xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (37): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

 หลังจากที่สวีเดนเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดได้ทรงเริ่มการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินโดยเริ่มต้นจาก การปฏิรูปและการฟื้นฟูงบประมาณการคลังแผ่นดิน 
การปฏิรูปประเทศหลังปี ค.ศ.1680 ผูกอยู่กับประเด็นการจัดสรรทรัพยากร ดังที่ปรากฎในวาระของการประชุมสภาฐานันดรตลอดรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด เป้าประสงค์ของการปฏิรูปด้านการคลังอยู่ที่การลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้ได้มากที่สุด โดยผลักดันกระบวนไต่สวนของคณะตุลาการในการริบทรัพย์สินจากการฉ้อฉลของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และผู้เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการเรียกคืนทรัพย์สินและที่ดินตามนโยบายการเวนคืน

อนึ่ง ในขณะที่คณะตุลาการมุ่งริบเงินและทรัพย์สินจากกลุ่มอภิชนระดับสูงของสวีเดนในฐานะการเยียวยาหนี้สินของแผ่นดิน (recover of the debt) นโยบายการเวนคืนได้ส่งผลกระทบต่อตระกูลอภิชนจำนวนมากทั่วทั้งราชอาณาจักร 
ลำดับแรก คณะตุลาการตรวจสอบคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (Regency Tribunal – Stora Kommissionen) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากตัวแทนฐานันดรต่างๆ โดยมีฐานจากรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องรับผิดชอบต่อองค์พระมหากษัตริย์และต่อสภาฐานันดร ฉะนั้น เมื่อองค์พระมหากษัตริย์ได้ทรงยกเลิกความรับผิดชอบแก่คณะผู้สำเร็จราชการไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1672 สภาฐานันดรจึงเป็นอีกหนึ่งสถาบันที่สามารถเอาผิดและเรียกร้องความเสียหายต่อคณะผู้สำเร็จราชการได้อย่างชอบธรรม

อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่า คณะตุลาการเลือกข้างและรับฟังคำสั่งจากพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดอย่างไม่ต้องสงสัย

 Claes Rålamb ผู้วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์มาตลอด ได้บันทึกว่า ฝ่ายสามัญชนมุ่งโจมตีฝ่ายอภิชนมานับแต่ตั้งปี ค.ศ.1650 ขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการที่เป็นอภิชนจำนวนหนึ่งก็เป็นปฏิปักษ์กับคณะผู้สำเร็จราชการอย่างเปิดเผย ฉะนั้นเขาจึงเห็นว่าคณะตุลาการนี้  “ขัดกับหลักการและกระบวนการทางกฎหมาย...ทำหน้าที่ต่าง ๆ โดยอาศัยสิทธิอำนาจ และได้รับความเห็นชอบและการยอมรับจากอำนาจที่เหนือขึ้นไป” 

นอกจากนี้ คณะตุลาการยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากพระมหากษัตริย์ที่มุ่งหวังให้คณะตุลาการเรียกเอารายได้กลับคืนมาให้ได้มากที่สุด (maximize the returns) 
อย่างไรก็ดี คณะตุลาการก็ไม่ได้คล้อยตามไปกับพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทั้งหมด ตุลาการหลายคนระมัดระวังในประเด็นข้อกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และหลักฐานในการฟ้องเอาผิด ในขั้นแรก กลุ่มอภิชนกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะจำกัดขอบเขตอำนาจคณะตุลาการ แต่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงยืนยันและขยายขอบเขตหน้าที่ให้ครอบคลุมถึงสมาชิกสภาบริหาร ตลอดจนเจ้าหน้าที่บริหารในกระทรวงต่าง ๆ และทรงตัดสินว่าในกรณีที่จำเลยเสียชีวิต ให้เรียกร้องค่าเสียหายจากทายาทที่ชีวิตอยู่ ฝ่ายผู้เสียหายตอบโต้โดยให้เหตุผลว่าคณะตุลาการไม่มีอำนาจทางกฎหมายอย่างถูกต้องและปฏิเสธการเอาผิดและความรับผิดชอบร่วม (collective responsibility) ซึ่งพระองค์ทรงยอมต่อประเด็นหลังและให้คณะตุลาการไต่สวนเรียกร้องค่าเสียหายเป็นรายบุคคล

การดำเนินการไต่สวนเป็นไปอย่างยากลำบาก ฝ่ายอัยการลังเลที่จะระบุข้อกล่าวหา ซึ่งสื่อเป็นนัยว่าหลักฐานที่มีอยู่นั้นไม่แน่นหนาพอที่จะเอาผิดจำเลยได้อย่างแน่นอน

 de la Gardie หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาได้แก้ต่างต่อศาลโดยชี้ถึงความลักลั่นในข้อกล่าวหาและยืนยันว่าตัวเลขที่มีการกล่าวหานั้นมีการบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ซึ่งฝ่ายอัยการก็ยอมรับข้อโต้แย้งดังกล่าว กระนั้น พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดได้ทรงสั่งให้ดำเนินคดีต่อไป ฝ่ายอัยการจึงตัดสินใจพักการทำงานของคณะตุลาการลง อันทำให้พระองค์ไม่พอพระทัยและทรงให้มีการปรับเปลี่ยนคณะอัยการโดยแต่งตั้ง  Jakob Gyllenborg  ให้เป็นหัวหอกในการดำเนินการไต่สวน 
กระนั้น คณะตุลาการก็ไม่ยอมแพ้ไปเสียทีเดียว อันทำให้การไต่สวนดำเนินไปอย่างล่าช้ากว่าความต้องการของพระองค์ มีการยกฟ้องจำเลยจำนวนมาก แต่ทรัพย์สินบริจาคและงบประมาณที่ใช้เกินที่คาดไว้ก่อนหน้าว่าจะสามารถเรียกคืนได้เป็นจำนวนมาก ก็ปรากฎผลว่าได้บริหารจัดการไปอย่างสมเหตุสมผล ตามพระราชประสงค์ให้ที่ประชุมสภาฐานันดรยืนยันคำตัดสินของคณะตุลาการในปี ค.ศ.1682 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดจึงทรงให้คณะตุลาการมีคำตัดสินในทางหลักการและให้ตั้งคณะกรรมาธิการดูแลการชำระหนี้ (Liquidation Commission) เพื่อให้ดำเนินการจัดการตกลงค่าเสียหายในรายละเอียดต่อไปตามคำแนะนำของ Gyllenborg

ความยากลำบากในการดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายอยู่ที่ความซับซ้อนในการกำหนดความรับผิดส่วนบุคคล (personal liability) และการลังเลของฝ่ายอัยการ อันทำให้พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องหลายครั้ง โดยมี Claes Fleming และ Gyllenborg  เป็นหัวหอกหลัก แม้ว่าพระองค์จะทรงเปิดรับฟังความเห็นจากที่ปรึกษาก็ตาม แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงมีความเชี่ยวชาญทางเทคนิกเพียงพอที่จะผลักดันวาระของพระองค์ได้อย่างเต็มที่ คณะกรรมาธิการดูแลการชำระหนี้ที่มุ่งเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่กระทรวงยังต้องเผชิญกับการต่อต้านจากฝ่ายราชการทำให้ต้องชะลอและยกเลิกข้อกล่าวหาไปจำนวนมาก คดีที่ประสบความสำเร็จก็นำมาซึ่งเงินรายได้จำนวนน้อยเท่านั้น  

การดำเนินคดีของคณะตุลาการสามารถนำรายได้กลับคืนสู่คลังได้ประมาณ 6.5 ล้านเหรียญ (dsm) โดยที่จำนวน 1.5 ล้านเหรียญจากจำนวนดังกล่าว ไม่สามารถเรียกคืนเข้าคลังได้ อันเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับการประมาณการที่ตั้งไว้ที่ 12 ล้านเหรียญ โดยจำนวนเงินที่ได้มานั้นเทียบเท่ากับงบประมาณประจำปีหนึ่งปี 


ในอีกมุมหนึ่ง มีบุคคลเพียงหนึ่งในห้าจากจำเลย 1,200 คนเท่านั้นที่ถูกตัดสินผิดให้จ่ายค่าเสียหาย ผลกระทบแตกต่างไปแต่ละบุคคล บางคนสามารถโต้แย้งและแอบเข้าเจรจาต่อรอง (lobby) กับพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดจนไม่ต้องจ่ายเงินมากนัก ขณะที่อภิชนอย่าง  Rålamb, Per Sparre และ de la Gardie ต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก

ฉะนั้น ผลจากกระบวนการของคณะตุลาการจึงมีน้ำหนักทางการเมืองมากกว่าทางการคลัง โดยเฉพาะต่อกลุ่มตระกูลอภิชนใหญ่ๆทั้งหลาย นั่นคือ  “กลุ่มคณาธิปไตยระบอบเก่าเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อสาธารณชน และได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากจนยากที่จะฟื้นคืนอำนาจกลับมา”  ซึ่งเป็นเจตนาของ Fleming, Thegner และ Gyllenborg

ส่วน Charles XI จะมีพระประสงค์เช่นนี้หรือไม่ ไม่สามารถตอบได้แน่ชัด แต่แน่นอนว่าพระองค์ตระหนักถืงผลทางการเมืองดังกล่าว Charles XI ทรงถือเอาสมดุลการคลังเป็นข้อคำนึงหลัก และถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงแสดงความกรุณาต่อฝ่ายอภิชน แต่หนี้สาธารณะบังคับให้พระองค์ไม่สามารถผ่อนปรนแก่อภิชนที่ได้รับความเสียหายได้มากนัก

กระบวนการที่สองคือ การเวนคืนที่ส่งผลต่ออภิชนอย่างกว้างขวางกว่าการตัดสินของคณะตุลาการ โดยมีการบังคับการเวนคือนจำนวนสามครั้งด้วยกัน คือ

1)ปี ค.ศ.1655 ที่เรียกคืนทรัพย์สินเพียงบางประเภทและเรียกคืนทรัพย์สินพระราชทานอื่น ๆ เป็นจำนวนหนึ่งในสี่

2) ปี ค.ศ.1680 ที่เรียกคืนทรัพย์สินพระราชทานภายหลังปี ค.ศ.1632 ทรัพย์สินอื่น ๆ ในประเภทที่ขยายกว้างมากขึ้น แต่คงไว้ซึ่งรายได้ต่อปีขั้นต่ำ 600 เหรียญ

3) ปี ค.ศ.1682 ที่พระมหากษัตริย์ทรงสามารถเรียกคืนทรัพย์สินได้ทั้งหมด ตามหลักการที่ว่า ไม่สามารถถ่ายโอนที่ดินหลวงได้ (inalienable) และพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการพระราชทานและเรียกคืนทรัพย์สินได้ตามพระวินิจฉัย
จากเหตุผลดังกล่าว ขอบเขตของนโยบายการเวนคืนจึงขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดเพียงพระองค์เดียว พระองค์ทรงตั้งคณะกรรมาธิการใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งคณะควบคู่ไปกับคณะกรรมาธิการที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ปี ค.ศ.1680 และทรงผลักดันการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการทั้งสองอย่างแข็งขัน แต่ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ.1683 ทรงมอบหมายให้ผู้ว่าการจังหวัดจัดทำรายการทรัพย์สินที่จะมีการเรียกคืน โดยให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมาธิการต่อเมื่อพบเจอข้อพิพาทเท่านั้น
 
กระบวนการดำเนินการของนโยบายการเวนคืน มีความยากลำบากในหลายระดับ หากไม่นับปริมาณงานจำนวนมหาศาลแล้ว ประเด็นสิทธิการถือครองทรัพย์สินที่ดิน ตลอดจนการโอนกรรมสิทธิ์หรือการซื้อขาย ส่งผลให้เกิดความซับซ้อนเป็นอย่างมาก การเปลี่ยนกฎเกณฑ์ไปมาของ Charles XI ยังก่อให้เกิดคำถามข้อสงสัยแก่ฐานันดรอภิชนต่อทิศทางของสิทธิในการถือครองทรัพย์สินที่ดินของพวกตนในสวีเดนอีกด้วย ส่วนสภาบริหารในพระมหากษัตริย์ก็กังวลต่อทิศทางของนโยบายการเวนคืนที่มีแนวโน้มที่จะขยายไปเกินกว่าจะควบคุมได้

และภายหลังที่ Fleming เสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1685 Lindschöld และ Gyllenborg สามารถผลักดันนโยบายดังกล่าวให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเข้าไปอีก ผ่านการคิดอัตราดอกเบี้ยและผ่านการตีความสัญญาซื้อขายใหม่ ซึ่งประเด็นหลังมีปัญหาในทางกฎหมายจนสภาบริหารตัดสินใจยืนยันคัดค้านต่อพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดอย่างรุนแรง

แต่ท้ายที่สุดแล้ว แผนการดังกล่าวก็สามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยการยอมรับว่านี้คือพระราชประสงค์ขององค์พระมหากษัตริย์ (โปรดติดตามตอนต่อไป) 


กำลังโหลดความคิดเห็น