คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” และเค้าโครงของประวัติศาสตร์ของกฎหมายในฐานะที่เป็นกรอบกติกาการปกครองหรือ “รัฐธรรมนูญ” รวมทั้งโครงสร้างทางสังคมของสวีเดนก่อนการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วง ค.ศ. 1680 ไปบางส่วน
ในตอนนี้จะขอกล่าวต่อไปจากประเด็นความขัดแย้งต่อนโยบายเวนคืนไปสู่ความขัดแย้งเห็นต่างในเรื่องพระราชอำนาจในการออกกฎหมายและพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
คณะตุลาการที่สอบสวนคณะผู้สำเร็จราชการได้เริ่มขยายเป้าหมายไปยังสมาชิกสภาบริหาร ภายใต้ข้อถกเถียงว่าด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบของสภาบริหารในการปกครองแผ่นดิน มีการเปิดประเด็นปัญหาในทางรัฐธรรมนูญในที่ประชุมฐานันดรอภิชนว่า ที่ประชุมสภาฐานันดรสามารถมีมติขัดแย้งกับพระราชวินิจฉัยหรือพระราชพินัยกรรมของพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่?
โดยเปรียบเทียบกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นก่อนหน้าในกรณีที่สภาฐานันดรในปีค.ศ. 1660 ลงมติไม่ยอมรับพระราชพินัยกรรมของ Charles X ข้อถกเถียงเกิดขึ้นอย่างสับสน จนทำให้ Charles XI พระราชทานชุดคำถามแก่เหล่าฐานันดรเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ การจำกัดสิทธิอำนาจโดยรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติของกฎหมายแห่งแผ่นดิน (Land Law) ที่ระบุให้พระมหากษัตริย์ทรงปกครองแผ่นดินด้วยคำแนะนำของสภาฐานันดร (the king governs with the advice of the Council)
ที่ประชุมสภาฐานันดรได้มีฉันทามติเป็น “คำประกาศแห่งเหล่าฐานันดร (The Declaration of the Estates)” ในเดือนธันวาคม 1680 ว่า พระมหากษัตริย์ทรงรับผิดชอบแต่พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น ตัวบทรัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับต่อพระมหากษัตริย์ที่ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว สภาบริหารไม่ถือเป็นฐานันดรหนึ่งและไม่ได้เป็นผู้ประสานไกล่เกลี่ยระหว่างพระมหากษัตริย์และเหล่าฐานันดร และพระมหากษัตริย์ทรงรับฟังความเห็นของสภาฐานันดรตามพระวินิจฉัยส่วนพระองค์ แต่พระราชอำนาจสุดท้ายอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์
คำประกาศดังกล่าวอาจถือเป็น “การตีความ” กฎหมายของสวีเดน แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลเปลี่ยนแปลงความหมายและสมดุลอำนาจที่ระบุไว้ในกฎหมายแห่งแผ่นดิน (Land Law) ด้วย สภาบริหารเห็นความจำเป็นที่จะมีแถลงการณ์ตอบพระมหากษัตริย์ แต่ไม่สามารถมีมติร่วมได้สำเร็จ แม้ว่า Claes Rålamb (สมาชิกสภาบริหาร) จะมีบันทึกส่วนตัวกล่าวถึง ผลทางอำนาจและทางรัฐธรรมนูญของคำประกาศดังกล่าว (“สิทธิอำนาจของสภาบริหาร ซึ่งถือเป็นอีกรากฐานหนึ่งของสิทธิของราชราชอาณาจักรและเสรีภาพของเหล่าฐานันดร ได้ถูกล้มล้างและพังทลายลง”) แต่บุคคลร่วมสมัยต่างไม่ได้เห็นถึงผลทางรัฐธรรมนูญและการปกครองดังกล่าว หากแต่มองว่าเป็นเพียงประเด็นทางการเมืองประเด็นหนึ่งเท่านั้น
ฉะนั้นภายหลังการประชุมสภาฐานันดรในปี ค.ศ.1680 Charles XI ก็ทรงสามารถกุมอำนาจการปกครองราชราชอาณาจักรอย่างสมบูรณ์ ในช่วงเวลาต่อมา พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดมุ่งพัฒนา กองทัพ เป็นหลัก เข้าแทรกแซงและควบคุมการบริหารกองทัพโดยตรง โดยมีเครื่องมือสำคัญคือ สำนักงานงบประมาณ (Budget Office – Statskontoret)
ถัดจากนั้น พระองค์มุ่งเพิ่มรายรับทางการคลังผ่าน คณะกรรมาธิการการเวนคืนและคณะตุลาการที่ขยายการสอบสวนครอบคลุมทั้งสมาชิกสภาบริหารและเจ้ากระทรวง ซึ่งนอกจากเป็นการลดทอนสถานะและรายได้ของกลุ่มอภิชนระดับสูงแล้ว ยังเป็นการมุ่งจำกัดอิทธิพลของสภาบริหารด้วย
เมื่อสมาชิกสภาบริหารปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะผู้ให้ “ความเห็น” แก่การปกครองของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระหว่าง ค.ศ. 1660-1672 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดจึงทรงพยายามกดดันลดสถานะของสภาบริหารลง โดยบังคับให้สภาบริหารต้องออกแถลงการณ์ยอมรับคำประกาศแห่งเหล่าฐานันดร
ต่อมาในช่วงต้นปี ค.ศ.1682 Charles XI ทรงเห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อจากสภาบริหารแห่งแผ่นดินเป็น “สภาบริหารในพระมหากษัตริย์” ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงโดยอ้างย้อนกลับไปถึงการปฏิรูปศาสนาและการสถาปนาระบอบพระมหากษัตริย์สืบราชสันตติวงศ์
คำติดสินของคณะตุลาการที่ตามมายิ่งจำกัดอำนาจทางการเมืองของสภาบริหารที่ว่านี้ลงไปอีก จนเหล่าสมาชิกทั้งหลายตัดสินใจร้องขอพระกรุณาและยอมถอนตัวเกษียณออกจากสภาบริหาร อันเป็นการเปิดโอกาสให้พระองค์จัดสรรตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารในพระมหากษัตริย์เสียใหม่ ส่งผลให้สภาที่ปรึกษากลายเป็นเพียงองค์กรเครื่องมือในการปกครองของพระองค์
การประชุมสภาฐานันดรมีขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคม ค.ศ.1682 โดยได้มีการเตรียมการจัดวางตัวบุคคลและวาระการประชุมเป็นอย่างดี วาระของคณะกรรมาธิการลับว่าด้วยการยืนยันคำตัดสินของคณะตุลาการ การเสริมกองกำลังทางทหาร การเสริมรายได้ทางการคลัง และการเก็บภาษีพิเศษ ฐานันดรอภิชนมีความวิตกกังวลต่อแรงกดดันที่เกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อนหน้า
กลุ่มอภิชนที่เห็นค้านอย่าง Per Sparre, Carl Oxenstierna และ Anders Lilliehöök จึงขอให้บันทึกการประชุมเว้นชื่อผู้ที่อภิปรายในที่ประชุมสภาอภิชนในประเด็นวาระเรื่องการเพิ่มกองกำลังทางทหาร ปรากฎว่าแทบทุกฝ่ายสนับสนุนระบบการเกณฑ์ทหาร ความขัดแย้งที่มีอยู่จบลงด้วยคำกล่าวที่ว่า “นี่เป็นพระราชประสงค์ขององค์พระมหากษัตริย์”
เมื่อกลุ่มอภิชนทูลเกล้าฯถวายเอกสารท้วงติงโดยเลี่ยงที่จะไม่ลงชื่อ พระองค์ก็ทรงสามารถปฏิเสธได้อย่างง่ายดาย และยิ่งสะท้อนถึงความไม่เต็มใจของกลุ่มอภิชนที่จะเผชิญหน้าขัดแย้งกับ Charles XI โดยตรง
เช่นเดียวกัน ประเด็นการขยายการบังคับใช้การเวนคือโดยยกเลิกข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในปี ค.ศ.1680 ก็นำมาซึ่งความไม่พอใจของกลุ่มอภิชน แต่อภิชนกลุ่มหนึ่ง (Lindschöld และ Lichton) เห็นว่าการเผชิญหน้ากับ Charles XI โดยตรงเป็นความเสี่ยงมากเกินไป และพระองค์ก็ได้กดดันฐานันดรอภิชนให้ต้องลงมติต่อวาระดังกล่าวแบบขานชื่อ ซึ่งฐานันดรอภิชนก็ยอมรับความพ่ายแพ้ดังกล่าว
พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงดำเนินการยืนยันพระราชอำนาจของพระองค์ต่อไปด้วยการส่งคำถามไปยังคณะกรรมาธิการลับว่า พระองค์มีพระราชอำนาจในการพระราชทานและเรียกคืนที่ดินหรือทรัพย์สินตามพระบรมราชวินิจฉัยโดยไม่ต้องอาศัยความยินยอมจากสภาฐานันดรหรือไม่ ?
พระองค์ทรงมี Thegner เป็นผู้รวบรวมเสียงสนับสนุนจากเหล่าฐานันดรสามัญชนสนับสนุนจุดยืนของพระองค์ แรงกดดันจากสถาบันพระมหากษัตริย์และจากเหล่าสามัญชนบีบบังคับให้เหล่าอภิชนยอมรับมติร่วมว่า พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจอย่างไม่จำกัด
อีกเหตุการณ์ที่สำคัญคือ เมื่อ Anders Lilliehöök กล่าวต่อที่ประชุมฐานันดรอภิชนว่า กฎหมายใดที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากเหล่าฐานันดรไม่ถือว่าเป็นกฎหมายของสวีเดน พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดจึงทรงส่งคำถามไปยังฐานันดรอภิชนให้แถลงจุดยืนต่อคำพูดของ Lilliehöök โดยพระองค์ทรงเลือกวางประเด็นว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นการปฏิเสธพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการออกกฎและข้อบังคับและเป็นการ “มัดมือ” พระองค์ ซึ่งล้วนเป็นคำต้องห้าม (absolute taboos) ในสังคมสวีเดน
ภายใต้แรงกดดันต่าง ๆ กลุ่มอภิชนจำต้องเลือกเอาตัวรอด (survival strategy) ด้วยการรักษาอำนาจของตนที่มีอยู่ภายใต้การคาดหวังที่จะได้รับการคุ้มครองอภิสิทธิ์และทรัพย์สินโดยสถาบันพระมหากษัตริย์ และ Lilliehöök จำต้องเลือกขอพระราชอภัยโทษจากพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด
พระองค์ก็ไม่ได้ทรงโกรธแค้นเป็นการส่วนพระองค์แต่อย่างใด ทั้งยังทรงแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูงอีกด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดมีความกังวลเป็นพิเศษต่อการยืนยันพระราชอำนาจและอำนาจอธิปไตยของพระองค์เมื่อใดก็ตามที่เกิดการท้าทายขึ้น
เหตุการณ์ระหว่างการประชุมสภาฐานันดรปี ค.ศ.1680-1682 ได้ “เปิดทางให้แก่การปฏิรูปของพระองค์ทั้งทางด้านการเมือง การเงิน และทางรัฐธรรมนูญ และยืนยันพระราชสิทธิและพระราชอำนาจของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์คริสเตียนสืบราชสันตติวงศ์ที่สามารถกระการใด ๆ ได้โดยปราศจากข้อจำกัด” ผ่านการจำกัดบทบาทของกลุ่มอภิชนลง
ทั้งนี้ การที่ฝ่ายอภิชนไม่ต่อต้านคัดค้านต่อพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดอย่างจริงจังสามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพราะฝ่ายอภิชน “แตกแยกกันเองภายใน เปิดโอกาสให้มีการชักจูงจากคนนอก”
และที่สำคัญคือ “การสูญเสียความมั่นใจ” ของฝ่ายอภิชนเอง จากหายนะในสงครามและนโยบายที่ล้มเหลวทำให้ฝ่ายอภิชนไม่มีความน่าเชื่อถือหรือความชอบธรรม โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพระมหากษัตริย์หนุ่มผู้เป็นวีรบุรุษสงครามและเป็นความหวังใหม่ของราชอาณาจักร
(โปรดติดตามตอนต่อไป)