xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โกกั้ง (4) ราชวงศ์หมิงใต้ร่มเงาพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 เส้นทางการหลบหนีของจักรพรรดิหย่งลี่และพลพรรคที่พ่ายแพ้ไปยังดินแดนของพม่า  (ภาพ : : วิกิพีเดีย)
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

การที่ทัพชิงสามารถทำให้จักรพรรดิหย่งลี่และพลพรรคพ่ายแพ้ได้นั้น ส่วนหนึ่งต้องนับเป็นฝีมือของขุนนางที่ชื่อ หงเฉิงโฉว (洪承疇, ค.ศ.1593-1665)  อดีตมหาอำมาตย์ของหมิงที่แปรพักตร์มาอยู่กับชิง เขาถูกส่งมาเป็นข้าหลวงที่อวิ๋นหนัน และที่แห่งนี้เขาได้ใช้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อจูงใจชนพื้นเมืองให้ยอมรับ

 นโยบายที่ว่าคือ การปรับปรุงพัฒนาการเกษตรของมณฑลนี้ให้เจริญก้าวหน้า และให้ความรู้เรื่องการเกษตรแก่ชนพื้นเมืองพร้อมกันไปด้วย  

อย่างไรก็ตาม การปิดล้อมพลพรรคของจักรพรรดิหย่งลี่ที่เป็นไปอย่างเข้มข้นนั้น ทำให้หย่งลี่ตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก จนนำไปสู่การขัดขืนคำสั่งและเกิดจลาจลขึ้น แรงกดดันนี้ทำให้มีการหนีทัพหรือล้มหายตายจากของพลพรรค และทำให้กองกำลังที่มีอยู่ราว 4,000 คนก็หายไปสองในสาม แล้วพลพรรคที่เหลือก็เดินทางโซซัดโซเซเข้าไปยังเขตแดนของพม่า

จนเมื่อเข้าไปยังเขตพม่าในอีกหลายวันต่อมาก็เหลืออยู่เพียง 646 คน

จากนั้นจักรพรรดิหย่งลี่ผู้ตกอับและพลพรรคก็ต่อแพขึ้น แล้วก็ล่องไปตามแม่น้ำอิรวดีในส่วนที่ไหลผ่านเมืองพะโม (Bhamo) แพที่ล่องไปตามกระแสน้ำมุ่งไปทางดินแดนที่อยู่ทางใต้ โดยตั้งใจว่าจะไปให้ถึงกรุงอังวะที่เป็นเมืองหลวงของพม่า แต่ที่ไปถึงจริงกลับเป็นเมืองตีเกียง (Htigyaing) ในปัจจุบัน

จากตีเกียงคณะของหย่งลี่จึงเดินทางทางบก แต่ด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มคนแปลกหน้า ในบางครั้งก็สร้างความเข้าใจผิดขึ้นในระหว่างทางว่าจีนกำลังเข้ามารุกราน แต่จนแล้วจนรอดคณะของหย่งลี่ก็เข้าไปถึงเขตแดนอังวะเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมจนได้ ซึ่งจนถึงตอนนั้นกองกำลังของหย่งลี่ได้หนีหายเข้าไปในป่าอีกหลายสิบคน

ในที่สุด คณะของหย่งลี่ก็เดินทางไปถึงเมืองอังวะในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1659 และได้อาศัยพื้นที่ชนบทเป็นที่พำนัก โดยพลพรรคได้สร้างเรือนพักริมแม่น้ำให้แก่พระองค์ เรือนพักนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับอังวะที่ตั้งอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ ตลอดหลายเดือนที่ทรงพำนักอยู่ตรงพื้นที่นี้นั้น คณะของหย่งลี่ได้รับการปฏิบัติด้วยความสุภาพนอมน้อมจากทางการท้องถิ่น

จนถึงตอนนั้นฐานะของหย่งลี่จึงแทบไม่หลงเหลือความเป็นจักรพรรดิ แม้พระองค์จะทรงใช้ชีวิตที่เรียบง่าย แต่ก็มีความสะดวกสบายตามควร โดยกองกำลังของพระองค์พยายามสร้างเรือนพักของพระองค์ให้เหมือนเจ้าบ้าน คือสร้างเรือนพักที่เป็นไปตามกรอบประเพณีพม่า

 การที่หย่งลี่ได้รับการปฏิบัติเช่นนี้จากพม่ามีประเด็นที่ควรกล่าวด้วยว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้นจีนกับพม่ามีความสัมพันธ์ที่ยาวนานมาก่อน จีนเรียกพม่าว่า เหมี่ยนเตี้ยน (缅甸) แต่ก็จัดพม่าให้เป็นหนึ่งในอาณาจักรของชนป่าเถื่อน (barbarian) จากที่มีอยู่หลายอาณาจักร และมีความสัมพันธ์กับพม่าในระบบบรรณาการ 

ครั้นถึงสมัยราชวงศ์หมิง จีนที่เป็นเจ้าเหนืออาณาจักรในแถบนี้ก็ให้พม่าเป็นที่ตั้งของ  สำนักงานเพื่อสันติภาพ (pacification offices)*  โดยไม่มีเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ที่สำนักงานนี้แต่อย่างไร แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นตัวแทนทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ยังต้องส่งบรรณาการ และการให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่จีนหากมีศึก

ความสัมพันธ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากจนของชาวพม่า และกว่าที่พม่าจะหลุดพ้นฐานะนี้ไปได้ก็ล่วงสู่กลางศตวรรษที่ 16 ในช่วงนี้พม่ามีความแข็งแกร่งขึ้นมาไม่น้อย แข็งแกร่งจนสามารถส่งกองทัพขึ้นไปทางเหนือเข้าตีอวิ๋นหนัน ซึ่งเวลานั้นตรงกับรัชสมัยของจักรพรรดิวั่นลี่ (萬曆帝, ครองราชย์ ค.ศ.1572-1620)

ตราบจนทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 16 พม่ายังคงทำศึกกับจีนที่อวิ๋นหนันอยู่เป็นระยะ แต่ไม่ต่อเนื่องดังก่อนหน้านี้ โดยต่างก็ใช้รัฐเล็กรัฐน้อยในแถบชายแดนเป็นเสมือนตัวประกัน การศึกที่มีขึ้นนี้ทำให้เห็นว่าพม่าเป็นอิสระจากจีน และมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับจีน

และเมื่อพ้นรัชสมัยวั่นลี่ไปแล้ว พม่ากับจีนก็ไม่มีการติดต่อกันอีกเลย

ที่สำคัญคือ บรรดารัฐต่างๆ ที่อยู่ทางตอนเหนือของพม่าต่างก็ขึ้นต่อพม่า และยอมรับการปกครองของรัฐบาลพม่าที่มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่อังวะ

ในช่วงหย่งลี่ลี้ภัยมายังพม่านั้น กษัตริย์ของพม่าคือ  พระเจ้าพินดาเล (Pindalè, ค.ศ.1608-1661)  ประวัติศาสตร์พม่าระบุว่า พินดาเลเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอยิ่งกว่าบรรพกษัตริย์ทุกพระองค์ของพม่า และพระองค์ก็ทรงให้ที่หลบภัยแก่หย่งลี่ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม

แต่กับพลพรรคของหย่งลี่ที่ถูกตีล่าถอยไหลทะลักเข้ามาในพม่านั้น พระองค์กลับยากที่จะจัดการ เพราะเมื่อเข้ามาแล้วกองกำลังของหย่งลี่ไม่เพียงจะเข้าตีเมืองตามแถบชายแดนเท่านั้น หากยังได้ยุยงให้ราษฎรในแถบนั้นก่อกบฏต่อพม่าอีกด้วย ครั้นถึงต้นฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ.1660 กองกำลังนี้ก็คุกคามพม่าหลายครั้ง เพื่อให้รับตนอยู่ในความดูแลเช่นเดียวกับที่ดูแลหย่งลี่

ภาวะดังกล่าวจึงทำให้พม่ากระอักกระอ่วนใจ ด้วยไม่มีหลักประกันว่าหากยอมทำตามแล้ว กองกำลังของหย่งลี่จะไม่ก่อความยุ่งยากให้แก่อังวะและพระเจ้าพินดาเล ที่ซึ่งเวลานั้นกำลังขาดแคลนกำลังรบอยู่ด้วย แต่ครั้นจะส่งหย่งลี่กลับไปให้กองกำลังเหล่านี้ดูแลก็กลับถูกปฏิเสธ พม่าจึงตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

อย่างไรก็ตาม หากกล่าวโดยข้อเท็จจริงแล้ว หย่งลี่มิได้มีฐานะเป็นจักรพรรดิแล้ว เป็นก็แต่เพียงผู้ลี้ภัยที่ถูกทัพแมนจูไล่ล่า เช่นเดียวกับกองกำลังของพระองค์ที่ก็มิใช่ทหาร หากแต่คือกองโจรที่หลบหนีเข้ามายังพม่าแล้วบุกโจมตีรัฐไทยใหญ่และรัฐอื่นๆ ไปทั่ว

ไม่เพียงเท่านั้น กองโจรนี้ยังได้ปล้นสะดม ข่มขืน และบีบบังคับราษฎรให้เข้าร่วมกับตนอีกด้วย

ส่วนพระเจ้าพินดาเลก็ดังได้กล่าวไปแล้วว่ากำลังขาดแคลนกำลังพลนั้น ครั้นพระองค์ส่งกำลังเข้าต่อต้านผู้รุกราน กองกำลังของพระองค์ก็เล็กเกินกว่าจะสู้ได้ จน ค.ศ.1658 ที่ทัพของหย่งลี่รบแพ้ทัพแมนจูเป็นครั้งสุดท้ายแล้วหนีเข้ามายังพม่านั้น พระเจ้าพินดาเลจึงตกอยู่ในฐานะลำบาก เพราะจะหากขับไล่หย่งลี่ออกไป กำลังพลของพระองค์ก็ไม่เพียงพอ พระองค์จึงได้แต่รับเอาหย่งลี่มาดูแลด้วยหลักมนุษยธรรมดังกล่าว

 กล่าวกันว่า ข้อผิดพลาดเหนืออื่นใดของพระเจ้าพินดาเลก็คือ การปล่อยให้หย่งลี่และกองโจรของพระองค์เข้ามาถึงเมืองหลวงอังวะ ที่แม้จะปลดอาวุธและจัดพื้นที่ให้อาศัยอยู่บนอีกฝั่งของแม่น้ำแล้วก็ตาม แต่พระองค์กลับเปิดโอกาสให้กองโจรสู้รบกับจีนโดยใช่เหตุ 

ในที่สุด ภาวะที่แสนจะกระอักกระอ่วนใจนี้ก็มาถึงจุดที่พม่าต้องเผชิญกับทัพใหญ่ของแมนจู ที่รุกมาถึงชายแดนจีน-พม่า


กำลังโหลดความคิดเห็น