xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดรหัสคำให้การ “ผู้ว่าฯ สตง” มั่นใจ “ถูกต้อง โปร่งใส ไม่แพง” บอกตรงๆ คดี “ตึกถล่ม” อีกนานนนน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นเวลานับเดือนหลังตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมาร์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 “นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการสตง.” ถึงมาเผชิญหน้าตอบคำถามของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมแถลงตอบทุกข้อกังขา และอ้ารับผลที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม

หลังการประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมง นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกมธ.ฯ พร้อมด้วย นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม.พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานกมธ.ฯ แถลงผลการเข้าชี้แจงของผู้ว่าฯ สตง. และคณะ โดย กมธ.ฯ มุ่งเป้า 3 ประเด็นหลักคือ  การออกแบบ การจัดซื้อจัดจ้าง และการควบคุมงาน 

 ประเด็นแรก การออกแบบ กมธ.ฯ ถามว่าทำไม สตง.ใช้การเลือกแบบเฉพาะ แทนที่จะประมูลแบบก่อสร้างตามมาตรา 83 ของ พ.ร.บ.ประกวดแบบจัดซื้อจัดจ้าง ทางผู้ว่าสตง. ให้คำตอบว่า เนื่องจากเป็นตึกที่มีความซับซ้อน และมีประกาศของกฎกระทรวงรองรับไว้

“การจัดซื้อจัดจ้าง กมธ.ฯตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้ระยะเวลาที่สั้นเพียงแค่ 1 เดือน ในการเลือกแบบก่อสร้าง” นายธีรัจชัย กล่าวถึงปมพิรุธ

 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการ สตง. ในฐานะที่ปรึกษา กมธ. เปิดเผยว่า ก่อนตนเองจะพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. ได้มีส่วนในการเลือกสถานที่ก่อสร้างอาคารที่เหมาะสม และนำพื้นที่กว้าง ๆ มาลงแปลนออกแบบ แต่จะนำแบบแปลนที่เคยออกแบบไว้มาใช้ หรือออกแบบใหม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารชุดต่อมา ตนเองพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่เลือกพื้นที่ก่อสร้างตึกเสร็จสิ้น แต่การออกแบบเกิดในปี 2561-2562 ทำสัญญาในปี 2563-2564 เป็นช่วงที่พ้นจากตำแหน่งไป 3-4 ปี

 ประเด็นที่สอง การจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้ระบบ E-bidding ที่ลดราคาไป 300 ล้านบาทในปี 2563  กมธ.ฯ มีข้อกังขาคือ ในปี 2562 ธนาคารโลกสั่งแบนบริษัทแม่ที่รับเหมาก่อสร้าง และสะพานในประเทศชิลีเกิดเหตุถล่ม แล้วทำไม สตง.ยังใช้บริษัทนี้รับเหมาก่อสร้าง, บริษัทดังกล่าวทะเบียนในไทยเพียงแค่หนึ่งปี, การซื้อซองประมูลโครงการก่อนที่จะไปใช้ชื่อบริษัทในประเทศไทยที่มีผลงานมารับช่วงต่อ, หน้าที่หลักในการก่อสร้างตามข่าวเป็นความรับผิดชอบของบริษัทจีนส่วนใหญ่ แม้ไทยจะถือหุ้น 51% และจีน 49%

นายธีรัจชัย ไม่ได้แจงว่า ผู้ว่าฯ สตง.ตอบคำถามประเด็นจัดซื้อจัดจ้างเช่นใด แต่แถลงการณ์ของ สตง. หลังเกิดเหตุตึกถล่มสองวันยืนยันว่า “สตง. ได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างโดยมีการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน”

ทั้งนี้ การสร้างตึก สตง. เป็นช่วงรอยต่อของผู้ว่าฯ สตง. 3 คน คือ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส  ต่อด้วย  นายประจักษ์ บุญยัง  ก่อนจะมาถึง  นายมณเฑียร เจริญผล  ที่มารับตำแหน่งยังไม่ถึงปี กระบวนการขั้นตอนการออกแบบ การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าที่นายมณเฑียรจะเข้ามารับตำแหน่ง

สำหรับอดีตผู้ว่าฯ สตง. ที่ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง คือ นายประจักษ์ บุญยัง โดยลงนามสัญญาการว่าจ้าง กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาเลขที่ 021/2564 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2563 วงเงิน 2,136 ล้านบาท ต่ำว่าราคากลาง 2,522 ล้านบาท อยู่กว่า 300 ล้านบาท

“ยืนยันได้ว่า การว่าจ้างดังกล่าวทำตามโปร่งใส ทำตามระเบียบขั้นตอนทางกฎหมายในการประมูลการก่อสร้างอาคารของรัฐ ด้วยวิธี E-bidding ซึ่งกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี กับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ได้เสนอราคามาต่ำกว่าราคากลาง และเสนอมาราคาต่ำสุด จึงมีการตกลงสัญญาว่าจ้างให้ก่อสร้างตึกสตง.” นายประจักษ์ ให้สัมภาษณ์สื่อหลังเกิดเหตุตึก สตง. ถล่ม และออกตัวพร้อมชี้แจงต่อคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา

 ประเด็นที่สาม การควบคุมงาน ใช้ระบบการคัดเลือกไม่ใช่ E-bidding จากการสอบถามของ กมธ.ฯ พบว่ามีการแก้ไขแบบถึง 9 ครั้ง ซึ่งต้องตรวจสอบว่าผู้แก้ไขแบบมีการสอบถามคณะกรรมการควบคุมงานของ สตง.หรือไม่ รวมถึงการควบคุมงานของวิศวกรที่ว่าถูกปลอมลายเซ็น และการตรวจสอบวัสดุในการก่อสร้างของคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้างจาก สตง. มีฮั้วหรือไม่

“... กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การควบคุมงาน การออกแบบ อาจจะยังไม่ละเอียดพอ ....เป็นการบกพร่องผิดพลาดโดยสุจริตหรือไม่ หรือถูกต้องโดยทุจริตหรือไม่ และการตรวจสอบจะโยงไปถึงเจ้าหน้าที่ของ สตง. และการก่อสร้างทุกขั้นตอน อยากให้สำนักงานคณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าไปตรวจสอบภายในเพิ่มเติม” นายธีรัจชัย กล่าว

ด้านนายมณเฑียร แถลงหลังประชุมกับ กมธ.ฯ ว่าการก่อสร้างหลัก ๆ มีอยู่ 3 เรื่อง คือการจ้างบริษัทออกแบบ การจ้างบริษัทก่อสร้าง ในวงเงินที่ดำเนินการ 2.1 พันล้านบาท และการก่อสร้างดำเนินไปทั้งหมด 22 งวด เป็นเงิน 966 ล้านบาท

ส่วนสัญญาที่ 3 เป็นสัญญาจ้างผู้ควบคุมงาน คือ บริษัท PKW ประเด็นที่สงสัยกันว่าการออกแบบไม่มีการเซ็นรับรอง ได้นำเอกสารมาให้ กมธ.ฯ ดูว่าเราได้ถามไปยังบริษัทผู้ออกแบบแล้ว ซึ่งทางบริษัทญยืนยันว่า บุคคลที่เซ็นรับรองยังทำงานอยู่กับบริษัทที่ออกแบบ

ส่วนเรื่องการจ้างควบคุมงาน ได้ให้ทางบริษัทยืนยันว่ายังเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทอยู่หรือไม่ ซึ่งบุคคลที่อ้างว่าไม่ได้เซ็นในการควบคุมงานนั้น มีวิศวกรอยู่ 2 ประเภท คือ วิศวกรที่ปรึกษากับวิศวกรที่ควบคุมงาน วิศวกรที่ควบคุมงานก็ต้องมาคุมงาน แต่วิศวกรที่ปรึกษาไม่จำเป็นต้องมาควบคุมงานแต่ต้องเซ็นรับรองเอกสาร

ผู้คุมงานที่เราจ้างมา ต้องผ่านการรับรองของวิศวกรที่มี วอย. (วุฒิวิศวกรโยธา) ทั้งบริษัทผู้ออกแบบและบริษัทที่ปรึกษาก็ตาม ที่แจ้งรายชื่อวิศวกรมาให้เรา ในทางปฏิบัติถ้าจะเปลี่ยนตัววิศวกร จะมีการทำหนังสือมาว่าจะขอเปลี่ยนตัว แต่ทั้ง 2 คนที่เป็นข่าว ไม่มีเอกสารเปลี่ยนตัวแต่ประการใด เราต้องยึดตามเอกสารนี้ก่อน และการที่นายสมเกียรติ ชูแสงสุข วิศวกรผู้ควบคุมงาน บอกว่าไม่รับรู้ด้วยก็ต้องไปดำเนินคดีกัน

เมื่อถามว่า บริษัทผู้ออกแบบได้รับทราบการแก้ไขและมีผู้เซ็นรับทราบจริงหรือไม่ นายมณเฑียร อธิบายว่า การแก้ไขแบบ บริษัทออกแบบจะเป็นผู้พิจารณา แก้ไข พร้อมกับเซ็นรับรอง ผู้คุมงานก็ต้องเซ็นรับรองด้วย เราก็เห็นชอบให้ไปแก้ไขตามแบบที่ผู้ออกแบบปรับแก้แล้วผู้ควบคุมงานรับรองมา ผู้ก่อสร้างก็ไปสร้างตามแบบที่แก้ไข ซึ่งเป็นไปตามสัญญาและข้อกฎหมาย

ส่วนเรื่องที่สตง.ออกมาชี้แจงเรื่องปล่องลิฟท์ ก็เป็นไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ใช่หรือไม่ นายมณเฑียร กล่าวว่า ใช่

ประเด็นข้อสงสัยในการแก้ไขแบบและวัสดุต่าง ๆ มีความผิดพลาดอยู่ตรงไหน ผู้ว่าฯ สตง. บอกว่า ตอนนี้มีคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลเข้ามาตรวจสอบแล้ว การตรวจสอบแบบกำลังดำเนินการอยู่
ส่วนการตรวจสอบการก่อสร้าง คณะกรรมการเข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็ก ปูน ที่อยู่ในพื้น คาน และคอลิฟท์ ไปตรวจสอบ ต้องรอผลตรวจสอบก่อนเช่นกัน

 “เราต้องยอมรับว่ามีการแก้ไขจริง แต่การแก้ไขนั้นมีผลกระทบขนาดไหนอย่างไร ขอเรียนว่าผลเป็นอย่างไร สตง.รับได้หมด ใครผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย” ผู้ว่าฯ สตง. กล่าว และชี้แจงเรื่องฮั้วหรือนอมินี ว่า สตง.เอาเอกสารให้ดีเอสไอแล้ว ตอนนี้ดีเอสไอ กำลังสอบเอกชนอยู่ หลังจากนั้นน่าจะสอบเจ้าหน้าที่ของสตง. พร้อมให้ความร่วมมือกับดีเอสไอ และกำลังตรวจสอบถึงการเข้ามาร่วมรับจ้างก่อสร้างของบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ด้วย 

ผู้ว่าฯ สตง.ยังตอบคำถามถ้าบริษัทคู่สัญญาทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ คุมงานหรือก่อสร้าง ทางสตง. ที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีหรือไม่ ว่าบริษัทก่อสร้างคือบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ทำประกันตัวตึกกว่า 2.1 พันล้านบาท และประกันบุคคลที่สามอีกร้อยกว่าล้าน และประกันของอีกประมาณ 5 กว่าล้านบาท ถ้าเป็นความผิดของอิตาเลียนไทยฯ ประกันก็จะครบคลุม แต่ถ้าเป็นเรื่องออกแบบ แล้วอิตาเลียนไทยฯ ทำตามแบบก็จะมีปัญหาข้อกฎหมาย แต่ใครทำผิด ไม่ว่าใครก็ตาม สตง.เป็นผู้เสียหาย ก็จะดำเนินคดีอาญา และแพ่งให้ถึงที่สุด

ส่วนเรื่องการบอกเลิกสัญญาตอนต้นปี แต่สัญญายังไม่ได้ถูกยกเลิก เพราะกระบวนการบอกเลิกสัญญาของราชการมันนาน ค่าเฉลี่ยประมาณหนึ่งปีต้องให้เวลาชี้แจง จริง ๆ แล้ว บริษัทนี้ทำงานแล้วมีปัญหา เขาก็จะบอกเลิกสัญญาอยู่หลายหน่วยงานแล้ว แต่ต้องใช้เวลา

มาถึงประเด็นเรื่องครุภัณฑ์ราคาแพงเวอร์ นายมณเฑียร แจงว่า กรณีที่เป็นข่าวเป็นครุภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการออกแบบ แต่จะเป็นครุภัณฑ์จริง ๆ ได้ ต้องมีการก่อสร้างเสร็จและนำมาใช้ หลังก่อสร้างเสร็จก็ต้องดูว่าเหมาะสมตามแบบราชการหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันแบบของ สตง.ได้มีการลดเงิน

กรณีเก้าอี้ห้องประชุมตัวละ 90,000 บาท นายมณเฑียร กล่าวว่า เก้าอี้แพงมีเพียงชุดเดียว คือเก้าอี้ของประธาน และเก้าอี้ของกรรมการในห้องประชุม ส่วนเจ้าหน้าที่ สตง.ทั้งหมด 2,400 คน เก้าอี้ตัวละ 1-2 หมื่นบาท การสร้างบริษัทโดยปกติจะกำหนดว่าชั้นสูงเป็นพื้นที่ผู้บริหาร ดังนั้นคุรุภัณฑ์จะมีการออกแบบตามฐานะ

 “ประเด็นเก้าอี้ตามฐานะ หากเทียบตำแหน่งของผู้บริหารในสำนักงานก็เทียบเท่าระดับรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย สามารถศึกษาได้ ว่าประธานเทียบเท่าตำแหน่งอะไร หรือตำแหน่งผู้ว่า สตง. เทียบเท่าตำแหน่งอะไร กฎหมายมีเขียนไว้” ผู้ว่าฯ สตง.ชี้แจง 

ส่วนฝักบัวราคากว่า 1 หมื่นบาท หากไปดูแบบของฝักบัวมีอยู่ 2 แบบ เมื่อทำจริงเอาทั้ง 2 แบบมารวมกัน ฝักบัวจึงแพง ผู้ที่ออกแบบได้เสนอราคาคุรุภัณฑ์มา สตง.มีหน้าที่ดูว่าเหมาะสมหรือไม่ ขอย้ำว่าเป็นขั้นตอนการออกแบบไม่ใช่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง

เรื่องห้องฉายภาพยนต์ในอาคารสำนักงาน สตง.นายมณเฑียร กล่าวว่า ทั้งหมดเรียกว่าห้องประชุม ขอย้ำว่าเป็นห้องประชุม หลังห้องประชุมจะเขียนว่าเป็นห้องแบบใด เช่น ห้อง class room และห้อง theater ย้ำว่าไม่มีห้องฉายภาพยนตร์ เป็นเพียงลักษณะของห้องประชุม สตง.ไม่มีห้องดูหนัง

ถือเป็นการตอบทุกข้อสงสัยในทุกประเด็นเป็นครั้งแรกของ ผู้ว่าฯ สตง.หลังเกิดเหตุตึกถล่ม ซึ่งยังมีอีกหลายปมที่ยังรอการคลี่คลายให้กระจ่าง

ขณะเดียวกัน ฟากฝั่งของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา  นายศุภภางกูร พิชิตกุล รอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เปิดเผยความคืบหน้าการเรียกสอบปากคำวิศวกรที่ถูกปลอมลายเซ็น ในคดีพิเศษ 32/2568 (โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง.) ว่า วิศวกรเข้ามาให้ปากคำรวมทั้งหมด 10 คน โดยมี 3 คน ที่ยอมรับว่าเป็นลายเซ็นของตัวเองจริงที่ปรากฏรายชื่อควบคุมงานของกิจการร่วมค้า PKW (พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด / ว.และสหายคอนซัลแตนตส์ จำกัด / เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด) ทั้ง 3 คน อ้างว่าไปควบคุมงานและปฏิบัติงานในไซต์งานจริง ซึ่งลายเซ็นของทั้ง 3 คน เป็นลักษณะการเซ็นรายงานประจำสัปดาห์

สำหรับอีก 7 ราย เป็นวิศวกรของบริษัท ว.และสหายฯ ให้การปฏิเสธว่าลายเซ็นที่ปรากฏในเอกสารรายงานประจำสัปดาห์การควบคุมงาน ช่วงปี 2563 ไม่ใช่ลายเซ็นของตนเอง ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการเบิกเงินกับ สตง. และไม่เคยเข้าไซต์งานก่อสร้าง สตง. รวมถึงบางคนก็ลาออกจากบริษัทไปแล้ว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนสอบสวนว่าชื่อและลายเซ็นไปปรากฏในเอกสารวิศวกรควบคุมงานได้อย่างไร

ส่วนคดีฮั้วประมูล ดีเอสไอมีการตั้งประเด็นเกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ทาง สตง. ได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับโครงการมาแล้ว หลังจากนี้จะเรียกบริษัทที่เสนอราคาในโครงการก่อสร้างตึก สตง. 6 บริษัท มาให้ข้อมูลประมาณกลางเดือน พ.ค.นี้

 ความอื้อฉาวใต้ซากตึก สตง. กำลังถูกไขให้กระจ่างขึ้นทีละนิด ส่วนจะมีใครต้องรับผิดสักกี่มากน้อย ต้องรอติดตามกันแบบยาวไป  


กำลังโหลดความคิดเห็น