xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วัยรุ่นเซ็ง!เงินหมื่นเฟส 3 ไม่มาตามนัด “รัฐบาลอิ๊งค์” ผวาปมโยกงบมาแจกผิด รธน. รีดVATนักธุรกิจตัวจิ๋วถอยดีกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทองธาร ชินวัตร
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด แต่ความจริงในเวลานี้ก็คือ โครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัล เฟส 3 ให้ “กลุ่มวัยรุ่น” ตกอยู่ในสภาพกลับบ่ได้ ไปบ่ฮอด จอดพอกะเทิน โดยยังไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อไปได้เมื่อไหร่ หรือไม่ อย่างไร

เพราะไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่าคลังมีความยากลำบากในการควานหาเม็ดเงินมาแจกอย่างที่เห็น ๆ กันอยู่ แต่ที่แจก ๆ ไปแล้วโดยผันเอาจากงบที่จะต้องใช้หนี้แบงก์รัฐนั้น สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ และพวก ไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้เข้ามาตรวจสอบประเด็นนี้ เมื่อปลายเดือนเมษายที่ผ่านมา

นั่นอาจเป็นเหตุผลลึก ๆ ที่แท้จริง ที่ทำให้การแจกเงินหมื่น เฟส 3 มีอันต้องสะดุดกึก ผสมโรงกันกับจังหวะที่มีเสียงเตือนจากหลายฝ่าย ให้รัฐบาลตุนกระสุนสำรองเอาไว้รับศึกสงครามการค้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นภาษีนำเข้าแบบบ้าเลือด สร้างความปั่นป่วนโกลาหลไปทั่วทั้งโลกในเวลานี้ รัฐบาลจึงฉวยใช้เป็นข้ออ้างจะนำเม็ดเงินที่เตรียมไว้แจกในโครงการหมื่นดิจิทัล ผันเอามาบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์แทน

กระนั้นก็ดี “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ก็ยังยืนยันหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้การแจกเงินหมื่นเฟส 3 ยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่แทงกั๊กว่า ขอรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ อีกครั้งเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในการแจกเงินหมื่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะต้องดูเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสภาพัฒน์และแบงก์ชาติ ก็มีความเห็นเข้ามา รัฐบาลก็ต้องรับฟัง

ทั้งที่ก่อนหน้าการประชุม ครม. ทางเจ้าภาพหลักของโครงการแจกเงินหมื่น คือกระทรวงการคลัง โดย “นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังให้สัมภาษณ์สื่ออย่างมั่นอกมั่นใจในไทม์ไลน์โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ให้กับผู้ที่มีอายุ 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน วงเงิน 27,000 ล้านบาท ว่ายังไม่เปลี่ยนแปลง โดยคาดว่าจะเริ่มต้นในไตรมาสที่สองของปี 2568 นั่นคือช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2568 นี้ แน่นอน แต่เอาเข้าจริงที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้แต่ประการใด
ไม่เพียงเท่านั้น ในวันก่อนประชุม ครม. ยังมีข่าวปล่อยออกมาว่าโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัล เฟส 3 รัฐบาลมีแนวคิดจะ “ยกเลิก” รวมถึงยกเลิกแจกเงิน 10,000 บาทในโครงการดิจิทัลวอลเลตส่วนที่เหลือด้วย ต้นสายปลายเหตุเนื่องจากบริษัทจัดอันดับเครดิตระดับโลก คือ มูดี้ส์ปรับลดแนวโน้ม หรือ Outlook อันดับเครดิตของประเทศไทย จากระดับ “เสถียรภาพ” เป็น “เชิงลบ” และรัฐบาลกำลังเตรียมแผนกู้เงิน 500,000 ล้านบาท มาใช้รองรับผลกระทบจากสงครามการค้า ถ้าปรับการแจกเงินหมื่น เฟส 3 มาสมทบในส่วนนี้ จะทำให้การกู้เงินลดลงได้

พิชัย ชุณหวชิร

 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
และอีกประเด็นสำคัญ ก็คือ การแจกเงินหมื่นในช่วงที่ผ่านมา แทบไม่มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามเป้าหมายของรัฐบาล เพราะตัวเลขคาดการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจของสำนักต่าง ๆ ยังทรง ๆ แถมยังปรับลดลงเมื่อเจอมาตรการรีดภาษีของทรัมป์อีกด้วย โดยล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดการณ์หากการเจรจายืดเยื้อและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯใกล้เคียงกับปัจจุบัน อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.0 แต่หากสงครามการค้ารุนแรงมากและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อยู่ในอัตราสูง เศรษฐกิจอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 1.3 เท่านั้น เป็นคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำสุดในอาเซียนก็ว่าได้

กระแสข่าวที่ร่ำลือกันสนั่นเมืองว่าจะมีการยกเลิกการแจกเงินหมื่น ทำให้ “นายกฯอิ๊งค์” ต้องออกมารับประกันว่า ยังไม่ยกเลิกการแจกเงินหมื่น เฟส 3 แต่รอฟังความเห็นความหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน ซึ่งก็คือ การแทงกั๊ก ไม่จอดในทางการเมือง แต่ก็เหมือนจอดสนิทในทางความเป็นจริง เพียงแต่รอเวลาสุกงอมค่อยเคาะเลิก แล้วเอาโครงการอื่นมาขายแทน

โครงการขายใหม่ที่รัฐบาลกำลังตีปี๊บ และสร้างกระแสให้สังคมเห็นคล้อยตาม นั่นคือ แผนเงินกู้ 5 แสนล้านบาท และงบกลางที่มีอยู่ประมาณ 1.5 แสนล้าน ที่เตรียมไว้รองรับผลกระทบจากมาตรการภาษีของทรัมป์ ซึ่งจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ โครงการลงทุนระบบน้ำไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท และอีกก้อนสำหรับจัดทำโครงการรองรับคนตกงาน

ทั้งนี้ ภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบ 2568 รัฐบาลได้ตั้งงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ 1.87 แสนล้านบาท โดยจะนำไปแจกในโครงการหมื่นดิจิทัล เฟส 3 จำนวน 4 หมื่นล้านบาท ทำให้เหลืองบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจฯ อีก 1.47 แสนล้านบาท

ขณะที่การแจกเงินหมื่นเฟส 3 และเฟสถัด ๆ ไป ยังอยู่ในอาการลูกผีลูกคน ส่วนที่แจกไปแล้ว ในเฟสแรก ที่แจกเงินสดให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ 14.5 ล้านคน วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท และเฟสสอง กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 4 ล้านคน วงเงิน 4 หมื่นล้าน ก็เกิดมีประเด็นขึ้นมา เนื่องจากคณะของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ไปพลิกเจอมุมที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายแล้วไปร้องต่อ ป.ป.ช.

ในหนังสือที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์, นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา, นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการและอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี 2560 และ “ทนายนกเขา” นายนิติธร ล้ำเหลือ ระบุถึงการตรวจพบการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 ของ ครม., คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา อาจมีการกระทำความผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ซึ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดเจนว่า “ห้ามไปลด หรือ ตัดทอน งบประมาณรายจ่ายที่จะนำไปชำระต้นเงินกู้, ดอกเบี้ย และเงินที่กำหนดให้ต้องจ่ายตามกฎหมาย”

นายชาญชัย เผยว่า หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ได้ผ่านความเห็นจากที่ประชุมรัฐสภา วาระที่ 1 ไปแล้วได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับดังกล่าว จำนวน 72 คน ปรากฏต่อมาว่า ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้กรรมาธิการวิสามัญฯ ไปตัดงบประมาณรายจ่ายของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 5 แห่ง คิดเป็นวงเงินรวม 35,000 ล้านบาท เป็นการปรับลดงบประมาณสำหรับการชำระหนี้ เพื่อชดเชยต้นทุนเงินจากการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ, ชดเชยภาระดอกเบี้ย หรือชดเชยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งถือเป็นหนี้ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2560 ที่รัฐบาลต้องจัดงบฯ มาชดใช้คืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จากนั้น รัฐบาลได้นำเงินงบประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ที่ปรับลดมาแล้วไปเป็นงบกลาง เพื่อใช้จ่ายในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 บัญญัติเอาไว้ว่า ห้ามไม่ให้ไปแตะต้องเงินงบประมาณดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ก็ทราบดี และมีการถกเถียงกันในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ครั้งที่ 38 ว่าการดำเนินการดังกล่าวถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 หรือไม่ ปรากฏว่าที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ให้ผ่าน แต่ก็มี สส. หรือ กรรมาธิการบางท่านคัดค้านไม่เห็นด้วย

คณะของนายชาญชัย ชี้ว่า กรณีนี้ สส.จำนวน 309 คน รวมไปถึง สว.จำนวน 175 คน ที่ร่วมโหวตผ่านงบประมาณปี 2568 ในวาระ 2 และวาระ 3 รวมไปถึงคณะกรรมาธิการงบประมาณปี 68 ทั้งหมด 72 คน จึงเข้าข่ายได้ร่วมการกระทำความผิด

ขณะเดียวกัน ญัตติงบประมาณในชั้นกรรมาธิการ มีการนำเงินจากงบกลาง จำนวน 1,256 ล้านบาท มาเพิ่มให้กองทุนเพื่อผู้ที่เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาด้วย ถือเป็นการกระทำผิด มาตรา144 วรรค 2 ที่ห้าม สส.หรือ สว.แปรญัตติงบเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ด้วยเหตุฉะนี้ จึงขอให้ ป.ป.ช.เร่งตรวจสอบในทางลับ โดยหากเห็นว่ามีมูล ก็ให้เสนอความเห็นต่อศาลฯดำเนินการตาม วรรค 3 ของ ม.144 ของรัฐธรรมนูญ พร้อมเรียกเงินงบประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท และ 1.2 พันล้านบาท จากผู้กระทำความผิดส่งคืนรัฐตามอำนาจหน้าที่ต่อไปภายใน 20 ปี

นายเจษฎ์ ระบุว่า เรื่องดังกล่าว หาก ป.ป.ช.เห็นว่า มีมูลก็สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยกรณีนี้เอง ซึ่งการดำเนินการของ ป.ป ช.คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน ส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ หากอ้างอิงตามคำร้องของสส. และ สว.ก็น่าจะพิจารณาภายใน 15 วัน

นายเจษฎ์ ยังกล่าวว่า สำหรับความผิดนี้ จะครอบคลุมตั้งแต่ ครม.ชุดของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีการแปรญัตติงบประมาณปี 2568 จนถึงรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แม้จะเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งแต่ก็ได้รับทราบและนำรายชื่อ ครม.ขณะนั้น ส่งให้สภาฯรับทราบ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่สภาฯ พิจารณาปรับเปลี่ยนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วาระ 2 และ 3 ซึ่งมีการอภิปรายไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลสั่งให้ปรับลดงบประมาณ จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท มาใช้ในโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเลต แต่ น.ส.แพทองธาร ไม่สั่งระงับยับยั้ง ส่วน สส. รวมถึง สว.ชุดปัจจุบันก็อยู่ในข่ายความผิดนี้

ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.ไม่ยอมส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ทางกลุ่มจะพิจารณาดำเนินการต่อ ส่วนจะเป็นช่องทางใด ขอให้รอฟัง ป.ป.ช.ก่อน

ขณะที่โครงการแจกเงินหมื่นยังวุ่น ๆ ฉุดคะแนนนิยมของรัฐบาลที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอยู่แล้วให้ตกต่ำลงไปอีก รัฐบาลยังเซ่อซ่าทำปืนลั่นใส่เท้าตัวเองแบบเจ็บฟรี กับการโยนหินถามทางในเรื่องที่กระทรวงการคลัง โดย “นายพิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะหาแนวทางเพิ่มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยจะให้ธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่เกิน 1.5 ล้านต่อปี เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1%

นายพิชัย มองว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่จำนวนมากหันมาทำธุรกิจ แต่มักจะยื่นแบบรายได้ของธุรกิจให้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี เพื่อไม่ต้องเข้าเกณฑ์จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น จึงกำลังพิจารณาว่าในกรณีที่ธุรกิจที่มีรายได้ 1.5 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป อาจจะเพิ่มเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทที่ 2 เหมือนในยุโรป อาจขอเก็บ VAT 1% ของรายได้ คาดจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 2 แสนล้านบาท ทำให้งบฯ ขาดดุลของรัฐต่ำลง จากปัจจุบันขาดดุล 4.4% ของจีดีพี อาจเหลือแค่ 3.5%

แนวทางดังกล่าว ทำให้ “นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” รองหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาคัดค้านทันที โดยเห็นว่าเป็นนโยบายที่เฉือนเนื้อคนจนเพื่อเอาไปแปะให้คนรวยอันไม่เป็นธรรม

นายธีรชัย สอนมวยขุนคลังคนปัจจุบันว่า ข้อกำหนดที่ยกเว้นบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ไม่ต้องเข้าระบบVAT นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม เพื่อเป็นกำลังใจให้คนรุ่นหนุ่มสาวที่เริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงกำหนดภาระภาษีให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% แนวคิดของนายพิชัย ที่จะรื้อกติกานี้จึงเป็นนโยบายขยายฐานภาษีแบบ “บนลงล่าง” มุ่งให้ชนชั้นล่างแบกรับภาษีมากขึ้น

หากรัฐบาลจะขยายฐานภาษีอย่างเป็นธรรม ต้องเน้นนโยบายแบบ “แผ่กว้าง” ให้คนอยู่นอกระบบเข้ามาในระบบมากขึ้น รวมทั้งต้องให้คนรวยแบกรับภาระภาษีมากกว่าคนจน หรือนโยบายแบบ “ล่างขึ้นบน” การมุ่งรีดเลือดจากคนชั้นล่าง โดยไม่ตรวจสอบคนรวยชั้นบนสุดอย่างครบถ้วน ทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัย

เมื่อแนวคิดรีดภาษีกลับหัวกลับหาง ทางนายพิชัยจึงตีธงถอย ต้องมาดูใหม่ทั้งระบบทั้งหมด “ต้องมาทบทวนทั้งหมดแหละครับ” นายพิชัย กล่าว และโบกมือไม่ตอบคำถามกรณีที่จะมีผลกระทบกับธุรกิจรายย่อยในภาวะเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน “ตอนนี้ยังไม่เคาะ ยังต้องดูทั้งหมดก่อน”

ถอยดีกว่าก่อนเกิดเหตุ “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก” สวนทางแนวคิดของพรรคเพื่อไทย ที่ขายแนวคิด “รดน้ำที่ราก” เพื่อให้ต้นไม้งอกงามทั้งต้น เพราะเป็นการ “ตัดราก” ให้คนตัวเล็กตัวน้อยเหี่ยวเฉาตายทั้งแผ่นดิน


กำลังโหลดความคิดเห็น