินเพียงหนึ่งในสาม ท้ายที่สุด นโยบายการเวนคืนส่งผลให้ในปี ค.ศ.1700 อภิชนสูญเสียที่ดินลดไปครึ่งหนึ่ง และสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ที่ดินกลับมาที่สองในสาม เท่ากับช่วงต้นคริสต์วรรษ

อย่างไรก็ตาม ที่ดินส่วนใหญ่ที่อภิชนสูญเสียไปนั้น เป็นที่ดินที่กระจุกตัวอยู่แต่ในกลุ่มอภิชนระดับสูงที่ร่ำรวยเท่านั้น

การศึกษาอีกชิ้นที่ศึกษาในเขตอุปซาลา (Uppsala) ชี้ให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวไม่ได้ส่งผลอย่างรุนแรงต่ออภิชนระดับธรรมดาที่ไม่ได้ถือครองที่ดินจำนวนมากและได้รับรายได้ตามตำแหน่งราชการอย่างมั่นคงเป็นการแลกเปลี่ยน

 ทั้งนี้ พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดยังได้ทรงปฏิรูปการลงทะเบียน “manor” ให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น ส่งผลให้ที่ดิน “manor” จำนวนถึงหนึ่งในสามถูกยกเลิกไป และแน่นอนว่า การลดการถือครองที่ดินของอภิชนย่อมเป็นประโยชน์ต่อฐานันดรชาวนาส่วนหนึ่งที่เป็นชาวนาติดที่ดินอภิชน อย่างไรก็ดี หลักฐานชี้ว่า พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงพิทักษ์สิทธิของฐานันดรชาวนาเท่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายเท่านั้น และเงื่อนไขการเช่าที่ดินของพระมหากษัตริย์ก็ดูจะเข้มงวดกว่าการเช่าที่ดินอภิชนด้วยซ้ำ มีการอ้างเหตุผลว่านโยบายดังกล่าวเป็นพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์และนโยบายดังกล่าวไม่ได้ขัดกับกฎหมายของสวีเดน ฉะนั้น วัฒนธรรมทางการเมืองที่วางอยู่บนความจงรักภักดีอย่างไม่โต้แย้ง (“political culture [which was] built round the rule of unquestioned obedience”) ของสวีเดนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 จึงเป็นกรอบในการทำความเข้าใจพัฒนาการที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ปัญหาด้านการคลังและความจำเป็นในการเร่งรื้อฟื้นสมรรถภาพของกองทัพสวีเดนก็เป็นประเด็นที่ไม่อาจปฏิเสธได้  “ข้อถกเถียงจึงเป็นเรื่องของวิธีการ ไม่ใช่เป้าหมาย” 

ฝ่ายอภิชนเองยังต้องเผชิญกับทางเลือกระหว่างนโยบายการเวนคืน และการเก็บภาษี ซึ่งทางเลือกอันหลังถือเป็นการลดทอนอภิสิทธิ์อันเป็นสัญลักษณ์ของฐานันดรอภิชน นั่นคือ การที่พวกอภิชนเคยได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับความพยายามของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างฐานันดรอภิชนที่เพิ่มจำนวนอภิชนใหม่ตามตำแหน่งราชการและเพิ่มจำนวนตำแหน่ง  เคาท์และบารอน (Count and Baron)  อันเป็นการทอนสถานะและอภิสิทธิของกลุ่มอภิชนโดยเฉพาะอภิชนระดับบนลง

นั่นคือ การปรับฐานันดรอภิชนให้กลายเป็นชนชั้นข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถตามระบบคุณธรรมความสามารถ (meritocracy) ซึ่งแน่นอนว่าฐานันดรอภิชนรูปแบบใหม่นี้ย่อมผูกพันและอยู่ภายใต้พระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ด้วย
ฉะนั้น ไม่ว่าความไม่พอใจและความเกลียดชังในหมู่อภิชนใหญ่ต่อพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดจะมีเพียงใด กลุ่มอภิชนระดับสูงเหล่านั้นก็ถูกจำกัดบทบาทและทางเลือก ด้วยสาเหตุของความแตกแยกภายในฐานันดรอภิชนเอง และพลังจากฝ่ายสามัญชนที่สนับสนุนพระราชอำนาจอย่างแข็งขัน ดังผลที่เป็นรูปธรรมคือ ไม่ปรากฏความพยายามใดๆ ในการต่อต้านนโยบายของพระองค์จากพวกอภิชน

 ผลงานการปฏิรูปในเรื่องที่สำคัญที่สุดของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด คือ การปฏิรูปองค์กรกองทัพของสวีเดน ซึ่งหลังจากการปฏิรูป ได้ใช้ต่อเนื่องมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 รากฐานของการปฏิรูปกองทัพที่เกิดขึ้นคือการปฏิรูปแหล่งรายได้ของกองทัพด้วยการใช้ระบบ indelningsverk และ knektehåll อันเป็นรากฐานของการฟื้นฟูกองทัพของสวีเดนให้กลับมาเข้มแข็งมั่นคง ประกอบด้วยการสร้างระบบกองทัพที่มีความเป็นสมัยใหม่และมีความเชี่ยวชาญ 

ฉะนั้น เมื่อถึงปลายรัชสมัยปี ค.ศ.1697 สวีเดนมีจำนวนทหารประจำการถึง 61,100 นายทั่วราชอาณาจักรและดินแดนโพ้นทะเล และมีงบประมาณสำหรับกองทัพถึง 2,800,000 เหรียญ (dsm) จากงบประมาณทั้งหมดที่ 4,576,129 เหรียญ

แหล่งรายได้ประเภทแรกที่นำมาใช้สนับสนุนกองทัพคือ indelningsverk  ซึ่งเป็นการผูกรายการรายจ่ายเข้ากับแหล่งรายได้อย่างเป็นการถาวร พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงนำระบบดังกล่าวที่มีอยู่แล้วมาบังคับใช้ทั่วไปและอย่างคงเส้นคงวา โดยนำมาใช้กับการสนับสนุนกองทหารม้าเป็นหลัก นั่นคือ จัดให้กองทหารม้าประจำการอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์สิ่งของที่นำมาสนับสนุนบำรุงกองทหารดังกล่าวจะมาจากเงินค่าเช่าและภาษีของที่ดินดังกล่าวนั่นเอง
 
สำหรับนายทหารระดับผู้บัญชาการ ให้มีการจัดสรรที่ดินประจำตำแหน่ง (แต่ไม่ใช่การโอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่ดิน) และให้บริหารรายได้จากที่ดินดังกล่าวในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ขณะที่นายทหารระดับล่างก็ได้รับรายได้จาก ระบบ rusthåll  ซึ่งหมายถึงการที่ชาวนาที่เช่าที่ดินเป็นผู้ให้การสนับสนุนและบำรุงนายทหารแลกกับการยกเว้นการจ่ายภาษี และในยามปลอดสงคราม นายทหารดังกล่าวจะเป็นแรงงานในไร่นาด้วย ระบบดังกล่าวทำให้ผู้บัญชาการต้องอยู่อาศัยกับนายทหารในบังคับบัญชา อันทำให้มีการตรวจสอบและฝึกฝนดูแลกองกำลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี การบังคับใช้ระบบดังกล่าวเป็นการทั่วไปเป็นเรื่องยากลำบาก จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการในด้าน  indelningsverk  ขึ้นเพื่อพิจารณา คัดเลือกและจัดสรรที่ดินที่เหมาะสม และพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด และมีพระบรมราชวินิจฉัยให้จัดทำรายการ militiebok   ที่ระบุรายการที่ดิน ประเมินพันธะและวัตถุประสงค์ของรายได้ ส่วนปัญหาที่พบเจอในการบังคับใช้ระบบดังกล่าวคือปัญหาความไม่พร้อมของที่ดิน อันนำไปสู่การสร้างและบำรุงที่ดินและโรงเรือน และปัญหาการประมาณการรายได้ของที่ดินที่สูงเกินไป ซึ่งนำไปสู่การประเมินที่ดินใหม่

แหล่งรายได้ที่ประเภทที่สองคือ  knektehåll ซึ่งเป็นการทำสัญญาระหว่างรัฐกับกลุ่มชาวนาท้องถิ่น ให้กลุ่มชาวนาหนึ่ง ๆ มีหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันในการฝึกฝนและบำรุงนายทหารจำนวนหนึ่งเพื่อแลกเปลี่ยนยกเว้นหน้าที่ในการเกณฑ์ทหาร-แรงงาน

โดย knektehåll เป็นการแทนที่ระบบการเกณฑ์ทหารที่ไม่สามารถเกณฑ์คนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเพราะความไม่เป็นที่นิยมอันทำให้มีการหนีทหาร รวมถึงการยกเว้นการเกณฑ์ทหารที่ชาวนาติดที่ดินอภิชนได้รับ แม้ว่าฝ่ายอภิชนจะไม่เห็นด้วยกับระบบดังกล่าวเนื่องจากการเป็นลดทอนสิทธิของชาวนาติดที่ดินของตนและลดอำนาจในการควบคุมชาวนาเช่าที่ดินของตน
ระบบดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากฐานันดรชาวนาที่ต้องการยกเลิกพันธะการเกณฑ์ทหาร-แรงงานและพันธะจากองค์พระมหากษัตริย์ ความนิยมของระบบการมีส่วนร่วมในหมู่ชาวนาติดที่ดิน ทำให้จังหวัดต่าง ๆ รับเอาระบบดังกล่าวไปใช้ทั่วราชอาณาจักร

 ทั้งนี้ พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดและฝ่ายราชการต้องเข้าเจรจาตกลงเรื่องจำนวนทหารในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะนำไปเจรจาตกลงกับกลุ่มชาวนา แต่ละกลุ่ม (rota) ต่อไป ซึ่งการเจรจาทั้งระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นปรากฎให้เห็นถึงการยืดหยุ่นและมีการผ่อนปรนมาก อันสะท้อนว่าแม้พระองค์จะมีพระราชอำนาจสมบูรณ์ตามหลักการ แต่พระองค์ก็ยังต้องเข้าเจรจากับจังหวัดและท้องถิ่นในการนำพระราโชบายไปบังคับใช้ 


กำลังโหลดความคิดเห็น