xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โกกั้ง (2) เริ่มจากเมื่อปลายราชวงศ์หมิง (ต่อ)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อนุสาวรีย์ของ หลี่ จื้อเฉิง จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชุน (ภาพ : วิกิพีเดีย)
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เมื่อเสด็จขึ้นไปถึงยอดเขาแล้ว  ฉงเจิน ก็ทรงผูกพระศอสิ้นพระชนม์ในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1644

จากบันทึกร่วมสมัยที่เชื่อถือได้ทำให้รู้ว่า พระศพของพระองค์ถูกพบอยู่ใต้ต้นสนบนเนินเขาหลังจากนั้นสามวัน ข้าราชบริพารที่พบพระศพได้กล่าวแก่ผู้บันทึกว่า ฉงเจินทรงอยู่ในชุดเสื้อคลุมผ้าไหมสีม่วง ทรงพระสนับเพลาสีแดง พระเกศายุ่งเหยิง

 โดยก่อนปลงพระชนม์ยังทรงพระอักษรสองตัวด้วยพระหัตถ์ซ้ายคำว่า เทียนจื่อ (天子) หรือโอรสแห่งสวรรค์ เหมือนกับจะบอกแก่ผู้พบพระศพว่า พระองค์คือใคร 

ควรกล่าวด้วยว่า ในกรณีเสื้อคลุมผ้าไหมสีม่วงนั้น สีนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของดาวเหนือที่ถูกอุปมาดุจจักรพรรดิผู้ครองโลกในฐานะโอรสแห่งสวรรค์ ดังจะเห็นได้จาก พระราชวังต้องห้าม  ที่มีชื่อในภาษาจีนว่า  จื่อจิ้นเฉิง  (紫禁城, Forbidden City) ที่แปลว่า  นครต้องห้ามสีม่วง โดยคำว่า จื่อ (紫) แปลว่า สีม่วง

ฐานะของจักรพรรดิจึงสูงส่งเกินเอื้อมของสามัญชน และมีความหมายประหวัดไปถึงการห้ามสำหรับสามัญชนคนธรรมดา
อย่างไรก็ตาม เช้าตรู่วันเดียวกันกับการสิ้นพระชนม์ของฉงเจิน ทัพของ  หลี่จื้อเฉิง  ก็ได้กรีธาเข้าสู่เมืองหลวงเป่ยจิง (ปักกิ่ง) ในฐานะผู้ชนะ เมื่อเข้ามาแล้วก็เข้าจัดการกับกลุ่มโจรที่ฉวยโอกาสปล้นสะดมราษฎรในขณะที่เมืองหลวงกำลังวุ่นวาย ด้วยการให้ประหารชีวิตโจรเหล่านี้

หลี่จื้อเฉิงไปถึงวังหลวงในช่วงบ่าย และให้รู้สึกเสียใจเมื่อรู้ว่าจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ด้วยเกรงจะถูกตำหนิว่าเป็นผู้แย่งชิงราชบัลลังก์ จากเหตุนี้ หลี่จื้อเฉิงจึงเลื่อนเวลาที่จะตั้งตนเป็นจักรพรรดิออกไป โดยคงไว้ซึ่งฐานะกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซุ่น (順朝, Shun dynasty) ที่เขาตั้งขึ้นมาเมื่อ ค.ศ.1643

แต่ความหวาดหวั่นที่จะขึ้นครองบัลลังก์เพื่อบริหารประเทศเป็นเรื่องที่รอช้ามิได้ ด้วยยังมีขุนนางและเจ้าพนักงานด้านธุรการอีกหลายพันคนยังคงอยู่ที่เมืองหลวง คนเหล่านี้กำลังรอการอนุมัติงานรัฐกิจต่างๆ จากเขาเพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้

บุคคลเหล่านี้ต่างก็คือบุคลากรของราชวงศ์หมิงมาแต่เดิม ซึ่งก็หมายความว่าคนเหล่านี้พร้อมที่จะรับใช้ราชวงศ์ใหม่ แต่ก็หวังที่จะได้เงินเดือนเพื่อการดำรงชีพพร้อมกันไปด้วย

เหตุผลประการหลังเป็นปัญหาที่หลี่จื้อเฉิงต้องเผชิญและแก้ไขให้ได้ เพราะทรัพย์สมบัติที่เขาวาดหวังว่าจะมีอยู่อย่างมหาศาลในท้องพระคลังนั้นกลับไม่มีอยู่จริง และนั่นก็คือเหตุผลที่ว่าเหตุใดช่วงเดือนสุดท้ายของฉงเจินจึงไม่มีเงินเดือนมานำจ่ายให้แก่กองทัพได้

หลี่จื้อเฉิงแก้ปัญหานี้ด้วยการยึดเอาทรัพย์สินจากขุนนางหมิงกลุ่มหนึ่งที่ถูกจับกุม แล้วนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่บุคคลเหล่านี้แทน โดยเฉพาะบรรดาไพร่พลในกองทัพ แต่ความขาดแคลนที่เกิดขึ้นนี้ก็ได้ทำให้นักโทษในคุกเสียชีวิตไปจำนวนไม่น้อย
การแก้ปัญหาดังกล่าวของหลี่จื้อเฉิงเกิดผลก็แต่คนเฉพาะกลุ่มและแค่ชั่วคราว ภาวะไม่ปกติจึงเกิดตามมาและครอบคลุมไปทั่วเป่ยจิง จากนั้นก็นำไปสู่วินัยที่หย่อนยานของไพร่พลในกองทัพ ไพร่พลเหล่านี้พากันปล้นสะดมร้านค้าและบ้านเรือนราษฎรแม้ในตอนกลางวันแสกๆ

หลี่จื้อเฉิงพยายามที่จะจัดระเบียบไพร่พลของตนขึ้นใหม่ แต่ไม่สำเร็จ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อทัพของเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือถูกทัพหมิงตีแตก ทัพนี้นำโดยขุนศึกจีนชื่อ อู๋ซันกุ้ย (吳三桂, ค.ศ.1612-1678) โดยร่วมมือกับขุนศึกชาวแมนจูชื่อ ดอร์กอน (Dorgon, ค.ศ.1612-1650) หรือที่จีนออกเสียงว่า ตวอเอ๋อร์กุ่น (多爾袞) 

ตราบจนวันที่ 3 มิถุนายน ท่ามกลางความคลุ้มคลั่งเมามายและการปล้นสะดมอย่างนองเลือดดังกล่าว หลี่จื้อเฉิงก็ตัดสินใจทำพิธีตั้งตนเป็นจักรพรรดิอย่างเร่งรีบ พอวันรุ่งขึ้นเขาก็ควบขี่ม้าออกจากเป่ยจิงมุ่งสู่เมืองซีอัน (西安) เพื่อเตรียมทำศึกกับกองกำลังหมิงที่ยังหลงเหลืออยู่

ต่อมาในวันที่ 5 มิถุนายน ดอร์กอนก็ยกทัพมาถึงชานเมืองเป่ยจิง ครั้นตกบ่ายดอร์กอนกับคณะผู้ติดตามก็เข้าไปพักผ่อนในวังต้องห้าม เป็นอันสิ้นสุดการต่อสู้ของชนชาติแมนจูที่เพียรพยายามมานานถึง 30 ปี กว่าที่จะโค่นล้มราชวงศ์หมิงได้สำเร็จจนได้ครองแผ่นดินจีนในที่สุด

หลังจากนั้นไม่นานดอร์กอนก็ส่งทัพออกไปทางตะวันตกเพื่อไล่ล่าหลี่จื้อเฉิง ชะตากรรมของหลี่จื้อเฉิงหลังจากออกจากเป่ยจิงไปแล้วไม่มีความแน่ชัด รู้เพียงว่าเขาถูกสังหารในปีถัดมาคือ ค.ศ.1645 แต่จะถูกสังหารโดยใครก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน บ้างก็ว่าโดยทหารองค์รักษ์ของเขาเอง ในขณะที่เขากำลังหนีเอาตัวรอดจากการไล่ล่าของแมนจู บ้างก็ว่าเขาหนีไปบวชโดยไม่ได้ระบุว่าบวชในศาสนาใด และเสียชีวิตใน ค.ศ. 1674

ความไม่แน่ชัดนี้ทำให้เรื่องราวของเขามีสีสัน และถูกนำมาผูกเป็นเรื่องเล่าของชาวบ้านไปต่างๆ นานา ในเวลาต่อมาก็ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และนวนิยายก็มี

ทั้งยังมีประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นทางการบอกเล่าด้วยว่า ตอนที่ทัพกบฏของเขายึดเป่ยจิงได้นั้น เขาได้แย่งนางคณิกาที่ขึ้นชื่อในความงามคือ  เฉินหยวนหยวน  อันเป็นหญิงของอู๋ซันกุ้ยมาแต่เดิมมาเป็นของตน

 เล่ากันว่า การแย่งนางคณิกาเฉินหยวนหยวนนี้ได้สร้างความแค้นเคืองให้แก่อู๋ซันกุ้ยเป็นที่ยิ่ง แค้นจนเขายอมเปิดประตูด่านซันไห่กวานให้ดอร์กอนเข้ายึดเป่ยจิง ประวัติศาสตร์ส่วนนี้ยังเป็นที่เชื่อกันในหมู่ชาวจีนมาจนทุกวันนี้ ดังจะเห็นได้จากอาคารนิทรรศการเฉินหยวนหยวนที่ตั้งอยู่ในอุทยานจินเตียน (จินเตียนกงหยวน, 金殿公园, Golden Temple Park) ที่อยู่นอกเมืองคุนหมิงในมณฑลอวิ๋นหนัน (ยูนนาน) ออกไปราวเจ็ดกิโลเมตร เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนั้นก็เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ราชวงศ์หมิงได้ปิดฉากลง ราชวงศ์นี้มีจักรพรรดิทั้งสิ้น 17 องค์

แต่ก็เช่นเดียวกับบางราชวงศ์ของจีน ที่แม้สิ้นวงศ์ไปแล้วก็ยังมีวงศานุวงศ์หรือเหล่าเสนามาตย์ที่ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์ คิดอ่านที่จะกอบกู้ราชวงศ์ขึ้นมาใหม่ ราชวงศ์หมิงก็มีคนเหล่านี้เช่นกัน

จากเหตุนี้ หลังจากที่ชนชาติแมนจูโค่นล้มราชวงศ์หมิงได้สำเร็จ และสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นมาแทนที่เมื่อ ค.ศ.1644 แล้ว กลุ่มดังกล่าวจึงได้รวมกำลังเพื่อกอบกู้ราชวงศ์ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ประวัติศาสตร์จีนเรียกการรวมตัวฟื้นราชวงศ์หมิงนี้ว่า  ราชวงศ์หมิงใต้ (หนันหมิง, 南明, the Southern Ming, ค.ศ.1644-1662)  
กล่าวเฉพาะวงศานุวงศ์ของหมิงที่พยายามจะกอบกู้วงศ์ขึ้นใหม่นี้ก็คือ วงศานุวงศ์ที่เป็นเชื้อสายของราชวงศ์ที่มีตำแหน่งกษัตริย์ (หวัง, 王) ที่มีอยู่เจ็ดองค์ แต่ละองค์จะมีรัฐในปกครองของตนก่อนที่หมิงจะถูกโค่นล้ม

โดยในเจ็ดองค์นี้จะมีอยู่หนึ่งองค์ที่ต่อมาจะเป็นที่มาของกลุ่มคนที่เรียกว่า  โกกั้ง 


กำลังโหลดความคิดเห็น