ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกได้ว่างานเข้าไม่เลิก หลัง “ทรัมป์” ขึ้นภาษี มูดี้ส์ก็หั่นแนวโน้มเรตติ้งไทยสู่ “เชิงลบ” แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับเตรียมแผนกู้เงิน 5 แสนล้านบาท มาอัดฉีดกระตุ้นจีดีพี เพิ่มความเสี่ยงฐานะการคลังอ่อนแอลง โดยไม่สนคำเตือนไอเอ็มเอฟ ล่าสุด กนง.หั่นดอกเบี้ยนโยบาย รับมือไม่ความแน่นอนภาวะเศรษฐกิจขาลง นักท่องเที่ยวจีนหนีไทยไปเวียด
ข่าวร้ายเมื่อคืนวันที่ 29 เมษายน 2568 เขย่าขวัญเศรษฐกิจไทย นั่นคือ บริษัทจัดอันดับเครดิต มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's) ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่เชิงลบ(Negative) จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable) สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทยจะอ่อนแอลง แต่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ Baa1
มูดี้ส์ ให้เหตุผลว่า ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่ประกาศไปก่อนหน้า คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และจะส่งผลกระทบต่อไทยด้วย และยังมีความไม่แน่นอนสูงมากว่าสหรัฐฯ จะจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับไทยและประเทศอื่น ๆ หรือไม่ หลังการผ่อนผัน 90 วันสิ้นสุดลง
ภาวะดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ซบเซาเป็นทุนเดิมอยู่แล้วหลังโรคโควิด-19 ระบาด เพิ่มความเสี่ยงแนวโน้มการเติบโตลดลง และแรงกดดันด้านลบนี้จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้สถานะทางการคลังของรัฐบาลที่อ่อนแอหลังโควิดให้อ่อนแอลงอีก
ส่วนการเติบโตระยะสั้นของไทย มีแนวโน้มได้รับผลกระทบโดยตรงจากความเสี่ยงด้านการส่งออก ซึ่งไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3% ของจีดีพีในปี 2020 อีกทั้งยังได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่าน Supply Chain ในการผลิตสินค้าของภูมิภาค และแรงกดดันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หากจีนทุ่มส่งออกมายังไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศไทย
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของมูดี้ส์ ในการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ : Mission Thailand” ในงาน TNN DINNER TALK เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมาว่า อันนี้ไม่ใช่การให้คะแนน แต่เป็นมุมมองของมูดี้ส์ ที่เขาบอกว่า จาก stable เป็น Negative มีสิทธิ์ที่จะทำให้เรตติ้งเป็น Negative ได้เช่นกัน ฉะนั้นก็ดูว่าข้อกังวลมีอะไรบ้าง รัฐบาลควรทำอย่างไร อย่างแรกต้องไม่ทำให้เขากังวลในสิ่งที่กังวล จะต้องเตรียมการผ่านมรสุมการขึ้นภาษีของทรัมป์ ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น มุ่งหาเงินเข้าประเทศด้วยการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ และเร่งการลงทุนภาครัฐ รวมถึงยืนยันผลักดัน Entertainment Complex พ่วงกาสิโน
ขณะที่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถอดรหัส Negative Outlook ของ Moody’s ว่า อาจนำไปสู่การลด Rating ลงได้ในอนาคต เป็นการเตือนประเทศไทย และกระตุ้นให้อีก 2 เจ้าที่เหลือ คือ S&P และ Fitch Ratings กลับมาดูข้อมูลและทบทวนจะปรับเปลี่ยนมุมมองของไทยตามหรือไม่
อย่างไรก็ดี การปรับลดเป็น Negative ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การลด Rating เสมอไป อย่างในอดีตช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008 มูดี้ส์ก็เคยลด Outlook ของไทยเป็น Negative แต่เมื่อผ่านช่วงวิกฤตนั้นมาได้ 2 ปีให้หลัง ก็ปรับเป็น Stable อีกครั้ง
ในรอบนี้ ถ้าเศรษฐกิจไทย สามารถขยายตัวได้สูงกว่าคาด จะช่วยสถานะการคลังไทยดีขึ้น หมายความว่า ถ้าขาดดุลการคลังน้อยลง และเป็นหนี้ภาครัฐต่อ GDP ลดลง จากเศรษฐกิจที่โตต่อเนื่อง เขาก็จะกลับไปที่ Stable ได้ แต่ถ้าหากเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง ภาระหนี้สินรัฐบาลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง อาจตามมาด้วยการลดเรตติ้งในอนาคต
คำเตือนของมูดี้ส์ มีเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข คือเตรียมการให้เศรษฐกิจผ่านมรสุมทรัมป์ และลดผลกระทบ เร่งปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะสร้างรายได้ที่แท้จริง เพิ่มศักยภาพการวิจัยของไทย แก้กฎหมายที่ล้าสมัย และการพัฒนาคนของไทย
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) มองเช่นเดียวกันว่า การปรับลดแนวโน้มเครดิตของมูดีส์ต่อไทยครั้งนี้ เป็นคำเตือนที่ชัดเจนว่า “เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในจุดเปราะบาง” และที่สำคัญกว่านั้นคือ Moody’s ยังไม่ได้ factor in แผนการกู้เงินเพิ่มเติมที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่เลย
“ในอดีต เราเคยเห็น S&P และ Fitch ปรับตาม Moody’s หลายครั้ง (เช่นช่วงวิกฤตปี 1997 และ 2008) หากพวกเขาประเมินว่าความเสี่ยงต่อฐานะการคลังมีมากพอ ก็มีโอกาสที่ outlook หรือแม้แต่ rating จะถูกปรับลงได้เช่นกัน และจะกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาล จนกระทบต่อความน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีก
เวลานี้ เราเจอ “กำแพงคู่” ที่เป็นข้อจำกัดด้านการคลังของไทย ทำให้ขยับได้ยาก เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบขาดดุล ที่ได้แค่ไม่เกิน 20% ของงบรายจ่ายประจำปีบวกกับ 80% ของงบชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งตีคร่าว ๆ แล้วได้ประมาณ 4.5% ของ GDP เราใช้เพดานนี้ไปหมดแล้วตั้งแต่ปีงบประมาณก่อน และปีนี้ก็เท่านี้ ปีหน้าก็จัดเต็มแม็กไปแล้ว ถ้าจะใช้เงินเพิ่มอีกต้องออก พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ.กู้เงินอย่างเดียวเท่านั้น ขณะที่ตอนนี้หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 64% และคาดว่าจะพุ่งแตะ 70% ในไม่กี่ปี หากเรากู้เพิ่มตอนนี้ ก็มีโอกาสทะลุเพดานเร็วกว่าที่ควร”
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research เตือนว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้แต่ต้องคิดให้หนัก ถ้ากู้มาแจกแล้วแล้วเศรษฐกิจไม่กระเตื้องก็เท่ากับว่าหนี้ต่อGDP จะพุ่งเร็วมาก แต่ถ้าใช้เงินไปกับโครงการที่มี multiplier สูง หนี้เพิ่มขึ้น แต่ GDP ขึ้นตาม สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ก็จะไม่แย่ไปมากนัก ที่สำคัญคือ ต้องมีแผนลดหนี้ที่น่าเชื่อถือ
เวลานี้ ตลาดและสถาบันจัดอันดับ อยากเห็นว่าการกู้ครั้งนี้เป็นการใช้เงินระยะสั้นในยามจำเป็น และมีแผนชัดเจนที่จะลดการขาดดุลในอนาคต นั่นหมายถึงเราต้องปฏิรูปการคลัง โดยการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ลดการรั่วไหล ขยายฐานภาษี คำเตือนจากมูดีส์ เราควรใช้โอกาสนี้ทบทวนนโยบายการคลังของไทย ควรปรับอย่างไร ทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจได้และรักษาความน่าเชื่อถือทางการคลังในระยะยาว อย่ารอให้ถูกปรับอันดับเครดิตจริง ๆ แล้วค่อยขยับ
ตามแผนการกู้เงินของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นั้น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมออกกฎหมายกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสองฉบับรับมือกับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของทรัมป์ คือ
หนึ่ง พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อการลงทุนในประเทศ เพื่อกระตุ้นการจ้างงานและการบริโภค เน้นโครงการแก้ไขปัญหาน้ำแบบครบวงจร ซึ่งมอบหมายให้สภาพัฒน์พิจารณารายละเอียดแล้ว
และสอง พ.ร.ก.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) โดยแหล่งที่มาของเงินยังอยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าน่าจะใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่า หากสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตมากกว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะลดลงโดยอัตโนมัติ
อีรา ดาบลา-นอร์ริส รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการการคลัง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กังวลต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะของไทย ว่า ประเทศไทยมีระดับหนี้สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนเล็กน้อย โดยอยู่ที่ระดับสูงกว่า 60% ของ GDP พร้อมแนะนำให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายการคลังอย่างรอบคอบและประหยัด
ขณะที่ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าฐานะการคลังไทยยังมีความเข้มแข็ง และการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะกระทบหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 64.21% ต่อจีดีพี เรื่องเพดานหนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ เนื่องจากหลายประเทศมีหนี้สาธารณะสูงถึง 80-100% ต่อจีดีพี
ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2568 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 12.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.21% ของจีดีพี โดยรัฐบาลกู้ชดเชยขาดดุล 8.6 แสนล้านบาท และยังมีช่องว่างกู้ชดเชยขาดดุลเหลือ 4,000 ล้านบาท
หากย้อนหลังตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 รัฐบาลออก พ.ร.ก. และ พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยมีรัฐบาล 5 ชุด ที่ออกกฎหมายกู้เงินรวม 9 ฉบับ เป็น พ.ร.ก.ที่มีผลบังคับใช้จริง 7 ฉบับ วงเงินรวมกว่า 3.83 ล้านล้านบาท นับจาก 1) รัฐบาลชวน หลีกภัย ออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ ในปี 2541 วงเงินรวม 8 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯ และส่งเสริมความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน 2) ปี 2545 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ออก พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง วงเงิน 7.8 แสนล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูภาคการเงินอย่างยั่งยืน
3) ปี 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกพ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อรับมือวิกฤตการเงินโลก 4) ปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออก พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท 5) รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออก พ.ร.ก. 2 ฉบับรวม 1.5 ล้านล้านบาท (วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ในปี 2563 และอีก 5 แสนล้านบาทในปี 2564) เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด-19 และขยายเพดานหนี้สาธารณะจากไม่เกิน 60% เป็น 70% เพื่อรองรับการกู้เงินเพิ่มเติม
ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 เหลือเพียง 1.8% จากเดิม 2.9% ถือเป็นอัตราต่ำสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเอเชียและตลาดเกิดใหม่เอเชีย เมื่อเทียบกับอินเดีย (6.2%) ฟิลิปปินส์ (5.5%) เวียดนาม (5.2%) อินโดนีเซีย (4.7%) มาเลเซีย (4.1%) และจีน (4.0%)
ขณะเดียวกัน รายงานอัปเดทแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ฉบับเดือน เม.ย. 2025 ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ในปี 2568 เหลือเพียง 1.6% จากเดิมที่เพิ่งจะปรับขึ้นคาดการณ์จีดีพีของไทยไปอยู่ที่ 2.9% ในรายงานอัปเดตฉบับเดือน ม.ค.2568 ส่วนใน 2569 ธนาคารโลก ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยลงมาเหลือ 1.8% จากเดิมที่ 2.7% ในคาดการณ์เดือน ม.ค. 2568 นับเป็นอัตราการเติบโตต่ำสุดในกลุ่มอาเซียน
ผลกระทบเป็นวงกว้างจากการขึ้นภาษีของทรัมป์ ที่ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า ของโลกและของไทยเกิดความไม่แน่นอน ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี มีผลทันที ทั้งนี้ 2 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ถ้อยแถลงของ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ กนง. ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์นโยบายการค้าสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้นที่ความไม่แน่นอนสูงมาก เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับลดลง และสถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อ
เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มปรับลดลง มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลก และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัว ในครึ่งปีหลังหากการเจรจายืดเยื้อและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปัจจุบัน อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.0 แต่หากสงครามการค้ารุนแรงมากและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อยู่ในอัตราสูง อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 1.3
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง โดยเฉพาะจากจีนที่หดหายไปนั้น นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่า นักท่องเที่ยวจีนลดลงอย่างมาก จากปัจจัยความไม่เชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย การส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของจีน ทำให้นักท่องเที่ยนจีนเดินทางเข้าไทยน้อยลง
กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รายงานสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 20 เม.ย. 2568 พบว่า มีจำนวนสะสม 11,272,379 คน เพิ่มขึ้น 0.52% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอันดับ 1 ยังคงเป็นตลาดจีน จำนวนสะสม 1,524,697 คน ตามด้วย มาเลเซีย 1,401,169 คน, รัสเซีย 835,385 คน อินเดีย 677,793 คน และ เกาหลีใต้ 549,982 คน
รายงานสถิติฯดังกล่าว ยังชี้ว่า ตลาดนักท่องเที่ยวจีน เดินทางเข้าไทยทำสถิติต่ำสุด จำนวน 5,833 คนต่อวัน เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2568 จากค่าเฉลี่ย 15,000-20,000 คนต่อวัน และแนวโน้มยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวจีนหันไปทัวร์เวียดนามแทน
นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวชลบุรี ให้ตัวเลขว่า ช่วงเดือน มี.ค.2568 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเยือนเมืองไทย ลดเหลือเพียง 300,000 คน ขณะที่เข้าเวียดนามสูงขึ้นมากถึง 670,000 คน นับเป็นครั้งแรกที่เวียดนามแซงหน้าไทย ปัจจัยหลักคือการขาดความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย อีกทั้งเวียดนาม พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มากขึ้น
มรสุมรุมเร้ารอบด้านฉะนี้แล้ว คำโม้ที่จะทำให้ GDP เติบโตเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 5% เป็นฝันไกลที่ไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทย จะพาประเทศไทยไปถึงกี่โมง