ความพยายามในการแก้ไขวิกฤติของ “นิสสัน มอเตอร์” ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้เมื่อไหร่ ด้วยผลประกอบการของบริษัทตกอยู่ในสภาพย่ำแย่มาอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลอันน่าตระหนกที่ออกมาล่าสุดก็คือ การประกาศแผนเลิกจ้างพนักงานเพิ่มเติมกว่า 10,000 คนทั่วโลก ส่งผลให้ยอดรวมการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20,000 คน หรือคิดเป็น 15% ของพนักงานทั้งหมด ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา
ที่ต้องตื่นตระหนักก็เพราะ ก่อนหน้านี้ นิสสันได้ประกาศแผนเลิกจ้างพนักงาน 9,000 คน และลดกำลังการผลิตทั่วโลกลง 20% ไปแล้ว
เหตุผลของการลดคนครั้งมโหฬารครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากนิสสันคาดการณ์ว่าจะขาดทุนสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 700,000 ล้านถึง 750,000 ล้านเยน (ประมาณ 4.74 ถึง 5.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็นเงินไทย 1.7 แสนล้านบาท) สำหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นิสสันประสบปัญหายอดขายตกต่ำในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา เนื่องจากขาดรถยนต์รุ่นใหม่และไม่มีรุ่นไฮบริดเพียงพอ ขณะที่ในจีน ยอดขายลดลงอย่างมาก บริษัทจึงวางแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ประมาณ 10 รุ่นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อฟื้นฟูยอดขาย
นอกจากนั้น มีรายงานด้วยว่า ช่องว่างระหว่างยอดขายและกำลังการผลิตขยายกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราการใช้กำลังการผลิต (plant utilization rate) ของนิสสันในสหรัฐฯ อยู่ที่ 57.7% ในปี 2024 ขณะที่ในจีนและญี่ปุ่นอยู่ที่ 45.3% และ 56.7% ตามลำดับ
ตัวเลขดังกล่าว เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากบริษัทวิจัย GlobalData ต้องถือว่าต่ำกว่าระดับคุ้มทุน (breakeven point) ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่โดยปกติอยู่ที่ประมาณ 80%
บริษัทระบุว่าจะบันทึกค่าเผื่อด้อยค่าสินทรัพย์ (impairments) มากกว่า 500,000 ล้านเยน จากการทบทวนสินทรัพย์การผลิตในอเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นอย่างละเอียด
ขณะที่ “เกียวโดนิวส์” ฟันธงเปรี้ยงไปชัดเจนเลยว่า เนื่องจากธุรกิจในสหรัฐฯ และจีนยังคงประสบปัญหา พร้อมระบุด้วยว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นิสสันมีแผนจะปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ คาดจะปิดช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนปีนี้และโรงงานอื่นอีก 2 แห่งโดยไม่ให้รายละเอียด
อย่างไรก็ดี ความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวก็ออกมาอย่างเป็นทางการ โดย “นายอีแวน เอสพิโนซา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ นิสสัน มอเตอร์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งซีอีโอของบริษัทเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แถลงผลการดำเนินงานทั่วโลกประจำปีงบประมาณ 2024 ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
กล่าวคือ มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 670,000 ล้านเยน หรือ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 148,500 ล้านบาท ส่งผลให้เป็นผลผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิที่มากที่สุดครั้งหนึ่งประวัติการณ์ของนิสสัน มอเตอร์ โดยก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์ว่า ผลการดำเนินงานจะขาดทุนสุทธิสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ถึง 750,000 ล้านเยน หรือ 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 168,300 ล้านบาท
นอกจากนั้น เนื่องจากความไม่แน่นอนสูงของสถานการณ์ทั่วโลก นิสสัน ยังได้ยกเลิกการประกาศแนวโน้มคาดการณ์ผลการดำเนินงานของธุรกิจในปีงบประมาณปัจจุบัน ได้แก่ คาดการณ์ยอดขายสุทธิ คาดการณ์ผลกำไรสุทธิ และและคาดการณ์กระแสเงินสด เป็นต้น โดยสาเหตุเกิดจากยอดขายรถยนต์นิสสันตกต่ำลงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นทวีปอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน อาเซียน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้างองค์กร และปรับแผนทางธุรกิจที่กระจายอยู่ในแถบทุกภูมิภาคของโลกเช่น อเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันนิสสันยังปรับลดค่าใช้จ่ายผ่านมาตรการต่างๆ เช่น ลดกำลังการผลิต 20% ทั่วโลก เตรียมปิดโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์นิสสันจำนวน 7 แห่ง ในเบื้องต้นจะเป็นโรงงานที่ผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นอย่างไรก็ตามอาจมีการชี้แจงเพิ่มเติมในอนาคต ส่งผลให้จำนวนโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์นิสสันจะลดลงมาเหลือ 10 แห่งภายในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2570 หรือภายใน 2 ปีจากนี้ไป
การปลดพนักงานนิสสันทั่วโลกสำหรับครั้งนี้และครั้งก่อนหน้า นับเป็นการปลดการนิสสันทั่วโลกที่มากที่สุดในรอบ 26 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งในปีนั้น นิสสัน มอเตอร์ ปลดพนักงานทั่วโลกมากถึง 21,000 คน
ที่สำคัญคือ นิสสันมีความจำเป็นที่จะต้องลดจำนวนพนักงานของนิสสันในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะกลายเป็นการปลดพนักงานของนิสสันที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปีผ่านมา หรือนับตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งนิสสันปลดพนักงานในปีดังกล่าวออกเป็นจำนวนมากถึง 1,500 คน
ทั้งนี้ คาดว่าแผนการปิดโรงงานในประเทศจะได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากสหภาพแรงงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้การประสานงานเป็นไปได้ยาก
ปัจจุบัน นิสสันมีโรงงานประกอบรถยนต์ 5 แห่งในญี่ปุ่น โดย อดีตซีอีโอ มาโกโตะ อุชิดะ เคยแสดงเจตจำนงที่จะให้โรงงานในประเทศยังคงดำเนินงานต่อไป
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 ผ่านมา อีแวน เอสพิโนซา ซีอีโอนิสสัน มอเตอร์ เปิดเผยว่า ได้ตัดสินใจยกเลิกแผนการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวี มูลค่า 153,300 ล้านเยน หรือ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 36,300 ล้านบาทที่เมืองคิตะคิวชู ตั้งอยู่บนเกาะคิวชูซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น
ที่สำคัญโรงงานแห่งนี้กำหนดเป้าหมายการจ้างพนักงานไม่ต่ำกว่า 500 คนเป็นอันจะต้องพับแผนการจ้างงานไปด้วย
การตัดสินใจทบทวนด้วยการยกเลิกแผนการลงทุนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อกว่า 3 เดือนให้หลังจากที่นิสสันได้ลงนามในข้อตกลง กับฝ่ายราชการในเมืองดังกล่าว เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา การยกเลิกแผนการลงทุนดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของนิสสันที่ต้องการจะทบทวน การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับรถอีวี ท่ามกลางสภาวะตลาดรถอีวีที่ซบเซาและมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางลบมากขึ้น
ด้านยอดขายของนิสสัน ปรากฏว่าต้องเผชิญกับภาวะยอดขายรถรุ่นใหม่ที่ตกต่ำในตลาดสหรัฐอเมริกาและจีน การตัดสินใจในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงนิสสันมีความจำเป็น ในการตัดลดการลงทุนเพื่อการเติบโต เพื่อเป้าหมายในการรักษาให้ธุรกิจมีความมั่นคงในอนาคต
โรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าสำหรับรถอีวีของนิสสันนั้นมีเป้าหมายในการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าลิเทียมไออน หรือ LFP ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ชนิดเดียวกันที่คู่แข่งสำคัญอย่างบีวายดีผลิตอยู่ในรถอีวีนั้น ได้รับการประเมินว่าจะสามารถลดต้นทุนของแบตเตอรี่ระหว่าง 20 ถึง 30% ให้กับนิสสัน เมื่อเปรียบเทียบกับแบตเตอรี่ไฟฟ้าแบบดั้งเดิม ก่อนหน้านี้โรงงานดังกล่าวมีแผนที่จะผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า สำหรับรถอีวีนิสสันภายในปี 2571 โดยกำลังการผลิตปีละ 5 กิกกะวัตต์ชั่วโมง)
ขณะที่การสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้เงินสนับสนุนโรงงานดังกล่าวของนิสสันเป็นมูลค่า 55,700 ล้านเยน หรือกว่า 12,727 ล้านบาท อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ยกเลิกการสนับสนุนเม็ดเงินดังกล่าวหลังจากที่นิสสันตัดสินใจยกเลิกการลงทุนในครั้งนี้