xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โกกั้ง (3) สู่ราชวงศ์หมิงใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เขตการปกครองต่างๆ ในสมัยราชวงศ์หมิงใต้ (ภาพ : วิกิพีเดีย)
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

หลังจากราชวงศ์หมิงล่มสลายลงแล้ว ราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์ใหม่ก็เข้ามาปกครองจีนแทน ส่วนเรื่องราวของราชวงศ์หมิงที่ยังหลงเหลือเชื้อพระวงศ์อยู่นั้น ได้รับการบอกเล่าในฐานะราชวงศ์หมิงใต้ (หนันหมิง, 南明, the Southern Ming, ค.ศ.1644-1662) จะบอกเล่ามากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับวิธีเล่าของผลงานแต่ละชิ้น บางชิ้นงานมิได้กล่าวถึงก็มี

เรื่องราวของราชวงศ์หมิงหลังจากที่ล่มสลายไปแล้วนี้ คือเรื่องราวของวงศานุวงศ์ที่มีความพยายามที่จะต่อสู้กับแมนจูเพื่อกอบกู้วงศ์ขึ้นมาใหม่ วงศานุวงศ์นี้มีอยู่หลายสาย ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่ละสายโดยสังเขป แต่จะเน้นวงศานุวงศ์ที่เกี่ยวพันกับเรื่องราวของเราเป็นหลัก
 ที่สำคัญ การที่วงศานุวงศ์ที่หลงเหลืออยู่ตั้งตนเป็นใหญ่นี้ก็เพราะว่า สมัยที่ฉงเจินทรงเป็นจักรพรรดินั้น พระองค์มีโอรสอยู่สามองค์ แต่ทั้งสามองค์นี้ได้หายสาบสูญไประหว่างเกิดจลาจลโค่นล้มหมิง อีกทั้งในสามองค์นี้ก็ไม่มีองค์ใดที่ถูกตั้งให้เป็นรัชทายาท ทำให้การตั้งตนเป็นใหญ่ในหมู่วงศานุวงศ์ที่เหลืออยู่มีความชอบธรรม แต่ในเมื่อมีอยู่หลายองค์ที่ตั้งตนเป็นใหญ่ การแข่งขันกันเองในหมู่วงศานุวงศ์จึงเกิดขึ้น 

ก่อนที่ราชวงศ์หมิงจะล่มสลาย มีเจ้าชายหมิงจำนวนหนึ่งที่มีตำแหน่งกษัตริย์ปกครองรัฐต่างๆ และเมื่อหมิงล่มสลายลงแล้ว เจ้าชายเหล่านี้จึงคิดกอบกู้หมิงด้วยการตั้งตนขึ้นเป็นจักรพรรดิในฐานะวงศานุวงศ์ เจ้าชายที่ตั้งตนมีอยู่สี่พระองค์ ในที่นี้จะได้กล่าวถึงทั้งสี่พระองค์เป็นลำดับไป
อนึ่ง ฐานะกษัตริย์ดังกล่าวแม้จะแปลจากคำว่า หวัง ในภาษาจีนก็ตาม แต่ก็ควรกล่าวด้วยว่า งานศึกษาของฝั่งตะวันตกจะใช้คำว่า prince ที่โดยทั่วไปจะแปลว่า เจ้าชาย แต่การใช้ของตะวันตกในกรณีนี้จะหมายถึง เจ้าผู้ปกครอง

เจ้าชายองค์แรกที่จะกล่าวถึงคือ  จูโหยวซง (朱由崧, ค.ศ.1607-1646)  ผู้ซึ่งเป็นโอรสของจูฉังสวิน (朱常洵, ค.ศ.1586-1641) จูฉังสวินเป็นโอรสองค์ที่สามของจักรพรรดิวั่นลี่ (萬曆, ค.ศ.1563-1620) ในแง่นี้ก็หมายความว่า จูโหยวซงทรงเป็นราชนัดดา (หลาน) ของวั่นลี่อีกชั้นหนึ่ง โดยก่อนที่หมิงจะล่มสลายนั้น จูโหยวซงมีฐานะเป็นกษัตริย์แห่งรัฐฝู (福王, Prince of Fu) 

การตั้งตนเป็นใหญ่ของจูโหยวซงเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสนับสนุนของขุนนางกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหากว่าโดยลำดับชั้นหลังจากที่ฉงเจินสิ้นพระชนม์ไปแล้ว จูโหยวซงมีความชอบธรรมที่จะได้เป็นจักรพรรดิมากที่สุด

หลังจากที่หมิงล่มสลายไปแล้ว จูโหยวซงได้เดินทางมาที่หนันจิง (南京) ซึ่งถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญยิ่งในทางยุทธศาสตร์ ด้วยเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของราชวงศ์หมิงมาก่อน ก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงไปเป่ยจิง (北京) หรือปักกิ่ง และภายใต้ความชอบธรรมและการสนับสนุนจากขุนนางกลุ่มหนึ่ง พิธีตั้งตนเป็นจักรพรรดิของจูโหยวซงจึงมีขึ้นที่หนันจิง โดยพระองค์มีพระนามจักรพรรดิว่า หงกวาง

จักรพรรดิหงกวาง (弘光帝, ค.ศ.1644-1645) ตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่หนันจิงได้ไม่นาน ทัพชิงก็กรีธามาตีจนแตก จากนั้นพระองค์ทรงหนีไปตั้งมั่นที่มณฑลอันฮุย ที่ซึ่งยังมีเหล่าเสนามาตย์ให้การสนับสนุนอยู่เช่นกัน แต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็ถูกทัพชิงตีแตกอีก คราวนี้พระองค์ถูกจับกุมและถูกส่งไปยังราชสำนักชิงที่เป่ยจิง จากนั้นไม่นานก็ถูกประหารชีวิต

เจ้าชายองค์ต่อมาคือ  จูอี้ว์เจี้ยน (朱聿键, ค.ศ.1602-1646)  ก่อนที่หมิงจะล่มสลาย จูอี๋ว์เจี้ยนมีตำแหน่งเป็นกษัตริย์แห่งรัฐถัง (唐王, Prince of Tang) ส่วนการตั้งตนเป็นใหญ่เกิดขึ้นหลังจากที่หนันจิงถูกตีแตก แล้วพระองค์ทรงหนีไปยังเมืองหังโจว (杭州) ครั้นหังโจวถูกตีแตกอีกใน ค.ศ.1645 พระองค์จึงหนีไปยังเมืองฝูโจว (福州) ของมณฑลฝูเจี้ยน (福建)

พระองค์จึงตั้งตนเป็นใหญ่ที่ฝูโจว ภายใต้การสนับสนุนของเหล่าเสนามาตย์หลังความล้มเหลวของจักรพรรดิหงกวาง โดยตั้งตนเป็นจักรพรรดิหลงอู่ (隆武帝, ค.ศ.1645-1646) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1645 แต่ในปีต่อมาก็ถูกทัพชิงตีแตก และต่อมาพระองค์ก็ถูกประหารชีวิตในที่สุด
เจ้าชายองค์ที่สามคือ จูอี้ว์เยี่ว์ย (朱聿鐭, ค.ศ.1605-1647) ก่อนตั้งตนเป็นใหญ่พระองค์ทรงสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์แห่งรัฐถังจากจูอี้ว์เจี้ยน ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระองค์หลังจากพระเชษฐาตั้งตนเป็นจักรพรรดิหลงอู่ใน ค.ศ.1646 แต่หลังจากที่ทัพชิงได้สังหารหลงอู่แล้ว จูอี้ว์เจี้ยนก็หนีไปยังเมืองกว่างโจว (广洲) ของมณฑลกว่างตง (广东) จากนั้นก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิมีพระนามว่า เซ่าอู่ (紹武帝, ค.ศ.1646-1647)

แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันก็มีเจ้าชายอีกองค์หนึ่งคือ จูโหยวหลัง ตั้งตนเป็นจักรพรรดิด้วยเช่นกัน จักรพรรดิทั้งสองพระองค์ซึ่งต่างก็อ้างความชอบธรรมในการเป็นจักรพรรดิด้วยกันทั้งคู่ จึงหันหน้ามาทำศึกระหว่างกัน ผลคือ จูอี้ว์เยี่ว์ยเป็นฝ่ายชนะ

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้จูอี้ว์เยี่ว์ยหลงเชื่อมั่นในกำลังของตนจนเกินจริง พระองค์ทรงเสวยสุขกับฐานะจักรพรรดิจนขาดการใส่ใจในการสร้างกองทัพให้เข้มแข็ง จนทำให้ทัพชิงสามารถเข้าตีจนล่มสลายหลังจากเป็นจักรพรรดิได้เพียงแค่ 40 วัน เมื่อพ่ายแพ้แล้วก็ทรงทำอัตวินิบาตกรรมสิ้นพระชนม์ในเดือนมกราคม ค.ศ.1647

สุดท้ายคือ  เจ้าชายจูโหยวหลัง (朱由榔, ค.ศ.1623–1662)  โอรสของเจ้าชายจูฉังอิ๋ง (朱常瀛, ค.ศ.1597-1645) ซึ่งเป็นโอรสองค์ที่เจ็ดของจักรพรรดิวั่นลี่ ก่อนที่หมิงจะล่มสลายพระองค์มีตำแหน่งเป็นกษัตริย์แห่งรัฐกุ้ย (桂王) และหลังจากที่หมิงล่มสลายลงพร้อมกับการตั้งตนเป็นใหญ่ของเจ้าชายสามองค์ก่อนหน้า ซึ่งต่างก็ประสบกับความล้มเหลวแล้วนั้น จูโหยวหลังก็ตั้งตนเป็นใหญ่

การตั้งตนเป็นใหญ่ของจูโหยวหลังมีขึ้นไล่เลี่ยกับจูอี้ว์เยี่ว์ย (ดังได้กล่าวไปแล้ว) โดยผู้ที่สนับสนุนให้พระองค์เป็นจักรพรรดิก็คือ พระพันปีหวัง (王太后, ค.ศ.1594?-1651) ผู้ซึ่งเป็นมเหสีหม้ายของจูฉังอิ๋ง พระนางเคยให้การอภิบาลโอรสของจูฉังอิ๋งในฐานะโอรสบุญธรรม ซึ่งทำให้พระนางทรงมีอิทธิพลเหนือโอรสเหล่านี้ รวมทั้งจูโหยวหลัง
กล่าวกันว่า หลังจากที่จูโหยวหลังตั้งตนเป็นจักรพรรดิโดยมีพระนามว่า หย่งลี่ (永曆帝, ค.ศ.1646-1662) แล้ว รัฐกิจต่างๆ ล้วนได้รับการชี้นำจากพระพันปีหวังทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทัพแมนจูยึดเมืองหลวงได้แล้ว จูโหยวหลังก็หนีไปยังเมืองที่อยู่ทางใต้ จนมาจบลงที่เมืองหนันหนิง (南宁) ของมณฑลกว่างซี (广西) โดยผู้ที่สนับสนุนพระองค์คือขุนศึกและโจรในท้องถิ่น และทำให้พระองค์ตั้งมั่นอยู่ที่หนันหนิงได้นานถึงห้าปี ก่อนที่จะถูกทัพชิงกรีธามาขับไล่ใน ค.ศ.1658
หลังจากนั้นจูโหยวหลังหรือจักรพรรดิหย่งลี่จึงหนีไปตั้งมั่นที่เมืองคุนหมิง (昆明) ของมณฑลอวิ๋นหนัน (云南) หรือยูนนาน และไม่นานหลังจากนั้นทัพชิงก็เข้าปิดล้อมอวิ๋นหนันเอาไว้ได้ การปิดล้อมนี้ทำให้ขุนศึกที่คุ้มครองหย่งลี่มิอาจต้านไว้ได้ จึงได้พากันหลบหนีเข้าไปยังพม่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ ราชวงศ์ชิงจึงกดดันพม่าด้วยวิธีทางการทูตต่างๆ เพื่อให้หย่งลี่ยอมแพ้ให้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น