ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โยนหินถามทาง “ยกเลิกชุดลูกเสือ - เนตรนารี” หวังลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง แต่กลับเกิดกระแสวิจารณ์อย่างร้อนแรงเพราะประกาศในระหว่างใกล้เปิดเทอมในช่วง เดือนพฤษภาคมนี้ ไม่เพียงผู้ปกครองตระเตรียมซื้อชุดให้ลูกหลานไว้แล้ว เหล่าผู้ประกอบการร้านค้าชุดนักเรียนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า เพราะทำการเตรียมสต๊อกเครื่องแบบชุดลูกเสือ – เนตรนารี ไว้แล้ว
ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นเกิดขึ้น หลังจาก นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) ได้เตรียมจัดทำประกาศยกเว้นการแต่งเครื่องแบบลูกเสือของสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง โดยกล่าวเป็นนัยให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เตรียมตัว พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ถึงพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนในระหว่างรอกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ให้ทราบก่อนล่วงหน้า
โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) มีหนังสือลงวันที่ 23 เมษายน 2568 แจ้งแนวปฏิบัติการแต่งกายเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ในสถานศึกษา หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบ สรุปรวมความได้ว่า
1. การแต่งเครื่องแบบลูกเสือตามตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507 ประกอบด้วย หมวก เสื้อ กางเกง/กระโปรง ผ้าผูกคอ เข็มชัด ถุงเท้า รองเท้า และเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบ ให้ใช้สำหรับงานพิธีเข้าประจำกองลูกเสือ งานพิธีของลูกเสือ หรืองานพิธีอื่นๆ ที่สถานศึกษา จังหวัด สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น และในการฝึกอบรมหรืออยู่ค่ายพักแรม
2. การแต่งเครื่องแบบลูกเสือสำรองแบบลำลอง และเครื่องแบบลูกเสือสามัญแบบลำลอง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507 ซึ่งประกอบด้วยเครื่องแบบนักเรียน, ผ้าผูกคอ, เครื่องหมายลูกเสือ ใช้สำหรับการฝึกอบรม การอยู่ค่ายพักแรม เท่านั้น และการแต่งเครื่องแบบลำลอง อนุโลมให้ใช้ชุดพลศึกษาได้
3.การแต่งเครื่องแบบลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่และลูกเสื้อวิสามัญแบบลำลอง อนุโลมให้แต่งเครื่องแบบตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507
ในการนี้การจัดกิจกรรมฝึกอบรมลูกเสือ เนตรนารี ที่เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง ให้สถานศึกษาพิจารณาปรับรูปแบบลักษณะการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และสภาพอากาศ และกำหนดการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ตามข้อ 1-3 ได้ตามความเหมาะสม
กล่าวคือชุดลูกเสือตามกฎกระทรวงฯ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ชุด ประกอบด้วย ชุดพิธีการ ชุดฝึก และชุดลำลอง ซึ่งในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนโรงเรียน สามารถเป็นผู้กำหนดเครื่องแบบตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ได้เลย เช่น เมื่อมีการจัดกิจกรรมเรียนวิชาลูกเสือ ผู้เรียนสามารถแต่งกายเพียงชุดพละ หรือชุดนักเรียนที่เด็กนักเรียนมีอยู่แล้ว และใช้ผ้าพันคอลูกเสือกำหนดเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมแทนได้ เป็นต้น
ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เลขาธิการ สลช. เปิดเผยเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายลูกเสือว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การแต่งกายลูกเสือมีความยืดหยุ่น คล่องตัว เหมาะสม และสอดคล้องกับกิจกรรมของลูกเสือบริบทของพื้นที่ต่างๆ โดยเน้นความประหยัด คุ้มค่า แต่ยังคงไว้ซึ่งอุดมการณ์ ธรรมเนียมปฏิบัติ และพิธีการของลูกเสือ โดยการจัดทำร่างประกาศดังกล่าวกำลังอยู่ในกระบวนการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะต้องนำเข้า ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ จากนั้น รมว. ศึกษาธิการ จะได้ลงนามประกาศในราชกิจจาบุเบกษาต่อไป
อย่างไรก็ดี หลังมีการเผยแพร่ถ้อยแถลงออกไป ประเด็น “ยกเลิกชุดลูกเสือ - เนตรนารี” เป็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรง เพราะมีการประกาศอย่างกระทันหันระหว่างใกล้เปิดเทอมในช่วงเดือนพฤษภาคม ในส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยังไม่ได้ซื้อเครื่องแบบนักเรียนใหม่ต่างแสดงความรู้สึกดีใจเพราะสามารถประหยัดเงินได้หลายบาท แต่บางส่วนซึ่งเป็นส่วนใหญ่และจำนวนมากตระเตรียมซื้อเครื่องแบบลูกเสือ – เนตรนารีให้ลูกหลานไว้แล้ว ตรงนี้เป็นปัญหา
ไม่เพียงเท่านั้น ประกาศดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อบรรดาผู้ประกอบการร้านค้าชุดนักเรียนอย่าง เพราะทำการเตรียมสต๊อกเครื่องแบบนักเรียนรองรับการเปิดเทอมใหม่ไว้เป็นจำนวนมากส่งผลให้ขาดทุน พร้อมเรียกร้องให้รัฐออกมารับผิดชอบกับประกาศดังกล่าว
หลังเกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนัก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมาประกาศชัดเจนว่า “ไม่ได้ยกเลิกชุดลูกเสือ- เนตรนารี แต่อยู่ระหว่างแก้กฎกระทรวงฯ เรื่องเครื่องแบบและการแต่งกาย” โดยระเบียบใหม่จะมีชุดให้เลือกมากขึ้น ทั้งชุดแบบทางการ และชุดลำลอง ดังนั้น โรงเรียนจะสามารถพิจารณาได้ว่าจะให้นักเรียนใส่ชุดลำลองหรือชุดลูกเสือปกติ หากโรงเรียนไหนมีอุปสรรคเรื่องสภาพอากาศและความพร้อมของผู้ปกครอง ก็สามารถใช้ชุดลำลองได้ ตามบริบทของแต่ละพื้นที่
สำหรับกิจกรรมที่เป็นพิธีการทางลูกเสือหรือวันสำคัญ ยังคงใช้เครื่องแบบลูกเสือปกติ โดยสถานศึกษาอาจจัดให้มีกองลูกเสือเกียรติยศหรือผู้แทนลูกเสือ–เนตรนารีเข้าร่วมกิจกรรมตามความเหมาะสม
กล่าวสำหรับวิชาลูกเสือ-เนตรนารี มุ่งเน้นส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะชีวิตแก่เยาวชน ทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดีมีความรับผิดชอบ โดยหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้กิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี อยู่ในกลุ่มกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่นักเรียนทุกคนต้องเข้าร่วมกิจกรรมและต้องผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
อย่างไรก็ดี แนวทางลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครองโดยการปรับปรุงการแต่งกายชุดลูกเสือ – เนตรนารีนั้น ถือเป็นกรอบแนวคิดลดค่าครองชีพผู้ปกครองที่น่าชื่นชม แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน มีผู้ได้ประโยชน์ ย่อมมีผู้เสียประโยชน์ สิ่งสำคัญจะดำเนินการอย่างให้เกิดผลกระทบน้อยแก่ประชาชนทุกกลุ่มน้อยที่สุด
ที่ผ่านมา ภาครัฐโดยกระทรวงพาณิชย์มีโนบายช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับพันธมิตร ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ห้างค้าส่งค้าปลีก และแพลตฟอร์มออนไลน์ ลดราคาสินค้า ช่วยให้ผู้ปกครองประหยัดเงินในกระเป๋าได้มากขึ้น
โดยในภาคการศึกษา 2568 นี้ ประมาณการณ์ว่าจะช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนได้ไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท และก่อให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 900 ล้านบาท สร้างแรงกระตุ้นสำคัญให้กับภาคค้าปลีกและบริการช่วงเปิดภาคเรียน
สรุปได้ว่า ศธ. ไม่ได้ประกาศยกเลิกชุดลูกเสือ - เนตรนารี แต่เป็นการปรับปรุบแนวทางการแต่งกายให้โรงเรียนพิจารณาตามความเหมาะสมของพื้นที่และกิจกรรม