ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อะไรที่ไม่เคยไม่ได้เห็นก็จะได้เห็นใน TikTok ล่าสุด เกิดเทรนด์ “คอนเทนต์แม่วัยใส” แชร์ประสบการณ์อันผิดพลาด “ท้องก่อนวัยอันควร” ด้วยความภูมิใจ คอนเทนต์บูดเบี้ยวกระทบต่อการรับรู้ของเด็กๆ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังซ้ำเติมสถานการณ์ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และวิกฤตประชากรไทย “เด็กเกิดน้อย – ด้อยคุณภาพ”
ข้อมูลที่ตกใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวก็คือ พบมียอดขอคำปรึกษาเรื่องตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น 10 - 14 ปี ผ่านสายด่วน 1663 เพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 มีวัยรุ่นอายุ 10 - 14 ปี ขอรับคำปรึกษาเรื่อง ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ผ่านช่องทางออนไลน์และสายด่วน รวม 46,893 ราย หรือเฉลี่ย 128 รายต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 44,574 ราย
แม้รายงานกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการคลอดในวัยรุ่นของไทยลดลงกว่าเท่าตัวเหลือ 21 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 53.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2555 โดยตั้งเป้าหมายลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นไม่เกิน 15 ต่อประชากรหญิง อายุ 15-19 ปี 1,000 คน ภายในปี 2570
แต่สถานการณ์ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไทยยังอยู่ในสัดส่วนสูง รายงานปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปี 2567 โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยอัตราการคลอดบุตรในช่วงอายุ 10 - 14 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 0.93 ต่อพันคน เกินเป้าหมายที่กำหนดจากข้อมูล DOH Dashboard ซึ่งสูงขึ้นจากปี 2566 อยู่ที่ 0.77 ต่อพันคน เกินกว่าเป้าหมายของ UN ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.7 ต่อพันคน
ทั้งนี้ ประเด็นร้อน “คอนเทนต์แม่วัยใส” ที่กำลังได้รับความสนใจใน TikTok เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้นเข้าถึงง่ายครอบคลุมผู้ใช้หลากหลายนั้น นับเป็นอีกครั้งที่สะท้อนปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไทยและค่านิยมผิดเพี้ยนการอวดตัวเป็นคุณแม่วัยใส เกิดการยกย่องแบบผิดๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมเพิกเฉยไม่ได้
โดยเฉพาะการเข้าถึงคอนเทนต์แม่วัยใสของเด็กและเยาวชนจำนวนมาก ซึ่งการนำเสนอเรื่องราวท้องก่อนวัยอันควรของเด็กวัยรุ่นหญิงจำนวนหนึ่งแสดงให้เห็นถึงความภูมิใจ การโพสต์ภาพพร้อมเนื้อหาทำนองว่ามีความรับผิดชอบเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง สร้างความรู้สึกว่าเป็นแบบอย่างที่ดีแม้พลาดท้องไม่พร้อม ย่อมก่อผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่เสพสื่อดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้
ยิ่งมีคอมเมนต์เชิงบวกจากคนบางกลุ่มให้กำลังใจชื่นชม หรือมียอดไลค์จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ อาจมองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา หรือหนักกว่านั้นอาจเกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบมองวิถีแม่วัยใสเป็นไอดอล ซึ่งกลุ่มแม่วัยใสควรสื่อสารอย่างรับผิดชอบสร้างความเข้าใจทางสังคมว่าการตั้งในครรภ์ก่อนวัยอันควรนั้นเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่
เพราะในแง่มุมจิตวิทยาการได้เห็นตัวอย่าง “แม่วัยรุ่น” ได้รับ “ยอดไลค์”หรือ “คำชม” เสมือนเป็นวิธีพิสูจน์คุณค่าตัวเองทางหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้เด็กและเยาวชนบางคนเข้าใจผิดได้ว่าการมีลูกในวัยเรียนเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจก็เป็นได้ หรือการนำเสนอแง่มุมสู้ชีวิตของแม่วัยใส อาจสร้างภาพลวงตาให้กับเด็กและเยาวชนก่อผลกระทบต่อพฤติกรรมเลียนแบบ (Modeling Behavior) ตามทฤษฎี Social Learning Theory ของ Albert Bandura ระบุว่า เด็กและเยาวชนมักเรียนรู้จากการเลียนแบบบุคคลที่ตนชื่นชอบหรือเห็นว่าประสบความสำเร็จในสื่อ โดยเฉพาะเมื่อพฤติกรรมนั้นได้รับการเสริมแรงทางบวก เช่น คอมเมนต์ชื่นชม หรือยอดวิวสูง เป็นต้น ทั้งนี้ เด็กยังขาดการตระหนักรู้และอาจเข้าใจผิดว่าการมีลูกเร็วเป็นทางเลือกที่ดี
ผศ.พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร ภาควิชาเวศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยไว้ความว่าปัญหาท้องก่อนวัยอันควรที่เกิดขึ้นจำนวนมากในสังคมไทย ด้วยปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นค่านิยมเรื่องเพศของวัยรุ่น การขาดความรู้ในการป้องกัน สื่อยั่วยุ และอื่นๆ อีกทั้ง ตลอดหลายนปีที่ผ่านมาพบว่าในกลุ่มวัยรุ่นได้มีค่านิยมใหม่ พากันอวดตัวเป็นคุณแม่วัยใสบนโลกโซเชียลฯ ต่างพากันยกย่องแบบผิดๆ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมจะเพิกเฉยไม่ได้อย่างเด็ดขาด และควรร่วมกันแก้ไขทัศนคตินี้โดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐมีความพยายามดำเนินการจัดการปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเชิงนโยบายอย่างจริงจัง โดยเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมหลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษา ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566
สาระสำคัญกำหนดให้สถานศึกษาที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษา ต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษาตามความประสงค์ของนักเรียนหรือนักศึกษานั้น ทั้งนี้ มีเด็กวัยรุ่นหญิงจำนวนมากจำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษากลางคันเพราะไม่มีทางเลือก โดยพบว่ามีนักเรียนหรือนักศึกษาตั้งครรภ์ถูกสถานศึกษาให้ย้ายสถานศึกษาโดยมิได้สมัครใจ
ดังนั้น จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดำเนินการของสถานศึกษาเพื่อเป็นการคุ้มครองวัยรุ่นซึ่งตั้งครรภ์ขณะที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาให้มีสิทธิได้รับการศึกษาในสถานศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่องตามความประสงค์ของนักเรียนหรือนักศึกษา
นับเป็นผ่านการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในระบบการศึกษา อันส่งผลต่อทัศนคติของบุคลากรทางศึกษาและบุคคลในครอบครัวให้มีจิตสำนึกในการเคารพสิทธิทางการศึกษาของนักเรียน เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบดูแลและเหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมมาตรการสำคัญให้วัยรุ่นมีทักษะการป้องกันปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พร้อม เพื่อชะลอการเข้าสู่ช่วงการเป็นพ่อแม่ในวัยเรียน สังคมและชุมชนจึงต้องร่วมสนับสนุนโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัย กรณีเด็กมีการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ทัศนคติของคนรอบข้างต้องไม่ตีตรา ส่งเสริมให้เข้าถึงการใช้บริการทางเลือกที่เป็นมิตร
น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสถานการณ์ตั้งครรภ์ในวัยรุ่นโดยรัฐบาลได้เร่งวางแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยการเพิ่มความรู้ด้านเพศศึกษาและการคุมกำเนิดอย่างเหมาะสม ขยายการเข้าถึง บริการสุขภาพและที่ปรึกษาสำหรับวัยรุ่น เน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัว โรงเรียน และชุมชนโดยใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชน
“รัฐบาลตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น และมุ่งมั่นแก้ไขอย่างเป็นระบบและจริงจัง โดยเร่งดำเนินมาตรการป้องกัน คุ้มครอง และให้ความช่วยเหลือผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งครอบครัว โรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการขยายการเข้าถึงความรู้ด้านเพศศึกษา การคุมกำเนิด และบริการปรึกษาอย่างครอบคลุม เพื่อให้เยาวชนมีทางเลือกที่ปลอดภัยเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วน 1663 ตลอด 24 ชั่วโมง”
ล่าสุด นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 ก.พ. 2568 ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560 – 2570 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559
เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ในเด็กอายุระหว่าง 15 – 19 ปี ในช่วงที่ผ่านมา ก่อนจะมีอัตราที่ลดลงในช่วงหลัง ซึ่งเกิดจากการที่อัตราการเกิดในประเทศลดลง ดังนั้น จึงต้องมีการปรับแผนปฏิบัติการเพื่อให้เหมาะสม โดยจะมีการปรับเป้าหมายให้เหมาะสมกับการดำเนินในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงยกระดับความสำเร็จในการดำเนินงานให้มากขึ้น เพราะผลที่เกิดขึ้นประสบความสำเร็จเร็วเกินไปจากการที่อัตราการตั้งครรภ์ในเด็กลดลงอย่างมาก
“ในปี 2566 อัตราการคลอดลูกในเด็กผู้หญิงอายุ 15 – 19 ปี มีค่าเท่ากับ 20.9 ต่อ 1,000 คน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่เคยกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ที่ไม่เกิน 25 คน ต่อ 1,000 คน ซึ่งการปรับแผนในครั้งนี้จะถือว่าเป็นประโยชน์ เพราะตอนนี้ก็ไทยกำลังเผชิญกับเรื่องเด็กเกิดน้อย”
ข้อมูลจาก United Nations Population Division (UNPD) รวบรวมระหว่างปี 2493 - 2567 ระบุชัดว่า ประเทศไทยมีอัตราการเกิดต่ำอยู่ในอันดับ 3 จาก 80 ประเทศทั่วโลก ลดลงมากถึง 81% ในช่วง 74 ปีที่ผ่านมา เป็นรองเพียงเกาหลีใต้ (88%) และจีน (83%)
ในปี 2567 ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากร ส่งผลให้ไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Complete Aged Society) และคาดว่าจะขยับสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด (Super Aged Society) หรือมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 30 ในปี 2576 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอัตราการเกิดของคนไทย ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ “เด็กไทยเกิดน้อย – ด้อยคุณภาพ” เป็นสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ปัญหา “ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” นับเป็นโจทย์ข้อยาก... รัฐบาลไทยจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างประชากรอย่างมีประสิทธิภาพได้หรือไม่?