xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กินเนสส์ต้องบันทึก “อาคารรัฐสภาไทย” 12 ปี “สร้าง” 5 ปี “ซ่อม เสริม ต่อเติม” เพียบ งบประมาณบานตะไทจาก “ภาษีประชาชน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ไม่น่าเชื่อว่า “สัปปายะสภาสถาน” อาคารรัฐสภาของไทยที่ใช้งบสร้างถึง 2.3 หมื่นล้าน และใหญ่อาคารของรัฐที่สุดเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองก็แต่เพียง “เดอะเพนตากอน” ของสหรัฐอเมริกา จะถึงรอบซ่อม สร้าง ต่อเติมใหม่ ทั้งที่เพิ่งเปิดใช้งานเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น

แถมโครงการที่ของบเพิ่มใหม่ยังมีส่วนที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ อย่างเช่น  “ศาลาแก้ว” หรือ “สระมรกตน้ำเน่า” ที่นับแต่เปิดใช้อาคารรัฐสภามาทั้งสองส่วนนี้ไม่เวิร์ก ไม่ฟังก์ชั่น

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องน่าเหลือเชื่ออีกคือการตั้งโครงการของบพัฒนา ห้องฉายหนังระบบ 4D  กับ ห้องประชุมใหญ่ เรียกว่า  “หะ-รู หะ-หรา”  ไม่แพ้ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เพิ่งพังถล่มก็ว่าได้ จนเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจของประชาชนผู้เสียภาษีเป็นยิ่งนัก

 ดร.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา วิพากษ์วิจารณ์อย่างเจ็บแสบว่า อาคารรัฐสภาเปิดใช้งานมา 4 ปี มีแต่รอยรั่วชำรุด เมื่อฝนมาน้ำจะนองสภา ฝ้าถล่ม สระมรกตน้ำเน่า หนูตาย ป้ายบอกทางไม่มี หมายเลขห้องประชุมสับสน ห้องอาหารเจ้าหน้าที่สภาสุดโทรม ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่กลับจะมาของบเพิ่ม เพื่อจัดทำห้องประชุมสี่มิติมูลค่า 180 ล้าน ปรับปรุงศาลาแก้ว (ซึ่งไม่เคยใช้มาก่อนเลย) 123 ล้าน, จัดทำพิพิธภัณฑ์ 132 ล้าน พร้อมโครงการพิเศษที่เตรียมของบเพิ่มในอนาคต ได้แก่ จัดทำที่จอดรถเพิ่ม 4,000 ล้าน ปรับปรุงสระมรกต 150 ล้าน

ดังนั้น ถือว่าเป็นภาคสองของการนำเอาภาษีประชาชน มาละเลงกันแบบไม่เห็นหัวประชาชนเลยหรือไม่ หลังภาคแรกเป็นการก่อสร้างตัวอาคารที่เต็มไปไปด้วยปัญหามากมายไม่แพ้กัน ที่สำคัญคือ เพิ่งรับมอบอาคารเมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 ยังไม่ถึงหนึ่งปี เหตุใดจึงของบปรับปรุงมหาศาลขนาดนี้ ??

“นั่งทำงานในรัฐสภาแห่งนี้มา 10 เดือน พบเห็นความบกพร่องจากการก่อสร้างอาคารนี้มากกว่าสิ่งที่สื่อมวลชนรายงาน แต่เมื่ออาคารยังอยู่ในระยะรับประกันของผู้รับเหมา ก็ต้องให้ผู้รับเหมามารับผิดชอบในการซ่อมแซม และไม่ควรเสนองบประมาณเพิ่มเติมใด ๆ ที่จะเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินอีก เพราะราคาที่ก่อสร้างก็แพงเกินกว่าสถานะของประเทศแล้ว ถ้ายังยืนยันจะเสนองบฟุ้งเฟ้อเหล่านี้ ก็ต้องแฉให้ประชาชนเจ้าของประเทศทราบ”ดร.นันทนากล่าว

อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ “สัปปายะสภาสถาน” ไม่ได้สงบร่มเย็นสบายสมดังชื่อ นับเนื่องตั้งแต่กระบวนการออกแบบ เมื่อเดือนก.ค. 2551 ที่ได้ผู้ชนะคือ  “กลุ่มสงบ๑๐๕๑” ภายใต้การนำของ  นายธีรพล นิยม  ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2556 ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท แปลนอาคิเต็ค จำกัด โดยการออกแบบถูกวิจารณ์ว่าเป็นเหมือนวัด เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ขาดการยึดโยงกับประชาธิปไตยและประชาชน

ส่วนการประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างนั้น  “กลุ่มทุนการเมือง” คือ บริษัท ชิโน – ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ของตระกูล  “ชาญวีรกูล” ซึ่ง  “เสี่ยหนู” - นายอนุทิน ชาญวีรกูล  หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เติบใหญ่อยู่ใต้ร่มเงา เป็นผู้ชนะประมูล มีการลงนามในสัญญาก่อสร้างเมื่อเดือน เม.ย. 2556 และลงเสาเข็ม เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2556 สมัย  “ปู่ชัย” - ชัย ชิดชอบ  ผู้เป็นบิดาของ  “ครูใหญ่เน” - เนวิน ชิดชอบ”  เป็นประธานรัฐสภา

กล่าวได้ว่าตั้งแต่นับหนึ่งเรื่อยมาจนบัดนี้ “สัปปายะสภาสถาน” แห่งนี้มีปัญหาและมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ไม่วายเว้น

เอาเฉพาะงบก่อสร้างที่ตั้งไว้เริ่มต้นเพียง 12,280 ล้านบาท บานปลายเท่าตัวทะลุไปถึง 22,987 ล้านบาท ส่วนระยะเวลาก่อสร้างก็ลากยาวถึง 12 ปี โดยมีการขยายสัญญาถึง 4 ครั้งคือ ครั้งที่ 1 วันที่ 25 พ.ย. 2558 -15 ธ.ค. 2559 รวม 387 วัน ครั้งที่ 2 วันที่ 16 ธ.ค. 2559 - 9 ก.พ. 2561 รวม 421 วัน ครั้งที่ 3 วันที่ 10 ก.พ. 2561 - 15 ธ.ค. 2562 รวม 674 วัน ครั้งที่ 4 วันที่ 16 ธ.ค. 2562 - 31 ธ.ค. 2563 รวม 382 วัน จนถึงยุคนายชวน หลีกภัย เป็นประธานรัฐสภา คณะกรรมการตรวจการจ้าง จึงไม่ขยายสัญญาการก่อสร้างครั้งที่ 5 พร้อมเรียกค่าปรับจากบริษัท ชิโน - ไทยฯ วันละ 12 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 จนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ

สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภาไทยท่าใช้งบประมาณสร้างถึง 2.3 หมื่นล้านบาท
แต่ที่ตลกร้ายยิ่งกว่าคือ นอกจาก ชิโน -ไทยฯ จะไม่ต้องจ่ายค่าก่อสร้างล่าช้าให้กับสภาฯ สักสตางค์แดงเดียว เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมติมาอุ้มผู้รับเหมาก่อสร้างจากพิษโควิด-19 แล้ว ชิโน - ไทยฯ ยังฟ้องร้องสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขาธิการรัฐสภา เรียกค่าเสียหาย 1,590 ล้านบาท โดยอ้างว่าส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทำให้การก่อสร้างเกินกำหนดเวลาอีกต่างหาก

ดีแต่ว่าศาลปกครองกลาง ตัดสินยกฟ้อง เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567 เพราะเงื่อนไขสัญญาเขียนว่าหากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ผู้รับจ้างไม่อาจเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างได้ขยายสัญญาก่อสร้างให้แล้ว 4 ครั้ง รวม 1,864 วัน เรียกว่านอกจากงานจะเสร็จช้ายังหวิดเสียค่าโง่อีกด้วย

เพียง 5 ปี หลังจากเปิดใช้งานอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 และรัฐสภา ทยอยรับมอบงานจากผู้รับจ้างก่อสร้าง จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2567 ยังไม่ทันข้ามปี มีรายการปล้นกลางแดด ถลุงกันใหม่ จากการตั้งโครงการของบประมาณประจำปี 2569 ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รวม 15 โครงการ ทั้งปรับปรุง -ติดตั้งระบบ -เติมแต่ง อาคารรัฐสภา รวมมูลค่าเบื้องต้น 2 พันกว่าล้านบาท

 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นผู้เปิดประเด็นร้อนหลังเรียกผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสภา มาชี้แจงเกี่ยวกับ  โครงการใหม่ที่หน่วยงานเห็นว่าสำคัญและใช้งบประมาณในวงเงินสูง  เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2568 รวมทั้งหมด 15 โครงการ

ทั้งนี้ 10 โครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2569 โดย ครม. และอยู่ในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2569 ประกอบด้วย 1)โครงการก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่พิพิธภัณฑ์รัฐสภา (รวมค่าจ้างที่ปรึกษา) 44 ล้านบาท 2)โครงการพัฒนาระบบภาพยนตร์ 4D ห้องบรรยายใหญ่ B1-2 จำนวน 180 ล้านบาท 3)ปรับปรุงไฟส่องสว่างเพิ่มเติมบริเวณห้องประชุมสัมมนาชั้น B1 และ B2 จำนวน 117 ล้านบาท

4) ปรับปรุงศาลาแก้ว 2 หลัง 123 ล้านบาท 5)ปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณ 118 ล้านบาท 6)ปรับปรุงพื้นที่ครัวของอาคารรัฐสภา 117 ล้านบาท 7)ติดตั้งภาพและเสียงประจำห้องจัดเลี้ยง ชั้น B2 จำนวน 99 ล้านบาท 8)จัดซื้อจอ LED Display 72 ล้านบาท 9)พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ส่วนภูมิทัศน์และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 43 ล้านบาท และ 10)ปรับปรุงห้องจัดเลี้ยง ชั้น 1 โซน C 43 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 956 ล้านบาท

 สระมรกต และศาลาแก้ว
สำหรับอีก 5 โครงการที่หน่วยงานทำคำขอ แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2569 โดย ครม. ประกอบด้วย 1)ก่อสร้างอาคารจอดรถรัฐสภา (เพิ่มเติม) (รวมค่าควบคุมงานและค่าจ้างที่ปรึกษา) 1,529 ล้านบาท 2)ออกแบบและตกแต่งฉากหลังบัลลังก์ประธานสภาฯในห้องประชุมสุริยัน 133 ล้านบาท 3)จัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย 74 ล้านบาท 4)ระบบป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 และเสริมสร้างคุณภาพอากาศ 50 ล้านบาท 5)จ้างงานซ่อมแซมปรับปรุงเสาไม้สัก 31 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1,817 ล้านบาท

นายพริษฐ์ ตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นถึงการของบประมาณโครงการดังกล่าวข้างต้น ประเด็นแรก โครงการส่วนใหญ่เน้นไปที่การก่อสร้าง-เติมแต่ง-ติดตั้งระบบ ในส่วนต่าง ๆ ของอาคารรัฐสภา ทั้งที่รัฐสภาเพิ่งถูกสร้างด้วยงบประมาณ 22,987 ล้านบาท และเพิ่งเปิดใช้การมาแค่ประมาณ 5 ปี แม้อาจให้เหตุผลว่าอาคารรัฐสภาถูกก่อสร้างตามสัญญาตั้งแต่กว่า 10 ปีก่อน จึงทำให้บางส่วนไม่ได้ระบุไว้ในแบบ ยิ่งทำให้เราต้องตรวจสอบโดยละเอียดว่าสิ่งที่ขอให้มีการเพิ่มเติมนั้น มีความจำเป็นต่อการใช้งานและการทำหน้าที่ของสภาฯจริง ๆ หรือไม่

ประเด็นที่สอง บางโครงการ น่าตั้งคำถามถึงความจำเป็น เช่น การปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณ 118 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่เป็นห้องที่ใช้งานได้ปกติมาโดยตลอด และยากที่จะเห็นถึงความจำเป็นใด ๆ ในการปรับปรุงขนาดใหญ่ด้วยงบประมาณขนาดนี้ ที่ตลกร้ายคือห้องนี้เป็นห้องที่ กมธ. วิสามัญ งบประมาณ ใช้ในทุกปี เพื่อไล่ตรวจสอบความคุ้มค่าของงบประมาณของทุกหน่วยงานในประเทศ อย่างเช่นการออกแบบและตกแต่งฉากหลังบัลลังก์ประธานสภาผู้แทนราษฎรในห้องประชุมสุริยัน จำนวน 132 ล้านบาท ซึ่งดูเป็นการตกแต่งที่ฟุ่มเฟือยและไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับการทำให้การประชุมสภามีประสิทธิภาพขึ้น

 ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองฯ ยังแฉข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในบรรดา 15 โครงการดังกล่าว โครงการที่มีมูลค่าสูงที่สุด คือ โครงการก่อสร้างอาคารจอดรถรัฐสภา (เพิ่มเติม) ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมด 4,588 ล้านบาท โดยทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำคำขอไว้ที่ 1,529 ล้านบาท สำหรับ งบฯ ปี 2569 แม้โครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2569 โดย ครม. แต่ชัดเจนว่าจะมีการเดินหน้าโครงการนี้แน่นอน เพราะเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2568 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพิ่งประกาศผู้ชนะการเสนอราคา คือ กิจการค้าร่วม กลุ่มบริษัท AGCC สำหรับการจ้างออกแบบก่อสร้างอาคารจอดรถดังกล่าว ด้วยงบประมาณ 104.5 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่รายการดังกล่าว ไม่เคยปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 หรือปี 2568 เลย 

แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องการหาที่จอดรถที่สภาแต่ด้วยขนาดโครงการ กมธ.ฯ เห็นควรต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์และต้องเรียกหน่วยงานมาชี้แจงให้กระจ่างต่อคำถามที่ว่า มีการศึกษาถึงความต้องการพื้นที่จอดรถเพิ่มแล้วหรือไม่ และจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่จอดรถที่มีอยู่แล้วเช่นใด และต้องถามย้อนไปว่าแบบเดิมของอาคารรัฐสภาคาดการณ์ความต้องการพื้นที่จอดรถไว้เท่าไหร่ เหตุใดจึงมีปัญหาเกิดขึ้น ฝ่ายไหนต้องรับผิดชอบ และเหตุใดถึงเดินหน้าจ้างบริษัทออกแบบทั้ง ๆ ที่ไม่ปรากฏใน พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2567 และ 2568 ที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ

 นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯ คนที่สอง จากพรรคภูมิใจไทย นำสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ตรวจพื้นที่โครงการที่เสนอของบประมาณในส่วนที่รับผิดชอบคือ ห้องจัดเลี้ยงสัมมนา รองรับ 1,500 คน ชั้น B2 ที่ของบประมาณไป 99 ล้านบาท ลดจากตอนแรกที่ตั้งไว้ประมาณ 170 ล้านบาท พบปัญหาไฟสลัว ไม่มีระบบเสียง จำเป็นต้องเช่าหลายล้านบาท การประชุมใหญ่ระดับประเทศต้องเช่าโรงแรมราคาสูง หากมีห้องที่พร้อมใช้งานจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกรัฐสภา และประชาชนสามารถขอใช้จัดงานต่าง ๆ ได้

ส่วนโซนพิพิธภัณฑ์รัฐสภา บริเวณชั้น MB1 ชั้น1 และชั้น 11 ซึ่งเป็นชั้นเดียวกับเครื่องยอดของอาคารรัฐสภา พื้นที่ทั้งหมด 6,000 ตารางเมตร วันนี้ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย จึงต้องการพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต นำเทคโนโลยีมาใช้ในการนำเสนอ ทำให้ทันสมัย และกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเมืองการปกครอง งบที่ขอไปไม่ใช่งบซ่อมสร้างแต่เป็นงบต่อเติมต้องทำในเฟส 2 และ 3 ซึ่งตอนนี้เป็นเพียงแค่ร่างงบประมาณปี 2569 เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระแรกในสิ้นเดือน พ.ค.2568 นี้ จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มาพิจารณาอีกที

สำหรับท่าทีของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มองว่าการเสื่อมโทรมของอาคารรัฐสภาเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากมีผู้ใช้งาน ทั้งเจ้าหน้าที่ สมาชิกรัฐสภา และประชาชนที่เข้าไปติดต่องานและทำกิจกรรม รวมหลักหมื่นคน ลิฟต์ก็ผ่านการใช้งานหลักพันถึงหลักหมื่นเที่ยวต่อวัน และปฏิเสธถึงความเกี่ยวข้องกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่รับสัมปทานก่อสร้างอาคารรัฐสภา เนื่องจากตนเองออกจากบริษัทดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว

การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นหนึ่งในโครงการใหญ่ที่มีข้อร้องเรียนมากที่สุด นับตั้งแต่การแก้ไขรายละเอียดงานก่อสร้าง การตรวจรับงาน การใช้วัสดุไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญา ฯลฯ โดย สส.จากพรรคประชาธิปัตย์ โดย  นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร เป็นหัวหอกคนสำคัญในการตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้มี 56 คำร้องเกี่ยวกับการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ ที่นายวิลาศ เป็นผู้ร้องเรียน ค้างคาอยู่ใน ป.ป.ช. ยังไม่นับกรณีที่บุคคลอื่น ๆ ยื่นร้องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบเช่นกัน

ปมประเด็นที่เป็นข้อสงสัยของนายวิลาศที่ร้องไปยัง ป.ป.ช. เช่น ที่จอดรถ ชั้น B2 มีปัญหาน้ำรั่วซึมจากใต้ดิน เนื่องจากก่อสร้างผิดแบบ แต่กลับมีการตรวจรับงาน และนำงบฯ ไปจ้างเอกชนมาออกแบบทำที่จอดรถใต้ดินเพิ่มอีก รวมยังจะก่อสร้างอาคารจอดรถใหม่ทั้งที่ปัญหาเดิมยังไม่แก้ ส่วนการใช้งบปรับปรุงศาลาแก้ว 2 หลัง 123 ล้านบาท ตรวจสอบพบความผิดปกติ ในส่วนทางเดินเท้า และกระเบื้องใต้สระน้ำที่หลุดร่อน ขณะที่งบปรับปรุงสระมรกต มีคำถามเพื่อปกปิดข้อพิรุธเรื่องปูพื้นด้วยไม้ตะเคียนทองที่ผิดแบบใช่หรือไม่

 งบต่อเติม ซ่อม สร้าง “สัปปายะสภาสถาน” หลายพันล้านบาทในภาคสอง ที่วันนี้กระแสสังคมตั้งคำถามมากมาย จะถูกตัดทอนลงจนเหี้ยนหรือไม่ อีกไม่นานคงได้คำตอบ 


กำลังโหลดความคิดเห็น